OAB หรือ Overactive Bladder เป็นภาวะที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน โดยจะสังเกตได้จากอาการปัสสาวะบ่อยครั้ง ปัสสาวะกลางคืน หรือปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้
ซึ่งภาวะนี้หากสามารถเช็กตัวเองได้ตั้งแต่เบื้องต้น แล้วเข้าทำการรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็สามารถดีขึ้นได้ เราจึงชวนคุณมารู้จักกับภาวะนี้ให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับ รศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ รพ.จุฬาลงกรณ์ ถึงอาการ การสังเกตตัวเองขั้นต้น ครอบคลุมถึงการรักษาและการปฏิบัติตัว เพื่อให้สามารถสะท้อนกลับมาสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้าง หากพบอาการที่เข้าข่ายดังกล่าวจะได้รีบรักษากับแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะให้ดีขึ้น และกลับมามีชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขได้ดังเดิม
ทำความรู้จักกับภาวะ OAB
ในเวลาปกติ กระเพาะปัสสาวะเราจะเริ่มมีการบีบตัวก็ต่อเมื่อเริ่มมีการปัสสาวะ หากแต่ในภาวะ OAB กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวในขณะที่ยังไม่ได้ตั้งใจจะปัสสาวะหรือกำลังปัสสาวะอยู่ นั่นทำให้เรารู้สึกปวดปัสสาวะขึ้นมากะทันหัน หรือ Urgency
คุณหมอเล่าให้ฟังถึงอาการเบื้องต้นว่า “อาการก็คือ ปวดปัสสาวะขึ้นมากะทันหัน ปวดจี๊ดขึ้นมา บางครั้งก็ไปถึงห้องน้ำทันเวลา บางครั้งไม่ทันก็จะมีการปัสสาวะเล็ดระหว่างทาง ซึ่งภาวะ OAB จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ และผู้หญิงจะพบบ่อยกว่าตั้งแต่อายุยังน้อย แต่กับผู้ชายจะซับซ้อนกว่าตรงที่บางครั้งมันรวมกันอยู่ระหว่าง OAB กับต่อมลูกหมากโต โดยเฉพาะกับผู้ชายที่อายุเกิน 50 ปี”
สำหรับในผู้หญิง ถ้าอายุยังน้อย คุณหมอจะใช้การสอบถามพูดคุยถึงพฤติกรรมข้างต้นก่อน โดยเฉพาะพฤติกรรมการดื่มน้ำและการใช้คาเฟอีน “ผมว่าการดื่มน้ำที่ดี จะไม่ใช่ดื่มทีหนึ่งเยอะๆ ภายในครั้งเดียวนะครับ ควรจะมีการดื่มเฉลี่ยไปทั้งวัน โดยส่วนใหญ่ผมว่าสัก 2,000-2,500 ซีซี ต่อวัน ผมว่าถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนคาเฟอีน มีผล 2 อย่างคือ ไปเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะ และคาเฟอีนสามารถขับออกทางปัสสาวะ แล้วไประคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการกระตุ้นได้”
ในส่วนของผู้ชาย มักจะเจอภาวะนี้ในช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป “พออายุสัก 50 ปี ต่อมลูกหมากจะเริ่มโต ต่อมลูกหมากมันจะหุ้มอยู่รอบท่อปัสสาวะ อยู่ข้างในนะครับ พอมันโตขึ้น มันจะกดเบียดท่อปัสสาวะทำให้ท่อปัสสาวะแคบลง ผลก็คือคนไข้ก็จะปัสสาวะได้ช้าลง ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากว่าปัสสาวะแต่ละครั้งไม่หมด ถ้าเป็นนานๆ ผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้น อาจจะเกิดปัญหากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินตามมาได้ ซึ่งอันนี้ค่อนข้างลำบากแล้ว เราก็ต้องดูว่าคนนั้นอาการต่อมลูกหมากโตเยอะกว่า หรืออาการ OAB เยอะกว่า”
ภาวะ OAB ต้นเหตุคุณภาพชีวิตลดลง
จากอาการที่สังเกตได้ด้วยตัวเองที่ว่า ปัสสาวะบ่อยเกินปกติ คือในเวลากลางวันปัสสาวะเกิน 8 ครั้ง หรืออาการปวดปัสสาวะแล้วต้องรีบไปห้องน้ำทันที รวมทั้งกลางคืนที่ตื่นมาปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งจำเป็นต้องดูว่ามีสาเหตุและอาการอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะมีการเจ็บ แสบ ขัด ซึ่งถ้าเริ่มมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
ภาวะ OAB นอกเหนือจะกระทบกับคุณภาพชีวิตในเชิงร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อเรื่องจิตใจและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ “อาการที่จะทำให้คนไข้หรือผู้ป่วยมีปัญหาหนักๆ คืออาการปัสสาวะรีบเร่ง คือปวดปัสสาวะแล้วแทบจะทนไม่ได้เลย จะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที อั้นไม่ได้ หรือปัสสาวะบ่อย ซึ่งมันกระทบกระเทือนกับชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำงาน เพราะทุกครั้งที่ต้องเข้าห้องน้ำ ไม่ใช่เฉพาะเราที่มีปัญหา แต่ยังกระทบคนรอบข้างด้วย”
