“ประเทศดีงาม จะอีก 50 ปีหรืออีก 1000 ปีก็ไม่มีล่มจมหรอก ชมกูดิ”
น้องอิมเมจคงจะทวิตข้อความนี้อีกรอบ ในวันใดวันหนึ่งที่ประเทศไทยเข้าสู่โลกแห่ง Mobility as a Service (MaaS) อย่างเต็มตัวก็เป็นได้ แม้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะดูริบหรี่ติดๆ ดับๆ อยู่สักหน่อย แต่ในวันที่โลกพัฒนาไปไกลขึ้น ผู้คนสามารถเชื่อมต่อและเรียนรู้กันได้มากขึ้น ตลอดจนคนรุ่นใหม่กำลังจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาขับเคลื่อนสังคมแทนที่ นี่ก็ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะจะมานั่งถอนหายใจหมดหวัง โดยเฉพาะเมื่อเรามีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงให้เรียนรู้และเลียนแบบอยู่ตรงหน้า
อธิบายโดยง่าย Mobility as a Service (MaaS) คือแนวคิดเกี่ยวกับระบบการเดินทาง ที่รวบรวมเอาบริการทุกอย่างในด้านการขนส่งมาไว้ในพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้คนได้มากที่สุด นั่นก็คือโลกดิจิทัล ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตัดสินใจตลอดจนวางแผนการเดินทางของตัวเองในรูปแบบที่สะดวกที่สุด รวดเร็วที่สุด และพึงพอใจที่สุดได้ ไม่ต้องเซ็งกับการขับรถส่วนตัวออกมาเพื่อติดแหง็กบนท้องถนน ไปเสี่ยงโชคเอากับแท็กซี่ที่จอดเรียงเป็นตับแต่ไม่ค่อยจอดรับ ไม่ต้องไปวัดดวงกับพี่วินปากซอยว่าวันนี้อารมณ์ดีเก็บสิบห้าหรือโดนเมียด่าเลยขอเก็บยี่สิบ กันอีกต่อไป
ซึ่งเจ้าของแนวคิดนี้คืออดีตวิศวกรและนักธุรกิจชาวฟินแลนด์ที่มีชื่อว่า Sampo Hietanen ปัจจุบันเขาเป็น CEO ของ MaaS Global บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทั้งของภาครัฐ และเอกชนเข้าด้วยกันผ่านแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Whim ซึ่งรวมเอาบริการขนส่งสาธารณะตั้งแต่รถบัส ยันเรือเฟอร์รี่ รถแท็กซี่ รถเช่า จักรยาน ไปจนถึงพาหนะเท่าที่คนจะเลือกโดยสารได้เข้าไว้ด้วยกัน ผู้ใช้บริการสามารถเช็คตารางเวลา เช็คพาหนะที่ดีที่สุดสำหรับเส้นทาง ไปจนถึงจองตั๋วเบ็ดเสร็จได้ในแอพเดียว ไม่เท่านั้น นอกจากการเดินทางรายเที่ยว Whim ยังมีการให้บริการการเดินทางแบบแพ็กเกจเหมาจ่าย คล้ายคลึงกับรูปแบบของ Netflix หรือ Amazon ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่มักรู้ตารางเวลาชีวิตของตนเองและจำเป็นต้องเดินทางอยู่แล้ว ทำให้เมืองใหญ่ของฟินแลนด์แห่งนี้เป็นเสมือนเมืองต้นแบบของระบบ MaaS ที่ทั่วทั้งโลกต่างจับจ้องเอาเป็นแบบอย่าง และไม่ใช่แต่เพียงในเฮลซิงกิเท่านั้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกอย่าง ปารีส โกเธนเบิร์ก มองเปลิเยร์ เวียนนา ฮันโนเวอร์ ลาสเวกัส ลอสแองเจลิส เดนเวอร์ บาร์เซโลนา หรือกระทั่งเพื่อนบ้านเราอย่างสิงค์โปร์ ก็กำลังเริ่มนำแนวคิดนี้เข้ามาทดลองใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ว่ากันตามตรงด้วยการขยายตัวของเมืองใหญ่ทั่วโลกซึ่งไม่ได้กระจุกอยู่ ณ เมืองหลวงแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ระบบคมนาคมที่แข็งแกร่งและเอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในเมือง ไม่เพียงแต่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นตัวตัดสินความก้าวหน้าของเศรษฐกิจประเทศในอนาคตก็เป็นได้ โดยเฉพาะเมื่อผลการสำรวจของบริษัท ที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกอย่าง Deloitte ในกลุ่มคน Gen Y ทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า แม้คนรุ่นใหม่จะรักความยืดหยุ่นและความอิสระเพียงใด แต่โดยภาพรวมแล้วคนยุคมิลเลนเนียลกว่า 65% ทั่วโลก (คิดเป็น 70% ของกลุ่มตลาดประเทศพัฒนา กับ 61% ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่) ก็ยังปรารถนาที่จะทำงานประจำแบบเต็มเวลามากว่างานฟรีแลนซ์อยู่ดี นั่นหมายความว่าการเดินทางไปทำงานยังเป็นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น และระบบคมนาคมที่เหมาะสมตลอดจนสามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตของพวกเขาได้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด
ซึ่งเมื่ออ้างอิงตามบทความ The rise of mobility as a service – Reshaping how urbanites get around ของ Deloitte ที่ทำนายไว้ว่า MaaS จะกลายเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ ในการเข้ามาช่วยจัดการปัญหาด้านระบบการขนส่งในอนาคต ก็พบว่าแนวโน้มของสถานการณ์โลกเริ่มเข้าใกล้ผลสำรวจมากขึ้นไปทุกที เห็นได้ชัดจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการขนส่งทางเลือก อาทิ Carsharing ที่ในปี 2006 ยังมีสมาชิกเริ่มต้นเพียงราว 350,000 คนเท่านั้น แต่ในปี 2014 กลับพุ่งพรวดไปแตะหลักเกือบ 5 ล้านคน หรือกิจการ Uber ที่สามารถขยาย ธุรกิจไปได้ถึง 500 เมืองในกว่า 70 ประเทศทั่วโลกในระยะเวลาเพียง 6 ปี และด้วยตัวเลขที่ถูกคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่เพิ่มขึ้นถึงหลัก 66% ในขณะที่พื้นที่ยังมีเท่าเดิมนั้นก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่า การเพิ่มถนนหรือเพิ่มรถขนส่งให้มากขึ้นย่อมไม่ใช่การแก้ปัญญาที่ตรงจุด เพราะรังแต่จะทำให้การจราจรหนาแน่นและติดขัดยิ่งกว่าเก่า การแก้ปัญหาที่เหมาะสมในเรื่องนี้จึงไม่ต้องการความ Hard แต่ต้องการความ Smart ของการบริหารรูปแบบขนส่งให้สอดคล้องกับความต้องการผู้ใช้งานระดับบุคคลมากกว่า
และถ้าถามว่าโดยภาพรวมของทั่วทั้งโลกแล้วอนาคตด้านการเดินทางของผู้คนดูสดใสแจ่มจ้าแค่ไหน ลองเปิดไฟฉายแล้วเอาลูกตาข้างขวาไปจ่อดูก็ได้ เพราะถ้าวัดจากเหล่าคนรุ่นใหม่ไปจนถึงบรรดา Start Up ต่างๆ ที่ตบเท้าเข้ามาร่วมพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ของการเดินทางโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางแล้วล่ะก็ บอกได้คำเดียวว่า มันช่างจ้าซะเหลือเกิน!!
