“ภาวะโลกรวน” เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญและพยายามค้นหาวิธีที่จะคลี่คลาย ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เห็นได้จากหลายเวทีในระดับโลกที่ต่างมีหมุดหมายร่วมกันนั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ ‘การออกแบบและก่อสร้างอาคาร’ ซึ่งนอกจากความสวยงาม ความแข็งแรง และพื้นที่การใช้สอย อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน คือ การอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรที่ใช้ในกระบวนการก่อสร้างและการใช้งานอาคาร จะต้องมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยแนวคิดการออกแบบและก่อสร้างอาคารนี้เรียกว่า ‘อาคารเขียว (Green Building)’
ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาอาคารเขียวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่ไม่เพียงมุ่งมั่นทำหน้าที่ผลิต และส่งไฟฟ้า แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างอาคารที่อนุรักษ์พลังงาน จนคว้ารางวัลและได้รับรองมาตรฐานระดับโลก
The MATTER พูดคุยกับ สรวงสรร ยาบาดัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและบริหารงานก่อสร้าง แห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถึงเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบอาคาร ‘ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง’ อาคารเขียวอนุรักษ์พลังงานที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อทุกคน
จุดเริ่มต้นและความตั้งใจในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. คืออะไร
อย่างที่รู้กันดีว่าตอนนี้บรรยากาศของโลกแย่ลงและนี่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกกำลังพยายามช่วยกันเพื่อจะทำให้สภาพแวดล้อมโลกกลับมาดีขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศเป็นหลัก เราจึงต้องการมีส่วนร่วมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อดูแลโลกใบนี้ให้ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ฉะนั้น กฟผ. จึงมีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องการประหยัดพลังงานให้ยั่งยืน และให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด
กฟผ. ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านพลังงานกว่า 50 ปี เราจึงอยากถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านพลังงานไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการสื่อสารให้คนทั่วไปได้รู้ถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาที่ทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เกิดขึ้น โดยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ เข้ามาศึกษา เข้ามาทำกิจกรรม หรือเข้ามานำความรู้ไปใช้เป็นแบบอย่างในการที่จะเอาไปสานต่อ
ภายในศูนย์การเรียนรู้ของ กฟผ. สำนักงานกลาง มีอะไรให้เรียนรู้บ้าง
แน่นอนว่าธงหลักคือเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าที่มาของแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรามีนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ามากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคน ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่เข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน ตามคอนเซปต์ ‘EGAT for ALL กฟผ. เป็นของทุกคน เพื่อทุกคน’ ผ่านโจทย์เรื่องพลังงานต่างๆ เช่น เราจะผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นได้อย่างไร นอกจากนี้เราก็มีกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Workshop ศึกษาเรื่องพันธุ์พืช ป่า ต้นไม้ และพื้นที่สีเขียว ผ่านความร่มรื่นของต้นไม้โดยรอบอาคาร สวนแนวตั้ง รวมถึงสวนบนดาดฟ้า ที่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด ‘การเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ Learning in the Park’
ที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงานก็สามารถเข้ามาเรียนรู้กับเราได้ เพราะศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง คืออาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน กระบวนการก่อสร้างทุกจุดคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและสภาพแวดล้อม เพราะนี่คือนโยบายที่เป็นภารกิจหลักของเรา เราต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการก่อมลภาวะ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ และทำให้ทุกพื้นที่มีคุณค่าต่อโลกและผู้ใช้งาน
กว่าจะมาเป็น ‘อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.’ ที่ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านขั้นตอนการคิดออกแบบและก่อสร้างอย่างไร
ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ คือนโยบายของ กฟผ. ที่เราตั้งใจทำให้ไปถึงมาตรฐานระดับโลก
