จากจุดเริ่มต้นที่การเป็นพนักงานรุ่นแรกของบริษัท คุณเปิ้ล – เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ เติบโตพร้อมกับการย่างเข้าสู่ปีที่ 9 ของ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ในบทบาทของผู้บริหารสูงสุดบริษัท
“การเป็นผู้บริหาร เปิ้ลมองว่าเป็นความท้าทาย 2 ด้าน หนึ่งคือความรับผิดชอบของเราในฐานะที่จะต้องนำพาบริษัทไปในทิศทางที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ และอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เปิ้ลแคร์เสมอคือ พนักงาน เพราะในเมื่อเรามีเป้าหมายที่วางอยู่ตรงนั้นแล้ว เราจะทำให้น้องๆ ในองค์กรของเราไปพร้อมกับเราแบบมีความสุขได้อย่างไร”
Happy Workplace เป็นวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารที่คุณเปิ้ล และเมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ยึดถือมาตลอด การที่จะทำให้มวลรวมขององค์กรมีความสุขได้ ย่อมต้องมาจากความเข้าใจในความแตกต่าง และความหลากหลายในความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคลเพื่อสร้างแนวทางในการสนับสนุนและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างใส่ใจและเท่าเทียม
‘Confidence to Be’ กุญแจสำคัญของ Merz Aesthetics Thailand
จุดหมายปลายทางในย่างก้าวปีที่ 9 ของ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ของคุณเปิ้ล คือการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน โดยที่ความยั่งยืนนั้นจะต้องสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ของบริษัทนั่นคือ ‘Confidence to Be’ หรือความมั่นใจ
“ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม อย่างตลาดที่เมิร์ซ เอสเธติกส์ ทำอยู่เป็นตลาดความงาม เราพยายามที่จะเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงในการสื่อสารเรื่องความมั่นใจไปสู่ผู้บริโภค ทั้งความมั่นใจในความเป็นตัวเอง ในรูปร่างหน้าตาในแบบที่เราเป็น เพราะเราเชื่อว่า เมื่อไรที่ทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น ทุกคนจะกล้า แล้วความกล้านี่แหละที่จะพาออกจาก Comfort Zone และประสบความสำเร็จในชีวิต”
“อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำงาน เราให้ความมั่นใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราทุกคน ตั้งแต่คุณหมอ เราให้ความมั่นใจในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่ถูกต้อง ไปจนถึงตัวคลินิกที่มีพนักงานหน้าร้าน เราก็มีทีมงานดูแลให้ความรู้ด้วยเช่นกัน เราสร้างความมั่นใจไปจนถึงทีมการตลาดของคลินิกโดยการจัดงานประชุมประจำปีเพื่ออัปเดตความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเราเป็นยาและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการ นั่นทำให้เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนในทีมทั้งเรื่องความรู้ ควบคู่ไปกับการสื่อสารภายในองค์กร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่าที่นี่เป็น Happy Workplace ของทุกคน”
นิยามความมั่นใจของคุณเปิ้ล จึงเป็นเรื่องการส่งเสริมทุกอย่างที่เสริมสร้างความมั่นใจ “บริษัทเราเป็นบริษัทความงาม แต่เราไม่ได้ชักจูงให้คนเข้าคลินิกทำความงามเพื่อเปลี่ยน แต่เป็นการทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ แล้วสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นใจและมีความสุข”
ความหลากหลายและความเท่าเทียมคือความงดงามขององค์กร
เคล็ดลับความสุขที่ส่งต่อออกไปยังพันธมิตรด้านธุรกิจจำเป็นจะต้องเพาะเมล็ดจากภายในองค์กรที่มีความเข้าใจในความหลากหลายของผู้คน เพราะความหลากหลายเป็นต้นตอของไอเดียที่สดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างสร้างสรรค์
“เปิ้ลมองว่าความหลากหลายภายในองค์กรช่วยสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับองค์กร ซึ่งความหลากหลายก็มองได้หลายมุม ทั้งในเรื่องเจนเนอเรชั่น X Y Z ที่มาอยู่ร่วมกัน ความหลากหลายเรื่องเพศ LBGTQ+ หรือ ความหลากหลายทางความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าเราจะหาส่วนผสมที่ลงตัวได้อย่างไร”
“หนึ่งในค่านิยมองค์กรของเราคือ Persist in Innovation นั่นก็คือเรามุ่งเน้นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่เสมอมาในการทำธุรกิจ เราสนับสนุนให้พนักงานได้ร่วมแชร์ไอเดีย ออกความคิดเห็นใหม่ๆ คิดออกนอกกรอบแบบเดิมๆ ซึ่งพิสูจน์ได้จากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ไอเดียสดใหม่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรในแต่ละก้าวที่เราเติบโต”
