ในยุคที่คนรุ่นใหม่เริ่มมองหาอาชีพที่เป็นนายตัวเองกันมากขึ้น การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการจึงเป็นอีกหนึ่งความฝันที่เหล่าหนุ่มสาวมองว่าจะสร้างรายได้ที่งอกงาม การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือทำ จะทำให้พัฒนาตัวเองได้ดี มีเวลาอิสระและอาจได้แก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบจากการทำงานในองค์กร
แต่หากจะก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จก็จะต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ของการสร้างนวัตกรรมที่ดีจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบ แต่การที่ผู้ประกอบการจะสร้างนวัตกรรมด้วยตนเองอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
หากมีสถาบันการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพ ร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่มากประสบการณ์ซึ่งสามารถถ่ายทอดความสำเร็จสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ แน่นอนว่าภาพการเติบโตทางธุรกิจในสังคมไทยก็จะก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างง่ายดายขึ้น
สถานศึกษาปรับเปลี่ยนเพื่อเดินหน้า ร่วมพัฒนานอกห้องเรียน
ในปัจจุบันมีองค์กรและสถานศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศไทยหลากหลายสถาบัน ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันให้คนรุ่นใหม่เพิ่มการเรียนรู้และพัฒนาทักษะให้เติบโตเท่าทันยุคสมัย อีกทั้งยังสร้างความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและการแข่งขันในอนาคต โดยหนึ่งในสถานศึกษาที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ออกแบบโปรแกรม DBTM (Design, Business & Technology Management)
DBTM เป็นหลักสูตรจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง สาขาการจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี ที่ได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้นอกตำรา การเรียนรู้ที่สร้างประสบการณ์จริงจากการลงมือทำ เน้นการบูรณาการการออกแบบในทุกระดับของกลยุทธ์และการจัดการ และฝึกงานกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนรุ่นใหม่ให้ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และรับมือกับความท้าทายของโลกที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น
สตาร์ทอัพละทิ้งวัฒนธรรมเก่า ปูทางรับคนรุ่นใหม่
ไม่เพียงแค่สถานศึกษาเท่านั้นที่ต้องปรับหลักสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับบุคลากรรุ่นใหม่ แต่สตาร์ทอัพก็ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเช่นกัน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญก่อนที่จะสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เติบโต เพราะคนรุ่นใหม่เป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่งอกงามแก่ผู้ประกอบการ ดังนั้นองค์กรสตาร์ทอัพ จะต้องตามเทรนด์ให้ทันว่าคนรุ่นใหม่ต้องการร่วมงานกับองค์กรลักษณะใด
ในสหรัฐอเมริกาและบางองค์กรสตาร์ทอัพของประเทศไทย ได้จับเทรนด์การทำงานที่คนยุคใหม่ต้องการและนำมาใช้แล้วได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทั้งต่องาน และต่อบุคคล คือ Compressed work week การนับเวลาการทำงานรวมต่อสัปดาห์ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยเป็นระบบที่ต้องบริหารเวลาการทำงานเอง เช่น หนึ่งสัปดาห์เราทำงาน 48 ชั่วโมง จากที่ทำอยู่วันละ 8 ชั่วโมง ก็ปรับเพิ่มเป็นวันละ 10 ชั่วโมง แล้วจึงไปหยุดในวันศุกร์เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ซึ่งบริษัทระดับท็อป 100 อันดับแรกในอเมริกาก็เริ่มใช้ระบบนี้กันแล้วทั้งนั้น
