หลายคนรู้จัก โต้ – สุหฤท สยามวาลา ในบทบาทของการเป็นศิลปินและดีเจสไตล์จัดจ้าน และหลายคนก็ยังพอรู้ว่าเขาคือผู้บริหาร ทายาทรุ่นที่ 4 ของ บริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา จำกัด (DHAS) ผู้นำในธุรกิจเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน ชื่อดัง ‘ตราช้าง’
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในบทบาทของการเป็นผู้บริหาร เขามีวิธีคิดในการทำงานแบบไหน ซึ่งตราช้างถือได้ว่าเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เลือกใช้สื่อออนไลน์ในการโฆษณาสินค้า จนออกมาเป็นซีรีส์ออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘Love Therapy บริษัทบำบัด ไม่จำกัดรัก’ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตฟิล์มยังไม่บูมเหมือนทุกวันนี้ เรียกว่ากล้าที่จะทิ้งแมสมีเดียอย่างโฆษณาในทีวีได้อย่างไม่เกรงกลัว ซึ่งผลตอบรับก็ทำให้ก็ซีรีส์เรื่องนี้คงกระแสยาวนานมาได้จนถึง 4 ซีซั่น โดยมีเขาที่เป็นทั้งผู้กำกับและวางแผนการตลาดเองทุกขั้นตอน
ลองไปสัมผัสอีกแง่มุมของชีวิตของการเป็นผู้บริหารในคราบศิลปินของ โต้ – สุหฤท สยามวาลา ที่เลือกหยิบมุมมองทั้งสองด้านของชีวิตมาผสมผสานในการทำงานได้อย่างลงตัว และเขาจะมีมุมมองในการบริหารงานอย่างไร เพื่อนำพาให้บริษัทที่มีอายุกว่าร้อยปีนี้ เดินหน้าต่อไปในโลกธุรกิจได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
การเข้ามาเป็นผู้บริหารในช่วงแรก มีปัญหาเรื่องการแบ่งหน้าที่ไหม ระหว่างศิลปินกับการเป็นผู้บริหาร
ก่อนหน้านั้นเราเป็นผู้อำนวยการขายมากก่อน ซึ่งตอนนั้นก็เป็นทั้งดีเจ เล่นคอนเสิร์ต ออกอัลบั้มอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพนักงานทั้งหมดเขาจะเคยชิน คือไม่เห็นว่าเราเอาชีวิตที่เป็นศิลปินในแง่การแต่งตัว ในแง่ความอาละวาด ความวีนต่างๆ มาอยู่ในงาน พอเวลาขึ้นเป็นผู้บริหารทุกคนก็เลยเข้าใจว่าอีตานี่มันก็เป็นแบบนี้แหละ เราก็รู้สึกว่าเวลาแยกทั้งสองอย่างได้ มันก็จะค่อนข้างโอเคในแง่การทำงาน แต่สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นก็คือเวลาเราใช้ชีวิตได้ทั้งสองด้าน ทำให้แรงในการทำงานยิ่งแรงขึ้นอีก จะไม่รู้สึกว่าไปเป็นดีเจถึงตี 2 แล้วมาทำงานตอนเช้า กูเหนื่อยจะตายแล้ว แต่จะเป็นแบบเมื่อวานเพิ่งไปเต็มที่บนสเตจ เช้ามากูโคตรได้ฟีลเลยว่ะ โคตรแบบมีแรงเลย คือ blend in ชีวิตได้