Work Hard, Play Hard กับแนวคิด Happy Workplace
เช่นนั้นแล้ว การจะที่หาจุดลงตัวของความหลากหลายในองค์กรจึงสำคัญที่การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และคำว่า ‘ความสุข’ เป็นคำที่เราได้ยินจากคุณเปิ้ลตลอดการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เธอเชื่อและทำมาตลอดเพื่อสร้างพื้นที่ทำงานแห่งความสุข และส่งต่อความสุขให้กับองค์กรพันธมิตรอยู่เสมอ
“จุดมุ่งหมายหลักของเปิ้ลคือ Happy Workplace เพราะฉะนั้นถ้าโจทย์ของเราคือเราจะทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านที่สอง เปิ้ลจะพยายามสนับสนุนน้องๆ ในทีมให้สามารถพูดคุยแบบเปิดใจรับฟังกันได้”
การสนับสนุนให้ความหลากหลายและความเท่าเทียมทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นภาคปฏิบัติภายใต้โจทย์การสร้างที่ทำงานที่มีความสุข โดยมีคุณเปิ้ลเป็นผู้นำองค์กร “เนื่องจากบริษัทเรามีน้องๆ ที่เป็น LGBTQ+ เยอะ เปิ้ลมองตั้งแต่เริ่มเลยว่าเราจะต้องทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมได้ หนึ่งในนั้นก็จะเป็นเรื่องของสวัสดิการ เช่นประกันสุขภาพ อย่างประกันที่ครอบคลุมถึงกลุ่ม LGBTQ+ แน่นอนว่าในมุมของบริษัทเอง จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เรามองว่าเป็นสิ่งที่เรายินดีจะทำและเรามองหามานาน อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมภายในองค์กร”
“แน่นอนเรื่องของมาตรฐานเราพูดอยู่เสมอกับทีม Regional ของเรานะคะ ว่าเราจะทำอย่างไรให้เราเหนือขึ้นมาจากมาตรฐานของตลาด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินเดือนหรือสวัสดิการที่สามารถเพิ่มให้กับพนักงานได้ คือเรามองว่าเราเป็นองค์กรที่ Work Hard, Play Hard”
“ด้าน Work Hard เรามองเรื่องความเท่าเทียมว่าทำงานอย่างไรให้ร่วมมือกันอย่างดีที่สุด เปิ้ลว่าพื้นฐานคือความมั่นใจที่ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่เขาอยากพูดได้ ส่วนด้านของ Play Hard จะเป็นโจทย์ที่เราอยากสร้างให้มีการมีส่วนร่วม เรามองหา Small Celebration ตลอดเวลา เราให้สวัสดิการอย่างเรื่องประกันสุขภาพ หรือเรามีงบประมาณ Flexi Benefit ต่อปีให้พนักงานใช้จ่ายกับอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขในเชิงของ Wellbeing ซึ่งทุกคนได้เท่ากันหมดไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดก็ตาม” ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของการสร้างสุขภาพการทำงานที่ดีอย่างเท่าเทียม
ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของเปิ้ล กิตติวรรณ รัตนจันทร์
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำองค์กรก็เปรียบเสมือนกับเป็นกัปตันที่ใช้วิสัยทัศน์ขององค์กร แปลงเป็นภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริง และพาการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ความสำเร็จร่วมกัน และนี่คืองานที่คุณเปิ้ลทำอยู่เสมอมาในฐานะผู้นำ
“ข้อแรกเลยคือ เราต้องเป็นผู้มาก่อนกาล คิดไปข้างหน้า เพื่อเตรียมตัวว่าภายในองค์กรจะต้องทำอะไรเพื่อให้ก้าวไปถึงจุดที่ต้องการ ข้อถัดมาเป็นเรื่องของการ Connect the dot คือเราได้รับนโยบายจากเมืองนอก เรามีตลาดหรืออุตสาหกรรมที่หมุนเวียนตลอดเวลาเป็นปัจจัยภายนอกที่ต้องคอยสังเกตการณ์อยู่เสมอ เรามีน้องๆ ที่มาจากคนละแผนกที่มีความถนัดที่แตกต่างกัน รวมถึงลูกค้า หน้าที่ของผู้นำองค์กรจึงต้องเป็นผู้แสดงให้เห็นถึงความต่างและมองหาจุดเชื่อมโยงระหว่างบริษัท ลูกค้า ตลาด และคนในองค์กร”
“และสุดท้ายถ้าเราเชื่อมทั้งหมดได้ ข้อที่ 3 ก็คือ การสื่อสารที่ชัดเจน แล้วทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีคนมาถามน้องๆ ไม่ว่าแผนกไหนก็ตามเขาจะได้คำตอบที่ตรงกันว่าในปีนี้หรือ 2 ปีข้างหน้า เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ต้องการอะไรหรือเรามีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางไหน”
“เพราะฉะนั้นทั้ง 3 หัวข้อนี้ในฐานะผู้นำองค์กรที่เปิ้ลใช้อยู่ ปัจจุบันยังใช้ได้ดีอยู่แล้วก็คงยังใช้ต่อไปค่ะ” คุณเปิ้ลทิ้งท้ายถึงเคล็ดลับซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ตลอดการเดินทางบนเส้นทางสายธุรกิจซึ่งยังคงเป็นคู่มือที่ใช้งานแล้วเห็นผลถึงความสุขของพนักงาน และความสำเร็จของ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ดังที่ทุกคนเห็นในปัจจุบัน