เชื่อว่าปัญหาการคอร์รัปชันของภาครัฐ คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกอึดอัดใจและกังวลใจ
จนอยากที่จะลงมือกระทำการอะไรสักอย่าง แต่ด้วยความที่เป็นภาคประชาชน จึงทำให้กลไกอำนาจในการตรวจสอบไม่ได้เอื้อให้สามารถทำอะไรได้มากมายนัก
จริงๆ แล้วยังมีช่องทางหนึ่ง นั่นคือ ‘Open Data’ หรือ ‘ฐานข้อมูลเปิด’ ที่ทางภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลตัวเลขต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ตามกฎหมาย ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลคำตัดสินในอดีต ข้อมูลการชี้มูลความผิด ข้อมูลภาคธุรกิจ ไปจนถึงรายได้และหนี้สินของนักการเมือง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ แต่ปัญหาคือข้อมูลเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ทั้งในรูปแบบเล่มรายงานกระดาษ หรือรูปแบบดิจิทัลที่ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน ทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้ยาก
จึงทำให้เกิดแนวคิดในการสร้าง Open Data ภาคประชาชน ที่หลายประเทศนำมาใช้ในการต่อต้านการคอร์รัปชันได้อย่างเห็นผล และในไทยเองก็กำลังเริ่มต้น โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่จับมือกับภาคีเครือข่าย ร่วมกันสร้างเครื่องมือ Open Data เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลการคอร์รัปชันได้
The MATTER ได้พูดคุยกับ สุภอรรถ โบสุวรรณ แห่ง HAND Social Enterprise ผู้ทำโครงการต่อต้านคอร์รัปชัน และ ปฏิพัทธ์ สุสำเภา แห่ง Opendream ผู้ร่วมพัฒนา Open Data ถึงแนวคิดและจุดเริ่มต้นในการสร้าง Open Data ภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชันที่หวังผลได้ และสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
มองภาพรวมของปัญหาคอร์รัปชันในไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
สุภอรรถ: ผมมองเปรียบเทียบเหมือนการเล่นงัดข้อกัน มี 2 ฝั่ง ฝั่งที่คอร์รัปชันหรือฝั่งที่ทุจริต ซึ่งแรงของฝั่งนี้ก็ยังไม่ได้ถึงกับทำให้สังคมจะล่มสลาย ฝั่งที่ต่อต้านก็ยังไม่ได้ว่าจะชนะไปถึงขั้นว่าสังคมนี้สวยงามและโปร่งใสขนาดนั้น มันก็ทรงๆ กันอยู่ ทีนี้ก็เหมือนว่ามีการแข่งกันอยู่ 2 ฝั่ง รวมทั้งมีผู้เล่นและผู้ดู ถ้าเกิดว่ากติกาไม่ใช่การที่คนเดียวมาแข่งกับคนเดียว แต่เป็นแรงของทั้งสังคมแทน ถ้าฝั่งคอร์รัปชันกลับฝั่งมาอยู่ฝั่งต่อต้าน ส่วนคนที่ดีอยู่แล้วหรือฝั่งต่อต้าน เมื่อถึงสถานการณ์ก็ไม่คอร์รัปชันเสียเอง และต้องไม่ช่วยพวกพ้องคอร์รัปชันด้วย ก็จะถึงวันที่ฝั่งต่อต้านคอร์รัปชันจะชนะได้
ปฏิพัทธ์: คือเราเชื่อว่าการต่อต้านคอร์รัปชันมีหลายโครงสร้าง มีหลายขั้นตอน มีตั้งแต่จะทำยังไงให้เจอการคอร์รัปชัน เจอแล้วจะจัดการยังไงต่อ แล้วจะทำยังไงเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีก คือภาครัฐเป็นกลไกการขับเคลื่อนที่จะทำให้ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนเดินไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นภาครัฐจึงเป็นแกนกลางที่ต้องทำงานได้ค่อนข้างดีและโปร่งใส แต่ว่ากลไกการต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบันมันเป็นจากภาครัฐ โดยภาครัฐ เพื่อภาครัฐ ไม่ค่อยมีภาคอื่นๆ อยู่ในสมการนั้น
