ลองจินตนาการกันดูหน่อยไหม หากวันหนึ่งเราสามารถเลือกใครคนหนึ่งมาเป็นผู้นำให้เราได้ ไม่ว่าจะในฐานะผู้นำครอบครัว ผู้นำในที่ทำงาน หรือผู้นำ… อืม แฮ่ม อะไรที่ใหญ่ไปกว่านั้น ผู้นำแบบไหนกันที่เราอยากได้ และคิดว่าจะดีต่อระบบที่เราอยู่ที่สุด
แน่นอนว่าคงไม่ใช่ผู้นำที่ดีแต่พูด แต่ไม่เคยสร้างประโยชน์ที่แท้จริง และก็คงไม่ใช่ผู้นำที่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล จนผู้ตามต้องคอยโคจรตามเหมือนเป็นละอองฝุ่นบนวงแหวนดาวเสาร์ จากงานสัมมนา “The New Language of Leadership” ที่ทาง ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำ และผู้บริหารระดับสูง SEAC เพิ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ได้นำเสนอถึงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นผู้นำที่จะช่วยพาองค์กรผ่านวิกฤต และอยู่รอดอย่างยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้นำที่โลกกำลังต้องการในขณะนี้ไม่ใช่เพียงแค่เก่ง หรือมีวิสัยทัศน์ที่ดี แต่ควรต้อง “เข้าใจแบบหยั่งรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น” หรือมี “Empathy” อีกด้วย
ความเข้าใจผิดอันยิ่งใหญ่คือบ่อเกิดของปัญหาอันใหญ่ยิ่ง
ในยุคที่หลายบริษัทกำลังประสบกับปัญหาพนักงานอยู่ไม่ทน สอนงานจนเป็น พอทุกอย่างเริ่มจะอยู่ตัว อ้าว กลับชิงลาออกเสียนั่น ยังมีผู้นำที่เข้าใจเกี่ยววิกฤตการณ์เหล่านี้อย่างผิดๆ อยู่จำนวนไม่น้อย หลายคนมักคิดว่าเหล่าคนทำงานรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z มีนิสัยชอบเปลี่ยนงานบ่อย ไม่อดทน ไม่มีความ Loyalty ในองค์กร โดยไม่เคยได้ย้อนกลับมาดูที่ตัวองค์กรว่ามีอะไรที่ยึดโยงใจให้พนักงานอยากฝากอนาคตเอาไว้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิสัยทัศน์ของคนเป็นผู้นำที่มีต่อพนักงาน และมีต่อตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตั้งแต่ตัวลูกค้า ไปจนถึงเหล่า Partner
คนทำงานรุ่นใหม่ย่อมอยากได้ผู้นำที่เข้าอกเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นของพนักงาน ตลอดจนไว้วางใจให้พนักงานได้ตัดสินใจในสิ่งสำคัญๆ มากกว่าจะคอยถูกควบคุม เพราะมากกว่าการมีหน้าที่การงานมั่นคง หรือมีตำแหน่งใหญ่โตในบริษัท ความภาคภูมิใจต่อตนเองในการทำงาน และการถูกมองเห็นถึงคุณค่าก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทำงานในยุคนี้ใช้ในการตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไป
โลกเปลี่ยนทุกวินาที คนที่ย่ำอยู่กับที่มีแต่สูญพันธุ์
เพราะโลกทุกวันนี้ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นรายวัน หรือรายเดือนอีกต่อไปแล้ว การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้โลกขยับเป็นรายวินาที หรือน้อยกว่านั้น ผู้นำทีดีย่อมต้องพร้อมยอมรับ และมีวิสัยทัศน์มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง มีการเตรียมตัว มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่คาดไม่ถึงได้อยู่เสมอ ซึ่งการที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างถ่องแท้ สิ่งแรกที่ผู้นำจำเป็นจะต้องเข้าใจก็คือ ‘คน’ เพราะการเข้าใจถึงที่มาที่ไป และสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของคน จะช่วยให้สามารถเข้าใจถึงการกระทำ ความต้องการ ตลอดจนวิธีรับมือ หรือบริหารให้คนทำให้สิ่งที่ต้องการได้
