เราอาจจะเริ่มต้นวันด้วยการดื่มกาแฟ -เครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา- แล้วกินมื้อเช้าเป็นปลายข้าวที่ต้มจนเละ ปรุงรสด้วยซอส ขิง และอาจจะใส่ไข่อย่างที่เรียกกันว่า โจ๊ก เลียนเสียงคำมาจากภาษาจีนกวางตุ้ง
เดินทางไปเรียนหรือไปทำงานแล้วอาจต้องกรอกชื่อตัวเองในเอกสาร เป็นชื่อที่ผสมผสานกับศัพท์จากภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร และเมื่อถึงช่วงมื้อกลางวัน เราอาจจะซื้อขนมจีนรสเด็ดที่มีต้นกำเนิดมาจากมอญกินให้อิ่มท้อง ปิดวันด้วยมื้อเย็นกับเพื่อนๆ ด้วยอาหารชุดใหญ่อย่างแจ่วบอง, ลาบหมู กับอ่อมไก่พร้อมข้าวเหนียวหนึ่งกำปั้น ออกเดินทางกลับบ้านผ่านอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกหรืออินเดีย พักผ่อนด้วยการนอนอ่านนิยายสักเรื่องที่หากหมุนนาฬิกาย้อนหลังไปร้อยปีก่อนหน้า ต้นธารของเรื่องราวนั้นอาจมาจากตำนานชวาหรือมลายูสักเรื่องที่เรารับมาทางงานเขียนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
อาจจะเห็นได้ว่าเราล้วนใช้ชีวิตอยู่กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนับตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน และหากว่ากันตามจริง กระทั่งคำว่า “วัฒนธรรม” เอง ก็เป็นคำจากภาษาบาลี-สันสกฤต (วัฒน- หมายถึง ความเจริญ ขณะที่คำว่า ธรรม หมายถึงความดีงาม) โดยเฉพาะอาหารการกินหรือความเชื่อที่ผูกติดอยู่กับเราอย่างไม่อาจแยกขาด รวมถึงวัฒนธรรมจากประเทศเพื่อนบ้านที่เรารับมาผ่านการเข้ามาของผู้คน แรงงาน และการแบ่งปันชายแดนร่วมกัน จึงเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมและหลอมรวมกลายเป็นวิถีชีวิตของเราอย่างแยกจากกันไม่ขาด
The MATTER จะพามาสำรวจว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไทยเราได้รับอะไรมาบ้าง
ฌ เฌอ มาจากไหนในภาษาไทยเรา
รากของภาษาไทย เช่นเดียวกับภาษาอื่นๆ ทั่วโลกคือไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยตัวเอง หากแต่เกิดจากการหยิบยืม รับอิทธิพลมาจากประเทศใกล้เคียง จนไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของภาษาและคำไทยที่เราใช้พูด อ่าน เขียนนั้น รับมาจากภาษาสันสกฤตและบาลี
หนึ่งในหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ ตัวอักษร ‘ฌ’ ของไทยเรานี่เอง ที่มาจากคำว่า เฌอ อันแปลว่าต้นไม้ในภาษาเขมร นับตั้งแต่ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้ริเริ่มตั้งชื่อตัวอักษรขึ้นเพื่อใช้กำกับเสียงพยัญชนะบางตัว ดังที่ปรากฏในหนังสือ “ภาษาไทย เล่ม 1” ด้วยการคิดชื่อสอนนักเรียน เช่น ข ขัดข้อง, ฃ อังกุษ, ค คิด เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กสะกดชื่อได้ง่าย โดยกำกับตัวอักษร ฌ ไว้ว่า ฌ ฌาน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2442 ที่หนังสือของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ กำกับคำให้ตัวอักษร ฌ เสียใหม่ว่าเป็น “ฌ เฌอ” และในเวลาต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2448 ในหนังสือเรียนฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12 ก็ได้วาดรูปต้นไม้เป็นภาพประกอบตัว ฌ เฌอ ไว้ด้วย ดังนั้น เฌอ ในภาษาไทยจึงหมายถึงต้นไม้ตามต้นธารที่มาจากภาษาเขมรนั่นเอง