เหมือนหาจุดตรงกลางที่บาลานซ์กันได้หรือเปล่า
จริงๆ ก็บาลานซ์ไม่ได้หรอก ตอนแรกเคยคิดว่าจะต้องแบ่งเวลา แล้วมันก็ไม่เคยเวิร์ค สุดท้ายกูไม่แบ่งแล้วกัน เช่นถ้าอาทิตย์นี้ไม่สามารถทำเพลงได้เลย เพราะงานมันเยอะ ก็จะทำแต่งานอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาหยุด ก็จะไม่ทำงานแล้ว กูจะทำเพลงอย่างเดียว คือจริงจังในทุกๆ อย่างที่ทำ เพียงแต่เราเลิกแบ่งเวลามัน จะไม่แบ่งว่า 8 โมงถึง 5 โมง กูต้องเป็นผู้บริหารนะ 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม กูจะทำเพลงแล้ว หลัง 3 ทุ่มกูจะไปเป็นดีเจ เคยพยายามแบ่งแล้วมันเฟล ก็เลยเลิกแบ่ง ปล่อยไหลเลยว่าช่วงไหนมันเป็นยังไง อารมณ์ตัวเองเป็นแบบไหน อะไรที่จะทำให้สิ่งนั้นออกมาดีที่สุด เราก็จะเคารพตรงนั้น
การจะทำแบบนั้นได้ ต้องเรียกว่ารักในงานที่ทำขนาดนั้นเลยไหม
คนเราถ้าไม่รักในสิ่งที่ทำ มันจะถูกบีบคั้นการทำงานเข้าทุกวัน ทำให้เรารู้สึกเฟลลงเรื่อยๆ เสร็จแล้วก็จะพยายามหาทางแก้ด้วยการพยายามทำตัวเองให้มีความสุข ซึ่งไม่มีหรอก เพราะมึงไม่รักในสิ่งที่มึงทำอยู่ มึงจะต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากข้างนอกมากเป็นพิเศษ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความอดทน ซึ่งความอดทนคือระเบิดเวลา ถ้าเริ่มมีเมื่อไร นับวันถอยหลังได้เลย อ่านไปเถอะ ทั้งคำคมหรือเทคนิคการใช้ชีวิตให้มีความสุข มึงไม่เชื่อมันหรอก แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำ ทุกอย่างจะออโต้หมดเลย ความกดดัน ความเครียดที่มันเกิดจะถูกสร้างสมดุลไปเองโดยปริยาย โดยที่ไม่ต้องพึ่งคำคม คำปลอบใจจากเพื่อนร่วมงาน หรือคำปลอบใจจากหัวหน้าเลย จะรู้สึกว่ากูไม่เห็นทุกข์เลยวะ สู้ฉิบหายเลย เราจะเชื่อเรื่องความรักในงานเป็นพิเศษ แล้วจะบอกกับทุกคนในบริษัทด้วยว่า มึงรักตราช้างหรือเปล่า มึงรู้ไหมว่าตราช้างให้ข้าว ให้น้ำ ให้อาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ มันเป็นเกียรตินะ
จริงๆ แล้วคนทำงานหลายคนก็ไม่รู้สึกรักในงาน แต่ทำไปเพราะหน้าที่หรือเปล่า
ไม่รักก็ต้องทำให้รัก ต้องจีบมัน ค่อยๆ ทำความรู้จัก หาเสน่ห์ของมันให้เจอ เวลาเราเริ่มจะรักใคร เราไม่เคยรู้จักกับเขามาก่อน แรกๆ บางทีก็ไม่ชอบนะ เห็นหน้าแล้วอยากต่อยฉิบหายเลย แต่พอเขาอ้าปากพูดเท่านั้นนะ ตายแล้วมีเสน่ห์ พอคุยแล้วก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะได้ศึกษาเขามาแล้ว ต้องเริ่มทำความรู้จักก่อน แต่ถ้าปิดตัวเองตั้งแต่แรก ทำห่าอะไรในชีวิตก็จะไม่สำเร็จ ต้องเปิดมัน ทำความรู้จักมัน แล้วความรักมันจะค่อยๆ เกิด พอรักแล้วนะ ทีนี้โคตรสนุกเลย ทำบ้าอะไรก็จะมีความสุข ไม่ต้องเสียเวลาหาคำคมแรงบันดาลใจอะไรนักหนาเลย