งานที่ท้าทาย มีความสนุก และมีบรรยากาศภายในองค์กรที่ดี พูดคุยกันง่าย คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่แสวงหา หากองค์กรไม่ตอบสนองความต้องการ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนรุ่นใหม่จะไม่ทนและออกไปหางานใหม่ เมื่อสุขภาพจิตใจพนักงานดี ย่อมส่งผลต่องานให้ออกมาดีมีคุณภาพ ดังนั้นสตาร์ทอัพจึงต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในองค์กร และหาช่องทางที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงเปิดใจ และพร้อมเปิดประตูก้าวเท้าเข้ามาร่วมงานกับองค์กร
แม้เศรษฐกิจโลกแปรปรวน แต่สตาร์ทอัพไทยกำลังสวนทางแบบก้าวกระโดด
ใครที่กำลังจะถอดใจกับการเป็นผู้ประกอบการ เพราะคิดว่าปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาเรื่องการจัดหา-จัดการบุคลากรทำให้เราต้องหยุดชะงัก อย่าเพิ่งรีบตัดใจหากยังไม่รับรู้ข้อมูลต่อไปนี้
ไม่น่าเชื่อเลยว่าท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่แน่ไม่นอน มีสถานการณ์หุ้นขึ้นลงกันอย่างรวดเร็วในพริบตา กลับมีธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่มาแรงและน่าจับตามอง เนื่องจากตอนนี้มีการลงทุนสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 44,000 ล้านบาท แถมยังเติบโต 5-6 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะไม่หยุดเติบโตจากการสนับสนุนของโครงการ NIA (สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ)
ข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2561 ได้ระบุถึงสถิติการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ตั้งแต่ปี 2558 มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1,146 ล้านบาท ก้าวกระโดดมาถึง 3,349 ล้านบาท
สตาร์ทอัพปี 2561 ที่น่าจับตาได้แก่ Eko แพลตฟอร์มด้านการสื่อสารและการจัดการภายในองค์กรผ่านโมบาย รับเงินลงทุนระดับ Series B ที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, Eatigo แพลตฟอร์มสำหรับจองร้านอาหาร รับเงินลงทุนระดับ Series B ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Gogoprint ผู้ให้บริการด้านงานสิ่งพิมพ์ผ่านออนไลน์ รับเงินลงทุนระดับ Series A ที่ 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสตาร์ทอัพไทยที่ได้รับการลงทุนไปแล้วในระดับ Series B มี 9% Series A มี 26% และ Seed 49% โดยด้านอาหาร/ร้านอาหาร ได้รับการลงทุนสูงสุดที่ 14% รองลงมาคือด้านอีคอมเมิร์ซ 11% และฟินเทค พร็อพเทค ดิจิทัลคอนเทนต์ 6%
NIA ตั้งเป้าที่จะปลดล็อคให้เหล่าสตาร์ทอัพก้าวสู่ระดับ Unicorn ภายใน 5 ปี
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ NIA คือ ศูนย์รวมแห่งอนาคตที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการแห่งอนาคต ได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เหล่าสตาร์ทอัพก้าวสู่ระดับ Unicorn ภายใน 5 ปี ซึ่งการจะไปสู่ระดับยูนิคอร์นต้องมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท เช่น Uber , Snapchat โดยปัญหาหลักที่สตาร์ทอัพไทยยังไม่ไปถึงระดับยูนิคอร์น ส่วนหนึ่งเพราะขาดแนวคิด และช่องทางที่จะขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก การเข้าถึงตลาด และนักลงทุนใหญ่ ซึ่ง NIA มีพันธมิตรที่พร้อมจะเชื่อมโยงแหล่งทุนโดยตรง
