การก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเติบโตขึ้นจากปีก่อนๆ ทั้งในแง่ของการผลิตทั้งภายในประเทศและส่งออก แต่ถ้ามองในเรื่องของการใช้พลังงานก็ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก การแสวงหาพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบขนส่ง คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน
แม้ว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมๆ จะยังสามารถสร้างยอดขายได้ไม่เคยตก แต่ถ้าหากมองกันยาวๆ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงคุณภาพของการใช้ชีวิตท่ามกลางไอเสีย จนเกิดโรคทางเดินหายใจก็ไม่น่าจะเป็นผลดีในระยะยาว ผู้ผลิตหลายรายก็พยายามหาทางออกด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เข้าเพื่อให้ลดใช้พลังงานน้ำมันให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV หรือแบบเพียวๆ ก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันสักเท่าไร เพราะต้องอาศัยทั้งความพร้อมของทั้งผู้ผลิตเอง สถานที่ชาร์จไฟ และจุดจอดรถ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐอย่างมาก แต่ก่อนจะก้าวไปถึงยุคนั้น ‘รถยนต์ไฮบริด หรือ HEV’ จึงเป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง โดยเริ่มต้นจากการก้าวเข้าสู่ยุคไฮบริดเสียก่อน เป็นการเปลี่ยนผ่านก่อนที่เราจะก้าวไปสู่ยุคของรถไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ไฮบริดจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ณ เวลานี้
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารหนุ่มแห่งศรีจันทร์สหโอสถ ที่เคยมีประสบการณ์ใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก ถึงมุมมองต่ออนาคตของการใช้พลังงานทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า
ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มองว่ามีประเด็นไหนที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
ถ้ามองในอนาคตจริงๆ มีสองเรื่องที่ใหญ่มากๆ เกี่ยวข้องตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของมนุษย์ อย่างแรกคือเรื่องของ AI ซึ่งมาแน่นอน เราใช้กันอยู่แล้วแต่บางคนอาจยังไม่รู้ เป็นวิวัฒนาการที่ใหญ่มาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในระดับร้อยปีหรือพันปีเราไม่เคยเห็นวิวัฒนาการใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ส่วนอีกพาร์ตหนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็อยู่ในช่วงที่เป็นรอยต่อ ล่าสุดเกือบทุกประเทศไปเซ็นสนธิสัญญาปารีสที่บังคับใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมในปี 2020 กันหมด ถ้าใครได้ดูดีเทลจะพบว่ารุนแรงกว่าที่คิดเยอะ
สองเรื่องนี้จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนโลกของเราในอีก 20-30 ปีข้างหน้า แล้วมันจะเกี่ยวข้องอะไรกับประเทศเราบ้าง คือเราอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 ที่พูดถึงเทคโนโลยี ข้อมูล ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ฟังๆ อาจดูดี แต่ต้องมีกระบวนการในการปลูกฝังความคิดและระบบการศึกษาที่ไม่ใช่การไปนั่งเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการศึกษาที่สอนคนทั้งชาติ ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญ อะไรคือสิ่งที่คุณต้องทำ อะไรคือหน้าที่ของคุณ คือการสอนวิธีคิดในการก้าวเข้าสู่อีกยุคหนึ่ง ว่าคุณจะทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ยากมาก
การเปลี่ยนแปลงที่ว่า ถ้าโฟกัสไปที่เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ภาพไหนชัดเจนที่สุด
