‘ความหลากหลาย’ เป็นประเด็นที่สังคมพยายามขับเคลื่อนกันมาตลอด เพราะนั่นไม่ได้หมายถึงแค่การยอมรับอัตลักษณ์ที่แท้จริงของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปิดรับความคิด ความสามารถ และความเห็นที่แตกต่าง เพื่อช่วยให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด
แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอาหาร foodpanda ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีวัฒนธรรมเปิดกว้างเรื่องความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ ตัวตน หรืออายุของพนักงาน ซึ่งองค์กรอื่นๆ อาจมองว่าตัวตนบางอย่าง เช่น Working Mom ผู้หญิงข้ามเพศ หรือเด็กรุ่นใหม่ จะเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการทำงาน แต่ foodpanda กลับมองว่า ความหลากหลายและความเป็นปัจเจกเหล่านี้ต่างหาก คือเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร
เนื่องจากวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เป็น ‘วันสตรีสากล’ (International Women’s Day) ที่ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองสิทธิสตรีและความสำเร็จของผู้หญิง The MATTER จึงไปพูดคุยกับ 3 สาวแกร่ง 3 ตำแหน่งจาก foodpanda ซึ่งพวกเธอจะมาเล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้านี้พวกเธอเคยเผชิญอุปสรรคอะไรมาบ้างในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง การอยู่ในองค์กรที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลาย ช่วยส่งเสริมความสามารถและตัวตนของพวกเธออย่างไร และเพราะอะไรความหลากหลายจึงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร เราไปติดตามเรื่องราวเหล่านี้พร้อมๆ กันเลย
เส้นทางชีวิตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง
สาวแกร่งทั้ง 3 คนจาก foodpanda ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวให้เราฟังในวันนี้ เปรียบเสมือนตัวแทนความหลากหลายของผู้หญิงในองค์กร ทั้ง Working Mom ผู้หญิงข้ามเพศ และเด็กจบใหม่อายุน้อย ซึ่งพวกเธอต่างก็เผชิญกับเส้นทางชีวิตและอุปสรรคที่ไม่เหมือนกัน
เริ่มจาก นิกแน็ก หรือ เพ็ญพิชญ์ ศุภวโรภาส ตำแหน่ง Head of Partner Management เธอทำงานที่ foodpanda มาเป็นเวลา 5 ปีกว่าแล้ว ซึ่งปัจจุบันเธอมีอีกหน้าที่หนึ่งก็คือการเป็นคุณแม่ ทำให้ ‘Working Mom’ อย่างนิกแน็กต้องจัดสรรเวลาให้กับทั้งงานและลูกในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่โรงเรียนเตรียมอนุบาลปิดชั่วคราว เธอต้องประชุมไปด้วย ดูแลลูกไปด้วย เวลาจึงถือเป็นอุปสรรคที่เธอต้องเผชิญและเรียนรู้ที่จะจัดสรรให้ดีที่สุด
“เราต้องจัดสรรเวลาว่าเราจะเต็มที่กับงานถึงเวลานี้ ส่วนเวลานี้จะเป็นเวลาให้กับลูกเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เด็กๆ ได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ ไม่ใช่การที่เราทำงานหนักเพื่อเอาเงินไปให้เขาอย่างเดียว” นิกแน็กกล่าว
ต่อมาคือ โกโก้ เทียมไสย์ ตำแหน่ง Internal Communication, Diversity and Inclusion Specialist เธอทำงานที่ foodpanda มาเป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ อุปสรรคที่เธอต้องเผชิญนั่นก็คือการถูกแบ่งแยกและกีดกัน เพียงเพราะเธอเป็น Trans woman หรือ ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสถานะของคนข้ามเพศอย่างจริงจัง ทำให้ผลที่ตามมาก็คือ เธอมักจะถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม หรือพบเจอกับคำพูดที่สอดแทรกไปด้วยอคติอยู่เสมอ