ยกตัวอย่าง เช่น ในบริษัทที่มีพนักงานหลากหลายเจเนอเรชั่น หลากหลายช่วงอายุ หลากหลายเพศ ไปจนถึงหลากหลายเชื้อชาติ ผู้นำที่ดีควรจะต้องเข้าใจถึงพื้นฐานความคิด ความต้องการของคนเหล่านั้น และเลือกวิธีการ นโยบาย ตลอดจนการสื่อสารกับคนเหล่านั้นที่แตกต่างกัน เช่น ขณะที่คนรุ่นใหม่อาจจะต้องการอิสระในการตัดสินใจ คนรุ่นเก่าอาจจะพึงพอใจมากกว่ากับแบบแผนการทำงานที่เที่ยงตรง หรือขณะที่พนักงานอาวุโสพึงพอใจกับโบนัสก้อนโต พ่วงด้วยสวัสดิการชั้นหนึ่ง พนักงานรุ่นใหม่อาจชอบใจกับโบนัสในรูปแบบวันหยุดเพิ่มเติม ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ออกไปใช้ชีวิตดูโลกกว้างมากกว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจ หรือความต้องการต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้นำต้องพยายามรู้ และทำเข้าใจให้ได้ ซึ่งวิธีการง่ายๆ ที่จะเข้าใจคนประเภทต่างๆ ได้ เริ่มที่การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะคนทุกคนต่างล้วนรู้สึกดีกับคนที่พร้อมเข้าใจ เปิดใจรับฟัง หรือแสดงตัวว่าพร้อมรับฟัง มากกว่าคนที่ยึดเอาความคิดตัวเองเป็นสำคัญโดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น
ภาษาคือหัวใจ ความเข้าใจคือกุญแจ
ถ้าเปรียบคนเราคือบ้าน การสื่อสารก็คงเปรียบเสมือนเสาหลักที่ทำให้บ้านมั่นคง ดูน่าเชื่อถือ การสื่อสารที่ดีจึงเปรียบเสมือนหัวใจที่ส่งให้ผู้นำกลายเป็นผู้นำที่ดี การสื่อสารที่ดีเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังที่ดี รับรู้ ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ หาความรู้ที่ถ่องแท้ ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร หรือสื่อสารอะไรออกไป ผู้นำที่เก่งแม้จะไม่เห็นด้วย หรือมีความคิดเห็นที่ดีกว่า ก็จะไม่ใช้วิธีการหักดิบ หรือปฏิเสธความคิดเห็นของผู้ร่วมงานโดยสิ้นเชิง แต่จะพยายามโน้มน้าว จูงใจ หรือหาจุดที่พึงพอใจร่วมกันทุกฝ่าย
เราอาจมองเห็นตัวอย่างของผู้นำที่ปราศจากศิลปะในการสื่อสารได้จากหลายๆ เหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก ผู้นำที่พูดมั่วๆ โดยไม่มีการไตร่ตรอง หรือผู้นำที่พูดโดยปราศจากความเข้าใจในสิ่งที่พูด มักทำให้ผู้ตามเกิดความรู้สึกเคลือบแคลง ไม่มั่นใจ ไปจนถึงการตั้งคำถามต่อความเหมาะสมของฐานะผู้นำ และอาจร้ายแรงถึงลงท้ายด้วยความบาดหมางที่ทำให้ผู้นำและผู้ตามไม่อาจทำงานร่วมกันได้อีก
มากกว่าเรียนรู้ จดจำ คือการนำไปใช้
และจุดสำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ความเข้าใจ หรือความตระหนักรู้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากความรู้นั้น จะไม่ได้ถูกนำไปใช้ สิ่งสำคัญสำหรับผู้นำที่เหนือกว่า ‘Empathy’ ก็คือ ‘Applied Empathy’ หรือการนำสิ่งที่ได้วิเคราะห์ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลจริง อย่างที่เราเห็นได้หลายกรณีจากองค์กรน้อยใหญ่ต่างๆ เมื่อใครๆ ก็สามารถวาดฝัน สร้างนโยบาย หรือแนวคิดสวยหรูได้ แต่จะมีสักกี่องค์กรที่สามารถนำแผนที่วางไว้ไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้
