เคยสงสัยไหมว่าทำไมแคมเปญรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมถึงได้มีมากมายเต็มไปหมด แถมยังมีน้อยมากที่จะเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นั่นเป็นเพราะว่าการรณรงค์ไหนที่ไปผูกกับพฤติกรรมเดิมๆ หรือความเคยชินของคนเรา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำสำเร็จได้ยาก
อย่างเช่นเรื่องการของปัญหาขยะพลาสติกในบ้านเรา ที่ต่างได้ยินกันมานานจนกลายเป็นเรื่องปกติ มารู้ตัวอีกที ไทยก็ติดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดไปแล้วและก็ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังถึงขั้นเป็นกฎหมายบังคับ มีเพียงแค่การรณรงค์ชั่วครั้งคราว พร้อมกับการรายงานข่าวสัตว์ทะเลมากมายที่เสียชีวิตจากการกลืนกินถุงพลาสติกเข้าไปอยู่เป็นประจำ
The MATTER จึงไปพูดคุยประเด็นนี้กับ เต้ย – วีรยา ภักดีรจนาหัวหน้าโครงการแห่งมูลนิธิเอ็นไลฟที่พยายามปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะพลาสติก ว่าจะเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันคุ้นชินได้อย่างไร มีวิธีการไหนที่ทำให้แคมเปญรณรงค์ทั้งหลายประสบความสำเร็จ และในงาน GOOD Society Expo 2018 จะมีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เราอยากจะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทุกวันนี้การรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนทั่วไปเป็นอย่างไร
คนก็เริ่มตระหนักตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมากขึ้น เพราะว่าจากผลกระทบที่มันเกิดขึ้นกับเขาโดยตรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมลภาวะที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเขาก็น่าจะรับรู้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนกำลังตระหนักเลย ไม่ว่าชาวโลกหรือประเทศไทยเองเราติดอันดับ 6 ในการทิ้งขยะลงทะเล ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ และน่าจะมีส่วนช่วยให้ภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้นตรงนี้ได้เพราะปัญหามันเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้นแล้ว
มีวิธีการไหนที่จะบอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักกว่าที่คิดเพราะคนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
ทุกวันนี้เพียงแค่อากาศร้อน เขาอาจจะมองว่าไกลตัวเพราะอยู่แต่ในห้องแอร์ แต่ถ้าเป็นเรื่องของสภาพอากาศที่มันแปรปรวนไป ทั้งพายุฝน แผ่นดินไหวในต่างประเทศที่เห็นจากข่าวก็พอเห็นภาพมากขึ้น คือเข้าใจว่าคนเรา ถ้าไม่มีปัญหามาถึงตัวเองหรือไม่เดือดร้อนถึงตัวเอง ก็จะมองไม่เห็นความสำคัญจริงๆ บางคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า เราใช้ถุงพลาสติกแล้วมีผลกระทบยังไง มันไปถึงทะเลได้ยังไง เราก็ใช้อยู่ในเมืองนี่นา คือเขามองแบบนั้น ซึ่งการจัดการขยะพลาสติกในกรุงเทพฯ เองมันไม่ได้จัดการได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์โอเคว่ามีการฝังกลบที่ถูกต้องแต่ก็มีส่วนที่ถูกทิ้งตามแม่น้ำลำคลอง จากแม่น้ำทุกอย่างมันก็รวมกันที่ทะเลปลายทางอยู่แล้วเราจะได้ยินข่าวเรื่องแพขยะในทะเลที่เกิดขึ้น บางส่วนก็แตกสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกที่กระจายอยู่ในทะเล ไปกระทบกับการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเลอีก คิดว่าการให้ความรู้และความเข้าใจให้คนเห็นถึงปัญหา ให้ตระหนักได้จริงๆ คนก็อาจจะเริ่มมีแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงหรืออยากจะดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่มีการรณรงค์มานานแล้ว มองว่าทำไมถึงไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมสักที
ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นการแก้ไขปัญหาโดยที่ใช้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างเดียวอาจจะยาก จึงต้องมีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วย อย่างเช่นรัฐบาลเองก็เริ่มมีการรณรงค์มากขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการออกมาตรการว่าห้ามนำถุงพลาสติก ขวดน้ำ หรือแก้วน้ำพลาสติกเข้าไปในบริเวณอุทยานแห่งชาติ บางทีคนอาจจะมองว่าต่างประเทศเขาทำกันมานานแล้ว เพราะภาครัฐเขาสามารถดำเนินการได้ ของไทยอาจจะต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือ ภาคธุรกิจอย่างผู้ประกอบการก็เป็นส่วนสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ได้ ผ่านการรณรงค์ที่ลดการให้ถุงพลาสติกหรืองดใช้ถุงพลาสติกไปเลย หรืออย่างการใช้แก้วน้ำส่วนตัว จะลดราคาให้ ซึ่งต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ถึงจะช่วยกันแก้ปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้นได้
คือการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินอยู่แล้ว เป็นเรื่องยากเกินไปหรือเปล่า
คือพลาสติกทำให้เราสะดวกสบาย มันอยู่ในชีวิตประจำวันเรา ไม่ว่าจะเรื่องของการกิน การจับจ่ายใช้สอยก็มีถุงพลาสติกเข้ามาในวิถีชีวิตของเราตลอด ซึ่งตรงนี้มันเป็นความสะดวกสบายที่อาจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ยาก มันก็เลยต้องอาศัยการเริ่มต้นจากคนคนหนึ่งที่อยากจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ หนึ่งคนเริ่มแล้วคนรอบข้างก็จะเริ่มเห็นว่าทำแล้วมันดีขึ้นยังไง ก็สามารถส่งต่อและขยายผลไปเรื่อยๆได้
เท่าที่ผ่านมาเคยมีเคสรณรงค์ไหนที่มองว่าเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง
เคสที่ทราบตอนนี้ คือมหาวิทยาลัยที่รณรงค์ร่วมกับผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยประมาณ 15 มหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ให้งดใช้ถุงพลาสติกอย่างได้ผล ซึ่งส่วนตัวมองว่าเริ่มต้นที่กลุ่มสถาบันการศึกษา โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่ทำให้เป็นเหมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะส่งต่อไปได้ เพราะคนรุ่นใหม่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และรับรู้อะไรง่ายกว่าคนรุ่นก่อน คือเคสนี้ค่อนข้างได้ผลทีเดียว แล้วอีกเคสหนึ่งที่พูดถึงกันมากก็คือกลุ่ม Greenery Challenge ที่การสร้างแนวความคิดเดียวกันในเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านการ Challenge ตั้งแต่การงดใช้ถุงพลาสติกเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนสเต็ปที่สองเป็นเรื่องของการงดใช้หลอดพลาสติกแล้วใช้หลอดส่วนตัว แล้วสเต็ปที่สามก็คือใช้แก้วส่วนตัวเลย อย่างที่บอกว่าถ้าคนหนึ่งทำก็จะสามารถส่งต่อให้คนรอบข้างได้ ทำให้ตอนนี้กลุ่มก็เริ่มขยายมากขึ้นซึ่งตอนนี้มีคนเข้าร่วมประมาณหมื่นคนแล้ว
อย่างการรณรงค์ที่บอกว่า ‘พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แค่ใช้อย่างคุ้มค่า’ คิดว่าจะเปลี่ยนทัศนคติคนทั่วไปที่มีต่อปัญหานี้ได้ไหม
การใช้ทรัพยากรอะไรก็ตามคือต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะในการผลิตก็ใช้ทั้งต้นทุนและวัตถุดิบที่สูญเสียไป คือต้องใช้ให้คุ้มค่าต่อการผลิตแต่ละครั้งเพราะว่าการลด ละ เลิกเลยอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ว่าถ้าเริ่มปรับเปลี่ยนโดยการใช้ให้คุ้ม ใช้แล้วใช้ซ้ำ ใช้จนกว่ามันจะไม่สามารถใช้ได้ อย่างถุงพลาสติกก็ต้องเอาไปใช้ใหม่ Reuse ให้มากที่สุด หรือการUpcycling คือการนำขยะพลาสติกที่ไม่สามารถจัดการได้แล้ว นำกลับมาแปรรูปเป็นสิ่งของชิ้นใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็เป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายทาง การแก้ไขปัญหาควรจะเป็นต้นทาง ก็คือการReduce ลดใช้ให้มากที่สุด น่าจะทำให้เกิดผลมากกว่าแต่สุดท้ายมองว่าการRefuse ปฏิเสธไม่ใช้เลยน่าจะดีที่สุด
ปัญหาขยะพลาสติกส่งผลต่อภาพลักษณ์เรื่องการท่องเที่ยวมากน้อยขนาดไหน
นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเที่ยวกันเพราะว่าอะไร ก็เพราะว่าธรรมชาติสวยงาม สิ่งแวดล้อมสวยงาม แต่ถ้าประเทศไทยเราถูกมองว่าเป็นเมืองขยะพลาสติก ผลิตพลาสติกเยอะมากที่สุด มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆก็เสื่อมสภาพไปด้วยตรงนี้ก็ทำให้ชาวโลกมองเราว่า เราไม่ได้ดูแลตรงนี้เหรอ ไม่ได้รับผิดชอบตรงนี้เหรอ เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ จึงเป็นการรักษาต้นทุนทางธรรมชาติและระบบนิเวศที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวอย่างมาก
บทบาทของเอ็นไลฟมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร
พันธกิจของเราคือช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน และปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่เราเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คือเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่สามารถที่จะทำด้วยตัวคนเดียวได้ องค์กรเดียวก็ไม่สามารถทำได้ เราเลยต้องดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าภาครัฐเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และคนในพื้นที่มาร่วมรับผิดชอบพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโครงการของเอ็นไลฟก็มีหลายโครงการ อย่างเช่นโครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศบนแหลมพระนาง-ไร่เล ซึ่งโครงการนี้เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเราเข้าไปจัดการให้ผู้ประกอบการหรือร้านค้าบริการต่างๆช่วยกันดูแลระบบนิเวศ ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว เพราะมันเป็นแหล่งต้นทุนของเขาในการจูงใจให้นักท่องเที่ยวอยากจะเดินทางมา ซึ่งตรงนี้ก็เราทำมาอย่างต่อเนื่อง
