คงไม่ต้องบอกว่าทุกวันนี้ โลกดิจิทัลได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราไปมากมายขนาดไหน
มีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากถึง 82 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าโลกดิจิทัลคือศูนย์กลางของการใช้ชีวิตที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน มีปริมาณธุรกรรมบนโลกดิจิทัล อย่างโมบายแบงกิ้งสูงถึง 74 เปอร์เซ็นต์ และซื้อสินค้าออนไลน์ถึง 48.5 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงต้องปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ประกาศวิสัยทัศน์และกลยุทธ A Year of i โดยผู้บริหารระดับสูงทั้ง 5 ท่าน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อนในโลกการเงินของบ้านเรา กับภารกิจ 5i โดยผนวกทั้งเรื่องของเทคโนโลยี Data พนักงาน และพาร์ท-เนอร์ สู่ธุรกิจธนาคารยุคใหม่ เพื่อครองใจลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนวิสัยทัศน์ทั้ง 5 ด้านนั้นจะประกอบไปด้วยอะไร และลูกค้าอย่างเราๆ จะได้ประโยชน์อะไรจากกลยุทธของกสิกรไทยบ้าง ลองไปติดตามกัน
iNCORPORATE ร่วมมือเพื่อเดินหน้าต่อ
“ลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมาก ทุกวันนี้ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยมี เป็นผลมาจากเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และแน่นอนว่า ก่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวในหลายๆ อุตสาหกรรม”
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เผยถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตาม ขณะเดียวกันธนาคารของไทย ซึ่งเป็นตัวกลางจึงต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น โดยธนาคารไทยได้ร่วมกันสร้างมาตรฐาน QR code เพื่อรองรับระบบชำระเงินสำหรับประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยต่อยอดมาจากโครงการพร้อมเพย์ ที่ปัจจุบันคือช่องทางหลักในการทำธุรกรรมที่กลายเป็นหัวใจของ Banking ในยุคนี้ไปแล้ว รวมถึงสร้างความร่วมมือกันในกลุ่มธนาคารเพื่อพัฒนาศักยภาพระบบการชำระเงินของประเทศ พัฒนาระบบกลางอย่าง ITMX ให้รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที และธนาคารสมาชิกจะเพิ่มความสามารถของระบบเป็น 2 เท่าภายในปีนี้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการทำธุรกรรมข้ามธนาคารที่ล่าช้าอีกต่อไป
ขณะเดียวกันประเด็นเรื่อง Cashless society ก็จะได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง ตั้งแต่การสนับสนุนการใช้บัตรเดบิต การเพิ่มเครื่องรูดบัตร (EDC) รวมกว่า 700,000 เครื่อง และที่สำคัญคือการวางแผนให้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า สามารถนำ QR code มาตรฐานไทยไปใช้นอกประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV+3 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงด้านธุรกิจรายย่อยเช่นร้านค้าต่างๆ ก็จะมีวิธีการชำระเงิน QR code แบบ B Scan C ที่ช่วยให้ร้านค้าสามารถสแกน QR code ของลูกค้าผู้ชำระเงินได้ แทนที่ลูกค้าจะต้องไปสแกนร้านค้า เรียกว่าสะดวกไปอีกขั้นสำหรับลูกค้า
“การแข่งขันที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะธนาคารพาณิชย์เอง แต่ยังมาจากผู้เล่นใหม่ๆ จาก non-Bank ด้วย จึงมีบริการให้เลือกเยอะไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกค้าที่มีทางเลือกมากขึ้น อย่างเรากำลังจะทำในเรื่องของ Blockchain ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ผมอยากเรียนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกๆ ธนาคาร ไม่ใช่ธนาคารกสิกรไทยธนาคารเดียว อย่างพร้อมเพย์เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนร่วมกันทำได้ ซึ่งการทำธุรกิจให้บริการในยุคนี้ จึงทำอยู่คนเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
เรื่องของ Blockchain อาจเป็นสิ่งที่ได้ยินมาสักพักในแวดวงการเงิน แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนนำมาใช้อย่างจริงจัง กสิกรไทยจึงริเริ่มในการให้บริการการทำหนังสือค้ำประกันผ่าน Blockchain โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วมแล้ว และยังต่อยอดเป็นบริการเอกสารทางการศึกษาหรือ E-Transcript ให้กับนิสิตนักศึกษาอีกด้วย นอกจากนั้นคือการมอบความสะดวกสบายด้วย National Digital ID (NDID) ให้เราสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งเปิดบัญชีและขอสินเชื่อโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา การจัดทำ ATM White label ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมและการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดขึ้นจริง และที่สำคัญข่าวดีเรื่อง NO FEE