แสดงว่ายังมีความหวังอยู่ไหม
สุภอรรถ: จากค่า CPI (Corruption Perception Index) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) และ CSI (Corruption Situation Index) หรือผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้า ก็พบว่าคะแนนมันก็ทรงๆ มาหลายปีแล้ว แต่มีค่าหนึ่งที่น่าสนใจก็คือประชาชนพร้อมจะมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่รู้สึกไม่อยากทนกับการทุจริตแล้วแหละ เพียงแต่ว่าวันนี้เรามีคนเชียร์ฝั่งที่จะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันหรือฝั่งที่จะสร้างความโปร่งใสให้สังคมเยอะแล้ว จะทำยังไงเพื่อที่จะเปลี่ยนคนดูตรงนั้น มาช่วยกันเล่น มาช่วยกันงัดอีกฝั่งหนึ่งแทน
ประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันไหม
สุภอรรถ: มีครับผมและจริงๆ มีอยู่หลายกลไกเลย เรียกว่ามีสิทธิ์อยู่แล้วก็ต้องช่วยกัน จะเห็นได้จากที่กรณีเปิดโปงคอร์รัปชันหรือการทุจริตในคดีดังๆ 2-3 คดีที่ผ่านมาที่เป็นข่าวใหญ่เลย อย่างเช่น โกงค่าอาหารกลางวัน โกงเงินผู้ยากไร้หรือคนพิการ ล้วนเกิดจากภาคประชาชนทั้งนั้น ผมขอสรุปรวบมาประมาณ 3 กลไกที่สำคัญ
กลไกแรกคือกลไกตามช่องทางร้องเรียนของทางภาครัฐเอง อย่างเช่น ป.ป.ช. , ป.ป.ท. , ศูนย์ดำรงธรรม แต่ทีนี้บางทีการที่เราจะแจ้งข้อที่เราสงสัย ข้อที่เราอยากให้รัฐลงไปตรวจสอบ ก็ต้องมีหลักฐานมาก หรือบางคนก็กลัวว่าเหมือนรัฐทำ แล้วก็ไปแจ้งฝ่ายรัฐด้วยกัน จะเกิดอะไรกับตัวเขาไหม จะเกิดการลงไปตรวจสอบไหม
กลไกที่สองคือเรื่องสื่อที่จะเป็นภาคประชาชนแล้ว โดยทำงานติดตามตรวจสอบเอง แล้วก็เอาข้อมูลไปให้สื่อสืบสวนสอบสวนต่อ แล้วก็นำเสนอออกมา หน่วยงานที่รับผิดชอบก็เข้ามาแก้ไข
กลไกที่สามเป็นของภาคประชาสังคมต่างๆ อย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ทำอยู่ คือสนับสนุนประชาชนให้มีพลังในการที่จะช่วยต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในการต่อต้านคอร์รัปชัน
ปฏิพัทธ์: ฉะนั้นเราก็เลยมองว่า แล้วอะไรบ้างที่จะทำให้ภาคประชาชนทำงานได้ มีแรงจูงใจ มีความสนุก และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ ก็เลยพบว่าการรวมข้อมูลเพื่อทำให้เกิดการโปร่งใส เป็นจุดที่ประชาชนสามารถเริ่มได้เอง ก็น่าที่จะขยายไปเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านี้ได้
กลไก Open Data เกิดขึ้นได้อย่างไร
สุภอรรถ: ถ้าพูดถึงข้อมูลเปิด จริงๆ แล้ว มันเริ่มมาจากการเปิดเผยข้อมูลธรรมดานี่แหละ อยู่บนบอร์ดบ้าง อยู่บนกระดาษบ้าง แล้วในบางพื้นที่การทำแบบนี้ยังเวิร์กอยู่ อย่างเช่นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ว่าวันนี้โลกมันเปลี่ยนไป มีการใช้ข้อมูลดิจิทัลกันมากขึ้น หลายประเทศก็ทำกันเยอะแล้ว ประเทศไทยก็น่าที่จะต้องส่งเสริมเรื่องนี้และทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะจริงๆ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ก็ควรที่จะได้รับทราบว่ารัฐทำอะไร ใช้เงินไปทำโครงการอะไรบ้าง ต้องช่วยกันดู ช่วยกันติดตามตรวจสอบ
