พอเอ่ยถึงเรื่อง ‘ภาษี’ เชื่อว่าหลายคนคงมองถึงเรื่องเสียกับเสีย ทั้งๆ เราต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่า ภาษีที่ต้องเสียไปก็เพื่อพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นภาษีทางตรงที่ต้องยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ยิ่งใครที่มีรายได้สุทธิเกินกว่า 150,000 บาทต่อปี ก็ยิ่งหวั่นใจว่า ปีนั้นต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกเท่าไร
ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยลดหย่อนภาษีเงิน ได้เข้ามาบวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มักจะมากันในช่วงสิ้นปี พวกโครงการช่วยชาติทั้งหลายนั่นเอง จึงทำให้หลายคนพยายามหาหนทาง เพื่อลดหย่อนภาษีให้มากที่สุด โดยหารู้ไม่ว่า การลดหย่อนภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติม จนมองข้ามความต้องการจริงๆ ไปนอกจากนั้นยังมีเคล็ดลับในการลดหย่อนภาษีอีกมากมายหลายวิธีที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
ลองไปดูว่าวิธีคิดแบบไหน คือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับการลดหย่อนภาษี ที่จะให้ผลประโยชน์กับเราอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
รายได้เท่านี้ เสียภาษีเลยไหม
สำหรับมนุษย์เงินเดือนธรรมดา การที่เรามีรายได้จนถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีจริงๆ ก็น่าจะเป็นวัยทำงานที่ล่วงเลยไปอย่างน้อยสักปีสองปี เพราะคนทำงานใหม่ๆ เงินเดือนสตาร์ทเริ่มที่ 15,000 – 18,000 บาท ในยุคนี้ก็ยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องภาษีมากนัก แต่ถ้าใครที่สตาร์ทเงินเดือนสูงๆ หน่อยก็อาจจะต้องใส่ใจเรื่องภาษีกันสักนิด
วิธีการคำนวณง่ายๆ คือ ‘รายได้ทั้งหมด -ค่าใช้จ่าย -ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ’ ซึ่งเงินได้สุทธินี่แหละ ถ้าไม่เกินกว่า 150,000 บาทต่อปี ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี หรือคำนวณง่ายกว่านั้น สมมติเรามีรายได้ทางเดียวจากเงินเดือน แล้วไม่เกินเดือนละ 26,583.33 บาท ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินจากนั้น ก็มาว่ากันด้วยค่าลดหย่อนอีกที ซึ่งโครงสร้างภาษีใหม่ล่าสุดของปี 2561 มีการคำนวณแบบขั้นบันไดอยู่ที่ 0 – 35% หมายความว่า ยิ่งรายได้เยอะ ก็ยิ่งเสียภาษีเยอะนั่นเอง แต่ยังไม่ต้องตกใจไป เพราะในขั้นตอนต่อไปจะแนะนำวิธีการลดหย่อนอย่างถูกวิธีให้
ลดหย่อนส่วนตัว ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ในขั้นตอนของการคำนวณเงินได้สุทธิ เพื่อให้รู้ว่าเราอยู่ในเกณฑ์เสียภาษีขั้นไหนนั้น แรกเริ่มเลยคือการหักลบค่าใช้จ่าย โดยคำนวณจากรายได้ทั้งหมดต่อปี หารด้วย 2 แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท หักลบเรียบร้อย ก็มาหักลบต่อด้วยค่าลดหย่อนก้อนแรก ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนในกลุ่มภาระติดตัว เรียกได้ว่าเป็นค่าลดหย่อนพื้นฐาน ที่หลายคนมักจะมองข้ามไป
นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวที่หักให้แบบอัตโนมัติจำนวน 60,000 บาท ตอนที่เรายื่นแบบแล้ว สเต็ปแรกคือการดูอายุของพ่อแม่เราว่าเกิน 60 ปีไหม และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ถ้าครบเงื่อนไขก็ยื่นเอกสาร เพื่อขอลดหย่อนได้ถึงคนละ 30,000 บาท สเต็ปต่อมาคือถ้าใครแต่งงานแล้ว แต่คู่รักเป็นพ่อบ้าน หรือแม่บ้านที่ไม่มีรายได้ ก็ลดหย่อนได้ถึง 60,000 บาท เท่านั้นยังไม่พอ ถ้ามีลูกแล้วก็นำมาลดหย่อนได้อีก 30,000 บาท แถมล่าสุดสำหรับใครที่เพิ่งมีลูกในปีนี้ ก็สามารถนำค่าฝากครรภ์ หรือค่าทำคลอดไปลดหย่อนได้อีกด้วย
อย่าหลงช่วยชาติ แค่หวังลดหย่อน
วิธีการลดหย่อนแบบนี้จะว่าได้ประโยชน์ก็ได้ จะว่าเป็นหลุมพรางของค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยก็ได้ อย่างที่มักจะได้ยินข่าวกันช่วงท้ายๆ ปีว่า เดี๋ยวจะมีโครงการช้อปช่วยชาติมั่งล่ะ เที่ยวไทยลดหย่อนภาษีมั่งล่ะ นับเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เร่งให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย ด้วยการเอาสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาจูงใจให้เราอยากควักกระเป๋ามากขึ้น แล้วไปได้ประโยชน์จากภาษีที่ลดหย่อนได้แทน แต่ผลลัพธ์ในปีที่ผ่านๆ มา อย่างโครงการช้อปช่วยชาติ แม้จะสามารถกระตุ้น GDP อย่างที่ต้องการได้ แต่กลับสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ในระยะสั้น แถมยังทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคไปอั้นรอใช้จ่ายแค่ช่วงปลายปีที่มีโครงการเท่านั้น และเป็นการดึงกำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ก่อนที่จะเสียเงินให้กับการช้อปช่วยชาติ ต้องรู้ไว้ก่อนว่ารายจ่ายที่ใช้ในช่วงโครงการสามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดแค่ไม่เกิน 15,000 