แต่คนสมัยนี้ก็ต้องการความสำเร็จหรืออะไรที่มันรวดเร็ว ไม่ได้ให้เวลากับมันอย่างจริงจัง
แล้วมันเวิร์คไหมความรักแบบนั้น ไม่เวิร์คหรอก บางทีก็ไม่ต้องรีบขนาดนั้น คนเรามักจะชอบลืมกราฟในชีวิต มาถึงตรงนี้ปั๊บต้องถึงตรงนี้เลย ชีวิตมันต้องมีกราฟขึ้นไป บางคนชันมาก บางคนชันน้อย ความชันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันจะมีโชค มีดวง หรือมีอะไรที่เข้ามาส่งเสริมเสมอ เพราะถ้าเราไม่มองชีวิตเป็นกราฟ ไม่มองเป็นการพัฒนา ไม่มองเป็นการปรับปรุง ปล่อยให้กราฟดิ่งเมื่อไร เจ๊งแน่ๆ
ส่วนตัวถ้าเจอช่วงเวลาการทำงานที่ไม่โอเค มีวิธีรับมืออย่างไร
มันก็จะต้องมีช่วงเวลาที่เขาเรียกว่า space วันนี้มึงกวนตีนกูมากเลย โมโหอยู่นั่น แต่เดี๋ยวลองหยุดคุยกันสักพักหนึ่ง พรุ่งนี้มาคุยกันใหม่ คือหยุดแป๊บนึง แล้วหา space แล้วค่อยกลับมา เพราะยังไงเวลาคนเราเป็นเนื้อคู่แล้วหรือเป็นอาชีพแล้ว ยังไงก็ต้องกลับมาหากัน แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานความรักเลย ในที่สุดมันก็ไม่มีทางเวิร์ค
การวางแผนการตลาดของตราช้าง มีวิธีคิดในการทำงานอย่างไร เหมือนกับตอนที่ทำเพลงไหม
งานของเราคือการแต่งเพลง ทุกอย่างมีโน้ต มีเมโลดี้ มีฮาร์โมนีของมัน ซึ่งเราจะเอามาใช้ในการทำงานด้วย เวลาคิดโปรเจกต์ก็เหมือนกันเลย เมโลดี้คืออะไร สิ่งที่จะตัวที่จะเป็นตัวฮุกให้คนติด มันก็คือแคมเปญการขาย หลังจากนั้นก็ต้องมีฮาร์โมนีคือทำยังไงให้โครงการขายของเรามันเวิร์คขึ้น อย่างซีรีส์ ‘Love Therapy บริษัทบำบัด ไม่จำกัดรัก’ คือการอยากจะโฆษณาที่มีเมโลดี้คือเรื่องชีวิตและความรัก เหมือนกับการแต่งเพลง โอ้โหได้ 100 ล้านวิว คนร้องกันทั้งบ้านทั้งเมือง นั่นคือผลที่เกิดจากการทำที่เหมือนกันหมด คือไม่เริ่มที่ยอดขาย แต่อยากให้ลูกค้ามีความสุขก่อน แต่พอหลังจากนั้นจะถามเลยทุกวันเลยว่าตัวเลขเท่าไร กี่แชร์ กี่คอมเมนต์ กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะนั่นคือตัวที่วัดว่าฮาร์โมนีหรือความรักทั้งหมดมันออกผลมาเป็นอะไร ต้องมีเรื่องธุรกิจเข้ามาในการประเมินว่าตกลงมันโอเคหรือไม่