ยกตัวอย่างบริษัทน้ำมัน จะเห็นได้ว่าเขาเริ่มมีรายได้จากธุรกิจประเภทอื่นที่จะแซงธุรกิจน้ำมันอยู่แล้ว เขาเริ่มปรับตัว เพราะโครงสร้างเชิงพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ทั้งโลกตกลงกันมาแล้วว่า เราจะปล่อยของเสียทุกรูปแบบน้อยลง ที่ปล่อยกันมากคือบรรดาสารพัดก๊าซทั้งหลาย ซึ่งก็มาจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปแบบเก่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักร่วมกัน การเกิดขึ้นของรถไฮบริด รถไฟฟ้า พลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งลมและน้ำ มันเป็นเส้นเดียวกันที่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน ประเทศไทยจึงต้องมีแผนความมั่นคงทางพลังงาน ไม่อย่างนั้นอนาคตจะมีปัญหาได้
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่ทุกคนคิด เมื่อปี 1900 ถ้าใครเคยไปดูรูปถ่ายที่ถนน Fifth Avenue ของนิวยอร์ก ทั้งถนนเป็นรถม้าหมดเลย มีรถยนต์อยู่แค่หนึ่งคัน แต่ผ่านไปปี 1913 รูปถ่ายมุมเดียวกัน ทั้งถนนเป็นรถยนต์หมดเลย เหลือรถม้าอยู่คันเดียว เวลาผ่านไปแค่ 13 ปีเท่านั้น นี่คือ Technology Disruption ซึ่งเราจะเห็นภาพแบบนี้ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าแล้ว
ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็ว มองว่ามีทางไหนที่จะทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมก่อนที่จะหันไปใช้พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ดีที่สุด
การใช้รถยนต์ไฮบริดเป็นการทำให้เราชินระดับหนึ่ง จากการใช้เครื่องยนต์สันดาปร้อยเปอร์เซ็นต์มากว่าร้อยปี ตอนนี้ก็มีทางเลือกที่สองคือไฮบริด ซึ่งเป็นการเตรียมตัวที่จะเข้าสู่รถยนต์ในอนาคตที่อาจจะไม่ใช้น้ำมันเลย ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจเป็นหลัก สิ่งที่เป็นประเด็นเลยคือเรื่องของการให้ความรู้ ผมเข้าเว็บบอร์ดเกี่ยวกับรถตลอด คนไทยจำนวนมาก ค่อนข้างกลัวเรื่องของแบตเตอรี่รถ ยกตัวอย่างรถยนต์ที่ไร้คนขับ ปีหนึ่งมันขับไม่รู้กี่ร้อยล้านกิโลเมตร อาจจะมีเคสคนตายแค่ 1 คน แต่ข่าวดังมาก ในขณะที่รถยนต์ที่มนุษย์ขับมีคนตายปีหนึ่ง 2 ล้านคน จนชินกันไปหมดแล้ว ซึ่งก็คล้ายๆ กัน พอเป็นของใหม่มีเรื่องนิดหนึ่งจะถูกขยายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่
จริงๆ เทคโนโลยีนี้ไม่ได้ซับซ้อนหรือซ่อมยากขนาดนั้น ยิ่งรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบมาก็ยิ่งต้องให้ความรู้คนใช้มากขึ้น ถ้าคนมีความรู้เรื่องนี้เยอะขึ้น ในที่สุดภาครัฐก็จะเริ่มต้องปรับตัวตาม แน่นอนว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ใช่แค่การช่วยเหลืออย่างเดียว แต่เป็นการสนับสนุนด้วย ซึ่งในประเทศต่างๆ ภาครัฐมีส่วนอย่างมากในการทำให้รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกมีโอกาสเกิดหรือไม่เกิดก็ได้
แสดงว่าภาครัฐมีส่วนสำคัญในการทำให้คนมองเห็นถึงปัญหาเรื่องพลังงานมากขึ้น
เป็นอีกก้าวหนึ่งที่รัฐจะต้องให้ความรู้กับประชาชน เป็นกลไกที่สำคัญมากๆ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดขึ้นได้ รถไฟฟ้า EV แท้ๆ ทุกวันนี้จะแพงมาก ถ้าคนไม่รู้จักก็ไม่กล้าใช้ เพราะฉะนั้นสมการมันยังไม่ลงตัว การจะทำให้เกิด EV ขึ้นจริงๆ รัฐต้องเข้ามาจัดการเหมือนที่ประเทศในยุโรปทำ ซึ่งมีขั้นตอนเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ให้ความรู้ก่อน ลดภาษี สนับสนุน และสำคัญที่สุดคือถ้าต้องการให้ธุรกิจนี้ยั่งยืนจริงๆ ต้องสร้าง supply chain ให้เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าชิ้นส่วนต่างๆ ไม่เหมือนรถยนต์ทั่วไปเลย ดังนั้นกระบวนการจึงแตกต่างออกไป ผมเชื่อว่ามันจะเป็นโอกาสของประเทศถ้าเราทำให้ดี แต่อาจจะมีโอกาสแค่ครั้งเดียว ถ้าเกิดเริ่มต้นผิด เหมือนติดกระดุมผิดเม็ด มันจะเละไปหมดเลย ต้องตั้งใจวางแผนดีๆ และเราไม่ได้พูดถึงรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น กลุ่มที่ใหญ่กว่าคือรถโดยสาร รถบรรทุก หรือขนส่งมวลชนทั้งหลาย ตรงนี้จะมีประโยชน์กับประเทศไทยมากๆ
