เคยสงสัยไหม ว่าอาหารที่เรากินเข้าไปทุกวันนี้ ปลอดภัยต่อเราจริงๆ
แต่ถ้ายังไม่มั่นใจ อยากให้ลองไปตรวจสุขภาพดูสักครั้ง แล้วจะพบว่า บรรดาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคความดัน โรคเบาหวาน ทุกอย่างมาจากอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีแทบทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากเกษตรเคมีที่เร่งสร้างผลผลิตให้มากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและผลกระทบที่ตามมา
เมื่อผู้คนต่างรู้เช่นนั้นแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันการเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมมากขึ้น บวกกับนวัตกรรมเกษตรที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบเดิม ทำให้ทุกคนมองเห็นถึงคุณค่าของการเกษตร เพราะในทุกภาคส่วนของสังคมและเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่มีการเกษตรอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
คนที่จะมาพูดถึงประเด็นนี้ได้ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก มล – จิราวรรณ คำซาว เกษตรและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร ที่เคยประสบปัญหาสุขภาพจากอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี ก่อนจะหันกลับมาสนใจการเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง กระทั่งได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ‘ทุ่งกับดอย’ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งมั่นใช้งานวิจัยด้านจุลชีววิทยามาพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ เกี่ยวกับมุมมองต่อการเกษตร ว่ามีความสัมพันธ์กับอาหารการกินและชีวิตของผู้คนมากน้อยขนาดไหน รวมทั้งชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมเกษตรทำให้การเกษตรในอนาคตพัฒนาขึ้นได้อย่างไร
เล่าเรื่องงานวิจัยของคุณให้ฟังหน่อย
งานวิจัยที่ทำคือเรื่องเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในดิน การทำให้ดินมีชีวิตจะช่วยลดการจัดการพื้นที่ได้เยอะมาก จะสามารถช่วยดูแลผลผลิตของเราได้ เพราะการจัดการดินก่อนปลูกเป็นหัวใจหลักในการทำเกษตร จะมีประโยคที่ว่า “จากดินสู่ปาก จากปากสู่ชีวิต” คือคนเรากว่าจะโตมาได้ขนาดนี้ มีสุขภาพแบบไหน ร่างกายเป็นยังไง เซลล์จะมีคุณภาพไหม มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรากินเข้าไป ทั้งพืช ผัก ผลไม้ ธัญญาหารต่างๆ วัตถุดิบเหล่านั้นก่อนที่เราจะกิน มันถูกเลี้ยงด้วยอะไร ซึ่งก็ย้อนกลับไปดินที่ดูแลทั้งหมด เพราะฉะนั้นดินก็เหมือนกับคนนี่แหละ การที่เราดูแลดินให้ดี เลี้ยงดินให้มีชีวิต มีจุลินทรีย์ มีธาตุอาหาร มีสารอาหารที่ดี สิ่งเหล่านี้ก็จะหล่อเลี้ยงให้วัตถุดิบมีคุณภาพ เมื่อเก็บเกี่ยวมาทำอาหาร คนที่กินก็จะมีชีวิตที่ดีตามมา
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์
