ก่อนอื่นมาทบทวนกันหน่อย ว่าช่วงชีวิตนี้เรา “เรียน” อะไรบ้าง
คณิต วิทย์ อังกฤษ สังคม ฯลฯ
ว่าแต่… เราได้ “เรียนรู้” อะไรจากวิชานั้นๆ บ้าง?
เพราะการเรียน (Study) กับการเรียนรู้ (Learn) มีความหมายใกล้เคียงกันจนหลายคนเข้าใจผิด แต่ความเป็นจริงแล้ว สองคำนี้มีความแตกต่างที่สำคัญคือ การเรียนทำให้เราจำได้แค่เพียงเนื้อหา แต่การเรียนรู้คือการทำความเข้าใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริง
ยิ่งปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ แทบทุกวินาที ฉะนั้นการมีความรู้เดิมๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อการเรียน เป็น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นำความรู้ที่ได้เรียนรู้มา สร้างความเชื่อมโยงประกอบกันเหมือนภาพจิ๊กซอว์ จนสร้างสรรค์ผลลัพธ์ออกมาใหม่ เป็นไอเดียที่สมบูรณ์
ในฐานะคนรุ่นใหม่เราจึงควรเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะแค่หยุดเดิน หยุดเรียนรู้ ก็เท่ากับถอยหลังแล้ว!
กับดักคือ Comfort Zone รู้เท่านี้ก็ดีแล้ว
Comfort Zone คือพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจหรือมีความกังวลน้อยกว่าปกติ เมื่อใดก็ตามที่เราติดอยู่ใน Comfort Zone ส่งผลให้คนส่วนมากไม่รู้สึกกระตือรือร้น ทำให้เราไม่อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย
หากผนวกรวมเข้ากับประเด็นการเรียนรู้ การอยู่ใน Comfort Zone ก็คือการยืนอยู่ในกับดักที่ตัวเองมีความรู้เชี่ยวชาญจนเกิดความ “เคยชิน” บางครั้งทำให้เรากังวลในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบความเชื่อเดิมๆ และทำให้เราต่อต้านในการเรียนรู้ในระยะต่อไป
ทางแก้ให้เราหลุดพ้นออกจากกับดักนี่ก็คือ การปล่อยวางจากความรู้เดิม โดยคิดว่าเรา “ไม่รู้” เป็นอันดับแรก
จงเป็น “น้ำไม่เต็มแก้ว”
ปราการด่านถัดมาคือการไม่ยอมรับว่าตัวเอง “ไม่รู้” ด้วยการเชื่อว่า สิ่งที่ตัวเองพบเจอหรือเรียนตามตำรามานั้นเป็นสิ่งถูกต้องที่สุด แต่ในความจริงแล้ว กาลเวลาทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องค้นหาความรู้ใหม่ๆ อยู่แล้ว
มันก็คงคล้ายกับการเปรียบเปรยเป็น “น้ำเต็มแก้ว” ที่ไม่ว่าจะพยายามเติมความรู้เท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำได้ ไม่เห็นความสำคัญของการหาความรู้เพิ่ม รู้สึกอิ่มตัว หรือแม้กระทั่งหมดไฟ
หนทางแก้มีเพียงหนึ่งเดียว คือการเปลี่ยนทัศนคติเป็น “น้ำไม่เต็มแก้ว” เพื่อเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ต่อไป
ไม่ใช่แค่เรียนเป็น “เด็กกระป๋อง”
หลังจากทลายกับดัก Comfort Zone และเปิดใจให้เรียนรู้กันแล้ว สิ่งสำคัญในการเรียนคือไม่ใช่แค่ “เรียน” อย่างเดียว
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การเรียนทำให้เราจำได้แค่เพียงเนื้อหา ซึ่งต้องยอมรับว่าในหลายๆ ครั้ง ปัจจัยต่างๆ ก็ไม่ได้เกื้อหนุน ให้เราขวนขวายหาความรู้นอกตำรามากนัก การเรียนรู้ในห้องเรียนเกิดจากตารางที่กำหนดมาจากส่วนกลาง ทำให้ได้ผลผลิตทางการศึกษาเป็น “เด็กกระป๋อง”
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ปัญหาที่พบเจอมักเจอคนที่มีความรู้แต่ขาดประสบการณ์ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นๆ ในการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกันกับระดับผู้บริหาร ที่มักยึดหลักทฤษฎีแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
ฉะนั้นแล้ว คนที่น่ากลัวที่สุดในสนามรบธุรกิจต่อจากนี้ จึงไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุด แต่คือคนที่ “คนไม่หยุดเรียนรู้” นั่นเอง
เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ทุกรูปแบบ และตลอดชีวิต
อย่างที่ย้ำอยู่บ่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุคดิจิทัล หรือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี หนทางเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอดได้คือ “การเรียนรู้” และ “การพัฒนาตนเอง” อย่างต่อเนื่อง เหมือนดั่ง สัตยา นาเดลลา ประธานใหญ่แห่งไมโครซอฟท์ ที่มีความเชื่อในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่า
“ผมเป็นคนที่เรียนรู้ตลอด ผมจะได้รับพลังงานจากคนที่ประสบความสำเร็จ เวลาเห็นคนอื่นพัฒนาอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเล็กขนาดไหน สิ่งเหล่านั้นมันทำให้ผมหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้ ผมมักจะซื้อหนังสือมากจนอ่านไม่หมด สมัครเรียนคอร์สออนไลน์มากเกินเวลาที่มี ผมว่าสิ่งเหล่านี้แหละเป็นพลังชั้นดีให้กับการทำงาน ไม่ใช่แค่ผม แต่สำหรับทุกคน เพราะสินค้าและบริการก็มาจากความรู้ที่คุณมีทั้งนั้น”
SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ก็เช่นกัน
เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาชีวิต จึงสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา SEAC จึงอยากเสริมทักษะแก่ทุกคนที่มีหัวใจแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานของตนเอง ภายใต้แนวคิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในทุกช่วงอายุ “Lifelong Learning Ecosystem” ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความชื่นชอบ ความถนัด หรือความสนใจของตนเอง และสามารถพัฒนาความสามารถของคุณให้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นอาวุธต่อกรกับอนาคตที่ใครก็คาดเดาไม่ได้
ไม่หยุดเรียนรู้และรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SEAC