ในเมื่อภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่สุดอยู่แล้ว แต่ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ด้วย ต้องให้ความรู้อย่างเช่นสภาพแวดล้อมเราเป็นปัญหาขนาดไหน หลายคนยังไม่เข้าใจว่า ถ้าปัญหาไม่มาเคาะประตูหน้าบ้านเรา ก็จะไม่มีใครเข้าใจมันจริงๆ โลกร้อนเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เรื่องพวกนี้ต้องให้ความรู้กับประชาชน ไม่มีทางไหนจะดีไปกว่าการทำไปเรื่อยๆ แต่ต้องทำในสเกลที่ใหญ่พอและมีความถี่สูง อย่างครั้งแรกไม่อ่าน ครั้งที่สองไม่อ่าน ครั้งที่สิบอาจจะอ่านก็ได้ วิธีการสื่อสารก็ต้องง่ายไม่ซับซ้อน ไม่วิชาการเกินไป ส่วนภาคเอกชนจะมาในส่วนของการแก้ปัญหา อย่างเช่นรถยนต์ไฮบริด หรืออย่างในกรณีพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ตัวเลือกที่ช่วยเหลือโลกมากขึ้น
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเน้นย้ำกันบ่อยมาก แต่ดูเหมือนคนจะมองเป็นเรื่องไกลตัว มีวิธีไหนที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้จริงๆ ไหม
สิ่งหนึ่งที่ใช้แล้วได้ผล คือเราจะต้องไม่ปกปิดความจริง ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้เห็นว่ารัฐมีการปกปิดความจริงแต่อย่างใด แต่ว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้นำเสนอเรื่องราวชัดๆ ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องภัยแล้ง ทุกคนก็รู้ว่าเป็นปัญหามาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครพูดตรงๆ มัวแต่ไปโฟกัสว่าจะทำยังไงให้ปลูกพืชขึ้นหรือทำยังไงให้ราคาผลผลิตขึ้น หรืออย่างปัญหาเรื่องหมอกควันในภาคเหนือ ก็ไปโฟกัสที่จะทำยังไงไม่ให้คนเผาป่า กลับไม่ได้ดูว่าเขาเผาป่าเพราะอะไร หรือจะให้ความรู้ในการแก้ปัญหาให้เขาได้ยังไง ซึ่งจริงๆ มันเป็นวิถีชีวิตของเขา ต้องให้ความรู้ในการหาทางออก อยากให้คนแยกขยะก็ต้องบอกว่าแยกขยะแล้วได้อะไร ถ้าภาครัฐทำให้เห็นว่า ประโยชน์ของการแยกขยะอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณตรงๆ แต่มันจะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนะ พอคนเห็นภาพจนเข้าใจก็จะทำ ทุกวันนี้ที่คนไม่ทำคือเพราะไม่เห็นภาพ สรุปคือหน้าที่ของภาครัฐต้องทำให้คนเห็นภาพให้ได้ สิ่งที่เขากำลังทำมันส่งผลยังไงกับภาพใหญ่ของประเทศและของโลก
การที่รัฐปรับลดโครงสร้างภาษีสำหรับรถไฮบริดและรถไฟฟ้า คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้คนหันมาสนใจประเด็นนี้ได้มากขึ้นไหม
เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ เพราะว่ายังไงก็แล้วแต่ เรื่องราคาก็ยังเป็นประเด็นสำคัญเสมอ แล้วรถยนต์เป็นของชิ้นใหญ่ที่คนจะกังวลเรื่องราคา ถ้าลดได้ก็ดี แต่เรื่องอื่นก็ต้องดูด้วย อย่างเช่นที่ชาร์ตไฟ ระบบชาร์ตไฟที่บ้านหรือข้างนอก ต้องมีการออกแบบ และเรื่องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้เหมือนกับรถทั่วไป สิ่งสำคัญก็คือคนต้องเข้าใจว่าความแตกต่างของรถกับรถธรรมดาแตกต่างกันอย่างไร เขาได้อะไรในทางตรงและทางอ้อม