“ก่อนที่โก้จะมาทำงานที่ foodpanda โก้ส่งใบสมัครงานไปประมาณ 200 บริษัท เชื่อมั้ยว่าน้อยมากที่ติดต่อกลับมา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีที่ไหนเรียกโก้ไปสัมภาษณ์ หรือถ้าเรียกไปก็จะโดนถามว่า เราเป็นผู้หญิงข้ามเพศแบบนี้ เราจะขี้เหวี่ยงขี้วีนมั้ย เห็นได้ว่ามีคำถามที่โชว์อคติเกิดขึ้นมาตลอด” โกโก้เล่าให้ฟัง
ในส่วนของ ซันบีม หรือ บุณฑรีก์ ขุนพินิจ ตำแหน่ง Sales Manager ของ Marketplace แม้ว่าเธอไม่มีภาระอื่นๆ ที่ต้องดูแล หรือเผชิญกับการถูกกีดกันด้านเพศ แต่เนื่องจากเธอเป็น ‘เด็กจบใหม่อายุน้อย’ เธอจึงเผชิญกับการถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือ แม้ว่าศักยภาพการทำงานของเธอจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเลยก็ตาม
“ด้วยความที่บีมอายุไม่มาก เวลาต้องไปพบกับลูกค้าที่ตำแหน่งอาวุโสมากๆ เขาก็จะตั้งคำถามแล้วว่า น้องยังเด็กอยู่เลย มีใครที่อาวุโสกว่านี้มาคุยแทนมั้ย แต่จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้บีมปรับเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ให้เป็นแรงผลักดัน ยิ่งถ้าเราเป็นเด็ก ยังขาดประสบการณ์ เราก็ยิ่งต้องขวนขวายให้มากขึ้น” ซันบีมกล่าว
เปลี่ยนอุปสรรคเป็นความท้าทายที่น่าหลงใหล
หลายคนอาจสงสัยว่า พวกเธอผ่านอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตจนมายืนในจุดนี้ได้อย่างไร แม้ทั้ง 3 คนจะมีทักษะ ความสามารถ และศักยภาพในการทำงานที่แตกต่างกันตามตำแหน่ง แต่พวกเธอกลับมีมุมมองในการรับมือกับอุปสรรคที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นความท้าทายที่น่าหลงใหล ไม่ใช่สิ่งที่มาลดทอนความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเธอเอง
โกโก้เผยว่า เธอไม่ใช่คนที่โรแมนติไซส์อุปสรรค แต่เธอจะมองอุปสรรคตามความเป็นจริง และรีบคิดหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการตัดสินใจที่มีต่อองค์กรและสังคมด้วย เพราะเธอเชื่อว่า ถ้าเรามองและคิดทุกอย่างในระดับจุลภาคและมหภาค ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหานั้นเป็นประโยชน์ที่ทุกคนในสังคมได้รับร่วมกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเธอเอง
เมื่อหันมาถามนิกแน็กที่อยู่ในองค์กรมานานกว่าคนอื่นๆ เธอเล่าว่า เหตุผลที่ทำให้เธออยู่ในองค์กรนี้ได้นาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานใน Tech Company เลย เพราะเธอมองทุกปัญหาให้เป็นความตื่นเต้นท้าทาย และหากไม่มีวิกฤตหรือปัญหาอะไรเลย เธอก็จะไม่มีทางได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานนั้นๆ ทำให้ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเข้ามาก็ตาม เธอก็พร้อมที่จะลองสู้กับมันดูสักตั้ง ไม่ใช่บั่นทอนความตั้งใจของตัวเองไปเสียก่อน
เช่นเดียวกับซันบีมที่เมื่อเจอกับการตั้งคำถามเรื่องอายุหรือประสบการณ์ หรือไม่ว่าจะเจออุปสรรคใดๆ ก็ตามระหว่างทำงาน เธอจะมีกรอบความคิดที่ว่า ความสามารถของมนุษย์นั้นไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรืออายุเท่าไหร่ หากเชื่อมั่นในความสามารถหรือศักยภาพของตัวเอง ทุกคนย่อมประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน
จากความหลากหลายของทีมงานสู่ความสำเร็จของ foodpanda
