AYDA หรือ Asia Young Designer Award by Nippon Paint การประกวดที่ชวนนักศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายใน มาออกแบบผลงานเพื่อสังคมและชุมชน
โดยนิปปอนเพนต์จาก 15 ประเทศทั่วเอเชียได้จัดแข่งขันการประกวดออกแบบ ค้นหาตัวแทนประเทศเพื่อไปประกวดระดับนานาชาติ ซึ่งครั้งที่ผ่านมาจัดที่ประเทศสิงคโปร์ ผลคือสองนักศึกษาไทยสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 Best Sustainable Design Award
จากคอนเซ็ปต์ “FORWARD, Challenging Design Boundaries” นำเสนอทางออกหรือโอกาสที่ยั่งยืนด้วยงานออกแบบที่คำนึงถึงผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จุดประกายความฝันของสองนักศึกษาที่อยากเห็นชุมชนกลับมามีวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้ และการแข่งขันครั้งนี้ ก็พาพวกเขาไปเจอกับนิยามความยั่งยืนหลากหลายรูปแบบ
สำหรับ Asia Young Designer Award 2018 by Nippon Paint ประเทศไทยได้มีการคัดเลือกผู้ชนะ ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งกับผู้ชนะจากนิปปอนเพนต์ทุกประเทศทั่วเอเชียในระดับนานาชาติอย่างเข้มข้น โดยมีคณะกรรมการตัวแทนจาก ASA สมาคมสถาปนิกสยาม ตัวแทนจาก TIDA สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ตัวแทนจาก IAIDAC สภาวิชาการสถาปัตยกรรมภายในและออกแบบภายในแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ และดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่านร่วมเป็นกรรมการ
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ตุลย์-เรืองวิทย์ วีระพงษ์” ผู้ชนะรางวัล Gold Winner สาขาสถาปัตยกรรม กับผลงาน Bang Keao Wave Brace และ “ดรีม-เจนจิรา เทียบเพชร” ผู้ชนะรางวัล Gold Winner สาขาออกแบบตกแต่งภายใน กับผลงาน S.A.L.T Farm
ทั้งสองคนเป็นผู้ชนะเลิศจาก Asia Young Designer Award 2018 by Nippon Paint และคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 Best Sustainable Design Award ในระดับนานาชาติ ที่ประเทศสิงคโปร์ จาก Asia Young Designer Summit
ด้วยความตั้งใจของตุลย์-เรืองวิทย์ ที่อยากแก้ไขปัญหาชุมชนและปัญหาคลื่นชายฝั่ง จึงออกแบบ Bang Keao Wave Brace แนวกันคลื่นไม้ไผ่ที่บริเวณอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จากแนวกันคลื่นเดิมของชาวบ้านถูกออกแบบและพัฒนาใหม่ให้สวยงาม ทันสมัย ช่วยเรื่องระบบนิเวศน์มากขึ้นและต่อยอดเป็นพื้นที่ของชุมชนได้ในอนาคต
ในขณะเดียวกัน ดรีม-เจนจิรา ได้เห็นปัญหาเกลือไม่ได้มาตรฐาน ชุมชนนาเกลือน้อยลง จึงออกแบบ S.A.L.T Farm นาเกลือเพื่อความยั่งยืน ที่บริเวณอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พลิกวิถีนาเกลือบนดินมาอยู่บนกระบะในโรงเรือนที่พร้อมจะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่