ปฏิพัทธ์: เวลาพูดถึงการทำ Open Data ก็ต้องไปดูว่ามันมีข้อมูลชุดไหนบ้าง ที่จะบ่งชี้ถึงการคอร์รัปชันได้ ตั้งแต่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ข้อมูลคำตัดสินในอดีต ข้อมูลการชี้มูลความผิด ข้อมูลต้องสงสัย ข้อมูลภาคธุรกิจ ทีนี้ด้วยความที่ข้อมูลมันเยอะมากๆ เราก็เลยพยายามที่จะไปดูว่า มันมีข้อมูลชุดไหนบ้างที่น่าจะทำให้เราเห็นสัญญาณการทุจริตในอดีต เพราะเราเชื่อว่าถ้าได้เห็นแพทเทิร์นการทุจริตในอดีต ก็น่าที่จะเอาโมเดลนั้นฉายไปในอนาคต แล้วก็พยายามหาว่าแพทเทิร์นลักษณะไหนที่น่าจะเกิดขึ้นอีก
มีแพทเทิร์นหรือว่ามีชุดข้อมูลไหนที่ไปเจอแล้วน่าตกใจไหม
ปฏิพัทธ์: มีชุดข้อมูลหนึ่งที่นักวิจัยจาก SIAM lab ที่เราทำงานด้วยกัน เขาอยากรู้ว่า นักการเมืองก่อนเข้ารับตำแหน่ง ระหว่างรับตำแหน่ง และหลังจากพ้นตำแหน่งไปหนึ่งปีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน หนี้สิน และรายได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็น่าสนใจ พอเขาทำค่าเฉลี่ยมาแล้ว ก็พบว่านักการเมืองจะมีทรัพย์สินลดลง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น แล้วก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมันเป็นค่าเฉลี่ย เรายังไม่ได้เจาะเชิงพื้นที่ หรือเจาะว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ นี่ก็เป็นหนึ่งในศักยภาพของการทำข้อมูลเปิดหรือ Open Data เพื่อการสร้างความโปร่งใส เพราะว่าถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดออกมาอย่างเป็นระบบ อย่างมีโครงสร้าง ก็จะทำให้เราสามารถที่จะช่วยติดตามความผิดปกติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ง่ายขึ้น
แสดงว่า Open Data เป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว
สุภอรรถ: ใช่ มันมีหลายส่วน บางทีก็กระจัดกระจาย ยากแก่การเข้าถึง ไม่ครบก็มี คือไม่ได้เก็บ ไม่ครบ ขาดหาย มีการบิดเบือนบ้างในบางพื้นที่ บิดเบือนโดยไม่ตั้งใจก็ดี หรือตั้งใจกรอกข้อมูลผิดก็ดี มันก็มีอยู่ เคยไปนั่งคุยกับรัฐ ถามว่าทำไมไม่เปิด เปิดไม่ครบ เปิดๆ ปิดๆ บ้าง เขาก็บอกว่าไม่รู้จะเปิดอะไรดี เพราะข้อมูลในมือมันเยอะมาก ผมก็เลยมีความคิดส่วนตัวว่าขั้นแรกขอให้เปิดให้ได้ก่อน แล้วก็มาร่วมกันกับภาคประชาชนหรือสื่อมาช่วยกันพัฒนาให้มันง่าย มันครบ มันถูกต้อง ขั้นตอนต่อมาในการเก็บก็แล้วแต่ข้อมูล อย่างข้อมูลเปิดอยู่แล้ว เราก็เอามาเก็บไว้ในระบบได้เลย บางชุดข้อมูลเป็นแบบกระดาษ เราก็อาจจะต้องช่วยกันนำเข้าไประบบดิจิทัล หรือบางข้อมูลเป็นดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ว่าการแบ่งประเภทหรือว่าการจัดสรรยังไม่เป็นระบบระเบียบเท่าที่ควร เราก็มาจัดระเบียบใหม่
อยากให้เล่าถึงขั้นตอนในการนำ Open Data ออกมาวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบการคอร์รัปชัน