NIA ตั้งเป้าว่า ภายใน 10 ปี จะต้องมีธุรกิจด้านนวัตกรรม 3,000 ราย เน้นการเป็น “ผู้เชื่อมโยง” หรือซิสเต็มอินทิเกรเตอร์ มากกว่าการเป็น “หน่วยงานให้ทุน” เนื่องจากที่ผ่านมา การให้ทุนแบบ 1 ต่อ 1 ในรายโครงการ อาจสร้างผลกระทบได้จำกัด และผู้ได้รับทุน ยังไม่สามารถเติบโตได้โดยขาดกลไกตลาด และการเข้าถึงแหล่งทุนอื่น ๆ ตามระยะของการขยายธุรกิจ ด้วยบทบาทใหม่จะทำให้การสนับสนุนบริษัทด้านนวัตกรรมเป็นไปอย่างครบวงจรมากขึ้น โครงการนี้จะเข้ามาปลดล็อคการลงทุนเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตสู่ระดับยูนิคอร์น
NIA X Career Visa ประตูบานยักษ์ที่เชื่อมโยงสตาร์ทอัพชั้นนำคนรุ่นใหม่และสถานศึกษาคุณภาพ
ยุคนี้คนรุ่นใหม่ไฟแรงอยากก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพราะเป็นอาชีพที่กอบโกยกำไร มาพร้อมกับอิสระ และทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองจากการลงมือทำจริง NIA X Career Visa จึงได้ผนึกกำลังจาก 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา สตาร์ทอัพ และนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างช่องทางที่ทำให้คนรุ่นใหม่จากสถาบันคุณภาพกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพชั้นนำมาเจอกัน ผ่านโครงการ Founder Apprentice
โครงการ Founder Apprentice คือโครงการที่เปิดรับสมัครนักเรียนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จนถึงเด็กที่จบใหม่ ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่เกิน 0–3 ปี มาฝึกงานกับ Tech Startup หรือ SME ที่มี Innovation ทุกรูปแบบ จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เป็นผู้เชื่อมโยงโครงข่ายนวัตกรรมยักษ์ใหญ่ คู่กับ CareerVisa ที่เป็นองค์กรรวบรวมแหล่งฝึกงานคุณภาพ และข้อมูลที่ช่วยให้นักศึกษาเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกการทำงานจริง
NIA และ Career Visa ต่างมีวิสัยทัศน์เดียวกันคือ อยากเห็นคนรุ่นใหม่ได้รับประสบการณ์มากกว่าแค่ในห้องเรียน และตอบโจทย์กับเป้าหมายตัวเอง ทั้งในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร สตาร์ทอัพ หรือการจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเอง
ทางโครงการ Founder Apprentice มีความเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยมีเมล็ดพันธุ์ของการเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัว ถ้าต้องการสร้างธุรกิจด้วยตัวเองขณะที่กำลังเรียน โครงการนี้จะเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมจะได้รับทักษะด้านธุรกิจ ประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำจริง ส่งผลให้มีศักยภาพที่พร้อมเผชิญกับโลกในปัจจุบันที่ผันผวนตลอดเวลา
สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคือ การฝึกอบรมทักษะการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม Innovation, Design Thinking, Finance, Marketing, Project Management, Persuasive Communication, Presentation อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ก่อตั้งธุรกิจ ฝึกงานในธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีโค้ชที่ให้คำปรึกษาในการพัฒนาศักยภาพแบบตัวต่อตัว และนำเสนอผลงานไอเดียนวัตกรรมธุรกิจกับนักธุรกิจ นักลงทุนและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการนวัตกรรม
อะไรคือสิ่งที่ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมกับ NIA
สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการกับ NIA นั้นมีมากมายหลายองค์กร ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ได้มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้สอดรับกับคนรุ่นใหม่อย่าง My Cloud fulfillment ผู้ให้บริการด้าน Fulfillment ซึ่งช่วยให้การขายของออนไลน์ง่ายขึ้นจากระบบการดูแล จัดการคลังสินค้า