เธอกับฉันห่างกันแค่พรมแดนกั้น
การแบ่งปันพรมแดนร่วมกัน ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและไหลบ่าของกลุ่มวัฒนธรรมแก่กันและกัน โดยพื้นที่ชายแดนนั้นเป็นบริบทที่เกี่ยวข้องกับคนนอก-คนในโดยตรง พื้นที่ของชายแดนส่วนนั้นจึงเป็นพรมแดนที่ให้ความหมายทั้งในเชิงรูปธรรม กล่าวคือมีรูปร่าง เส้นแบ่งของประเทศชัดเจน และทางความคิดของปัจเจกชนและกลุ่มคนหลากหลาย ที่แตกต่างกันทั้งวิถีปฏิบัติ เชื้อชาติ รูปร่างหน้าตาหรือความเชื่อ ซึ่งความใกล้ชิดของการแบ่งปันพื้นที่ร่วมกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภาษา เช่น การที่ไทยทำธุรกิจหรือการค้าร่วมกับชาวพม่า ลาว กัมพูชา หรือมาเลเซียมาอย่างยาวนาน ผ่านการข้ามพรมแดนที่ต่างฝ่ายต่างติดต่อสื่อสารกันผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันถูกถ่ายทอด แลกเปลี่ยนไปยังที่อื่นๆ ได้จากการติดต่อเชื่อมโยงของผู้คน
‘ชายแดน’ เส้นแบ่งรัฐแต่ไม่แบ่งเรา
การแลกเปลี่ยนในเชิงวัฒนธรรมยังปรากฏให้เห็นผ่านเครื่องนุ่งห่มที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ยังไม่ก่อตัวเป็นรัฐไทยอย่าง การนุ่งโจงกระเบน ซึ่งเรารับมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา เดิมทีนั้นเรียกว่าการโธตี โดยเรารับมาจากอินเดียผ่านทางกัมพูชาที่ติดต่อสัมพันธ์กับไทยมาโดยตลอดเนื่องจากแบ่งปันชายแดนร่วมกัน และอาจจะกล่าวได้ว่า อาณาจักรขอมซึ่งเป็นแผ่นดินที่ไทยและกัมพูชาเคยใช้ร่วมกันมาก่อนจะแยกเป็นรัฐอิสระ ทำให้เราต่างแบ่งปันวัฒนธรรมและความเชื่อที่ใกล้เคียงกันอย่างง่ายดายจนสองสิ่งนี้มีความคาบเกี่ยวกันอยู่ กระทั่งการมาถึงของแนวคิดเรื่องชายแดนแบบอาณานิคมที่มีกายภาพทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยจากรัฐ ชายแดนใช้เป็นแนวเส้นกำหนดแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐ ทั้งจากสิ่งที่มนุษย์กำหนดเอง เช่น กำแพง เส้นรุ้งเส้นแวง หรือจากสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา ทะเล เพื่อใช้แบ่งบริเวณของแต่ละรัฐให้แยกออกจากกัน
เครื่องประทินโฉมข้ามวัฒนธรรม
ไม่เพียงแค่เครื่องนุ่งห่มอย่างโจงกระเบนเท่านั้น วัฒนธรรมการประทินโฉมที่แพร่หลายเข้ามาจากการติดต่อสื่อสาร ทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเพณี ‘บวชลูกแก้ว’ ของชาวล้านนา ที่เหล่าเด็กผู้ชายวัย 11-12 ปีจะบวชเป็นสามเณร เรียกว่าปอยน้อยหรืองานบวชลูกแก้ว มีการแต่งหน้า เขียนคิ้วเขียนตา และทาปากสีแดง ทาตัวด้วยเครื่องหอมและแต่งกายสีสันสวยงาม ซึ่งเป็นประเพณีที่ทางล้านนารับมาจากเมียนมาสมัยอยู่ภายใต้การปกครอง เห็นได้จากการนุ่งโสร่ง สวมเสื้อแพร และการโพกหัวด้วยผ้าสีต่างๆ