ปฏิพัทธ์: วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแพทเทิร์นความผิดปกติในการคอร์รัปชัน มันขึ้นอยู่ว่าเรากำลังดูข้อมูลในลักษณะไหนอยู่ ถ้าเป็นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะมีวิธีคิดแบบหนึ่ง อย่างเช่นบริษัทนี้ได้งานซ้ำๆ กันตลอดเวลา หรือมีความแตกต่างในการเสนอราคานิดเดียว ส่วนการชี้มูลความผิดก็ต้องใช้วิธีคิดอีกแบบหนึ่ง โดยการตั้งสมมติฐานว่าพื้นที่ไหนที่มีการชี้มูลความผิดในลักษณะไหนมากกว่ากัน พอเราแยกคน แยกพื้นที่ แยกประเด็นออกมาแล้ว ก็นำไปเข้าเครื่องมือที่ทำหน้าที่วิเคราะห์กึ่งอัตโนมัติว่าในพื้นที่ไหนมีการทุจริตทางการศึกษา หรือว่ามีการถูกชี้มูลความผิดในเชิงการศึกษามากเป็นพิเศษ เราก็สามารถรู้ได้ว่าจังหวัดนี้ พื้นที่นี้ มีเรื่องนี้เยอะ แล้วจะเจาะไปได้อีกว่า พื้นที่นี้กระทำโดยใครหรือมีความเกี่ยวข้องกันในเชิงนามสกุลหรือเปล่า ข้อดีของ Open Data คือเป็นจุดที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมด้วยทักษะที่ไม่เฉพาะทางได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย แต่ว่าใครก็ได้ที่พอจะอ่านออกเขียนได้มาช่วยกันหาความผิดปกติในข้อมูล เพื่อสร้าง action จากข้อมูลเหล่านั้นได้
การตรวจสอบด้วยข้อมูลลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการช่วยงาน ป.ป.ช. หรือเปล่า
สุภอรรถ: ผมขอแบ่งเป็น 2 จังหวะ จังหวะแรกคือเป็นการช่วยแน่ๆ เพราะการที่ประชาชนจะใช้กลไกร้องเรียนภาครัฐ ก็ต้องอาศัยข้อมูลซึ่งเป็นหลักฐานที่จะพบความผิดปกติอยู่แล้ว ถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้อีกประมาณ 70 ล้านคน ก็ช่วย ป.ป.ช. ติดตามตรวจสอบได้แล้ว ส่วนจังหวะที่สอง เมื่อกลไกความรับผิดชอบทางสังคมเกิดแล้ว ผมว่าตรงนี้จะช่วยได้มากเลย เพราะสมมติถ้าเกิดว่ามีใครที่ทำผิด ข้อมูลมันจะไปฟ้องอยู่บนแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดเลย คนมาเห็นก็ไปแจ้ง ป.ป.ช. มาเอาผิดได้ ตรงนี้จะเป็นการช่วยลดการคอร์รัปชันได้
ปฏิพัทธ์: ผมมองว่าจากจุดเล็กนิดเดียว แต่ถ้าข้อมูลเรามีโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันได้ เราก็จะสามารถคลิกไปคลิกมา หาแพทเทิร์นการทุจริตที่บางอย่างเราไม่เคยเห็นมาก่อนได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดคำตอบเชิงนโยบายให้ทาง ป.ป.ช. นำไปทำงานได้ดีขึ้น เราต้องการที่จะแสดงให้เห็นศักยภาพว่า ถ้าเรามีข้อมูลที่เป็นระเบียบหรือมีข้อมูลที่ถูกจัดมาเป็นโครงสร้าง เราก็จะสามารถที่จะเห็นความผิดปกติได้เร็วขึ้น ด้วยเครื่องมือและด้วยเทคโนโลยีที่เรามี อีกด้านหนึ่งเราก็พยายามที่จะฉายให้ภาคประชาชนเห็นว่า จริงๆ แล้ว การต่อต้านคอร์รัปชันไม่ได้เป็นเรื่องที่หนักหนาหรือยาก ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการที่จะต่อต้านคอร์รัปชันและสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐได้
งาน DATATHON ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้าง