ผลงานของทั้งคู่ได้ผ่านตากรรมการที่คัดเลือกอย่างเข้มข้นภายในประเทศและบททดสอบระดับนานาชาติที่มาพร้อมกับความหลากหลาย กว่าโมเดลความฝันของทั้งคู่จะออกมาเป็นผลงาน ได้รางวัล และสมมุติว่าอนาคตนั้นสร้างได้จริง ขอชวนคุณไปแกะร่องรอยโมเดล ปัดฝุ่นความฝัน เพราะการออกแบบเพื่อความยั่งยืนอาจไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป
ทำไมถึงเข้าร่วมประกวดในหัวข้อการออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน ชุมชน ของโครงการ AYDA
ตุลย์ : ตุลย์อยู่แถวชานเมืองทำให้เห็นชัดเลยว่ารอบข้างเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรรจากที่แต่ก่อนเป็นป่าชายเลน แล้วตุลย์ก็ชอบทำงานที่เกิดส่วนร่วมกับชุมชน มันไม่เหมือนงาน Commercial มันสนุกตรงที่ว่าแต่ละชุมชนก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป
ดรีม : โครงการนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ดรีมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวกับทุกคน อยากนำปัญหาหรือวิถีชีวิตมาจัดระเบียบใหม่ให้มีมุมมองใหม่มากขึ้น เพื่อจะให้เข้ากับมุมมองของคนในยุคอย่างเราค่ะ
จุดเริ่มต้นของผลงานที่เข้าร่วมประกวดคืออะไร
ตุลย์ : คือตอนแรกมันเป็นแค่ชิ้นงานเล็กๆ ส่งอาจารย์ เกิดจากภาพข่าวที่ติดตาเป็นวัดที่ถูกคลื่นซัดหายไปในทะเล เลยไปเสิร์ชดูว่าคลื่นซัดชายฝั่งส่งผลกระทบอะไรบ้าง ก็เลยหยิบขึ้นมาทำ เพราะคลื่นซัดชายฝั่งไม่ได้เอาไปแค่ฝั่ง มันเอาไปทั้งวิถีชุมชน มันเอาไปทั้งธรรมชาติ ก็เลยเอามาใช้เป็นแนวคิดสร้างแนวกันคลื่น
ดรีม : เริ่มแรกมาจากดรีมไปทะเลเห็นการทำนาเกลือมันเริ่มน้อยลง แล้วพอไปศึกษาจริงๆ ก็เข้าใจว่ามันลดลงเพราะเกลือไม่ได้รับมาตรฐาน คนรุ่นใหม่ไม่กลับมาทำ
กว่าจะออกมาเป็นชิ้นงานต้องผ่านอะไรมาบ้าง
ตุลย์ : ส่วนมากเป็นการโทรฯ ไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ คนมีความรู้ คือเราไม่ได้คิดแค่งานเพื่อแก้ปัญหา แต่ว่าขั้นตอนในการสร้างงานตัวนี้ขึ้นมา มันต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่การเลือกวัสดุไปถึงการรื้อถอน มันต้องช่วยพัฒนาชุมชนด้วย ไม่ใช่แค่เราเป็นคนเข้าไปสร้าง
ดรีม : ดรีมไปเจอ Case study ของเมืองนอกเขาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแล้วได้น้ำที่บริสุทธิ์มากขึ้น เราก็สามารถนำน้ำนี้มาเป็นเกลือเพิ่มคุณภาพได้เหมือนกัน แล้วดรีมก็เข้าไปถามกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหัวหน้าสหกรณ์ว่ามันทำได้จริงๆ ใช่ไหม เขาก็ให้ความรู้สนับสนุนแนวคิด
มองอนาคตของผลงานเราไว้ว่ายังไง
ดรีม : ที่ดรีมสร้างโครงการนี้เพื่อที่จะให้คนเจเนอเรชั่นใหม่ สามารถเข้าไปทำนาเกลือได้โดยไม่ต้องกลัวที่จะลำบากเหมือนแต่ก่อน อยากให้เกิดการแชร์กันระหว่างชาวบ้านกับคนรุ่นใหม่
ตุลย์ : ของตุลย์คิดว่าเป็นงานที่เราจะเห็นผลสำเร็จในระยะยาว คงอยากเห็นความเป็นไปของมันไปจนถึงในจุดที่ชุมชนกับธรรมชาติไม่ต้องการงานของเรามา Sustain แล้วก็ได้
ถ้าตัดเรื่องงบประมาณในการสร้างออกไป คิดว่าผลงานของเราจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
