เมื่อ 5 ปีก่อน หญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งต้องตกใจกับเสียงปลายสายที่โทรเข้ามาที่เบอร์เธอ เพราะเสียงนั้นเป็นเสียงผู้ชายหื่นกามที่พยายามลวนลามเธอด้วยวาจา เธอรีบกดวางสายนั้นทิ้ง จากนั้นวันรุ่งขึ้นเธอก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้ชายลักษณะเดียวกันนี้อีก 4 สาย เธอเลยพยายามปะติดปะต่อสืบสาวราวเรื่องว่า โทรศัพท์ลามกนี้มาจากไหน
อยู่ๆ เธอก็นึกขึ้นได้ว่า วันก่อนเธอทำผิดพลาด คือคอมเมนต์ไม่ค่อยน่ารักในโพสต์ของคนดังคนหนึ่ง แต่สุดท้ายในวันเดียวกันเธอก็รีบขอโทษเขา โดยที่เขาไม่ได้ติดใจหรือถือสาเอาเรื่องอะไร เธอเลยคิดว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นสาเหตุของโทรศัพท์หื่นกามนั้น เธอคิดว่าคนดังคนนั้นคงไม่ได้ทำอะไรเธอ แต่น่าจะเป็นแฟนคลับของเขาสักคนที่ต้องการลงโทษด้วยการขุดหาเบอร์โทรศัพท์เธอจากอินเตอร์เน็ตและนำไปโพสต์ไว้ในเว็บไซต์หาคู่นอนหรือ sex phone
และสิ่งที่เธอสันนิษฐานนั้นเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อเธอลองเสิร์ชเบอร์ตัวเองในกูเกิ้ล และก็เป็นอย่างที่เธอคิด เบอร์ของเธอไปปรากฏอยู่ในกระทู้หาคู่นอนในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมโทรศัพท์หื่นกามจึงโทรหาเธออย่างไม่หยุดหย่อน สองสามวันนั้นเธอรู้สึกผวาและถูกคุกคามจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ และต้องรีบหาทางติดต่อเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์นั้นเพื่อนำกระทู้ออกไปจากเว็บ แต่กว่าจะเจอตัวและลบออกไปได้ ก็ต้องทนกับความรู้สึกหลอกหลอนและผวาอยู่หลายวัน กว่าจะเรียกขวัญตัวเองกลับมาได้ใหม่ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้หญิงสาวได้เรียนรู้ถึงผลลัพธ์ของการใช้สื่อออนไลน์ผิดวิธี รวมทั้งภัยของโลกออนไลน์ที่คาดไม่ถึง
เรื่องราวของหญิงสาวคนนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงของคนใช้สื่อออนไลน์ ที่สะท้อนถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ในโลกออนไลน์ที่เราทุกคนต่างเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งหากทุกอย่างยังดำเนินไปตามปกติก็คงไม่มีอะไร แต่หากวันใดก็ตามที่เกิดเรื่องผิดพลาดหรือผิดปกติขึ้นมา เช่น คุณพลาดไปขัดแย้งกับใครสักคนในโลกออนไลน์ แล้วมีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น หรือคุณโชคร้ายถูกคนไม่หวังดีแอบเอารูปและข้อมูลไปสร้างตัวตนใหม่ แถมไปสร้างความเดือดร้อนต่อจนปัญหานั้นย้อนกลับมาที่ตัวคุณ ภัยเหล่านี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ควรมองข้าม
ฉะนั้น การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล หรือ MIDL (Media Information and Digital Literacy) จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่คนใช้สื่อออนไลน์ควรศึกษาไว้ โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้ปกครองของบุตรหลานที่เข้าสู่วัยที่ใช้สื่อออนไลน์ ก็อาจต้องทำความเข้าใจไว้เพื่อจะได้แนะนำและช่วยเหลือบุตรหลานได้อย่างถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันในไทยได้มีหน่วยงานที่ ขับเคลื่อนแนวคิด MIDL อย่างสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ สำหรับ 3 ประเด็นใหญ่ ที่ เราควรจะหันมาให้ความสนใจเพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการเคารพสิทธิการอยู่ร่วมกันในโลกเสมือนจริง ก็คือ
รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint)
อธิบายง่ายๆ รอยเท้าดิจิทัล(Digital Footprint) ก็คือ เนื้อหา ข้อมูล รูปภาพ วีดีโอต่างๆ ที่เราได้ทิ้งไว้ในโลกออนไลน์ บางอย่างอาจเป็นสิ่งที่เราตั้งใจเปิดเผย เช่น ข้อมูลเรื่องการศึกษา สเตตัสบางสเตตัสที่อยากให้คนเห็น แต่บางอย่างก็อาจเป็นสิ่งที่เราลืมหรือไม่รู้ตัวว่าทิ้งร่องรอยไว้ เช่น รูปภาพในเฟซบุ๊กเมื่อ 7 5 ปีก่อน ซึ่งมันนานจนเราแทบไม่สนใจ แต่เฟสบุ๊กก็ดันเตือนกลับมาอีกครั้ง ! หรือแค่ทวีตบ่นด่าใครสักคนเมื่อหลายปีก่อน หรืออาจเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่เราทิ้งไว้ในหน้าแฟนเพจสักเพจสมัยที่เรายังไม่ค่อยระวังเรื่องความเป็นส่วนตัวมากนัก
ร่องรอยเหล่านี้บางครั้งถูกนำมาใช้ในทางบวกหรือเป็นประโยชน์ เช่น เป็นข้อมูลไว้ให้คนที่เราไปสมัครงานหรือนายจ้างรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร มีทัศนคติหรือการใช้ชีวิตอย่างไหน หรือแม้แต่คนที่จะมาเป็นแฟน ก็อาจเข้ามา “ส่องเฟซ” และใช้ร่องรอยเหล่านี้ในการพิจารณาว่าจะอยากคบหาหรือไหม ในทางกลับกัน รอยเท้าดิจิทัลเหล่านี้ก็อาจเป็นภัยต่อเราได้อย่างไม่รู้ตัว เช่น การถูกผู้ไม่หวังดีนำรูปภาพไปสวมรอยเป็นคนอื่น หรือสร้างตัวตนปลอม (Fake Identity) ไปทำเรื่องผิดกฎหมายหรือสร้างความเดือดร้อน