เพราะฉะนั้นคนเป็นผู้นำ มากกว่าความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นอย่างดี มองเห็นถึงรายละเอียด ตลอดจนค้นหาแนวทางที่ดีที่สุดได้แล้ว ความสามารถในการผลักดันแนวคิดนั้นให้เกิดขึ้นจริง ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคที่โลก Disruption แข่งขันกันรุนแรงวินาทีต่อวินาทีเช่นนี้
ปลุกผู้นำให้ตื่นตัวด้วยภาษาใหม่
แนวคิดที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้มาจากงานสัมมนา “The New Language of Leadership” ทางรอดขององค์กรไทยในสมรภูมิ Disruption ที่ทาง ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง SEAC จัดขึ้น เพื่อติดอาวุธให้กับผู้นำไทยได้ใช้ในการรบกับพายุ Digital Disruption หรือการดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน ภายใต้การโค้ชของนักสร้างแบรนด์มือหนึ่ง ไมเคิล เวนทูร่า ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอบริษัท ซับ โรซ่า (Sub Rosa) ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างและบริหารแบรนด์ให้กับธุรกิจและองค์กรชั้นนำของโลก อาทิ จีอี (GE) กูเกิล (Google) แมริออท (Marriott) ไนกี้ (Nike) ไอจูน (iTunes) นิว บาลานซ์ (New Balance) และเป็นเจ้าของหนังสือ “Applied Empathy: The New Language of Leadership”
ตรงกับที่ คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ได้กล่าวไว้ว่า “SEAC เน้นย้ำและเดินหน้าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประเทศไทยให้ตระหนักถึง ความรุนแรงและผลกระทบของโลกในยุค Disruption เราต้องการ “ปลุก” ให้ “ผู้นำ” ลุกขึ้นมา “เปลี่ยน” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้อยู่รอดและสามารถต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน และแสวงหาแนวทางให้สามารถรั้งตำแหน่งผู้นำเอาไว้ได้อย่างมั่นคง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้าง “ภาวะผู้นำ” ให้สามารถนำองค์กร สู่การ Transformation ที่สมบูรณ์ เพราะทุกวันนี้ ลำพังแต่จะพึ่งพิง หลักการ วิธีการ กลยุทธ์ทางการตลาด กลยุทธ์การขาย อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน หากแต่การจะเป็น “ผู้นำ” ที่ดีต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า โลกเปลี่ยนทุกวินาที องค์กรจะต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ ต้องหาวิธี หรือแนวทางใหม่ๆ”
ทำให้เราได้มองเห็นถึงความสำคัญของทักษะด้าน “ความเข้าใจ” “การสื่อสาร” ตลอดจน “ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” ว่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดแค่ไหนในโลกยุคปัจจุบันนี้ เพราะเราห่างไกลจากโลกยุคไดโนเสาร์มาหลายพันปีแล้ว คงไม่เป็นการดีสักเท่าไหร่หากเราจะมีผู้นำถอยหลังกลับไปใช้วิธีการที่ล้าหลัง หรือย่ำอยู่กับที่ในการบริหารคนยุคปัจจุบัน
เพราะไม่อย่างนั้น วันหนึ่งเราอาจจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ หรือจากความภาคภูมิใจในตัวเองโดยไม่ทันได้รู้ตัวก็เป็นได้