สุดท้ายสิ่งที่วัดผลได้ก็คือเรื่องตัวเลขอยู่ดีใช่ไหม
ไม่มีอะไรวัดผลได้เท่ากับผลประกอบการ พูดไปเถอะว่าเราต้องมีความรัก แต่ยังไงคนทำงานก็ต้องถูกประเมินและต้องยอมรับมัน เพราะการประเมินที่ดีที่สุดคือการประเมินเป็นตัวเลข ไม่ใช่ประเมินเป็นความรู้สึก บางทีเราใช้ความรู้สึกทำนู่นทำนี่ได้ แต่สุดท้ายมันก็คือตัวเลข แล้วถ้าเราไม่ยอมรับมัน หาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมตัวเลขถึงไม่ดี อ๋อ เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ ก็ตายพอดี เพราะฉะนั้นอย่าหาเหตุผลมาอธิบาย ต้องหาเหตุผลมาแก้มัน ถึงจะทำให้เติบโตต่อไปได้
มองว่าการวัดผลแบบนี้ เหมือนหรือแตกต่างจากวงการเพลงที่เคยสัมผัสมาอย่างไร
มันอยู่ที่เป้าหมายของแต่ละคนเลย เราทำงานอัลบั้มแรกโคตรหวังดังเลย สมัยก่อนกูต้องเป็นตัวของตัวเอง แล้วบอกว่าต้องสนอง need ตัวเอง ต้องมีความเป็น individual อย่างสูงสุด คนที่จะเข้าใจกู ต้องเป็นคนอย่างกูเท่านั้น แต่ความยากคือพอเราเริ่มทำมันมากกว่านั้น คือเราทำให้เพลงฮิตไม่ได้ มันไม่ดัง อย่างนี้จะถือว่าสำเร็จหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการทำงานสนอง need ง่ายที่สุดในโลก แต่สนอง need แล้วยังฮิตอีก โอ้โห นี่สิโคตรเจ๋ง เพราะมันยากมาก หรือคนทำให้แมสอย่างเดียวโดยไม่สนใจตัวเองก็ยิ่งยากอีก สรุปคือเราต้องคิดว่า ถ้างานมันออกไปแล้วดังมาก นี่คือโคตรเติมเต็มความรู้สึกเลยหรือเปล่า เราต้องผ่านจากจุดที่สนอง need ด้วย แล้วขอดังด้วยได้หรือเปล่าวะ ถ้าทำตรงนี้ได้ มันจะสมดุลเอง สุดท้ายถ้าเป้าหมายเคลียร์แต่แรก เราจะโดนประเมินยังไงก็ไม่สนใจเลย เช่นแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง มีคนชอบมี 20 คน กูพอใจแล้ว มันก็แฮปปี้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดนะ
ทำไมตราช้างถึงกล้าที่จะบุกเบิกทำการตลาดออนไลน์ ในยุคที่แทบไม่มีใครสนใจเลย
สมมติว่าถ้าเรารอให้ทีวีตายลง มันไม่ตายหรอก หรือรอให้ทีวีมันเปลี่ยนรูปแบบไป แล้วเราค่อยไปปรับตัวตอนทุกอย่างเปลี่ยนแล้ว มันสายไป เพราะต้องใช้เวลา วันแรกที่ทำมีลูกน้องที่ดูแลตรงนี้อยู่แค่ 2 คน คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง พอบอกทั้งบริษัทว่าจะเลิกใช้แมสมีเดีย มีแต่คนบอกบ้าหรือเปล่า มีช่วงคลุกคลานอยู่พักหนึ่ง แต่ก่อน Like อย่างเดียว เดี๋ยวนี้มี Share เข้ามาอีก เสร็จต้องหา Engagement อีก ดูยอดวิวอีก วิวหนึ่งดูกี่วินาที