สิ่งที่ทำให้ My Cloud fulfillment เข้าร่วมโครงการกับ NIA เนื่องจากเชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการ Founder Apprentice ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และความทะเยอทะยานในการเข้ามาทำงานกับองค์กร ซึ่งยังสร้างประโยชน์ให้แก่ตัวองค์กรเอง และนักศึกษาที่ได้เข้ามาฝึกทดลองงานจริง โดยปกตินักศึกษาจะมี technical skills จากการเรียนในหลักสูตร แต่การทำงานจริงนั้นต้องมี soft skills ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำงาน และประสานงานกับผู้คน My Cloud fulfillment จึงอยากเป็นส่วนช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมความพร้อมกับการทำงานจริง เพื่อให้อยู่ในองค์กรได้ยืนยาว
My Cloud fulfillment มองทิศทางการทำงานในอนาคตว่า คนรุ่นใหม่จะแตกต่างจากคนยุคก่อน ยุคนี้เด็กหลายคนหัวไวกว่าเก่งกว่า แต่ชอบทำงานแบบอิสระไม่ชอบอยู่กับที่นาน ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการต้อง ‘เปิดใจ’ ทำความเข้าใจธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ หากให้พวกเขามีเวลาพักที่เพียงพอไปทำในสิ่งที่รัก เราจะสามารถดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของเขาออกมาได้ แต่กระนั้นองค์กรต้องมีระบบวัดผลที่ดีด้วย และข้อสำคัญอีกประการคือ ‘ให้ใจ’ พยายามให้เวลาและให้ประสบการณ์พวกเขาอย่างใจเย็น เมื่อพวกเขาได้รับใจที่ดี เราก็จะได้ใจที่กลับมาด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ คือ Easy Rice Technology องค์กรที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ปัญหาการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรส่งผลให้ถูกคู่แข่งไล่ตามได้ทัน อีกทั้งข้อบกพร่องของระบบบางอย่างที่ทำให้ชาวนาถูกเอาเปรียบ ด้วยเหตุนี้ Easy Rice จึงพัฒนา Deep Tech Solution เพื่อมาทำงานด้านการตรวจวัดคุณภาพข้าวโดยอาศัยเทคโนโลยี AI
Easy Rice Technology มองว่า โครงการนี้ทำให้องค์กรสามารถนำเอาสิ่งที่มีอยู่ไปช่วยพัฒนาเด็กที่มีความพยายามในการเรียนรู้ให้ได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้ และมองว่าเป็นการให้โอกาสสำหรับผู้ที่สนใจ ไม่ใช่แค่ให้โอกาสเด็กที่อยากจะฝึกงานกับองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับองค์กรในการแบ่งปันความรู้ เพราะทางองค์กรเองก็ได้เรียนรู้จากเด็กที่มาฝึกงานในเรื่องของมุมมองที่มีต่อธุรกิจ และมุมมองการประยุกต์ใช้ความรู้ของเด็ก ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่องค์กรมองข้ามไปในบางจุด
ทาง Easy Rice ยังมองทิศทางการทำงานในอนาคตว่า ธุรกิจจะเน้นด้านการแข่งขันโดยใช้การทำงานในลักษณะวิจัยเป็นหลัก (Research Base) โดยอาศัยการตั้งสมมุติฐาน (Assumption) ให้สอดคล้องกับโจทย์ทางธุรกิจหรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเจอ เมื่อตั้งสมมุติฐานแล้วจึงจำเป็นต้องออกแบบวิธีการทดสอบสมมุติฐานดังกล่าวให้ได้ ดังนั้นระหว่างที่เด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมฝึกงาน Easy Rice จึงพยายามปลูกฝังเรื่องเหล่านี้เข้าไปเป็นหนึ่งในสิ่งที่น้องๆ จะต้องได้ไปหลังจากฝึกงานจบแล้ว
ประสบการณ์ และความสำเร็จจากเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการกับ NIA
‘เด่น นักศึกษาที่ได้เห็น E–Commerce ทุกมิติจากการเข้าร่วมโครงการ และฝึกงานกับ My Cloud Fulfillment’
เด่น ได้เข้าร่วมโครงการ Founder Apprentice ใช้ระยะเวลา 3 เดือน โดยเรียนรู้ในเรื่องการทำธุรกิจ การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน การหากลุ่มเป้าหมาย และการพิสูจน์ตลาด เป็นต้น หลังจากนั้นก็เป็นการออกไปเจอสนามจริง ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับ กับ My Cloud Fulfillment ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Fulfillment หรือเรียกง่ายๆ คือบริการแพคของ