ฉะนั้น สำหรับคนที่ใช้สื่อออนไลน์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องระวังข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้รอยเท้าดิจิทัลมาสร้างความเดือดร้อนได้ เพราะในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะนานแค่ไหนร่องรอยที่เหยียบไว้จะยังคงอยู่เสมอ…
การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล หรือ MIDL
ถัดมาคือการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล ถ้าเอาแบบเป๊ะๆ ก็จะอธิบายไว้แบบนี้
M การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) คือ สมรรถนะในการใช้สื่อต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์ และเข้าใจในรูปแบบของสื่อ และเทคนิคต่างๆ ที่สื่อใช้ในการสร้าง ผลกระทบต่อผู้รับสื่อและความสามารถในการอ่านวิเคราะห์ประเมิน และสร้างสื่อในหลากหลายรูปแบบได้
I การรู้เท่าทันสารสนเทศ (Information Literacy) คือ สมรรถนะในการประเมิน เลือกใช้และสื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายรูปแบบ และรวมถึงความเข้าใจข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ในความหมายเชิงจริยธรรม
D การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) คือ สมรรถนะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องมือสื่อสาร เครือข่ายต่างๆ เพื่อค้นหาข้อมูล (เข้าถึง) ประมวลผล (เข้าใจ) และสร้างสรรค์ข้อมูล (ประยุกต์ใช้) ได้หลากหลายรูปแบบ
แต่ถ้าเอาแบบเข้าใจง่าย คือ การรู้ทันสื่อ บล็อก โฆษณา ต่างๆ ที่ปรากฏให้เราเห็นในโลกออนไลน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กล่าวคือ ไม่ใช่เห็นแล้ว ก็เชื่อตาม หรือแชร์ตามในทันที แต่ต้องมีวิจารณญาณสามารถแยกแยะมายาหรือเรื่องใส่สีต่างๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสื่อต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ บางครั้งอาจอยู่ในรูปแบบของ ดราม่าและไวรัลที่แชร์ๆ กัน ที่ทำให้หลายคนเฮโลปักใจเชื่อตามว่ามันจริง โดยไม่ได้ตรวจสอบ
นอกจากนี้ก็คือ การรู้ทันวิธีการใช้สื่อออนไลน์ ที่คนใช้จะต้องรู้จักกติการมารยาท และจริยธรรม อย่างปัญหาหนึ่งที่มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ คือ แชร์รูปศพ หรือการนำรูปคนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ที่พบเห็นกันบ่อย และสุดท้ายก็คือ การรู้จักใช้สื่อดิจิทัลมาใช้ประโยชน์หรือใช้ในทางที่สร้างสรรค์
การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
จากสองประเด็นที่กล่าวมา อาจดูเหมือนมีแต่ข้อห้ามๆ ให้ระวังเต็มไปหมด แต่จริงๆ สื่อออนไลน์ก็สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน อย่างการใช้พื้นที่ออนไลน์ในการร่วมกันเปิดพื้นที่เพื่อถกประเด็นสังคมแบบ Real time ที่มีทั้งแบบวิชาการ และการล้อเลียนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการหยิบมาเป็นมีม (Meme) กันแพร่หลาย ก็เป็นตัวอย่างของการนำสื่อออนไลน์มาใช้เพื่อแสดงออกความคิดเห็น หรือจุดประเด็นให้คนในสังคมได้คิดได้ตั้งคำถาม
พูดอีกอย่างคือ หากรู้จักกติกามารยาท จริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ รวมทั้งมีความรู้ที่จะนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ สื่อออนไลน์ก็สามารถเป็นอาวุธในการขับเคลื่อนทางสังคม หรือจรรโลงจิตใจคนได้เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล หรือ MIDL (Media Information Digital and Literacy) ซึ่งชื่ออาจฟังดูทางการและห่างไกลตัวเรา แต่จริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่ใกล้ตัวคนเราสุดๆ เพราะทุกวันนี้ หลายคนคงยอมรับว่าหลังจากลืมตาตื่นนอนขึ้นมา สิ่งที่แรกที่ทำก็คือ การหยิบมือถือขึ้นมาดู แต่ก็นั่นแหละ เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันหนึ่งสิ่งที่ใกล้ตัวเราขนาดนี้จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตเราหรือคนที่เรารักหรือไม่
ฉะนั้นจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างเท่าทันและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ หากสนใจอยากศึกษาข้อมูลแนวคิด MIDL สามารถเข้าไปดูได้ที่ลิงก์และเฟซบุ๊กนี้
>>> https://www.facebook.com/childmedia.thailand/videos/901340510030498/