จะประเมินยังไง ก็ยิ่งปวดหัว เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรตอนนี้ต้องไวมากๆ เราอยู่กับคลื่นสังคมที่ไม่เคยเห็น โฆษณาทีวีสมัยก่อน ไม่เคยมีใครมาคอมเมนต์ ไม่เคยมีใครมาด่า ไม่เคยมีใครแสดงความเห็น ออนแอร์ไปมีคนพูดถึง แต่เราไม่เคยรู้ วันนี้กลับรู้หมด มันยิ่งทำให้เราตื่นเต้นใหญ่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่วะ
‘Love Therapy บริษัทบำบัด ไม่จำกัดรัก’ จากซีซั่นแรกถึงซีซั่นล่าสุด ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร มองว่าการมาก่อนได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร
ไม่ได้รู้สึกว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไร เพราะว่าการโฆษณาหรือการทำการตลาดมันเปลี่ยนไป เราจะ blend in สินค้าได้ยังไง โดยที่ให้คุณค่ากับลูกค้าด้วย คือโฆษณาสมัยก่อน คือจะขายของอย่างเดียว พูดว่า แฟ้มตราช้าง ดีฉิบหาย แต่วันนี้จะถามว่า เธอชีวิตเธอเป็นยังไง คงยุ่งเหยิงมากใช่ไหม ให้แฟ้มเราช่วยไหม เป็นวิธีที่ตรงไปก็ไม่มีใครดู อ้อมไปก็ปิดหมด ตรงกลางอยู่ตรงไหนวะ ซึ่งก็ไม่มีใครสอนนะ อย่างก่อนจะทำซีซั่น 4 เราบอกว่า ตราช้างรู้จริงเรื่องชีวิต รู้จริงเรื่องชีวิตมันมีเรื่องอะไรบ้าง แล้วสินค้าจะไปอยู่ในนั้นได้ยังไง ต้อง blend เนียนๆ ให้คนเห็นด้วย สนุกไปด้วย ได้คุณค่าด้วย จากซีซั่นแรกที่ขายแบบเนียนมาก ตอนนั้นก็นึกว่ามันต้องเนียน กลัวลูกค้าจะเห็นว่าเราโฆษณา พอตอนนี้โผล่ออกมาโต้งๆ เลย กำลังร้องไห้อยู่ก็ขายของได้นี่หว่า ไม่เห็นเป็นอะไร ตกลงตอนนี้โจทย์มันคือทำยังไงให้คนดูจบ มันจึงต้องเข้มข้น ต้องเข้าถึงชีวิตเขา ในการทำหนังเรื่องนี้ของเราคือได้ทั้ง 2 แบบ คือได้ทั้ง story ได้ทั้งตัวสินค้าด้วย และช่วงที่เป็นขายของก็ตัดเอามาทำเป็นโฆษณาได้อีก
พูดถึงตัว story ของหนังบ้าง มีวิธีหา insight ของพนักงานออฟฟิศยังไง
insight จากเราเองนี่แหละ ทุกออฟฟิศจะมีตัวแสบคือแผนกบัญชีที่มีคาแรกเตอร์ชัดๆ มีฝ่ายบุคคล มีเลขา มีมาร์เก็ตติ้ง แล้วเราก็สร้างเรื่องให้ 4 คนนี้มันเป็นเพื่อนกัน ทำให้มีชีวิตการทะเลาะกันของเพื่อนร่วมงาน การเปลี่ยนแปลงชีวิต อย่างสาวโมเดิร์นที่ไม่ยี่หระกับผู้ชายมาก่อน รู้สึกว่าตัวเองมีอิสระมาก ตัวเองเก่ง แต่กลับมีแฟนเด็ก ผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่ต้องมีรอยสัก หล่อ มีกล้าม จนสาวๆ ในออฟฟิศกรี๊ด คือ contrast กับผู้จัดการบุคคลที่ทุกคนเคยเห็น เป็นนักบริหารบุคคลที่โคตรมีเสน่ห์ จริงๆ ก็มาจากชีวิตคนแถวๆ นี้แหละ แล้วเอามาทำยังไงให้มันเกิดความ contrast ขึ้น ทำให้คนดูสนุกขึ้น ค่อยๆ ปูไปเรื่อยๆ