เมื่อพูดคุยกับทั้ง 3 คนจนถึงตรงนี้ สิ่งที่สังเกตได้นั่นก็คือ ความหลากหลายในตัวตนของแต่ละคน ที่ดูเหมือนจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรมีศักยภาพมากขึ้น
ซันบีมเห็นด้วยว่า ความหลากหลายคือเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร เพราะเธอมักจะเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ และไม่ตัดสินไปก่อนว่าเขาทำไม่ได้ หรือเขาไม่มีศักยภาพพอที่จะทำ ซึ่งการเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายก็ทำให้องค์กรได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วย
“เวลาที่เพื่อนร่วมงานแชร์ไอเดียกัน ก็จะเกิดเป็นความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ บีมคิดว่าพอเราได้ความคิดส่วนนี้มา ก็สามารถนำมาประกอบรวมกัน ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวองค์กรด้วย” นอกจากนี้ เธอยังได้รับโอกาสให้เป็น Employee of the month โดยเกิดจากการที่ทุกคนยอมรับในความสามารถของตัวเธอเอง ทำให้เห็นได้ชัดว่า foodpanda มีการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม และไม่จำเป็นว่าคนๆ นั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งอาวุโสหรือมีอายุงานเป็น 10 ปีก็ได้
โกโก้เสริมว่า นอกจากเรื่องความหลากหลาย foodpanda ยังมีวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองความเป็นตัวตนและปัจเจกบุคคลด้วย โดยเธอเชื่อว่า หากเราสามารถเป็นตัวของตัวเอง เราจะมีความมั่นใจและผลักดันตัวเองไปสู่ศักยภาพที่สูงที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้ตัวตนที่แท้จริงของเราจะเป็นยังไง foodpanda ก็ยังคงต้อนรับไอเดียและชื่นชมผลงานของเราเสมอ
“หากมองในมุมขององค์กร ความหลากหลายช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้มาก เพราะการที่เรามีผู้คนที่มาจากหลายพื้นเพ หลากหลายความคิด ร้อยพ่อพันแม่ จะทำให้เรามีไอเดียที่มากขึ้นและสร้างไดนามิกใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้” เธอเสริม
ด้าน Working Mom อย่างนิกแน็ก หลายองค์กรอาจมองว่า การต้องทำงานไปพร้อมๆ กับการดูแลลูก อาจทำให้พนักงานโฟกัสกับงานได้ไม่เต็มที่ และสร้างความกดดันให้กับพนักงานคนนั้นมากขึ้นกว่าเดิม แต่นิกแน็กเผยว่า foodpanda มีความเชื่อมั่นในตัวเธออย่างมาก จึงไม่ได้บังคับให้เธอต้องโฟกัสกับงาน ในทางกลับกัน เป็นตัวเธอเองมากกว่าที่เรียนรู้ที่จะจัดการตัวเอง จนกลายเป็นข้อดีของเธอในเวลาต่อมา
“พอองค์กรมีเชื่อความมั่นในตัวเรา เขาไม่ได้มาบังคับให้เราโฟกัสกับงาน แต่กลายเป็นเราเองที่ต้องจัดการตัวเองให้ดี ข้อดีคือทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และมีอำนาจในการตัดสินใจว่าเราจะดำเนินชีวิตยังไง โดยที่มั่นใจว่าการทำงานของเรายังดีอยู่ และยังทำตามเป้าหมายของบริษัทได้เหมือนเดิม” นิกแน็กกล่าว
โอบกอดความหลากหลายตามสไตล์ของ foodpanda
ความหลากหลายจะงอกงามได้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ในที่นี้หมายถึง การอยู่ในองค์กรที่สนับสนุนทุกตัวตนของปัจเจกบุคคล ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะเป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่ หรือมีภาระอื่นๆ ในชีวิตที่ต้องดูแลก็ตาม
foodpanda เข้าใจเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมเป็นอย่างดี และสะท้อนความเข้าใจนี้ผ่านนโยบายหรือสวัสดิการต่างๆ ในองค์กร โดยนิกแน็ก โกโก้ และซันบีม ได้พูดถึงนโยบายที่พวกเธอชื่นชอบและรู้สึกว่าเหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเอง จนเรียกได้ว่าเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของการทำงานที่ foodpanda ที่อยากจะบอกต่อให้คนอื่นๆ ได้รับรู้