ปฏิพัทธ์: เราทำกันเมื่อตอนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีคนมาช่วยกันสักประมาณเกือบ 100 คน มีตั้งแต่เด็ก ม.ปลาย คนทั่วไป จนถึงนักคอมพิวเตอร์ คือค่อนข้างประหลาดใจที่มีคนมา 100 กว่าคน แต่ในมุมหนึ่งเราก็พบว่า ข้อมูลเหล่านี้ผ่านไปเป็นสิบปี สถานการณ์ก็ยังคล้ายๆ เดิม ยังต้องเรียกว่ากะท่อนกะแท่นอยู่ ปัจจุบันก็ยังเป็นข้อมูลลักษณะเดิมที่ทำงานยากเหมือนเดิม และในอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นจุดที่เราประทับใจที่สุด เพราะเราได้เชิญหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเข้ามาร่วมด้วย อย่างเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่จากศาลฎีกา คือ เขามารับความเห็นว่าข้อบกพร่องของข้อมูลที่เปิดอยู่ตอนนี้มันคืออะไร ซึ่งผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าหน่วยงานภาครัฐจะมาฟังอะไรอย่างนี้ เพราะว่าหน่วยงานรัฐเองก็เปิดข้อมูลตามหน้าที่ที่กฎหมายเก่าที่บอกไว้เท่านั้น คือมีข้อมูลในหลายๆ ลักษณะ อย่างการก๊อปปี้ไฟล์ Microsoft Word แปะลงมาเลย ซึ่ง DATATHON ก็เป็นกลไกทำให้เกิดการสะท้อนไปสะท้อนมาระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดี หลังจากงาน DATATHON เราตั้งใจไว้ว่าจะสร้างแพลตฟอร์มให้คนทั่วไป เวลาอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม สามารถเข้ามาในระบบนี้ มาช่วยพิมพ์ชุดข้อมูลที่ตัวเองสนใจ เพื่อขยายให้การสร้าง Open Data ภาคประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาร่วมงานก็ได้ คือ DATATHON จะเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
คาดหวังให้ Open Data นี้ จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างไร
ปฏิพัทธ์: สิ่งที่ต้องระวังคือ Open Data ไม่ใช่ยาวิเศษ เป็นคล้ายๆ กับคานงัดเท่านั้น แต่ว่ามันยังงัดใครไม่ได้ ถ้ามันไม่มีคนมางัดมัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นอันดับแรก คือช่วยกันสร้างคานงัดก่อน พอมีคานงัดแล้ว จะงัดอย่างไร จะงัดโดยใคร จะงัดเมื่อไหร่ อันนี้ก็จะต้องเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะต้องมาช่วยกันสร้าง แล้วอีกกระบวนการถัดไปคืองัดแล้วทำยังไงไม่ให้ซวย หรือว่างัดแล้วทำยังไงให้ปลอดภัย เพราะฉะนั้นผมจะมอง Open Data เป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้เราทำงานอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
สุภอรรถ: ผมว่าเป็นโปรเจกต์ยังต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวในการทำ และต้องมีความต่อเนื่อง เพราะมีโครงการรัฐจัดซื้อจัดจ้างกันทุกวัน ปีๆ หนึ่งมีประมาณ 3.5 ล้านโครงการ วงเงินก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถ้าเราหยุดไปสักปีหนึ่งก็จะตามไม่ทันแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่คาดหวังก็อยากจะเห็นสังคมที่โปร่งใสมีกลไกความรับผิดชอบชัดเจน สังคมที่สามารถติดตามตรวจสอบได้ เป็นสังคมที่คนดีอยู่ได้ง่าย คนไม่ดีก็อยู่ยากหน่อย แต่ทุกวันนี้มันค่อนข้างกลับกัน ซึ่งสังคมดีนั้นไม่มีขาย เราต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา ต้องอาศัยแรงจากประชาชนทุกคน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Open Data ต่อต้านคอร์รัปชัน ที่งาน GOOD Society Expo 2019
10 – 13 ตุลาคมนี้ ที่ centralwOrld