บาทเท่านั้น ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการลดหย่อนด้วยวิธีการอื่นๆ หลายคนก็เผลอจัดใหญ่ช้อปเต็มหมื่นห้าไปเลย โดยที่หวังแค่เรื่องผลประโยชน์ทางภาษี แล้วของที่ซื้อมาก็ไม่ได้ต้องการจริงๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดอย่างแรง เพราะการลดหย่อนภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ใช่ผลประโยชน์หลัก และล่าสุดกับนโยบายเที่ยวเมืองรอง ก็ต้องไม่ลืมว่าสามารถลดหย่อนสูงสุดแค่ไม่เกิน 15,000 บาทเช่นกัน และที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อนได้มีแค่ค่าที่พักหรือค่าไกด์ ที่ใช้บริการกับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมการท่องเที่ยวใน 55 จังหวัดที่กำหนดเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ แต่อย่างใด
จะซื้อกองทุน ห้ามเสียดุลให้ความเสี่ยง
หนึ่งในวิธีการลดหย่อนที่เรียกได้ว่าค่อนข้างได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพราะการลงทุนในกองทุนต่างๆ ทั้ง LTF หรือ RMF ย่อมได้ผลประโยชน์เป็นผลกำไรอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้มาเพิ่มเติมคือสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี คือลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท แต่อย่างว่าหลายคนมักจะตกม้าตาย เพราะตัดสินใจซื้อกองทุนเหล่านี้ เพื่อหวังผลทางภาษีอย่างเดียว โดยลืมไปว่านี่คือการลงทุนที่มีความเสี่ยง
อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ช่วงสิ้นปีที่ธนาคารเต็มไปด้วยผู้คนที่แห่กันมาซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี หารู้ไม่ว่าช่วงเวลานั้นแหละคือช่วงเวลาที่ราคากองทุนกำลังพุ่งทะยานสูงกว่าราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี ทั้งๆ ที่ควรจะซื้อตอนที่ราคาอยู่ในช่วงขาลงมากกว่า แทนที่จะได้ประโยชน์จากเงินลดหย่อนกลายเป็นต้องขาดทุนเสียอย่างนั้น เนื่องจาก LTF มีความผันผวนสูงจึงต้องเลือกกองทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะต้องถือไว้ถึง 7 ปีปฏิทิน ส่วน RMF อาจจะเสี่ยงน้อยกว่า แต่ก็มีเป้าหมายเพื่อการออมยามเกษียณ เคล็ดลับง่ายๆ คือถ้าคำนวณคร่าวๆ แล้วว่าปีนั้นต้องเสียภาษีเพิ่มแน่นอน และแถมยังไม่มีเวลาติดตามข่าวสารอีก ให้ซื้อกองทุนแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน หรือที่เขาเรียกกันว่า DCA (Dollar-Cost Averaging) ก็จะได้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าซื้อตอนสิ้นปีทีเดียว และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างวินัยทางการเงินอีกต่างหาก
ทำประกันก็ดี มีแต่ได้กับได้
การซื้อประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการลดหย่อนภาษี และยังได้รับผลประโยชน์จากความคุ้มครองตามกรมธรรม์อีกด้วย เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ ซึ่งประกันก็มีหลายประเภท สามารถเลือกความคุ้มครองตามที่เราพอใจและเบี้ยที่สามารถชำระได้ เพราะเบี้ยประกันสุขภาพสามารถสามารนำไปลดหย่อนได้ตามที่เบี้ยจ่ายจริง ได้สูงสุดถึง 15,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันชีวิตก็ลดหย่อนได้สูงสุดถึง 100,000 บาทเลยทีเดียว แถมใครที่ทำประกันสุขภาพให้พ่อแม่ก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนให้ตัวเองได้เพิ่มอีก 15,000 บาท นอกจากนั้นยังมีประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ใช้เบี้ยประกันลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่เกิน 200,000 บาทต่อปีอีกด้วย
ถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าอยากจะเลือกประกันตัวไหนที่ตรงกับความต้องการ ทั้งความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี กรุงไทย-แอกซ่า ขอแนะนำ ประกันประเภทบำนาญ iRetire ที่จะช่วยให้สามารถวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท หรือจะเป็น iHealthy คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในทุกที่ทุกเวลา ช่วยดูแลและให้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า แถมลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15,000 บาท ประกันคุ้มครองชีวิตและโรคร้ายแรงตลอดชีพ iShield ที่คุ้มครองโรคร้ายแรงทั้งระยะเริ่มต้นและระยะรุนแรง รวมกว่า 70 โรค พร้อมสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทเลยทีเดียว
สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า ปีภาษี 2561 เป็นต้นไป ใครที่อยากจะนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษี ต้องแจ้งความประสงค์ให้บริษัทประกันภัยทราบ เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถนำส่งข้อมูลเบี้ยประกันให้แก่กรมสรรพากร โดยไม่ต้องใช้หลักฐานประกอบการขอลดหย่อนภาษี
Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Naruemon Yimchavee