“ท้ายที่สุดสิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ผมเองก็คิดว่าคงหนีไม่พ้นความร่วมไม้ร่วมมือกันของทุกธนาคาร ที่ต้องมาช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ประโยชน์ของประชาชน และประโยชน์ของผู้บริโภคทุกคน”
iNSIGHT เข้าถึงและเข้าใจด้วยข้อมูล
ด้วยปริมาณของ Big Data อันมหาศาลในโลกดิจิทัล นับว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการหา insight ของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ประกาศเพิ่มศักยภาพด้าน Data Analytics โดยตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลด้านข้อมูล เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ใช้ข้อมูลขับเคลื่อน มีการเทรนด์ทักษะของพนักงานให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล เพื่อสร้างสรรค์บริการด้านการเงินที่ตอบโจทย์และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผ่านประสบการณ์ที่สะดวกไร้รอยต่อ ทุกที่ ทุกเวลา (Frictionless, Anywhere, Anytime) ไม่มีข้อจำกัดของช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
อย่างเช่นการชำระเงินผ่านแอปฯ ได้ตลอดเวลา การยืนยันตัวตนเปิดบัญชีด้วยใบหน้าไม่ต้องไปที่สาขา ใช้เสียงก็สามารถจ่ายเงินโดยไม่ต้องพกเงินสด หรือถอนเงินสดโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือสมาร์ทโฟนใดๆ ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่ Data-Driven Bank อย่างเต็มตัว ธนาคารก็สามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้ อีกทั้งลูกค้าเองก็ได้รับความสะดวกสบายอีกด้วย
และจาก Data ที่ผ่านการวิเคราะห์ ทำให้กสิกรไทยมองเห็นช่องทางในการขยายบริการไปสู่ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ ให้กับลูกค้ากลุ่ม Unbanked และ Underbanked ที่มี Statement ไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อย ไม่ได้มีรายได้ที่แน่นอน แต่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากปัจจัยด้านอื่นๆ แทน
iGNITE จุดประกายโอกาสข้ามพรมแดน
ปัจจุบันสงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกายังคงเป็นปัญหาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ การบังคับใช้กำแพงภาษีโต้ตอบกันไปมาของทั้งสองฝั่ง ล้วนสร้างผลกระทบให้กับผู้บริโภคที่ต้องแบกรับสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น รวมถึง Digital Disruption ที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคตลอดเวลา พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ธนาคารต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการบริหารงานใหม่ๆ ด้วยการทำให้สิ่งที่ไม่แน่นอนให้กลายเป็นความแน่นอน ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจผสานมิติ หรือ Augmented Economy เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุดในทุกพื้นที่
เป้าหมายสำคัญของกสิกรไทยคือการเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การให้คำแนะนำและเชื่อมโยงพันธมิตรในท้องถิ่น จากช่องทางและพันธมิตรที่มีอยู่ครบทุกประเทศ ทำให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้าสมบูรณ์แบบ ด้วยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้าคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มที่กัมพูชาก่อนเป็นแห่งแรก และที่สำคัญคือการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาคผ่าน QR KBank แอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ใช้เงินสด พร้อมเตรียมขยายและเชื่อมต่อแพลตฟอร์มให้ครบทุกประเทศใน CCLMVI ในอนาคต
ขณะเดียวกัน กสิกรไทยก็ยังไม่หยุดพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนใน Fintech และ Startup เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI ให้ดียิ่งขึ้น KVision จึงเป็นบริษัทของกสิกรไทยที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว ด้วยเงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท โดยสร้าง Innovation Lab ขึ้น ใน 5 ประเทศ ทั้งใน ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหานวัตกรรม Tech Partner และ Tech Talent ใหม่ๆ สร้างโอกาสและต่อยอดทางธุรกิจใหม่ๆ ให้ไร้พรมแดน
