กระแสของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้ใช้รถในบ้านเรา สังเกตได้จากการที่แบรนด์ทั้งหลายต่างกำลังพัฒนารถ EV รุ่นใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ สะท้อนถึงความใส่ใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิกฤตพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่จำเป็นต้องมีอย่างเพียงพอและครอบคลุมในทุกๆ เส้นทาง ไม่ต่างจากสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้การใช้รถ EV ในชีวิตประจำวันสะดวกสบายและอุ่นใจต่อผู้ใช้นั่นเอง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ในฐานะของผู้ผลิตไฟฟ้า ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง โดยหัวใจสำคัญคือการพยายามสร้างสาธารณูปโภคด้านระบบไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ที่กำลังมีแผนในการขยายจำนวนสถานีเพิ่ม เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เกิด EV Ecosystem ได้สำเร็จ
EleX by EGAT กับการสร้าง EV Ecosystem
จากเป้าหมายใหญ่ในการทำให้ประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) นอกจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องร่วมมือกันแล้ว สำหรับประชาชนคนทั่วไปอย่างเราๆ การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ทดแทนยานยนต์เครื่องสันดาป จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญ
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่เพียงพอในบ้านเรา ทำให้การใช้รถ EV เป็นไปอย่างไม่สะดวกเท่าที่ควรและเกิดความกังวลเมื่อต้องการเดินทางระยะไกล เรียกว่าต้องพัฒนาหรือเพิ่มจำนวนให้มากเพียงพอ จนเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหมือนกับสถานีบริการน้ำมันให้ได้นั่นเอง ซึ่งเดิมที กฟผ. มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ EleX by EGAT ซึ่งพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าจากทาง กฟผ. ติดตั้งอยู่แล้วกว่า 14 แห่ง และกำลังมีแผนเพิ่มเป็น 23 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งมีแผนการสร้างให้ครอบคลุมทั่วประเทศในช่วงปี 2564-2565 นำไปสู่การสร้าง EV Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง
ขยายสถานี ตอบโจทย์และครอบคลุมทุกพื้นที่
เป้าหมายในการขยายสถานี EleX by EGAT ก็เพื่อตอบโจทย์การใช้งานใน 3 กลุ่มหลักอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น
1.การใช้ EV เดินทางระหว่างจังหวัด (Highway)
มุ่งตอบโจทย์ผู้ใช้รถ EV ที่เดินทางระหว่างจังหวัดหรือทางไกล ปัจจุบันมีสถานี EleX by EGAT ในพื้นที่ กฟผ. 7 สถานี และร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน PT อีก 5 สถานี เป้าหมายคือการติดตั้งให้ครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศมากขึ้นในเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ระยะห่างประมาณ 150-200 กิโลเมตรต่อสถานี โดยตั้งเป้าขยายปีละ 20 สถานี
2.การใช้ชีวิตด้วย EV ในเมือง (Intown)
มุ่งตอบโจทย์ผู้ใช้รถ EV ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ เพื่อให้การใช้ชีวิตด้วยยานยนต์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันมีสถานีในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานใหญ่ และที่ศูนย์การเรียนรู้พระราม 7 รวมถึงสถานี Partner ในสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตั้งเป้าขยายไปยัง Community Mall, โรงแรม, สนามกีฬา และสนามกอล์ฟ ปีละ 20 สถานี
3.การขนส่งเชิงพาณิชย์
เพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชน ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง รวมถึงสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการ โดยโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการขนส่ง, Food Delivery ทั้งรถขนส่ง รถบรรทุก และรถมอเตอร์ไซค์ ที่กำลังมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนไปใช้รถ EV ในอนาคต ซึ่งภายในปี 2565 มีแผนการร่วมมือกับผู้ให้บริการ 1-2 ราย และยังคงเปิดรับพันธมิตรใหม่ทุกราย ที่ต้องการมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน มีระบบบริหารจัดการ และทีมงานซัพพอร์ตที่ดี โดย กฟผ. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
พัฒนาแอปฯ EleXA ต่อยอดความสะดวกสบาย ค้นหาสถานี จอง จ่าย ครบจบในที่เดียว
นอกจากเรื่องของสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ที่ต้องเร่งเพิ่มปริมาณจุดติดตั้งให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว เรื่องของเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกก็เป็นสิ่งสำคัญ กฟผ. จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA ด้วยฟีเจอร์ที่รวมทุกความต้องการของผู้ใช้ไว้ด้วยกันให้ครบจบในแอปฯ เดียว ทั้งระบบวางแผนการเดินทาง ระบบจองจุดจอดรถอัจฉริยะในเมือง ที่จะทำให้การค้นหาสถานี การชาร์จ การจอง และจ่ายเงินของผู้ใช้รถ EV เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งระบบการแลกแต้มเพื่อเป็นส่วนลดในผลิตภัณฑ์ของ กฟผ. และพันธมิตรต่างๆ โดยแอปฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์ อีกทั้งยังมีการรวบรวมความต้องการของผู้ใช้รถ EV เพื่อนำมาอัพเดตเป็นฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แอปฯ นี้เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้การใช้รถ EV เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
จากการเปิดให้บริการสถานี EleX by EGAT ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา นอกจากจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้รถ EV แล้ว ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้มากกว่า 10 ตันคาร์บอน ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายในการสร้าง EV Ecosystem ให้สำเร็จในอนาคตต่อไป