เช่นเดียวกันกับ “ทานาคา” เครื่องประทินผิวที่เราเห็นชาวเมียนมาใช้กันจนชินตา โดยไม่แน่ชัดนักว่าต้นกำเนิดของทานาคามาจากไหน แต่สันนิษฐานว่ามาจากกลุ่มคนมอญ ที่ก่อนนี้ใช้ไม้บางชนิดนำมาประทินโฉม ก่อนจะค่อยๆ ได้รับความนิยมในกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา เช่น มอญ ชาวเมียนมา กะเหรี่ยง ไทใหญ่ กะฉิ่น เป็นต้น เอกลักษณ์โดดเด่นคือการนำแป้งสีเหลืองไข่ไก่หรือเหลืองนวลมาผสมน้ำให้พออยู่ตัวแล้วทาบนใบหน้า วาดเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายขีด ลายวงกลม หรือลายดอกไม้ กระทั่งเมื่อชาวเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็ยังนำความนิยมทานาคาเข้ามาด้วย จนตลับแป้งทานาคานั้นวางจำหน่ายในตลาดในไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนเมียนมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้นั้นนับว่าสะท้อนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคนแต่ละชาติพันธุ์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
ข้าวแช่และขวัญ อาหารกับความเชื่อของฉันและเธอ
ขณะที่ด้านอาหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยแทบจะเป็นศูนย์รวมที่รับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารแต่ละชนชาติมา ทั้งขนมจีน (ซึ่งไม่ได้มาจากประเทศจีนนะ) ที่รับมาจากมอญก่อนที่ไทยจะนำมาปรับเพื่อกินร่วมกับแกงกะทิ หรือข้าวแช่ที่มาจากมอญเช่นกัน ซึ่งในเวลานี้ข้าวแช่ได้กลายเป็นอาหารที่หากินได้ตามท้องตลาดหรือร้านอาหารทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนนั้นข้าวแช่ถือเป็นอาหารหากินยาก มีให้กินเฉพาะช่วงสงกรานต์เท่านั้น เนื่องจากเดิมทีตามความเชื่อชาวมอญนั้น ข้าวแช่เป็นอาหารพิเศษเพื่อบูชาเทวดา ขอพรให้มีทายาทสืบสกุล และทำกันในเทศกาลสงกรานต์ตามตำนานที่ผูกพันกับวันมหาสงกรานต์ โดยมีพิธีและขั้นตอนการทำอาหารที่ละเมียดมากเพราะปรุงขึ้นเพื่อบูชาเทวดา ต้องซาวข้าวเจ็ดครั้ง ตั้งไฟหุงข้าวกลางลานโล่ง แล้วเอาข้าวมาขัดเอายางข้าวออก วัฒนธรรมและความเชื่อเช่นนี้นั้น ชาวไทยรับมาจากหญิงมอญที่เข้ามารับราชการฝ่ายใน ที่ได้นำข้าวแช่ขึ้นถวายจนแพร่หลายเป็นวงกว้างและกลายเป็นอาหารชาววังในเวลาต่อมา
เช่นเดียวกันกับเรื่องความเชื่อ เวลาเด็กเล็กตกใจเราอาจจะได้ยินผู้ใหญ่ปลอบว่า “ขวัญเอ๊ยขวัญมา” หรือเมื่อมีคนป่วยไข้จะมีพิธีรับขวัญ ซึ่ง ‘ขวัญ’ นี้เป็นความเชื่อเก่าแก่ของคนไทยและลาว โดยเชื่อว่าขวัญคือสิ่งที่อยู่ในร่างกายของเราอยู่ตรงกระหม่อม เชื่อกันว่าถ้าถูกตีกระหม่อมอย่างรุนแรงจะทำให้ขวัญหายไปและจะส่งผลให้เจ้าของร่างไม่สบายเพราะขวัญไม่อยู่กับตัว จึงเป็นเหตุให้หลายคนถือ ห้ามไม่ให้ใครมาเล่นหัว และมีพิธีกรรมทั้งเรียกให้ขวัญกลับมาเข้าร่างในกรณีที่เจ้าของร่างเจ็บป่วย หรือบำรุงขวัญไม่ให้หนีหายไป เห็นได้จากพิธีบายศรีสู่ขวัญซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ของแถบอุษาคเนย์ รวมทั้งไทยและลาวด้วย
ละเม็งละคร เครื่องสะท้อนความหลากหลาย