ดรีม : ถ้าเป็นสเกลที่เล็กลงมาชาวบ้านก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้าเป็นทั้งโปรแกรม แล้วมีคนสนับสนุนชาวบ้านมันก็เกิดขึ้นได้จริง งบประมาณไม่ได้มากมาย
ตุลย์ : ถ้าทำ ก็ทำได้เลย ตัว Element หลักของงานตุลย์ที่เป็นแนวกันคลื่นทำด้วยไม้ไผ่ ตัวนี้ก็มีอยู่แล้วในชุมชน ตัวอาคารหลักที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ชาวบ้านสร้างได้อยู่แล้ว ทุกอย่างไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือว่าเทคโนโลยีที่เป็นอุตสาหกรรมจ๋ามาใช้ในโครงการเลย อย่างที่บอกคือตอนเริ่มก็คิดเพื่อชุมชน ก็เลยออกแบบมาแล้วว่าคนในชุมชนต้องสร้างได้
จากการแข่งขันระดับนานาชาติที่ผ่านมา มีผลงานชิ้นไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษ
ดรีม : มีหลายงานที่ดรีมรู้สึกประทับใจ อย่างจีนจะพูดเรื่อง LGBT เพิ่มขึ้น อย่างประเทศอินเดีย (ประเภทออกแบบตกแต่งภายใน) เขาจะพูดเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิงที่แบบว่าในอินเดียผู้หญิงก็จะโดนข่มขืน โดนลุกล้ำ ไม่มีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย
ตุลย์ : จริงๆ แล้วชอบผลงานจากประเทศอินเดีย (ประเภทสถาปัตยกรรม) เขาเลือกที่จะไม่ทำในประเทศตัวเอง คือเขาทำพื้นที่การเรียนรู้จากซากปรักหักพังของสงครามในซีเรีย มาทำให้เกิดเป็น Space สำหรับเด็กแล้วมัน Impact มาก
คิดว่าจุดไหนของผลงานที่กรรมการนานาชาติชื่นชอบแล้วเทคะแนนให้
ตุลย์ : ตุลย์คิดว่าน่าจะเป็นการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลัก เป็นแนวกันคลื่นแล้วก็มีศูนย์การเรียนรู้ กรรมการถามด้วยว่าทำไมโฟกัสแค่เฉพาะหมู่บ้านชาวประมง ตุลย์ก็ตอบไปว่าวัตถุประสงค์ของโครงการคือฟื้นคืนแผ่นดินชายฝั่งที่ต้องใช้เวลา และไม่อยากให้มีกิจกรรมที่รบกวนธรรมชาติมากเกินไป อยากจะให้ความสำคัญกับชุมชนจริงๆ
ดรีม : คล้ายๆ กับตุลย์ที่ว่าเราจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชนเป็นหลัก เราสามารถสร้าง Community นี้ขึ้นมา แต่ว่ายังคงวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้าน แล้วก็สร้าง Experience ใหม่ระหว่างคนรุ่นใหม่กับชาวบ้าน
มุมมองเรื่อง Sustainable ของเราเปลี่ยนไปไหมหลังการประกวด
ตุลย์ : พอได้ไปแข่งที่สิงคโปร์ เราจะเห็นเลยว่า Sustainable ของเรากับของเขาไม่เหมือนกัน เขาจะอยู่ในบริบทที่แตกต่างจากเรา บางคนก็ทางภูมิประเทศ สภาพสังคมอะไรอย่างนี้
ถ้าเป็นอินโด Sustainable ของเขาก็จะเป็นเรื่องประชากร อย่างจีนก็จะเป็นเรื่องการศึกษา หรืออินเดียเขาก็เลือกที่จะไปทำที่ซีเรีย เป็น Sustainable ทางความรู้สึก มันมีหลายแบบ
อุปสรรคที่เจอระหว่างแข่งขันระดับนานาชาติผ่านมันมาได้ยังไง
ดรีม : น่าจะเป็นเรื่องการสื่อสารด้านภาษา ที่เราต้องนำไปพรีเซนต์กับต่างชาติ แต่ก็มีอาจารย์เป็น Advisor ที่คอยช่วยเหลือตลอด มีกรรมการจากที่ไทยช่วย Support ทำให้งานของเราดูเนื้อหาแน่นขึ้น
