มีคนเคยบอกไว้ว่า ถ้าอยากจะเข้าใจคนพิการจริงๆ ต้องมีเพื่อนเป็นคนพิการ แล้วจะรู้ว่าการใช้ชีวิตนั้นยากลำบากขนาดไหน สภาพแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับคนพิการเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้คนทั่วไปมองคนพิการเป็นกลุ่มคนที่ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเห็นอกเห็นใจ ทั้งๆ ที่ความจริง สิ่งที่คนพิการต้องการคือโอกาสและความเท่าเทียมไม่ต่างกับคนปกติต่างหาก
เรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้น จึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตของคนพิการง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน แต่หลายครั้งการออกแบบก็มีคำถามถึงการใช้งานจริง ว่าจะสำเร็จผลได้มากน้อยขนาดไหน และที่สำคัญคือการออกแบบอย่างไร ที่จะทำให้คนพิการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเท่าเทียมได้จริงๆ
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ต่อ – ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้ง กล่องดินสอ กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้แนวคิด Inclusive Society หรือ สังคมเพื่อคนทั้งมวล เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและเขาเตรียมอะไรไว้บ้างในงาน GOOD Society Expo 2018 เพื่อชวนเราเข้าใจแนวคิดนี้
มองว่าตอนนี้สังคมไทยมองคนพิการอย่างไร
สังคมไทยส่วนใหญ่มองว่าคนพิการเป็นเชิงการสังคมสงเคราะห์ และมองว่าคนพิการเป็นคนที่มีความบกพร่อง เป็นคนที่น่าสงสาร หรือบางคนที่อิงศาสนาหน่อยก็จะมองว่าคนพิการทำบาปกรรมมาในชาติแล้ว เขาเลยต้องเป็นคนพิการในชาตินี้ เป็น Product Error ของมนุษย์ ที่ไม่ได้ตรงตามสิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือคนพิการในสังคมไทย
สำหรับคนพิการเอง เขาต้องการให้สังคมมองแบบไหน
คือจริงๆ แล้วสิ่งที่คนพิการต้องการ ไม่ใช่เงินที่หยิบยื่นให้ สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือคือต้องการโอกาสที่เท่าเทียมกัน เราต้องเข้าใจว่า คนพิการมีความแตกต่างจากเรา แต่ว่าความแตกต่างนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาด้อยกว่าเราหรือเราดีกว่าเขา ซึ่งความแตกต่างนั้น สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม
แล้วสาธารณูปโภคในบ้านเราตอนนี้ มันเอื้อต่อคนพิการมากน้อยแค่ไหน
เนื่องด้วยที่สังคมเรามองว่าการช่วยเหลือคนพิการเป็นเรื่องของการสังคมสงเคราะห์ ฉะนั้นการทำอะไรเพื่อคนพิการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะว่ามีกฎหมายบังคับ หรือไม่ก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ดังนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้น ทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ หรือว่าพื้นที่สาธารณะสำหรับคนพิการจึงมีน้อยมากๆ แต่นั่นก็เป็นข้อดี เพราะว่าทำให้คนพิการเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง คือต้องบอกว่าคนพิการไทยเก่งมากๆ ผมไม่เคยเห็นคนพิการประเทศไหนที่ขึ้นบันไดเลื่อนเองได้โดยใช้วีลแชร์ เพราะว่าไม่มีลิฟต์ หรืออย่างการขึ้นรถเมล์ คนพิการเขาก็จะเรียนรู้ว่า ถ้าเขาไปรถเมล์ไม่ได้ เขาจะต้องขึ้นแท็กซี่ไหม หรือจริงๆ คนพิการบางคนก็ยกวีลแชร์ขึ้นมอเตอร์ไซค์ได้นะ เก่งขนาดนั้นเลย เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่มันไม่มีอะไรจะช่วยเหลือได้ เขาก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้ เพราะว่าถ้าเขาไม่ปรับตัวก็อยู่ที่นี่ไม่ได้
เมื่อเป็นอย่างนั้น คนพิการเองมีการเรียกร้องสิทธิในสิ่งที่ตนเองควรจะได้ไหม