iNTEGRATE ผสานพลังสู่เป้าหมาย
ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสพร้อมๆ กัน ทำให้สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยต้องทำคือพยายามขับเคลื่อนด้วยกลยุทธต่างๆ พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จึงได้เผยถึงภารกิจสำคัญเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นตั้งแต่แอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในช่องทางการทำธุรกรรมดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งในโลกโซเชียลฯ การช้อปปิ้ง การเดินทาง และบริการอีกมากมายที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ
ด้านสินเชื่ออย่าง Personal Lending ก็เป็นสิ่งที่ทางกสิกรไทยกำลังพัฒนา โดยพยายามเอื้อให้กับกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์และพยายามเข้าใจกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น อย่างการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความต้องการสินเชื่อและศักยภาพที่จะชำระคืน รวมถึงส่งข้อเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลได้ โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลในตลาดประมาณ 31.3 ล้านราย และธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ พร้อมตั้งเป้าหมายจะดันส่วนแบ่งตลาดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์
จากแนวทางที่ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าสร้างและขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการใช้ฐานข้อมูลที่ช่วยในการลดต้นทุน เพื่อวิเคราะห์และหาบริการใหม่ๆ ให้ตรงใจลูกค้า พร้อมทั้งผสานการทำงานระหว่างทีมงานและพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ จึงเป็นเป้าหมายที่กสิกรไทยจะสามารถบรรลุได้ภายในปีนี้ และที่สำคัญคือลูกค้าอย่างเราๆ จะได้รับประโยชน์สูงสุดแน่นอน
iNNOVATE สร้างนวัตกรรมเพื่อที่สุดของบริการ
แนวคิดเรื่อง Cognitive Banking หรือ ธนาคารอัจฉริยะ คือแนวนวัตกรรมทางการเงินที่กสิกรไทยพยายามพัฒนาให้ไกลกว่าความเป็นแค่ธนาคารหรือแพลตฟอร์มในสมาร์ทโฟนเท่านั้น เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้ประกาศชัดถึงแนวทางในการไปสู่เป้าหมายเป็นผู้ให้บริการที่รู้ใจลูกค้า ด้วยการใช้นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Augmented Intelligence (AI) มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งเป็นการผสานความล้ำของ AI เข้ากับประสบการณ์ ความรู้ และความเข้าใจในธุรกิจของพนักงานธนาคาร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเข้าใจ
โดยแนวคิด Cognitive Banking มุ่งส่งมอบคุณค่า 3 ด้านให้แก่ลูกค้า ได้แก่ บริการที่ฉลาด รู้ใจ (Highly Intelligence) บริการที่ปรับรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Highly Adaptive) และ เข้าใจ รู้ใจ ลูกค้าแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง (Highly Personalized) ซึ่งเปรียบเสมือนการใช้พนักงาน 20,000 คน เพื่อดูแลลูกค้า 1 คน ผสานกับวิสัยทัศน์ที่ว่า นวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน (Inclusive Innovation) เพื่อสร้างสรรค์บริการให้แก่ลูกค้าทุกระดับให้เข้าถึงทุกบริการของธนาคารได้อย่างเท่าเทียม
และจากประสบการณ์ในแวดวง Startup ของเรืองโรจน์เอง จึงทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนา KBTG เพื่อต่อสู้กับการแข่งขัน ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็น Startup และองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ ผ่านนวัตกรรมการร่วมมือ 3 รูปแบบ คือ Open Banking API ความสามารถในการต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรที่สะดวกและปลอดภัย, K PLUS Business Platform การพัฒนาให้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันสามารถต่อยอดสร้างบริการดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อรองรับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยการประยุกต์ใช้คุณสมบัติที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มศักยภาพ และ Innovation Sandbox สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่ม Startup ได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายในการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สามารถรับชมวิสัยทัศน์ของผู้บริหารกับภารกิจ 5i ได้ที่ :
และรับชมบรรยากาศงานแถลงข่าว A Year of i ได้ที่ :