มาจากอาหารการกินเป็นหลัก พอดีว่าไปตรวจสารพิษในเลือดเจอถึงระดับ 4 ทำให้เราหันกลับมามองว่าทุกวันนี้เรากำลังกินอะไรเข้าไปอยู่ ซึ่งอาหารการกินในปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่าเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคความดัน โรคเบาหวาน ทุกอย่างมาจากอาหารการกินหมดเลย ซึ่งต้นเหตุก็มาจากวัตถุดิบที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษต่างๆ มากมาย มันก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่การเพาะปลูกวัตถุดิบแรกเริ่ม ว่าใช้กระบวนการอะไรในการเพาะปลูก ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเคมี เพราะการทำเคมีมันง่ายและให้ผลผลิตไว ก็เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ถ้าเราจะกินแบบนี้ต่อไปคงอยู่ได้ไม่นาน ต้องหาทางผลิตวัตถุดิบให้มันดีขึ้น แล้วอาชีพอะไรที่ทำได้ก็มีแต่อาชีพเกษตรกรเท่านั้น ทำให้ต้องกลับไปทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้าน
ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกษตรกรปัจจุบันเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์
ปัจจุบันทุนนิยมนี่แหละที่ทำให้วิถีการเกษตรเปลี่ยนไป เมื่อใช้เคมีไปเรื่อยๆ ก็ส่งผลกระทบ ทำให้คนที่ทำเกษตรเคมีเดี๋ยวนี้เริ่มเข้าใจ เริ่มรู้แล้วว่าไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน ต้องหันกลับมาสู่ภูมิปัญญาดั้งเดิม ถึงจะดูเหนื่อย แต่จริงๆ มันมีวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้น ถ้าเราถอดบทเรียนองค์ความรู้มาแปลงเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ ก็จะสามารถดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การทำเกษตรได้มากยิ่งขึ้น การที่จะให้คนเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีมาเป็นอินทรีย์มีสามประเด็น ประเด็นแรกก็คือเรื่องสุขภาพ ต้องทำให้เขาเห็นว่าสุขภาพของตนเองหลังใช้สารเคมีมันแย่ลงขนาดไหน ประเด็นที่สองคือต้องแสดงให้เห็นว่าต้นทุนสูงขึ้นเท่าไร ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย เรื่องยา เรื่องการจัดการดินที่เพิ่มมากขึ้น และประเด็นที่สามก็คือเรื่องเทรนด์ของตลาดที่คำนึงถึงผู้บริโภค ถ้าหันมาทำอินทรีย์หรือปลอดสาร ลดต้นทุนการใช้เคมีลง แต่กลับขายได้กำไรสูงขึ้น จะจูงใจให้เขาหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ได้
แสดงว่าเกษตรเคมีส่งผลกระทบกลับมามากกว่าที่คิดใช่ไหม
คือก่อนหน้านี้บรรพบุรุษเราเพาะปลูกก็ไม่ต้องใช้อะไรอยู่แล้ว เพราะว่าดินดี มีจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินช่วยดูแล วัตถุดิบของเราจึงสะอาด กินเข้าไปก็ไม่เป็นโรค แต่ปัจจุบันการบริโภคที่เยอะขึ้น ทำให้เราต้องเร่งการปลูกให้ได้ผลผลิตเยอะๆเพื่อเก็บเกี่ยว ต้องใช้สารเคมีไปเร่งกระบวนการเพาะปลูก จึงส่งกระทบเข้าไปในผลผลิต แล้ววัตถุดิบเหล่านั้นก็ส่งผลมาที่สุขภาพของเราอีกที การที่เกษตรกรใช้เคมี เราก็เข้าใจเขา เพราะเกษตรกรมีอาชีพทำการเกษตร รายได้หลักคือการเพาะปลูก คือทำยังไงก็ได้ให้มีผลผลิตเร็วที่สุด จนลืมมองไปว่ามันส่งกระทบกับอะไรบ้าง ซึ่งอาจไม่ได้กระทบภาพใหญ่ทีเดียว แต่จะค่อยๆ กระทบไปเรื่อยๆ อย่างเช่นดินก็ค่อยๆ เสื่อมไปทีละน้อยๆ จากสารเคมี หรือเกษตรกรจะไม่รู้ตัวเลยว่าปีหน้าเขาจะต้องเพิ่มต้นทุนในการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น
เทคโนโลยีช่วยการเกษตรและเรื่องอาหารได้อย่างไรบ้าง
การจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาทำการเกษตร จะต้องมีนวัตกรรม เครื่องจักรกลการเกษตร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถ้าเราได้สิ่งพวกนี้มาอำนวยความสะดวก จะทำให้เกิดกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีช่วยให้สามารถควบคุมตั้งแต่ปัจจัยการผลิต คาดการณ์ผลผลิต ไปจนถึงกำหนดราคาขายและกำหนดกำไรที่แน่นอนได้ รวมถึงการเข้าถึงองค์ความรู้สมัยนี้ที่มันง่ายขึ้น ทั้งในยูทูบหรือกูเกิล คือไม่ต้องไปนั่งในห้องเรียน ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกก็มีตัวอย่างให้เราศึกษาและให้เราทดลอง นำความรู้ใหม่มาใช้และพัฒนาพื้นที่ของเราได้ง่ายขึ้น
ถ้ามองอีกด้าน นวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเกษตรส่งผลดีต่อผู้บริโภคด้วยไหม
ถ้าเป็นนวัตกรรมในส่วนของผู้บริโภค จะมีนวัตกรรมหนึ่งที่ส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรงเลย คือระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันทีว่า สินค้านี้มาจากเกษตรกรคนไหน ปลูกยังไง ปลูกวันไหน ซึ่งต้องมีการบันทึกข้อมูลในระบบจากเกษตรกรเองก่อน ผู้บริโภคก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่า สินค้าที่เขากินอยู่มันมีที่มาที่ไป ถูกปลูกด้วยระบบที่มีคุณภาพขนาดไหน เรียกได้ว่าแฟร์กับทั้งคนกินและคนขาย
คุณคิดอย่างไรกับคูโบต้าที่พยายามผลักดัน ‘นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต’
ชีวิตเราก็อยู่กับคูโบต้ามานานแล้ว เราเห็นว่าตอนนี้คูโบต้าเขาก็ให้ความสำคัญกับเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้พัฒนาผลผลิต ลดต้นทุน หรือเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ได้ อย่างเช่นนวัตกรรมในการติดตามเครื่องจักรกลการเกษตรว่ากำลังทำงานอยู่ในตำแหน่งไหน เพื่อสามารถจัดการพื้นที่ของเราและเก็บเป็นข้อมูลเอาไปใช้ต่อยอดได้ เพราะการทำเกษตรสมัยนี้ต้องมีข้อมูลที่ต้องบันทึกเพื่อที่จะคำนวณต้นทุนได้ว่าปีต่อไปเราจะจัดการกับพื้นที่ยังไง สิ่งที่เราได้ลงทุนไปแล้ว เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่ากำไรจะเหลือเท่าไร คุ้มหรือไม่คุ้ม ซึ่งคูโบต้าก็มีเครื่องมือที่จะมาตอบโจทย์ในประเด็นนี้ได้ เป็นการนำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่มาผนวกกับเครื่องจักรกลที่จะช่วยพัฒนาของการเกษตรของไทยในอนาคตได้
ทำไมการเกษตรถึงเป็นเรื่องของทุกคน
การเกษตรสามารถตอบโจทย์ในทุกมิติสำหรับชีวิตเราตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ถ้าเราได้กินวัตถุดิบที่ดี เราก็จะมีสุขภาพดี หรืออย่างเช่นน้ำมันที่เป็นตัวขับเคลื่อนด้านพลังงาน ก็จะมีไบโอดีเซลที่เป็นการหันไปใช้พลังงานจากพืชหรืออ้อยเพิ่มมากขึ้น การเกษตรก็เป็นสิ่งที่ซัพพอร์ตในการผลิตพืชพวกนี้ นอกจากนั้นการเกษตรยังอยู่เบื้องหลังในด้านอื่นๆ ของสังคมที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นเรื่องการแพทย์ ซึ่งอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างก็ผลิตมาวัตถุดิบก็มาจากการเกษตร อย่างยางพาราหรือวัสดุชีวภาพต่างๆ ทั้งหมดนี้อาจจะมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ล้วนมีการเกษตรอยู่เบื้องหลังทั้งหมด คือเป็นทั้งปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งหมด