ตั้งแต่ได้รับโจทย์มา ด้านทีมออกแบบและทีมบริหารการก่อสร้างเราต้องมาวางแผนกันอย่างหนัก เริ่มจากตีความเพื่อออกแบบพื้นที่ และสำรวจว่าแต่ละพื้นที่เราจะทำเป็นอะไรบ้าง แล้วค่อยๆ ลงรายละเอียดแต่ละส่วนลงไป เช่น เราต้องการให้มีพื้นที่การทำกิจกรรม มีพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ รวมถึงห้องสำนักงาน แต่ไอเดียสำคัญคืออาคารแห่งนี้จะต้องสร้างมาเพื่อทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร ตามหลักการออกแบบ Universal Design
ขั้นตอนต่อไปคือการคำนวณการใช้พลังงาน การก่อสร้างอาคารขึ้นมาสักหลังนั้นมีรายละเอียดหลายด้านที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเลือกวัสดุก่อสร้างและนวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยกันทำงานให้อาคารหลังนี้ประหยัดพลังงานมากที่สุด เช่น ถ้าผนังด้านหนึ่งรับแดดมากๆ ก็จะรับความร้อนสูง ไฟ แอร์ก็ใช้มาก ดังนั้นต้องมาหาวิธีว่าจะลดปัญหานี้อย่างไร ควรจะก่อสร้างผนังแบบ Double-Skin หรือสร้างให้ผนังเอียงเพื่อหลบแสงแดด หรือจะออกแบบพื้นที่ให้ลมพัดผ่านเข้ามาเพื่อลดความร้อน เหมือนบ้านทรงไทยในสมัยก่อนที่มีใต้ถุนสูง
เพราะโดยทั่วไปแล้วสำหรับอาคารขนาดใหญ่ ส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดคือใช้ไปกับเครื่องปรับอากาศ เกินกว่า 60% ของพลังงานทั้งหมด ดังนั้นนี่จึงเป็นเป็นธงที่เราปักไว้ เพื่อทำให้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกอยู่สบาย เย็น ปลอดภัย โดยใช้ภาวะของบรรยากาศรอบๆ ตามธรรมชาติของเรา ให้พัดผ่านเข้าไป
รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเอาอุณหภูมิที่เย็นๆ ของต้นไม้และบ่อน้ำให้พัดเข้าไปในอาคาร ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อโจทย์ที่เราตั้งกันไว้ นั่นคือทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดและใช้พลังงานในการก่อสร้างน้อยที่สุด
นอกจากนั้นยังคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนและผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ LED วัสดุมุงหลังคาเหล็กเคลือบสีที่มีค่าสะท้อนความร้อนสูงและมีฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา ผนังที่มีรูพรุนเพื่อการระบายอากาศ ก็ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้
นอกจากงานออกแบบโครงสร้าง ภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้มีนวัตกรรมใดบ้างที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
เรามีห้องควบคุมระบบการจัดการพลังงานของอาคารโดยเฉพาะ เพื่อที่จะควบคุมการขึ้นลงของพลังงานแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ไฟ อุณหภูมิ รวมถึงคนเข้าไปอยู่ในตึกจะรู้สึกสบาย หายใจสบาย เพราะมีระบบกรองอากาศที่ดี
เริ่มต้นจากพลังงานไฟฟ้า เราติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหลายจุด ทั้งตามผนังอาคาร หลังคาที่จอดรถ ซึ่งโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อที่จะเอามาช่วยลดและประหยัดการใช้พลังงานหลักที่อาคารใช้อยู่ได้อีกทาง
ส่วนด้านระบบน้ำ เรามีทีมวิศวกรที่ดูแลระบบหมุนเวียนน้ำ ตั้งแต่การกักเก็บน้ำฝนในบ่อหน่วงน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในกรณีต่างๆ ส่วนน้ำเสียเราก็ไม่ได้ปล่อยลงท่อออกข้างนอก เรานำมาบำบัดให้ได้คุณภาพน้ำที่ดี แล้วก็นำไปใช้ต่อ เช่น การรดน้ำต้นไม้
จะเห็นว่าการออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานมีรายละเอียดเยอะมาก ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ให้สอดรับกับธรรมชาติและพฤติกรรมผู้ใช้งาน การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง การคำนวนพลังงานภายในอาคาร รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ โดยที่ทุกอย่างที่กล่าวมาจะต้องทำงานประสานกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องพยายามรวมทุกศาสตร์ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเดียวกัน
ความพยายามเป็นผล เมื่อศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ได้รับการรับรองเกณฑ์มาตรฐานในการสร้าง TREES และ LEED
อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ผ่านการตรวจประเมินอาคาร ตามมาตรฐานเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability : TREES) ซึ่งเป็นมาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย จากสถาบันอาคารเขียวไทย ในช่วงคะแนนสูงสุด ระดับ PLATINUM และได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา (LEED) ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จนคว้ารางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ รางวัลดีเด่น ในช่วงคะแนนสูงสุด (Platinum) จากการประกวด Thailand Energy Awards 2020 ประเภท อาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (อาคารใหม่) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด ASEAN Energy Awards 2021 ) ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารเขียว (Green Building