การที่ได้มาฝึกงานที่นี่ทำให้ เด่น เข้าใจโลกของการค้าบนโลกออนไลน์ หรือ E-Commerce มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักเพียงก็แค่การซื้อมา และขายไป แต่ไม่เคยทราบถึงกระบวนการข้างใน และความน่าสนใจมากกว่าที่เห็นจากภายนอก My Cloud Fulfillment นั้นทำให้การขายของออนไลน์เป็นเรื่องง่ายๆ เนื่องจาก My Cloud Fulfillment จะดูแล และจัดการคลังสินค้าให้ลูกค้า โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพ แพ็คของ ส่งของ ด้วยกระบวนการเหล่านี้ทำให้ เด่น ได้เรียนรู้ในทุกมิติของการทำ E-Commerce
‘แก้ม นักศึกษาสายธุรกิจที่มาเปิดโลก Work–Life Management กับ Exzy Company Limited ผ่านโครงการของ NIA’
แก้ม หนึ่งในนักศึกษาฝึกงานที่เข้าร่วมโครงการ Founder Apprentice โดยเธอได้ฝึกงานอยู่ในทีม Business ของ Exzy Company Limited ซึ่งเป็นองค์กรที่พัฒนาด้าน Futuristic Solution หรือก็คือ โซลูชั่นที่ล้ำสมัย โปรดักท์ต่างๆ ที่ Exzy ผลิตขึ้นจะเกิดจากการนำเอาเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ต่างๆ อย่าง AR/VR, ระบบจอสัมผัส หรือ Sensors มาพัฒนาเป็นสินค้าสุดล้ำ ซึ่งแก้มได้เรียนรู้งานกับ CEO โดยตรง
สิ่งที่แก้มได้สัมผัสและประทับใจในการฝึกงานที่องค์กรนี้คือ ทุกคนในที่ทำงานมีการเปิดกว้าง เข้าใจนักศึกษาฝึกงานว่ายังต้องการคำแนะนำแต่ก็มอบโอกาสให้แก้มได้รับผิดชอบโปรเจคที่ใช้จริง ซึ่งทำให้แก้มได้ฝึกความเป็น Ownership อีกทั้งได้ฝึกการพูดแบบ Elevator Pitch ในสถานการณ์จริง โดยที่มีผู้ฟังเป็นระดับผู้บริหารของบริษัทอื่นๆ และที่นี่สอนให้มี Work-Life Management คือบริหารเวลา 24 ชั่วโมงที่มีให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด มีจัด Session นอกเวลางาน สอนเรื่องต่างๆ ที่ห้องเรียน และหนังสือไม่ได้สอน
เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาฝึกงานผ่านโครงการ Founder Apprentice ล้วนแล้วแต่ได้รับทักษะใหม่ๆ จากประสบการณ์การลงสนามจริง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับโลกแห่งการทำงาน ทั้งในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร หรือ แม้แต่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งยังได้รับความรัก ความเข้าใจจากวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ ซึ่งส่งผลให้พวกเขารักที่จะพัฒนาตนเอง รักการทำงาน และมีใจที่อยากจะพัฒนาองค์กร ดังนั้นสตาร์ทอัพไทยที่ปรับตัวสอดรับความต้องการคนรุ่นใหม่ และสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรที่ทันสมัย จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างบุคลากรคุณภาพ ช่วยกันขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้องค์กรและสังคมไทยเติบโตท่ามกลางกระแสโลกปัจจุบันที่เคลื่อนที่ไม่มีหยุด
‘การได้โอกาสลงมือทำงานจริง จะช่วยพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีไฟขับเคลื่อนธุรกิจ’
ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ สถาบันการศึกษาที่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรม และธุรกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ NIA ผ่านโครงการ Founder Apprentice Partnership Opportunity รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียนกับองค์กรคุณภาพ ได้ที่
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfDhR5hCK_h5-aMs_kINfIkNBbwOTaBWk358EB3K4m-NnVI0w/viewform