ทำไมถึงยังคงเส้นเรื่องรักเป็นหลัก มันง่ายที่สุดสำหรับคนยุคนี้แล้วหรือเปล่า
ความรักของเรามีหลายแบบมากเลย เพราะพื้นฐานของมนุษย์อยู่ที่ความรัก รักพ่อ รักแม่ รักแฟน รักตัวเอง รักผู้คนรอบข้าง ชีวิตเราอยู่กับความรักเยอะมาก มีองค์ประกอบของความรักเต็มไปหมด จึงเอามาเล่นได้หลากหลายมุมมองมาก หนึ่งในตัวกระตุ้นคือเรื่องเพลง เพลงรักมีกี่ร้อยล้านเพลง แล้วทำไมมันถึงมีมุมมองใหม่ๆ ทางความรักได้อยู่ เพราะฉะนั้นความรักก็เหมือนโน้ตเพลง สามารถแตกประเด็นหรือแตกอะไรออกไปได้อีกเยอะแยะมากมาย ก็เลยรู้สึกว่าเอาความรักที่แตกต่างหลากหลายรูปแบบมาเล่น น่าจะสนุกดี
สินค้าของตราช้างที่ยังเป็นเครื่องเขียนแบบจับต้องได้อยู่ แต่ทุกอย่างเกือบจะย้ายไปดิจิทัลหมดแล้ว กังวลในการเปลี่ยนแปลงนี้ไหม
เราต้องเอ็นจอยกับมัน เพราะตอนนี้สังคมเรากำลังเข้าสู่สังคมคนแก่ที่หนักกว่าญี่ปุ่นอีก แต่เด็กและโรงเรียนมันเท่าเดิม ทีนี้เครื่องเขียนมันจะอยู่ยังไง มันก็จะปรับรูปแบบไป แต่เราไม่ได้รู้สึกอะไรขนาดนั้นนะ ถ้า demand มันลด ก็อย่าไปเครียดกับมัน อย่างสินค้าของเรามีแฟ้ม สี ดินสอที่ยังอยู่ แต่พอเป็นปากกา ตอนนี้ทุกคนใช้โน้ตในมือถือกันหมด เราก็ดิ้นรนโดยการแนะนำให้ลองเขียนปากกาด้ามนี้ไหม เขียนแล้วจะโคตรรักเลย จะใช้เทคโนโลยีก็ได้ไม่เป็นไร แต่ของเราเขียนแล้วสนุกกว่า เราก็ต้องทำปากกาให้เขียนสนุกกว่าเขียนในโน้ตมือถือ เพราะการจดมันเป็นคนละแบบ ทำให้ยอดขายของปากกาก็ยังโตอยู่ แต่มันจะโตถึงเมื่อไรก็ไม่รู้ เพราะบริษัทเราผ่านคลื่นพวกนี้มาหลายครั้ง สมัยก่อนเราเคยทำปากกาเขียนแบบที่เป็นหัวเล็กๆ ที่สถาปนิก นักออกแบบเขาใช้กัน จากยอดขายทะลุฟ้า แล้วก็ร่วงทันทีเลย เพราะคอมพิวเตอร์เข้ามาแทน สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอีก จะมีอย่างอื่นเข้ามาทดแทนและเปลี่ยนแปลงเสมอ เป็น cycle ที่เราต้องยอมรับ
เหมือนมองว่ามันเป็นธรรมชาติของธุรกิจ ไม่ได้กังวลกับการเปลี่ยนแปลงขนาดนั้นใช่ไหม