ในทางภาคใต้ วัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงของชาวใต้บ้านเราก็รับต้นฉบับมาทางชวา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย หลักฐานหลายอย่างระบุว่าการแสดงหนังตะลุงนั้นเป็นผลจากวัฒนธรรมจากชาติอื่นปะปน ทั้งการออกรูปฤๅษี, รูปหนังตัวสำคัญมีการออกชื่อเป็นภาษาสันสกฤต จากหลักฐานต่างๆ ที่มีบันทึกไว้ พบว่าหนังตะลุงเพิ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวบ้านชาวพัทลุงได้หยิบยืมการละเล่นของชวามาดัดแปลง และเมื่อนำมาละเล่นแถวนางเลิ้ง กรุงเทพฯ คนแถบนั้นจึงเรียกว่าหนังพัทลุงซึ่งเพี้ยนมาเป็นหนังตะลุงในที่สุด ความโดดเด่นคือใช้เครื่องดนตรีของภาคใต้ เช่น กลอง ทับ ฉิ่ง และโหม่ง ความแตกต่างระหว่างหนังพัทลุงและหนังชวาคือ รูปหนังชวาที่ตัดออกมาเป็นตัวละครนั้น จะเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนของไทยเราเคลื่อนไหวมือได้เว้นแต่ตัวละครบางตัว ทั้งยังดัดแปลงเรื่องเล่าด้วยการเล่าเนื้อเรื่องแบบที่คนไทยรู้จัก เช่น รามเกียรติ์ เป็นต้น
เมื่อชาวสยามฮิตลาวแคน เครื่องดนตรีสุดป๊อปจากแดนลาว
ถัดจากละคร ด้านดนตรีนั้นเราต่างก็แลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวสยามนิยมเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งมาก คือ “ลาวแคน” ถึงขั้นที่ชาวบ้านละทิ้งเครื่องดนตรีอย่างปี่พาทย์ มโหรี และละครร้องต่างๆ แล้วเล่นแต่เครื่องลาวแคนทั้งชายทั้งหญิง จนขยายไปเล่นในงานบวชหรือพิธีบุญต่างๆ โดยที่มาของลาวแคนหรือ แอ่วลาว นั้นเข้ากรุงสยามมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลาที่สยามมีอิทธิพลเหนือดินแดนล้านช้าง มีการอพยพชาวลาวไปไว้ยังเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น ซึ่งชาวลาวเหล่านี้นำศิลปะการแสดงติดตัวมาด้วยนั่นคือการขับลำ เป่าแคนในชื่อ ลาวแคน มีหมอลำที่คอยขับร้อง และหมอแคนทำหน้าที่เป่าแคนประกอบเนื้อเพลง ซึ่งความนิยมได้แพร่ขยายอย่างรวดเร็วในสระบุรีและลพบุรี เรื่อยมาจนรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ที่ผู้คนพากันหันไปเล่นลาวแคนจนพระองค์แสดงความกังวลและรับสั่งห้ามเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้อยู่พักใหญ่ จนในระยะหลังแม้ความนิยมจะลดลงไป แต่ลาวแคนก็ยังหลงเหลือตกทอดอยู่ทางแถบอีสานจนถึงปัจจุบัน
งานศิลปะและวัฒนธรรมที่ทอดตัวข้ามชายแดน
อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันยาวนานระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คืองานสถาปัตยกรรม ซึ่งทุกวันนี้ก็หลงเหลือให้เราได้เห็นอยู่ตามอาคารหรือวัดต่างๆ โดยในอดีตการแลกเปลี่ยนค้าขายของคนตะวันตกเฉียงใต้จากชมพูทวีปและลังกาทวีปกับคนสุวรรณภูมินั้น นิยมเข้ามาตั้งหลักแหล่งในอีสาน ทำให้เกิดการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์-พุทธ ตลอดจนวัฒนธรรมขอมของกัมพูชาตั้งแต่สมัยเจนละเข้ามาในไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเส้นทางธรรมชาติอย่างช่องเขาต่างๆ ของเทือกเขาพนมดงรัก และตามลำน้ำโขง สะท้อนผ่านงานช่างในเมืองโบราณ อ่างเก็บน้ำ หรือในปัจจุบันก็ยังเห็นได้จากซุ้มประตูโขง วัดในจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีลักษณะงานอย่างเขมร หรือศาลหลักเมือง จังหวัดสุรินทร์ ที่เป็นสถาปัตยกรรมขอมร่วมสมัย หรือซุ้มหน้าต่างวัดสำโรงเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ ที่เป็นศิลปะขอมร่วมสมัยแบบไทยอีสาน สะท้อนการพยายามต่อรองหรือผสมผสานศิลปะและวัฒนธรรมของผู้คนในอดีต ซึ่งเป็นการแบ่งปันและให้เกียรติวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายด้วย