“ผมว่าการปัสสาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในระยะยาวมีผลต่อสุขภาพจิตแน่นอนครับ เคยมีงานวิจัยบอกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ คนไข้อาจกลายเป็นโรควิตกกังวล ไปจนถึงขั้นซึมเศร้าได้ ซึ่งอาการตรงนี้ขึ้นอยู่กับทั้งคนไข้และแพทย์ ต้องมานั่งพูดคุยถึงเรื่องแนวทางในการรักษา เพื่อให้สภาวะทั้งร่างกายและจิตใจดีขึ้น ผมพูดตรงๆ เลยว่า ภาวะ OAB ต้องอาศัยผู้ป่วยช่วยด้วยในการรักษา เพราะจะต้องมีการปรับไลฟ์สไตล์บางอย่าง อย่างคนที่ติดกาแฟมาทั้งชีวิต การจะให้ลดกาแฟก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”
ชีวิตดี เมื่อ OAB รักษาได้
OAB ไม่ใช่โรคร้ายแรง แนวทางการรักษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการพูดคุยและแนะนำแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันเสียมากกว่า ร่วมกับการใช้ยา “เพราะฉะนั้นครั้งแรกที่เจอกัน อาจจะพูดคุยประมาณ 20 นาที ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร การดื่มน้ำที่ใช้การจิบบ่อยๆ ดีกว่าดื่มหลายแก้วในครั้งเดียว”
สำหรับผู้หญิงที่เคยมีบุตร แพทย์ก็จะมีคำแนะนำในการบริหารกล้ามเนื้อเชิงกราน ที่เรียกว่า Kegel Exercise ที่ช่วยทำให้อาการปวดปัสสาวะควบคุมได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงปัสสาวะเล็ดในระยะยาว รวมทั้งการฝึกอั้นปัสสาวะในกรณีฉุกเฉิน ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการลดคาเฟอีน กิจวัตรการดื่มน้ำ การรับประทานอาหารที่ลดอาการท้องผูก
หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย ซึ่งตรงนี้คุณหมอแนะนำให้รับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือห้ามหยุดยาเอง เพราะบางครั้งอาการกำลังค่อยๆ ดีขึ้นจากการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือทางออกที่ดีที่สุด
เบื้องต้นอาการของ OAB จึงอยู่ที่การสังเกตพฤติกรรมในเรื่องการปัสสาวะ ทั้งเรื่องความถี่ในการปัสสาวะ ความสามารถในการอั้น รวมทั้งอาการเจ็บ แสบ ติดขัดที่ถือว่าผิดปกติ หรือจะลองเช็กตัวเองก่อนได้ง่ายๆ กับแบบสอบถาม OABSS Score ซึ่งได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิภาพในการประเมินขั้นต้นสำหรับภาวะ OAB
“แบบสอบถาม OABSS Score มีทั้งหมด 4 ข้อนะครับ เป็นคำถามง่ายๆ ซึ่งหากคะแนนรวมเบื้องต้นใน 4 ข้อมากกว่า 3 หรือตั้งแต่ 4 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าคุณกำลังเริ่มมีอาการ OAB นอกจากนั้นยังมีอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือถ้าคุณไม่แน่ใจว่าทำไมปัสสาวะบ่อย สามารถลองทำ Voiding Diary หรือ Bladder Diary คือการจดบันทึกว่า ภายใน 24 ชั่วโมง 3 วันติดกัน เราปัสสาวะกี่ครั้ง ปัสสาวะเวลาไหน ปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวัน แล้วนำบันทึกนี้ไปให้คุณหมอ คุณหมอก็จะวิเคราะห์ว่าคุณมีปัญหาอะไร พฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร แล้วควรแก้ไขตรงไหนได้บ้าง”
หากจากการทำแบบทดสอบหรือการบันทึกการปัสสาวะแล้วพบว่ารู้สึกถึงความผิดปกติ แนะนำให้พบแพทย์ Urologist หรือศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางที่ให้คำแนะนำและการรักษา เพื่อพาคุณกลับไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกกายและสบายใจเช่นเดิม
“OAB ไม่ใช่โรคร้ายแรง โอกาสที่ต้องมีการผ่าตัดแทบจะน้อยมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย หรืออีกกลุ่มหนึ่งคือคนไข้ไม่อยากมาหาเพราะเขินอาย อันนี้ผมยืนยันเลยว่า การรักษา OAB ส่วนใหญ่จะเป็นคำแนะนำในการปฏิบัติตัวร่วมกับการใช้ยารักษาซึ่งมีผลข้างเคียงแตกต่างกันในแต่ละตัวยา การตรวจจะเป็นการตรวจปัสสาวะ ทำไดอารี่ และอาจมีการตรวจความแรงในการปัสสาวะ ซึ่งผมว่าการรักษามันไม่ได้ยาก สามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นผมว่าอย่าลังเลเลยที่จะมาเจอหมอ”
ทำแบบสอบถามประเมิน OABSS Score ได้ที่ https://www.holdontomoreth.com/questionnaire
หรือค้นหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้คุณได้ทาง https://www.holdontomoreth.com/find-doctor