ส่วนใหญ่จะเป็นการผลักดันเชิงนโยบายหรือผลักดันเชิงกฎหมายให้มีสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อคนพิการ อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นการเดินทางสาธารณะ เขาก็ผลักดันให้ทำลิฟต์สำหรับคนพิการ หรืออย่างรถเมล์ต่อไปก็จะมีรถเมล์คานต่ำที่คนพิการใช้วีลแชร์สามารถขึ้นได้ ส่วนทางด้านของภาคเอกชนเอง ตอนนี้ก็มีการเปิดรับมากขึ้น ทั้งเกิดจากที่คนพิการผลักดันเองหรือผู้ประกอบการที่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคนพิการมากขึ้น
เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญต่อการช่วยเหลือคนพิการอย่างไรบ้าง
ผมมีความเชื่อว่าคนพิการไม่มีอยู่จริง มีแต่สภาพแวดล้อมเท่านั้นแหละที่พิการ เพราะว่าถ้าคนพิการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปรับปรุงมาเพื่อเขาหรือออกแบบมาเพื่อเขา เขาก็จะไม่พิการ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาตรงนี้จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตัวเขา แต่มันต้องแก้ไขที่สภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบเขาอยู่ เช่น ถ้าสมมติคนพิการต้องไปขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วไม่มีลิฟต์ เขาก็พิการ แต่ถ้ามีลิฟต์เมื่อไร เขาก็ไม่พิการ สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้เหมือนเรา ฉะนั้นความพิการจริงๆ แล้วไม่ใช่ปัญหาเรื่องปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ซึ่งตรงนี้เทคโนโลยีกับนวัตกรรมจะเขามาช่วยเหลือได้ ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับทุกคน รวมถึงคนพิการด้วย
เท่าที่สัมผัสมา มีเทคโนโลยีสำหรับคนพิการไหนที่ทำแล้วเห็นผลสำเร็จมากที่สุด
จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีสำหรับคนพิการทั่วโลก คือการมีของสมาร์ทโฟนที่ช่วยให้ชีวิตเขาง่ายขึ้นเยอะมากๆ เลย เพราะมีแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้คนหูหนวกวิดีโอคอลคุยกับเพื่อนด้วยการใช้ภาษามือได้ คนตาบอดเองก็สามารถที่จะอ่านไลน์อ่านเฟซบุ๊กแชทกับเพื่อนได้ด้วยการสั่งงานผ่านเสียง หรือแม้กระทั่งธุรกรรมทางการเงินก็ทำได้ ดังนั้นสมาร์ทโฟนถือว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของคนพิการไปเยอะพอสมควร
ในการคิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขึ้นมาสำหรับคนพิการ มีข้อควรระวังอะไรไหม
ข้อพึงระวังในการพัฒนาเทคโนโลยีคือการแบ่งแยก หมายความว่า คนพิการจริงๆ เขาไม่ต้องการที่จะถูกแบ่งแยกออกไปหรือต้องการอะไรพิเศษไปจากเรา แต่เขาต้องการที่จะทำอะไรเหมือนๆ เรา เขาต้องการจะไปเรียนเหมือนเรา เขาต้องการจะทำงานเหมือนเรา ต้องการไปห้าง ไปดูหนัง ไปจับมือ BNK48 เหมือนเรา แต่เพียงแต่ว่าวิธีการจะไปตรงนั้นมันแตกต่างกัน เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่รองรับจึงแตกต่างกันด้วย ที่สุดแล้วกิจกรรมทั้งหลายเขาต้องการทำก็เหมือนๆ กับเรานั่นแหละ อย่างเช่นสมมติว่าเราต้องการให้คนพิการไปห้างสรรพสินค้าได้ วิธีการแก้คือไม่ใช่ไปเปิดห้างใหม่สำหรับคนพิการโดยเฉพาะ แต่ต้องคิดว่าทำยังไงที่จะให้ห้างที่เราเดินกันอยู่แล้ว คนพิการสามารถเดินได้ด้วย ตรงนี้ถึงจะเป็น Inclusive Society อย่างแท้จริง
การทำให้แนวคิด Inclusive Society เกิดขึ้นจริง ต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง
แนวคิดเรื่อง Inclusive Society คือสังคมที่คนพิการและไม่พิการสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ปัจจัยที่ประกอบกัน ต้องเริ่มมาจากเทคโนโลยีที่มารองรับคนพิการ ทำให้การทำกิจกรรมใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้จริง และอย่างที่สอง คือการตอบรับของคนทุกๆ กลุ่มในสังคมที่จะเปิดรับคนพิการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ อย่างเช่น เราทำแอปพลิเคชั่นดูหนังสำหรับคนพิการทางสายตาชื่อว่า ‘พรรณนา’ ขึ้นมา จริงๆ การทำแอปพลิเคชั่นให้คนพิการทางสายตาไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่สิ่งที่ยากมากกว่าก็คือทำยังไงให้โรงหนัง เขายอมรับคนพิการทางสายตาให้เข้าไปดูหนังได้ ทำยังไงให้เจ้าหน้าที่ขายตั๋วเขาสามารถที่จะขายตั๋ว แล้วก็พูดคุยสนทนากับคนพิการทางสายตาได้ ทำยังไงให้เราที่เข้าไปดูหนังยอมรับว่ามีคนพิการทางสายตานั่งอยู่ข้างๆ เรานะ คือเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนเดียวในการสร้าง Inclusive Society ให้เกิดขึ้น การร่วมมือกันของสังคมรอบๆ ของทุกๆ คนต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
อย่างแอปพลิเคชั่น ‘พรรณนา’ เอง มีวิธีคิดตั้งต้นในการออกแบบอย่างไร
มีที่มาจากการที่ว่า ปกติเวลาคนตาบอดจะไปดูหนังจะดูไม่ได้ เพราะว่าเขาได้ยินแต่เสียง โรงหนังเองก็มีการพยายามให้คนตาบอดไปดูหนังโดยการจัดรอบพิเศษ ปิดโรงเลย สามารถให้คนตาบอดไปดูเป็นครั้งๆ คราวๆ ไป แต่ว่าปัญหาก็คือการทำแบบนั้นมันลำบาก มีต้นทุนที่สูง แล้วก็อย่างที่บอกมันไม่ Inclusive เป็นการแยกเขาไปอยู่ดี เราก็เลยสร้างแอปพลิเคชั่นตัวนี้หนึ่งขึ้นมา โดยที่เขาสามารถที่จะเดินเข้าไปดูในโรงหนังที่ไหนก็ได้ ใส่หูฟังแล้วก็สนุกกับหนังไปพร้อมกับคนตาดีอย่างเราได้เลย การทำงานคือจะมีการเล่นเสียงบรรยายภาพพิเศษที่ทำให้เขาเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนหน้าจอ ในขณะที่ไม่มีบทสนทนา เหมือนเราฟังละครวิทยุสมัยก่อนที่มีการบรรยายเพิ่มเติม วิธีการทำคือพอมีหนังที่จะทำก็ต้องไปเขียนบทก่อนว่าจะพูดอะไรในฉากนี้ แล้วอัดเป็นเซ็ตเสียงให้เสร็จ ตอนใช้งานแอปพลิเคชั่นก็จะใช้เสียงในการซิงค์ ว่าตอนนี้หนังเล่นถึงนาทีที่เท่าไร แล้วจึงเล่นเสียงบรรยายภาพให้ตรงกับหนังที่กำลังเล่นอยู่ ซึ่งการทำแบบนี้มันจะ Inclusive ตรงที่ว่าต่อไปเขาสามารถที่จะเดินเข้าโรงหนังที่ไหนก็ได้ และก็ไม่ใช่แค่ว่าแค่ดูหนังในโรงหนัง จะเป็นทีวี มือถือ หรือในคอมพิวเตอร์ก็ได้
การคิดค้นนวัตกรรมตรงนี้ขึ้นมา ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า คนพิการก็ต้องการความบันเทิงเหมือนคนปกติใช่ไหม มันก็เป็นเรื่องตลกนิดหนึ่ง เวลาเรานึกถึงคนพิการหรือเวลาจะไปบริจาคหนังสือให้เด็กกำพร้า เราจะนึกถึงหนังสือธรรมะเป็นหลัก ถามว่าคนพิการเขาอยากได้ไหม คือเขาก็อยากได้ แต่เขาก็อยากได้อย่างอื่นด้วย เพราะเขาก็เป็นคนเหมือนเรา มีจิตใจ มีความต้องการบันเทิงเหมือนเรานี่แหละ เขาต้องการไปดูหนัง เขาต้องการฟังเพลง ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือต้องไม่ไปบังคับเขาว่าต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้สิ แต่สิ่งที่เราทำก็คือการสร้างพื้นที่ให้เขา ว่าถ้าเขาอยากดูหนัง เขาดูได้นะ ถ้าเขาอยากไปออกกำลังกาย เขาไปได้นะ มันก็เป็นทางเลือกของเขา เราไม่ควรจะไปบอกเขาว่าคุณเป็นคนพิการนะ คุณต้องทำตัวเป็นคนดีนะ มันไม่เกี่ยวกัน
จะมีวิธีการไหนที่จะช่วยสร้างทัศนคติให้คนทั่วไปมองคนพิการเป็นคนปกติเหมือนกับเราๆ ได้
