หากตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันทุกวันนี้ใช้พลังงานอะไรในการผลิต? คำตอบจากในตำราเรียนที่คุ้นเคยก็จะเป็นพลังงานจากฟอสซิล อย่าง น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือไม่ก็เขื่อนใหญ่น้อยทั่วประเทศที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว
แต่คำตอบใหม่ใน พ.ศ. นี้ สำหรับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญ เรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดข้อจำกัดและความผันผวนของ “พลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ” เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมความแน่นอนได้ ให้เป็นพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และพึ่งพาได้ ซึ่งในวันนี้จะหยิบยกโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำพลังงานแสงอาทิตย์ มาพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นมากกว่าโซลาร์เซลล์ที่ทุกคนเคยรู้จัก จนตอนนี้ ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าของระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า Hydro-Floating Solar Hybrid – ระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดระหว่างพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เพื่อขยายความเข้าใจระบบการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้ เราจึงชวนคุยกับ “คุณฉัตรชัย มาวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน (กฟผ.) ผู้บริหารที่ดูแลโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ถึงที่มาที่ไปของเมกะโปรเจกต์ครั้งนี้ และผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับร่วมกันจากการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรในชีวิตประจำวัน
ภาพรวมของการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
ในด้านการผลิต ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ประเทศไทยจะมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนขึ้นประมาณ 30% ซึ่งมาจากพลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และหนึ่งในนั้นก็จะมีโครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid ซึ่งก็เป็นไปตามเทรนด์ของโลก ที่ลดการใช้ฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
โครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid คืออะไร ?
โครงการนี้เป็นการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพของประเทศไทย นั่นคือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยตัวระบบจะมีความยืดหยุ่นด้วยการบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้นๆ ในช่วงกลางวันจะเป็นหน้าที่ของโซลาร์เซลล์ และนำพลังน้ำมาเสริมความต้องการใช้ไฟในช่วงเวลากลางคืน โดยสามารถปรับการใช้พลังงานด้วยระบบจัดการพลังงานเป็นตัวควบคุม จึงช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงาน
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ กฟผ. ริเริ่มและพัฒนาโครงการนี้?
จุดเริ่มของการพัฒนา Hydro-Floating Solar Hybrid มาจากข้อจำกัดในเรื่องความผันผวนและความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน เป็นที่มาที่ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศ จะต้องมองหาวิธีการที่ให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมีประสิทธิภาพดีขึ้น เปลี่ยนจากความเข้าใจเดิมที่ว่า ราคาสูง และไม่เสถียร ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองกับความต้องการใช้งานไฟฟ้า
อยากให้อธิบายถึงแนวทางในการพัฒนา Hydro-Floating Solar Hybrid
แนวทางในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของเราจะมี 3 ส่วนที่ต้องคำนึงถึง ส่วนแรก คือ ราคา ต้องเป็นราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งหมายถึงเราต้องทำดีกว่าหรือเท่ากับราคาตลาด สิ่งที่เราต้องทำจึงเป็นเรื่องของขนาดโครงการที่ใหญ่พอที่จะทำให้ราคาต่อหน่วยไฟฟ้าลดลงได้ และใช้พื้นที่ผิวน้ำของเขื่อนที่เรามีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ ร่วมไปกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการติดตั้งและใช้งานอยู่แล้วสำหรับ การผลิตและส่งไฟฟ้า อย่างหม้อแปลง สายส่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรานำมาใช้ร่วมกันกับโครงการนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้หลายร้อยล้านบาท เมื่อคำนวณแล้วก็เป็นต้นทุนราคาที่เหมาะสม
ส่วนที่สองคือ เทคโนโลยี จะทำอย่างไรให้เกิดเสถียรภาพขึ้น? เราจึงเลือกใช้ระบบไฮบริดที่จ่ายพลังงานตามศักยภาพ ณ เวลานั้นๆ กลางวันมีแดด เราก็จ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปก่อน พอกลางคืนเราก็จ่ายไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยเรามองหาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าทำได้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการใช้แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานส่วนเกินที่เหลือเสริมกับระบบไฮบริด เพื่อให้สามารถจ่ายไฟได้มากขึ้น นานขึ้น ซึ่งหากในอนาคตมีเทคโนโลยีตัวอื่นที่ทำงานได้ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ เราก็จะนำมาผสมผสานให้มีเสถียรภาพมากขึ้น