เรื่องเงินเป็นประเด็นสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องทำควบคู่กันไป ผมคิดว่าคล้ายๆ กับการกินอาหาร พวกผักสลัด ปลา อาจจะแพงกว่าอาหารอ้วนๆ หน่อย และอาจจะไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการกินหมูสามชั้นหรือสลัดวันนี้อาจจะไม่เห็นผลทันที แต่ถ้ามองไปในอนาคตอีกสัก 5 ปี เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราทำทุกวันนี้มันเห็นผล ความคุ้มค่าไม่ได้มีมิติแค่เรื่องเงินหรือส่วนต่างของน้ำมันที่เสียไป แต่เรากำลังมอบโลกที่ดีกว่าให้กับคนยุคหลังที่เป็นความรับผิดชอบของเรา ตอนที่เราแก่และกำลังจากโลกนี้ไป เราอยากจะส่งมอบโลกนี้ให้คนรุ่นต่อไปในสภาพแบบไหน ผมว่าเรื่องนี้มีค่ามากกว่าเงินเยอะเลย
แต่ในแง่การใช้งานรถยนต์ไฮบริดจริงๆ คนก็ยังกังวลเรื่องของค่าบำรุงรักษาและการประหยัดน้ำมันอยู่ดี
เรื่องของการบำรุงรักษาเป็นเรื่องที่คนไทยกลัวที่สุด ก็ต้องให้ความรู้เพื่อให้เห็นภาพว่า รถคนนี้ใช้มา 10 ปีแล้ว ค่าบำรุงรักษาปีละเท่านี้เอง ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ซึ่งตรงนี้คนไทยยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เพราะหลายคนพอนึกถึงรถไฮบริดคือมีเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เยอะ ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรที่ซ่อมยาก อีกอย่างหนึ่งที่เป็นประเด็นในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นไม่น่าเป็น คือเรื่องของราคาขายต่อ ถือเป็นจิตวิทยาหมู่ประมาณหนึ่ง ถ้ารถรุ่นนี้เป็นที่นิยม ราคาขายต่อสูง คนก็จะอยากซื้อ แต่ในทางกลับกัน ถ้าราคาขายต่อไม่ดีก็ไม่อยากซื้อ ตรงนี้ผู้ผลิตก็ช่วยได้ในเรื่องของตลาดรองรับ ทำให้คนที่ซื้อสบายใจมากขึ้น
ขณะเดียวกันเรื่องของการประหยัดน้ำมัน ตกลงว่ามันช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้แค่ไหน ครึ่งหนึ่งหรือยังไง ภาพนี้ยังไม่ได้ถูกส่งออกมาให้ชัด และเราอาจจะต้องพูดในอีกหลายมิติว่าเรื่องก๊าซไอเสียที่ปล่อย อย่างดีเซลก็ประหยัดเท่าๆ กัน แต่ไอเสียที่ปล่อยออกมาก็มากกว่า อีกอย่างที่เป็นภาพใหญ่ขึ้นไปอีกคือเรื่องของจิตสาธารณะก็ได้ ถ้าช่วยกันเน้นย้ำว่าสิ่งแวดล้อมและอากาศเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ร่วมกัน คนก็จะรู้สึกว่าเรามีหน้าที่ต้องปล่อยไอเสียให้น้อยลง
ในแง่การตลาด มีวิธีไหนที่ทำให้คนเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานทางเลือกได้เร็วที่สุดไหม
ทุกวันนี้เรามีข้อมูลให้เสพเยอะมาก เพราะฉะนั้นอะไรที่มันถูกจัดวางมาในรูปแบบที่ยากเกินไป คนจะไม่อยากรู้ไม่อยากเสพ และต้องเห็นบ่อยด้วย ผมเคยอ่านรีเสิร์ชว่าคนเราจะเริ่มเชื่อเมื่อเห็นในเรื่องเดิม 6 ครั้ง ทุกอย่างต้องใช้เวลา ผมชอบเปรียบเทียบกับเลเซอร์ปริ้นเตอร์ที่ยุคหนึ่งราคาแพงมาก แต่อยู่ดีๆ ทุกบ้านก็มีกันหมด รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้าก็จะคล้ายๆ กัน คนต้องเห็นคนอื่นใช้สักพักก่อน แต่รถอาจจะยากนิดหนึ่งเพราะมันแพง ต้องไปดูว่าถ้าอยากจะพูดกับลูกค้า เขาจะสนใจอะไร อย่างเด็กรุ่นใหม่ก็สนใจเรื่องเทคโนโลยีและรักษ์โลกมาเป็นหลัก แต่อย่างคนรุ่นเก่าจะคิดว่าประหยัดเงินได้กี่บาท ซึ่งถ้าเกิดดูเป็นเงินอย่างเดียวก็ไม่คุ้ม ต้องดูว่ามีประโยชน์อื่นๆ อีกมั้ยที่จะดึงดูดให้คนยุคเก่าหันมาสนใจได้
ถ้าพูดถึงไฮบริดแล้วสิ่งที่มาเร็วที่สุดในสมองของเราคือเรื่องประหยัดน้ำมัน แต่ผมคิดว่ามันไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้น เราต้องพูดประโยชน์เรื่องอื่นด้วยเช่นเรื่องของกำลังส่งของเครื่องยนต์ ค่าไอเสีย และความเงียบ ซึ่งถ้าคนที่ไม่เคยขับรถเงียบๆ จะไม่รู้เลยว่าการขับรถเงียบๆ นั้นมีประโยชน์มาก ซึ่งอาจจะต้องไปทำจุดขายอื่น แทนที่จะพูดถึงแต่เรื่องประหยัดน้ำมันอย่างเดียว ต้องพูดได้ ทดสอบได้ ทำให้คนเห็นภาพได้ ไม่ว่าผู้ผลิตจะพูดอะไรก็ตาม แล้วลูกค้าเห็นภาพนั้นในหัว นั่นคือการตลาดที่เจ๋งที่สุด