ตัวอย่างที่เราดูจะคุ้นกันดีก็เห็นจะหนีไม่พ้น Start Up ระดับยูนิคอร์น อย่าง Uber โมเดลใหม่ที่เปลี่ยนคนขับรถทั่วไปบนท้องถนนให้กลายมาเป็นรถรับจ้าง มาพร้อมฟังก์ชั่นที่เอื้อกับมนุษย์ยุคสมาร์ทโฟน ด้วยการเรียก บอกจุดหมายปลายทาง จ่ายเงิน และสะท้อนความคิดเห็นได้ในแอปพลิเคชั่นเดียว ตัวอย่างถัดมาคือ Lyft แอพแชร์รถที่มีความคล้ายคลึงกับ Uber แต่เพิ่มความเป็นมิตรเข้าไปด้วยการสามารถระบุข้อมูลส่วนตัวอย่าง เมืองเกิด แนวดนตรีที่ชอบ แนวหนังที่โปรด หรืออื่นๆ ช่วยประกอบการตัดสินใจของผู้เรียกรถได้ หรืออย่างในจีนเองก็มี Didi Dache แอพสำหรับเรียกรถแท็กซี่ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคน ในกว่า 300 เมืองทั่วประเทศ นั่นยังไม่รวมถึงบรรดาบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการซื้อและจัดส่งสินค้า ซึ่งช่วยทุ่นเวลาและเงินในการเดินทางไปได้ อาทิ Postmates และ DoorDash สองบริษัทน่าจับตาของวงการเดลิเวอร์รี่อาหาร (หากนึกไม่ออกก็ลองจินตนาการถึงอะไรทำนองเดียวกับ Line Man และ Foodpanda ดูก็ได้) ที่ล่าสุดกระทำความล้ำไปอีกด้วยการจับมือกับ Starship บริษัท Start Up ด้านหุ่นยนต์สัญชาติอังกฤษ ในการนำหุ่นยนต์มาช่วยส่งอาหารแทนคนในหลายรัฐใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
ฟากประเทศไทยเองนอกจากบรรดา Uber, Grab Taxi หรือ All Thai Taxi ที่หลายคนคงจะเคยได้เรียกใช้กันบ้างแล้ว (หลังจากทนเจ็บแค้นกับปัญหาแก๊สหมด-ส่งรถไม่ทันมานาน) ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้เริ่มเห็นโมเดลใหม่ๆ จากภาคเอกชน และประชาชนกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น KK City Bus รถเมล์สายแรกของจังหวัดขอนแก่นที่ลงทุนโดยภาคเอกชน โดยมาพร้อมแอปพลิเคชั่น KK Transit ที่ช่วยบอกเส้นทาง เวลา และตำแหน่งรถแบบเรียลไทม์ได้ หรือ Liluna แอพทางเดียวกันไปด้วยกัน สำหรับคนที่อยากแชร์รถเพื่อเดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยแลกกับค่าน้ำมันเล็กน้อยตามความพึงพอใจ
ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวสู่สังคม Mobility as a Service ได้ หรืออย่างน้อย สังคมที่ขนส่งสาธารณะเอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง กุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ทั้งประชาชน ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาครัฐต้องหันมาจับมือร่วมแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง แทนที่รถแดงจะไปล้อม Uber ตำรวจจะไปล่อจับ Grab Bike หรือกรมขนส่งฯ ยังมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าคือการปรับตัวบทกฎหมายให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป หรือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้กับขนส่งมวลชนเดิมที่มีอยู่
แน่นอนว่าในสายตาของหลายๆ คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจมองว่ากว่าจะถึงเวลานั้น คงต้องรอให้เหล่าไดโนเสาร์หมดวาระไป เอ้ย รอให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่านี้หรือเปล่า ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจของ Deloitte นั่นล่ะ ว่ามีคน Gen Y เพียงครึ่งเดียวที่มองว่าความร่วมมือกันของภาคธุรกิจและรัฐบาลภายในประเทศค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี ขณะที่อีกครึ่งไม่เชื่อเช่นนั้น ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยย่อมไม่ใช่รายชื่อในกลุ่มแรก (ประเทศที่มองว่าความร่วมมือของภาคธุรกิจและรัฐบาลของตนเองเป็นไปได้ด้วยดีคือ สหรัฐอเมริกา,แคนาดา, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร) ทว่าในความเป็นจริงแล้วเราไม่อาจเสียเวลารออย่างไม่รู้จุดหมายปลายทางไปเรื่อยๆ ได้ ในเมื่อเราต่างก็เห็นแล้วว่าอนาคตของเมืองใหญ่สามารถดีกว่านี้ได้ด้วย Mobility as a Service (MaaS) นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่พวกเรา-เหล่าคนเจเนอเรชั่นแห่งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอันก้าวหน้า และองค์ความรู้ไร้พรมแดน มาช่วยกันพัฒนาประเทศของเรา ในส่วนที่เราพอทำได้ ด้วยมือของเราเอง
อ่านบทความเรื่อง The rise of mobility as a service – Reshaping how urbanites get around ของ Deloitte เพิ่มเติมได้ที่นี่