ส่วนที่สาม คือ สังคมและสิ่งแวดล้อม สำคัญคือ จะต้องไม่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เหตุผลที่เลือกใช้พื้นที่ผิวน้ำ นั่นก็เพราะหากเป็นพื้นที่บนดินก็จะกระทบต่อทำการเกษตร และพื้นที่ผิวน้ำที่เลือกจะต้องไม่ทับซ้อนกับการใช้ประโยชน์เดิมในพื้นที่ เช่น การประมง การเดินเรือ เราจึงเลือกใช้ผิวน้ำของเขื่อนที่เรามีอยู่
อยากให้เล่าถึงแผนการพัฒนาโครงการนี้
เราแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น จะเป็นเรื่องของการเสริมความยืดหยุ่น ด้วยการพัฒนาระบบไฮบริด และควบรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ให้ได้ ระยะกลาง จะเป็นเรื่องการสร้างเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้เทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงาน และการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และระยะยาว เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการพัฒนาศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน พัฒนาระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคต
ทาง กฟผ. จะต้องศึกษาข้อมูลเรื่องอะไรบ้าง เพื่อจะพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง
สิ่งที่เราต้องศึกษาคือ วัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน โดยเริ่มจากทุ่นรูปแบบจิ๊กซอว์ ที่ทำจากวัสดุพลาสติก HDPE ผสมสารป้องกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต ใช้งานได้ทนทานถึงเกือบ 25 ปี ติดตั้งง่าย ดูแลรักษาง่าย ลดแรงกระแทก ทางเราต้องออกแบบวิธีการวางแผงโซลาร์ฯให้ชิดพื้นน้ำมากที่สุด เพื่อที่จะได้รับความเย็นจากผิวน้ำมากขึ้น ประสิทธิภาพการใช้งานก็จะสูงขึ้น ความท้าทายอีกประการคือ ระบบยึดโยงใต้น้ำ ในระดับน้ำปกติจะต้องยึดอยู่กับที่ไม่ให้แกว่ง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและบริษัทชั้นนำที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ส่วนอีกเรื่องที่ต้องทำการศึกษาคือ สภาพภูมิอากาศของพื้นที่ เช่น ความเข้มของแสงแดด สภาพพื้นที่น้ำ รวมทั้งชุมชนในแถบนั้นมีความสนใจและความพร้อมในเรื่องพลังงานมากน้อยแค่ไหน
ในเรื่องความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ภายใต้โครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid มีการดำเนินงานอย่างไรบ้าง
เราทำ MOU เพื่อทำการศึกษากับหน่วยงานต่างๆ ก็จะมี 2 ที่ คือ SCG ซึ่งเราศึกษาเรื่องการออกแบบระบบยึดโยงทุ่นและแผง Solar Cell ในระดับความลึกเขื่อน แล้วเอาไปทดลองกับสถานที่จริง และกองทัพเรือ ที่มีความรู้และศักยภาพทางความรู้ในเรื่องของการยึดโยงใต้น้ำในระดับน้ำลึก ซึ่งในอนาคตถ้าเราทำเวิร์กช็อปร่วมกัน เราสามารถกำหนดตัวนี้ให้เป็นไกด์ไลน์มาตรฐานของประเทศได้ด้วย เราก็จะทำให้ไปถึงจุดนั้นครับ
โครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก อย่างตัวทุ่น เราออกแบบด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยวัสดุ HDPE ที่สามารถใช้กับท้องน้ำทั่วไป ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในเรื่องการออกแบบการวางทุ่น ก็จะวางให้มีแสงลอดผ่านอย่างพอเหมาะ ไม่ให้มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ รวมทั้งมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการด้วย
ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์อย่างไรจากการที่ กฟผ. พัฒนาและใช้ระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid
นอกจากเรื่องการผลิตไฟฟ้าแล้ว การสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งมีสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ โครงการนี้เราจะทำมากกว่านั้น คือเราพยายามจะสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้กับจังหวัดด้วย สำหรับโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร เราจะสร้างสกายวอล์คความยาว 415 เมตรรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรเป็นเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้เราได้หารือกับทางราชการเพื่อบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในที่เที่ยวของจังหวัด เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของทั้งจังหวัด ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น และทาง กฟผ. เอง ก็หวังให้ประชาชนมีความรู้และใส่ใจเทคโนโลยีของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อเรื่องการนำพลังงานหมุนเวียนที่เสถียรมาใช้งาน
ในอนาคต ทาง กฟผ. มีแผนการอะไรในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอีกบ้าง
ในส่วนของ Hydro-Floating Solar Hybrid ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ต้องศึกษาพัฒนาอีก และเรายังมีแนวทางที่ต้องสร้างระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ขนาดใหญ่ของประเทศ ในลักษณะของ Hydro Pumped-Storage คือการสูบน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ แล้วก็จะปล่อยน้ำลงมาให้หมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเมื่อต้องการใช้งาน ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงาน ที่มีเสถียรภาพที่สุดและราคาต่ำสุด ส่วนในเรื่องพลังงานหมุนเวียน เราก็ยังศึกษาเทคโนโลยีตัวอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นลม พืชพลังงาน หรืออะไรต่างๆ ที่นำมาผลิตไฟฟ้าและสร้างประโยชน์ได้ แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักการที่เกิดเสถียรภาพทางด้านระบบไฟฟ้ามากที่สุด