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความเป็นไทยนั้นผูกโยงอย่างแนบแน่นอยู่กับวัฒนธรรมอันหลากหลายที่เราต่างเป็นผู้รับและผู้ให้จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ผ่านการติดต่อ แลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนที่ยาวนานมานับร้อยปี ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นเนื้อเดียวกันกับตัวตนของเรา เป็นสิ่งที่เราเห็นนับตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเข้านอน และเมื่อเราเรียนรู้ เข้าใจที่มาของวัฒนธรรมเหล่านี้แล้ว เราก็จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อคนต่างชาติและแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน แรงงานข้ามชาตินั้นคือส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ พวกเขาคือคนที่ใช้พรมแดนร่วมกันกับเราและข้ามมาเพื่อหางานทำ มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับคนไทยจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ขาด
แคมเปญ “ข้างในคนนอก” (@InsideKhonnok) จึงสนับสนุนให้หยุดการเลือกปฏิบัติ หยุดการใช้คำพูดที่ดูถูก เช่นคำว่า คนต่างด้าว เพราะเป็นคำที่สะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนไทยที่กดกลุ่มคนที่รู้สึกว่าด้อยกว่าตัวเอง อันเนื่องมาจากรูปแบบงานที่พวกเขาทำ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีคำเรียกอื่นที่เท่าเทียมกันมากกว่าอย่าง แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการลบมายาคติเก่าๆ เช่น แรงงานข้ามชาติเป็นผู้รุกรานหรือเป็นภัยคุกคามต่อแรงงานไทย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยนั้นมีอยู่อย่างจำกัด และแรงงานส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมที่คนไทยไม่อยากทำ
นอกจากนี้ การสนับสนุนสิทธิแรงงาน การคุ้มครองแรงงานที่เท่าเทียมกันสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเช่นเดียวกันกับมนุษย์ทุกคน แรงงานนั้นควรได้รับสิทธิในการจะมีสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ ทั้งระยะเวลาการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพราะแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้คือกลุ่มเปราะบางที่ไม่อาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์และบริการขั้นพื้นฐานใดๆ ได้เลย และนี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกัน
เพราะหากไม่นับว่าอยู่กันคนละฝั่งของพรมแดนแล้ว เราและเขาก็ไม่ได้มีอะไรต่างกันเลย
แคมเปญ “ข้างในคนนอก” (@InsideKhonnok) สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้การดำเนินงานขององค์การ Winrock International ร่วมกับ องค์กร Love Frankie
ติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ Facebook : USAIDThailandCTIP และร่วมชมนิทรรศการออนไลน์ของแคมเปญข้างในคนนอกใน Instagram : @InsideKhonnok