ถามว่ากังวลไหม ก็กังวล แต่เราก็ต้องมานั่งคิดว่า จะไปขวางโลกทำไม จะไปสร้างโทรศัพท์แข่งกับเขาเหรอ ก็ไม่ใช่ เราต้องมองให้ยาวๆ และปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างวันนี้มีเทรนด์ของการจดเลคเชอร์ของนักศึกษาโดยเฉพาะสาวๆ ที่โคตรสีสันเลย กลายเป็นงานอาร์ตเลยนะ มันจึงเกิด demand ใหม่ๆ ขึ้น เพราะฉะนั้นมันจะเติบโตไปและเปลี่ยนรูปแบบไป มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเรา เราเป็นคนสนุกกับการเปลี่ยนแปลงมาก ยิ่งเปลี่ยนแปลง ยิ่งโคตรเอ็นจอย แล้วเราก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ถ้าองค์กรเราเป็นองค์กรที่ยังทำอะไรแบบเดิม วันนี้ยังโฆษณาเหมือนเดิม เราจะตายชักแน่นอน แต่พอเปลี่ยนแปลง มีเรื่องใหม่ๆ ทุกวัน มันสนุกว่ะ เลยไม่ได้รู้สึกอะไรกับการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเปลี่ยนยิ่งชอบ ยิ่งอยากเรียนรู้ แต่บางคนพอเปลี่ยนตอนแรกจะอึดอัดนิดหนึ่ง แต่ถ้าผ่านไปได้มันจะสนุกมาก
อยากให้อธิบายถึง motto ‘รู้จริงเรื่องชีวิต รู้จริงเรื่องเครื่องเขียน’ อย่างเรื่องเครื่องเขียน ตราช้างรู้จริงในเรื่องนี้อย่างไร
รู้ไหมว่าเวลาเราจะออกสินค้าสักรุ่นหนึ่งออกมา อย่างเช่นแฟ้มสักอัน เราต้องดูว่าแกรมต้องเท่าไร เหล็กต้องหนาเท่าไร เปิดปิดได้กี่ครั้ง คนใช้ใช้ได้กี่ครั้ง ตกกี่ครั้งแล้วไม่เป็นไร กรรไกรที่ดีมันต้องเป็นยังไง มันต้องใช้ปลายตัดได้ ปากกาแท่งละ 6 บาท คนอาจมองว่าจะอะไรนักหนา แต่เราต้องดูว่าท่อเป็นยังไง หมึกไหลดีไหม หัวมันเป็นยังไง สีอะไร เทรนด์ตอนนี้เป็นอย่างไร เราตอบตรงนี้ให้กับลูกค้าได้หมด นี่คือเรารู้จริงเรื่องเครื่องเขียน พอเวลาเรารู้สึกว่าเราใส่ใจในรายละเอียดของเครื่องเขียนขนาดนั้น มันก็คือการใส่ใจในชีวิตของลูกค้าเรา เลยมาเป็น motto ว่า ‘รู้จริงเรื่องชีวิต รู้จริงเรื่องเครื่องเขียน’
แล้วพอเป็นเรื่องชีวิต ตราช้างรู้จริงอย่างไร
คือถ้าเราอินบ้าบอขนาดนี้กับเครื่องเขียน เพราะฉะนั้นกับเรื่องชีวิตลูกค้านี่ไม่ต้องห่วงเลย เรายิ่งต้องรู้จริง สุดท้ายก็เลยนำมา blend in กันจนออกมาเป็น ‘Love Therapy บริษัทบำบัด ไม่จำกัดรัก’ เราก็พูดในมุมมองเกี่ยวกับชีวิตที่มีสาระรองรับ อย่างเช่นทำไมผู้ชายถึงชอบคนแก่กว่า ในแง่จิตวิทยามันคืออะไร ก็เพราะผู้ชายคนนั้นมันสนิทกับแม่มาก เราก็ไปศึกษา คุยกับคนโน้นคนนี้มาเพื่อให้มันสมเหตุสมผล หรือคนท้องเป็นแบบไหน ฮอร์โมนที่มันวิ่งส่งผลกับอารมณ์ยังไง
เราพยายามเข้าถึงชีวิตจริงๆ ของคนให้มากที่สุด คือรู้ลึก รู้จริง แล้วงานของเราที่ออกมาจึงสนุกอย่างที่เห็น
Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Pantawan Siripatpuwadon