โกโก้เล่าว่า นโยบายที่เธอชอบที่สุดก็คือ Gender Affirmation Leave Policy เป็นนโยบายที่ให้พนักงานข้ามเพศได้รับวันลาเพิ่ม 10 วัน ในการไปเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ พบจิตแพทย์ หรือธุระอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เพศสภาพของพนักงานคนนั้น
“โก้ว่าความเสมอภาค (Equity) เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเสมอภาคคือการที่ทุกคนได้รับอะไรเท่าๆ กัน ส่วนความเท่าเทียม (Equality) ต้องเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ยังต้องการความเท่าเทียมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่ง foodpanda ค่อนข้างเข้าใจในเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม” เธอกล่าว นอกจากนี้ เธอยังชอบนโยบายการสร้างห้องน้ำรวมในออฟฟิศที่เรียกว่า All Gender Restroom ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า foodpanda เป็นสถานที่ที่เปิดกว้างกับพนักงานทุกเพศ ทุกวัย และทุกเงื่อนไขจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงสนับสนุนผ่านคำพูดเท่านั้น
ในส่วนของซันบีม Well-being Leave คือนโยบายที่ทำให้เธอเห็นว่า foodpanda เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตพนักงาน โดยองค์กรให้พนักงานสามารถลาได้ 1 วันต่อปีปฏิทิน เพื่อพักผ่อนจากความเครียด ความเหนื่อยล้าในการทำงาน เช่นเดียวกับสุขภาพกายที่ทางองค์กรก็มีความใส่ใจไม่แพ้กัน เพราะหากพนักงานรู้สึกเมื่อยล้าร่างกายจากการทำงาน โดยเฉพาะช่วง Work from Home ที่อาจมีการนั่งท่าผิดสรีระ พนักงานก็สามารถเบิกงบไปทำกายภาพหรือนวดแผนไทยได้ ซึ่งนโยบายนี้เรียกว่า Health and Wellness Benefit
สำหรับพนักงานที่อยู่มานานอย่างนิกแน็ก สิ่งที่ทำให้เธอรับรู้ว่า foodpanda เป็นองค์กรที่โอบกอดตัวตนของเธออย่างแท้จริง นั่นก็คือ Reward and Recognition หรือการเน้นย้ำให้พนักงานที่อยู่มานานรู้สึกว่า องค์กรมองเห็นคุณค่าของพวกเขาจริงๆ โดยทำให้คนอื่นๆ รู้ว่า พนักงานคนนี้อยู่มานานกว่า 5 ปีแล้ว และจะมอบผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนสิ่งที่เขาอยากจะทำต่อไปในอนาคตด้วย
“เราแฮปปี้ที่จะอยู่ต่อ เพราะเขาเห็นคุณค่าของเราที่อยู่มานาน ทำให้รู้สึกว่าเราต้องตั้งใจทำงาน ต้องมีอะไรมาเพิ่มให้กับองค์กรมากขึ้น ไม่ใช่มองว่าเราอยู่มานานแล้ว คงไม่มีไอเดียอะไรใหม่ๆ ให้กับองค์กรแน่เลย” นิกแน็กเสริม
และนี่คือสิ่งที่เน้นย้ำว่า เบื้องหลังความสำเร็จของ foodpanda คือการยอมรับความหลากหลายของปัจเจกบุคคล และพร้อมสนับสนุนทุกเงื่อนไขของชีวิตพนักงาน โดยสิ่งที่องค์กรพยายามขับเคลื่อนและสนับสนุนมาตลอด ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้พนักงานสบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่องค์กรยังได้อะไรใหม่ๆ จากการระดมความคิดที่มาจากหลายมุมมองอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การที่นิกแน็ก โกโก้ และซันบีม ถูกยอมรับในตัวตนจนเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ทำให้พวกเธออยากที่จะส่งต่อพลังความเชื่อมั่นนี้ไปสู่สังคมวงกว้าง โดยเฉพาะผู้หญิงด้วยกันเอง เนื่องในวันสตรีสากลที่ผ่านมานี้ด้วย