แต่กว่าจะผ่านเกณฑ์ระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตามเกณฑ์การให้คะแนนนั้นจะพิจารณาจาก
การบริหารจัดการอาคาร
ผังบริเวณภูมิทัศน์
การประหยัดน้ำ
พลังงานและบรรยากาศ
วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง
คุณภาพของสภาพแวดล้อมภายในอาคาร
การป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรม
โดยเริ่มประเมินตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการก่อสร้างอาคาร ไปจนถึงการใช้งานจริง และด้วยการออกแบบและก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ตามมาตรฐานอนุรักษ์พลังงานข้างต้น ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้กว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับอาคารสำนักงานทั่วไปที่มีขนาดใกล้เคียงกัน อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จึงเป็นอาคารแห่งแรกของ กฟผ. ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TREES และ LEED ในระดับ PLATINUM และยังสะท้อนว่าเราเอาจริงเรื่องการลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
มองว่าอาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะมีส่วนส่งเสริมในภาคธุรกิจได้อย่างไร
ที่ผ่านมาก็มีภาคธุรกิจเข้ามาดูอาคารของเราเพื่อนำไปต่อยอดเยอะอยู่เหมือนกัน บางแห่งก็เข้ามาดูนวัตกรรมต่างๆ ที่เราใช้ เผื่อในอนาคตเขาจะนำไปประยุกต์เข้ากับธุรกิจตัวเอง รวมถึงขอคำปรึกษาว่าถ้าสนใจจะสร้างอาคารตามแนวคิดอาคารเขียวที่เน้นการประหยัดพลังงานเช่นนี้ เขาจะต้องเริ่มทำจากอะไรก่อน
นอกจากนั้น กฟผ. ก็มีแนวคิดจะไปจับมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือมิวเซียมต่างๆ เพื่อสร้าง Route ในการเดินทางเข้ามาศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมกับทางศูนย์การเรียนรู้ของเรา
ช่วงนี้จะเห็นได้ว่าสังคมพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าให้คาดการณ์ทิศทางของงานก่อโครงสร้างอาคารในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เทรนด์โลกในอนาคตข้างหน้า มนุษย์น่าจะให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุมากขึ้น
เราเริ่มเห็นพัฒนาการของนวัตกรรมวัสดุต่างๆ ที่มีทิศทางดีขึ้น มีวัสดุในการก่อสร้างหลายอย่างที่อ่อนโยนต่อสิ่งแวดล้อมโลก เช่น กาว สี ที่ไม่เป็นพิษกับมนุษย์และไม่ปล่อยสารพิษขึ้นไปอยู่ในภาวะโลก รวมถึงวัสดุมุงหลังคาและวัสดุที่ใช้ทำผนัง เราก็เห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น มีตัวเลือกวัสดุที่ทำให้อาคารไม่ร้อนมีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการเปิดเครื่องปรับอากาศไปได้มาก
นอกจากนั้นหลังจากโลกผ่านวิกฤติโควิด-19 วิธีคิดของคนออกแบบก็จะเปลี่ยนไป การออกแบบพื้นที่ในอาคารก็จะไม่เหมือนเดิม เน้นพื้นที่สำหรับ Public เปิดโล่งมากขึ้น เพื่อสร้างความผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้ก็จะเปิดโอกาสให้ นักออกแบบ (Designer) ต้องคิดอะไรใหม่ๆ มากขึ้น
การที่มนุษย์ได้อยู่ในอาคารที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมมีผลดีอย่างไร
สภาพแวดล้อมที่ดีนั้นช่วยได้หลายเรื่อง ช่วยเรื่องจิตใจ ส่งผลต่อวิธีคิด เหมือนกับการที่เรานำเอาตัวเองไปอยู่ในภาวะที่สบายกาย สบายใจ มันจะช่วยให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ดีๆ ซึ่งทาง กฟผ. อยากให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ส่งต่อพลังงานดีๆ เหล่านี้ไปถึงทุกคน ให้ถึงชุมชน ให้คนที่อยู่รอบๆ ได้เข้ามาใช้งานร่วมกัน เพื่อที่ว่าเราจะได้ไปเผยแพร่พลังงานดีๆ กันต่อๆ ไปเพื่อทุกคน ตามแนวคิด EGAT for ALL
ภาพต่อไปของศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. คืออะไร จะทำอะไรอีกบ้างในอนาคต
เราจะสร้างอาคารอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นอาคารที่จะผลิตพลังงานให้อาคารศูนย์การเรียนรู้ โดยใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างเดียว ขณะนี้กำลังดำเนินการในแผนงานของส่วนขยายอยู่ โดยความตั้งใจคือเราจะลดการใช้พลังงานหลักจากข้างนอก และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ ที่เราผลิตได้ เช่น จากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วเก็บไว้ในแบตเตอรี่แทน คาดว่าจะเสร็จในปี 2567 แต่ด้วยความที่เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มาจากธรรมชาติ จากแสงอาทิตย์ที่ไม่เสถียร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของการสร้างอาคารเขียว ที่พวกเราจึงต้องทำงานกันอย่างหนัก เพราะมีรายละเอียดต้องปรับเยอะมาก
แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็เป็นไปเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดคุณค่ามากที่สุด โดยที่ยึดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รวมถึงยังคง Concept เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานเพื่อทุกคน