คำว่า ‘ยั่งยืน’ เป็นคำที่พูดกันบ่อยในการรักษาสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วความหมายในเชิงลึกคืออะไร
วิธีการจะทำให้ยั่งยืนได้คือไม่ว่าเราจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือเราจะถอนตัวออกมา สิ่งต่างๆ ที่เราทำไว้มันยังคงอยู่ ชุมชนสามารถดำเนินโครงการต่อเองได้ เพราะเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาจึงเห็นและตระหนักว่าปัญหามีอะไรบ้าง และต้องเป็นความต้องการของเขาเองที่อยากจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมตรงนั้น ตรงนี้แหละที่ทำให้ยั่งยืน คือทุกส่วนต้องเห็นความสำคัญและลงมือทำร่วมกัน ไม่ใช่ทำแค่หนึ่งโครงการแล้วจบไป อย่างโครงการล่าสุดที่ทางเอ็นไลฟทำก็คือโครงการป่าครอบครัว ที่ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เราได้เชิญชวนภาคีที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพหรือ BEDO เข้ามาช่วยกันสร้างป่าให้เป็นเหมือนแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ให้กับชุมชนประเด็นสำคัญคือต้องมีการปลูกเสริมหรือดูแลรักษาเพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่เป็นหลัก
คนในพื้นที่คือคนที่เป็นเจ้าของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติตรงนั้นเขาจะต้องเห็นความสำคัญก่อน วิธีการคือเราต้องเข้าไปพูดคุยให้เขาเห็นก่อนว่า ตอนนี้ผลกระทบมันเกิดอะไรขึ้นบ้างแล้วเขาจะเป็นคนสะท้อนปัญหาให้เราเอง ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง หอยชักตีน ซึ่งเป็นอาหารทะเลขึ้นชื่อของกระบี่แต่ก่อนชาวประมงในชุมชนเขาจับได้เยอะมากเลย แต่ว่าปัจจุบันเริ่มจับได้น้อยลงและมีขนาดตัวเล็กลง ซึ่งตรงนี้เอ็นไลฟก็เข้าไปช่วยดูว่าควรจะบริหารจัดการทรัพยากรตรงนี้ยังไง บอกเล่าผลกระทบให้เขาเห็น ว่าการจับแบบเดิมไม่ถูกต้องควรปล่อยให้หอยได้เพาะพันธุ์เพิ่มปริมาณให้ได้เยอะๆ ก่อน ทำเป็นแปลงบริหารจัดการเพื่อสร้างแหล่งอาศัยให้หอยมากขึ้น เพราะเขาเองอาจจะยังไม่เห็นทางออกหรือทางแก้ เราเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเสนอแนะแนวทางให้และช่วยดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้
สุดท้ายแล้ว เราจะส่งต่อแนวคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่สุดคือเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน เราต้องทำเป็นแบบอย่างให้เห็น ว่าการเริ่มที่ตัวเรามันไม่ใช่เรื่องยากเลย แล้วพอคนรอบข้างเราเห็นว่าเราทำแล้ว แล้วมันได้ผล เขาก็จะเริ่มรับแนวคิดหรือซึมซับการกระทำของเราได้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆจากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ จากคนรอบข้าง เพื่อนที่ทำงาน ครอบครัว จนขยายไปยังสังคมในวงกว้างได้ในที่สุด
ในงาน GOOD Society Expo 2018 ที่กำลังจะจัดขึ้น มูลนิธิเอ็นไลฟมีกิจกรรมอะไรให้ได้เข้าร่วมบ้าง
ในพาวิลเลี่ยนสิ่งแวดล้อม ประเด็นสำคัญที่เรานำเสนอในปีนี้คือเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า โดยนำเสนอเลยว่าปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรานะ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวแล้ว แล้วคุณสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวคุณเองได้ยังไง เรามีทางออกให้หมด และก็ในงานก็จะมีการเสวนา Green Talk จากคนที่เขาลงมือปฏิบัติจริง และในส่วนของเวิร์กช็อปก็จะมีกิจกรรมอย่างการ Reuse นำขยะพลาสติกมาใช้เป็นประดิษฐ์สิ่งของ ประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี หรือการทำถุงผ้าจากเสื้อยืดที่ไม่ใช้แล้ว นอกจากนั้นจะมีรณรงค์เรื่องของการใช้แก้วส่วนตัว Yes กระติก No พลาสติก รวมถึงการเปิดให้ลงชื่อเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆภายในงานด้วยเพราะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเห็นผลต้องเริ่มที่ตัวเรา
เชิญชวนเป็นส่วนหนึ่งในการทำดีกับ GOOD Society Expo 2018 เทศกาลทำดีหวังผล ที่จะทำให้คนไทยเห็นโอกาสว่าตัวเองสามารถช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง กับ 9 โซนกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำดีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทันที 13 – 16 กันยายน 2561 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Pantawan Siripatpuwadon