เคยได้ทดลองใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกบ้างไหม
จริงๆ ได้ใช้ตั้งแต่โตโยต้า พรีอุส เจนแรก ตอนนั้นก็ตื่นเต้นดีเพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จนคนไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นประสบการณ์การใช้งานที่ดี เพราะว่ามันเงียบและประหยัดมาก ชอบที่สุดคือเงียบ คือเป็นคนที่ชอบคิดอะไรในรถเยอะ บางทีก็ไม่ได้ฟังเพลง แต่ผมคิดว่าที่มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นคือเรื่องของความเชื่อของเราที่อยากจะทำอะไรดีๆ ให้กับโลกนิดหนึ่ง ผมคิดว่าของทุกอย่างที่เราใช้รวมถึงรถยนต์ มันสะท้อนสิ่งที่เราเชื่อ ซึ่งการใช้ของแบบนี้มันบอกอะไรกับสังคมได้ จึงทำให้อยากจะซื้อของกับแบรนด์ที่มีความเชื่อเหมือนกับเรา ไดเรกชั่นของบริษัทคืออะไร และทิศทางของสินค้ามันสอดคล้องกับตัวแบรนด์รึเปล่า
มองว่าอนาคตของรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร
ในระยะสั้นคิดว่าคนที่เป็นผู้เล่นสำคัญที่สุดคือภาครัฐ ถ้าภาครัฐสนับสนุนมาแน่นอน ซึ่งโครงสร้างภาษีทำให้ราคารถค่อนข้างแพง แต่เมื่อใดที่ภาครัฐเข้ามามันจะเปลี่ยนแปลงราคาโครงสร้างรถยนต์ได้อย่างมากเลย แต่ว่าระยะยาวต้องมาจากตัวผู้ใช้ที่เริ่มตระหนักว่า เราต้องดูแลโลกมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่จะมีความเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะฉะนั้นของพวกนี้ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง
ผมมีความเชื่อว่าทุกคนมีส่วนในการรับผิดชอบและส่งต่อโลกนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป เพราะในยุคที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรโลกไปเยอะมาก ตอนนี้เรามีหน้าที่คือช่วยลดความรุนแรงของเรื่องนี้ให้มากที่สุด นั่นคือการช่วยเหลือกัน
รถยนต์พลังงานทางเลือก อนาคตที่น่าจะเป็นไปได้?: คุยกับ รวิศ หาญอุตสาหะ
#Advertorialการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเติบโตขึ้นจากปีก่อนๆ ทั้งในแง่ของการผลิตทั้งภายในประเทศและส่งออก แต่ถ้ามองในเรื่องของการใช้พลังงานก็ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก การแสวงหาพลังงานทดแทนเพื่อรองรับระบบขนส่ง คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน .ในเรื่องของระบบขนส่ง ผู้ผลิตหลายรายก็พยายามหาทางออกด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เข้าเพื่อให้ลดใช้พลังงานน้ำมันให้มากที่สุด แต่เป็นที่รู้กันว่า รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV หรือแบบเพียวๆ ก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันสักเท่าไร เพราะต้องอาศัยทั้งความพร้อมของทั้งผู้ผลิตเอง สถานที่ชาร์จไฟ และจุดจอดรถ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐอย่างมาก แต่ก่อนจะก้าวไปถึงยุคนั้น ‘รถยนต์ไฮบริด หรือ HEV’ จึงเป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านก่อนที่เราจะก้าวไปสู่ยุคของรถไฟฟ้าอย่างเต็มตัว .The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารหนุ่มแห่งศรีจันทร์สหโอสถ ที่เคยมีประสบการณ์ใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก ถึงมุมมองต่ออนาคตของการใช้พลังงานทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า .อ่านบทความต่อได้ที่ https://thematter.co/sponsor/hybrid-vehicle/52352
Posted by The MATTER on Thursday, June 7, 2018