จากที่ทำงานเกี่ยวกับงานคนพิการมาประมาณ 5 ปี สิ่งที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนๆ หนึ่งต่อคนพิการได้ คือการเป็นเพื่อนกับคนพิการ ปัญหาเรื่องคนพิการต่างๆ ที่เราเคยมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องของเพื่อนฉันแล้ว เป็นเรื่องของเพื่อนฉันที่ไปกินอาหารกับฉันไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเพื่อนผมที่ไปดูหนังกับผมไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้เริ่มเป็นปัญหาใกล้ตัวแล้ว พอเราเป็นเพื่อนกับคนพิการ เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับเขา เราจะเข้าใจเขา แล้วมันจะส่งผลต่อทัศนคติของเราอย่างมาก
แล้วถ้ามองกลับกันในแง่ของคนพิการเอง เขาจำเป็นต้องปรับตัวอะไรไหม เพื่อให้คนทั่วไปมองเขาเป็นคนปกติ
สำหรับด้านคนพิการเองเขาต้องพยายามออกมา คือการที่คนทั่วไปมองไม่เห็นคนพิการอยู่ในสังคม เราจะไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของเขา เราจะไม่รับรู้ถึงความจำเป็นในการทำอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของเขา คือปัจจุบันนี้การออกจากบ้านของคนพิการก็ยากลำบาก ดังนั้นเขาก็เลือกที่จะอยู่ในบ้านดีกว่า แต่พอเขาไม่ออกจากบ้าน ทำให้ไม่มีใครเห็นความสำคัญว่าต้องทำทางลาดสำหรับคนพิการนะ ต้องทำลิฟต์สำหรับคนพิการนะ ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือถ้าคนพิการอยากเปลี่ยนแปลง คนพิการต้องออกมาก่อน ไม่มีลิฟต์ใช่ไหม ไม่เป็นไร ช่วยกันยกขึ้นไปก็ได้ ไม่มีทางลาดไม่เป็นไร ช่วยกันทำก็ได้ ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็น ว่ามีคนพิการอยากจะออกมาใช้นะ สังคมเองจะเริ่มรู้สึกว่า ต้องทำอะไรบางอย่างแล้วแหละ เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนทั่วไปด้วย เหมือนไก่กับไข่ ถ้ารอให้ทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยออกมา มันก็ไม่มีอะไรพร้อมสักที ดังนั้นก็ออกมาก่อน แล้วความพร้อมจะตามมาเอง
ในงาน GOOD Society Expo 2018 ที่กำลังจะจัดขึ้น กล่องดินสอ มีกิจกรรมอะไรให้ได้เข้าร่วมบ้าง
คืองานที่จัดขึ้นสำหรับคนพิการส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคนไปเท่าไร เพราะว่าคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ น่าสงสาร เป็นเรื่องที่ไกลตัวเขามากเลย แต่ว่างานในครั้งนี้ เราจะทำให้ความพิการเป็นเรื่องที่สนุกและน่าตื่นเต้น นวัตกรรมที่เรานำมาแสดงเป็นนวัตกรรมที่ล้ำสมัยมากๆ อย่างเช่น วีลแชร์ที่ควบคุมด้วยสายตา แอปพลิเคชั่นที่ทำให้คนตาบอดสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ทำให้คนตาบอดสามารถที่จะดูหนังได้ หรือสื่อสารกับคนหูหนวกได้ หุ่นยนต์สำหรับคุยกับเด็กออทิสติก และอีกส่วนหนึ่งเราจะมีการรับสมัครอาสาสมัคร ใครถนัดเรื่องไหนก็เชิญชวนให้มาเป็นอาสาเรื่องนั้น อย่างใครที่ถนัดเรื่องวิ่งก็มาเป็นไกด์รันเนอร์พาคนพิการวิ่งกัน ใครถนัดเรื่องทำอาหารก็มาสอนคนพิการทำอาหารกัน ใครถนัดเรื่องการเรียนก็มาทำสื่อการศึกษาให้คนพิการกัน ใครถนัดเรื่องไหนเราจะมีงานอาสารองรับเรื่องนั้นอยู่ คุณสามารถที่จะช่วยคนพิการได้ด้วยทักษะความสามารถที่คุณมี เราจะทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วคนพิการเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของเรา ตอนนี้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมที่จะรองรับเขาอยู่แล้ว ขาดแค่การมีส่วนร่วมของคนอย่างคุณนั่นแหละที่จะเข้ามาเปิดโอกาสให้เขาพร้อมๆ กัน
เชิญชวนเป็นส่วนหนึ่งในการทำดีกับ GOOD Society Expo 2018 เทศกาลทำดีหวังผล ที่จะทำให้คนไทยเห็นโอกาสว่าตัวเองสามารถช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง กับ 9 โซนกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำดีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทันที 13 – 16 กันยายน 2561 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์