ตุลย์ : คงเป็นเรื่องแรงกดดันเพราะเป็นตัวแทนประเทศ แล้วก็ส่วนเรื่องตัวโปรเจกต์น่าจะเป็นเรื่องการนำเสนองาน เพราะว่าเรากำลังจะนำเสนองานที่เป็นงานแก้ไขปัญหาแค่เฉพาะภูมิภาคของเรา การนำเสนอก็คือต้องทำให้เขาเชื่อก่อนว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นจริงๆ จะเป็นจุดที่ยากในการเกลี้ยกล่อมให้เขาเชื่อว่าชายฝั่งมันหายไป
ความแตกต่างระหว่างโครงการนี้กับการประกวดอื่นเป็นยังไง
ดรีม : เราต้องหาโจทย์อะไรก็ได้ที่คิดว่าจะดึงดูดหรือว่าดึงใจกรรมการได้
ตุลย์ : ความยากของการประกวด AYDA คือมันกว้าง เราจะเจออะไรก็ได้ อย่างของอินเดียที่เป็นซากระเบิด ใครจะไปคิดว่าจะมีคนเอาซากระเบิดมาทำเป็นผลงาน มันไม่มีหรอก และมันก็เป็นอะไรที่ไม่ได้เจอกันง่ายๆ ในสายงานออกแบบ การได้เข้าไปคุย ได้แชร์ความคิดเห็น ได้เข้าไปปะทะกับพวกเขาได้อะไรกลับมาเยอะ เยอะมาก
ความฝันต่อไปของทั้งสองคนเป็นยังไง
ตุลย์ : คนที่เรียนออกแบบก็อยากเห็นงานตัวเองถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ แล้วเวิร์ก พอถึงจุดๆ นั้นแล้วมันอาจจะมีแรงผลักดันให้ไปทำอย่างอื่นต่อ
ดรีม : ก็คล้ายๆ ตุลย์ แต่ดรีมเป็นคนที่ชอบหาไอเดียใหม่ๆ อยากให้ไอเดียเราไปปรากฏบนเวทีโลก อยู่ในระดับที่ทั่วโลกรู้จัก
ทิ้งท้ายฝากอะไรถึงคนที่สนใจอยากประกวดในครั้งถัดไป
ดรีม : ถ้าเราไม่กล้าเอาผลงานของเราไปส่งที่มหาวิทยาลัย เราสามารถเอาความคิด ผลงานของเรามาส่งประกวดที่นี่ได้เลย เขาจะไม่มีกรอบ อย่างดรีม ดรีมคิดแบบนอกกรอบของ Interior มากๆ
ตุลย์ : ก็อย่างที่ดรีมบอกคือพอในช่วงที่เรียน มันมีโอกาสไม่มากที่จะออกแบบอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีใครมาตีโจทย์ มันก็เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้แน่ๆ
ตุลย์ : นอกจากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ คงเป็นของรางวัล
ดรีม : รางวัลเยอะมาก
ตุลย์ : AYDA เป็นงานประกวดที่ได้เงินรางวัลเยอะที่สุดแล้ว
ดรีม : คุ้มค่าที่ลงทุนไปมากๆ
ตุลย์ : ชวนน้องๆ นักออกแบบหน้าใหม่ครับ โครงการ Asia Young Designer Award by Nippon Paint ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการประกวดออกแบบ ที่เราจะได้ทำอะไรที่มันไม่ใช่แค่ได้ทำงานที่เราอยากทำ แต่ว่ามันเป็นการทำงานที่ช่วยให้เราค้นหาตัวเองด้วย
Asia Young Designer Award 2019 by Nippon Paint จะเปิดรับสมัคร ภายใต้หัวข้อ FORWARD: A Sustainable Future ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2019 นักออกแบบรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาประสบการณ์ที่หาจากไหนไม่ได้ ลองก้าวเข้าไปเปิดโอกาสของคุณกันได้เลย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/YoungDesignerThailand/ หรือ wwww.asiayoungdesigneraward-th.com/
แอบขอบอกว่าของรางวัลพิเศษของปีที่ผ่านมาสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับนานาชาติคือได้เข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้ด้านการออกแบบชนิดเข้มข้นกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 สัปดาห์เลยนะ