“เปลี่ยนประเทศไทย ต้องเริ่มจากการศึกษา”
เราได้แต่พูดประโยคนี้กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่การศึกษาไทยกลับถดถอยลงเมื่อเทียบดูแต่ละตัวชี้วัด โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ในปี 2561 นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ย การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน 2 รอบก่อนหน้า พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลงประมาณ 16 คะแนน ส่วนคะแนนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในทางสถิติถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ตลอดปี 2565 มีเด็กไทยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันกว่า 100,000 คน และเด็กอีกกว่า 800,000 คน กำลังเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน เพราะความยากจนเป็นตัวถ่วงรั้งโอกาสในการเรียนรู้ในระบบการศึกษา รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ฉบับปี 2565 ระบุว่า เด็กและครอบครัวไทยกำลังตกอยู่ในวิกฤต 3 ด้าน ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม กว่า 1.8 ล้านครัวเรือน เป็นครอบครัวแหว่งกลาง เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งต้องไปทำงานต่างถิ่น หรือพ่อแม่ถูกจำคุก มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้ป่วยติดเตียง พิการทางร่างกายหรือสมอง หรือไม่มีสัญชาติไทย
สอดคล้องกับรายงานฉบับพิเศษสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งให้ข้อมูลว่า ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (รายได้ต่ำกว่า 2,762 บาท/คน/เดือน) ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา สูงกว่าครอบครัวที่ร่ำรวยถึง 4 เท่า เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้ จากการประมาณการดัชนีราคาผู้บริโภคตาม อัตราเงินเฟ้อและมูลค่าที่แท้จริง โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) พบว่าในระหว่างปี 2563-2566 ต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงในการใช้ชีวิตของครัวเรือน ผู้ปกครองและนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น จากค่าใช้จ่ายประจำวันในด้านต่างๆ เช่น ค่าอาหาร และค่าเดินทาง
แต่ความยากจนไม่ได้มีหน้าตาแบบเดียว นอกเหนือไปจากมิติเรื่องรายได้ กสศ. ยังชี้ว่ามีภาระพึ่งพิงในครอบครัวที่เป็นตัวแปรสำคัญ ครอบครัวยากจนที่มีผู้พิการ เจ็บป่วย คนชรา หรือคนว่างงาน ย่อมส่งผลต่อการเลี้ยงดูและสวัสดิภาพของเด็ก สภาพการอยู่อาศัย บ้านที่ปะผุทรุดโทรม ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเด็ก ทรัพย์สินถือครอง ที่ดินทำการเกษตร ยานพาหนะ ของใช้ในครัวเรือน สะท้อนโอกาสในการสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ก็ส่งผลต่อการที่เด็กสักคนจะเดินทางไปถึงโรงเรียน เรียนรู้อย่างมีความสุขตลอดทั้งวันได้อย่างเต็มที่ด้วย
แม้ดูจากหลากหลายปัจจัยที่พัวพันอยู่ในระบบการศึกษาอาจชวนให้หลายคนท้อใจ แต่หนึ่งในหนทางอันน่าสนใจ และทุกคนสามารถเข้ามาร่วมลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้จริง ซึ่งเสนอโดยโครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน คือ การเพิ่มพันธมิตรเข้ามาร่วมแก้ไข ทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานด้านการศึกษาโดยตรง แต่ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ภาคเอกชนที่มีสรรพกำลังพร้อมทั้งทุนและความยืดหยุ่นในการทำงาน ช่วยกันสนับสนุนเป้าหมายในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาก็สำคัญไม่แพ้กัน
หนึ่งในตัวอย่างที่พยายามแสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาคเอกชน คือ โครงการ UOB My Digital Space (MDS) เป็นโครงการด้านการศึกษาที่ทำงานระยะยาวอย่างต่อเนื่อง มุ่งลดช่องว่างทางการศึกษา และเชื่อมโยงการเรียนรู้ สร้างโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย ผ่านความเป็นไปได้ใหม่ของโลกดิจิทัล โดยสนับสนุนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาให้แก่เด็กไทยขาดโอกาสในโรงเรียนภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก โปรแกรมการเรียนรู้วิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ไปจนถึงการร่วมพัฒนาคุณภาพครู เพิ่มที่ปรึกษาทางการเรียนรู้จากภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังสร้างหลักสูตรการเงินออนไลน์ “UOB Money 101 Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน” ส่งเสริมทักษะด้านการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่นักเรียน และคุณครูที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เปิดโอกาสให้เยาวชนที่ขาดแคลน เรียนรู้วิธีจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อม วางแผน ตั้งเป้าหมายทางการเงินได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน เพราะองค์ความรู้เหล่านี้คือทักษะชีวิตที่สำคัญสำหรับทุกคน
อีกหนึ่งโครงการที่แสดงให้เห็นพลังของความร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนผ่านเรื่องใกล้ตัว อย่างการจับจ่ายใช้สอยสิ่งของในชีวิตประจำวัน ก็คือโครงการของ กสศ. ที่ร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มค้าปลีกในรูปแบบออนไลน์ เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ มาร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ตลาดวาดฝัน (Equity Partnership) โดยนักเรียนทุนเสมอภาคจากครอบครัวยากจน 11 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ 6 โรงเรียนในเครือข่าย ต่อยอดภูมิปัญญาชุมชน ส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยี e-commerce และฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 (Entrepreneurial Skill) โดยรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์แต่ละโรงเรียนจะนำไปใช้เป็นทุนการศึกษาในแก่นักเรียนที่ต้องการต่อไป
เพราะทั้งสังคมล้วนเกาะเกี่ยวกันไว้ในทางใดทางหนึ่ง การช่วยกันผลัก ช่วยกันดึงไม่ปล่อยให้ใครร่วงหล่นจึงเป็นภารกิจของเราทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน การช่วยให้นักเรียนคนหนึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่เพียงสร้างความชื่นอกชื่นใจให้ครอบครัวของเขาเท่านั้น แต่ยังสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่แพ้การลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ย้ำว่า การสร้างคนนั้นสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า
แต่เหนือกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ คือการสร้างโอกาส และการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่โลกใบนี้ ผ่านศักยภาพของมนุษย์แต่ละคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.matichon.co.th/education/news_4001216
https://pisathailand.ipst.ac.th/issue-2019-48
https://www.the101.world/educational-cooperation
https://www.the101.world/problems-of-education-budget
https://www.the101.world/research-on-thai-education-policy
https://dashboard.eef.or.th/cct/
https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/02/EEF-2022-year-report.pdf
https://www.uobgroup.com/web-resources/uobgroup/pdf/newsroom/2020/UOB-My-Digital-Space.pdf
https://www.eef.or.th/91023-2
https://kidforkids.org/wp-content/uploads/2023/05/เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง-รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว-2023-เล่มหลัก.pdf