เคยได้ยินคำว่า ‘ไม่มีใครเป็นเกาะเดียวดาย’ หรือ ‘No man is an island’ ไหมครับ?
ประโยคนี้เป็นประโยคของ John Donne กวีชาวอังกฤษ เขาเขียนไว้ในงานชื่อ ‘Devotions upon emergent occassions and seuerall steps in my sicknes – Meditation XVII’ (ชื่อยาวจัง!) ว่า ‘มนุษยชาติทั้งหมดเปรียบเหมือนนักเขียนคนหนึ่ง เปรียบเหมือนงานเขียนชิ้นหนึ่ง เมื่อใครสักคนสูญสิ้นชีวิตลง บทตอนชีวิตของคนคนนั้นก็ไม่ได้ถูกฉีกออกไป กลับกัน มันจะแปรรูปเป็นภาษาอันงดงามขึ้น ทุกๆ บทต้องแปร เปลี่ยนสภาพ ดำเนินไปเช่นนี้เอง (…) ไม่มีมนุษย์ใดเป็นเกาะเดียวดายไม่เกี่ยวพันกับผู้อื่น”
คำว่า ‘ไม่มีใครเป็นเกาะเดียวดาย’ นี้จะว่าไปก็มีความหมายง่ายๆ ว่า “มนุษย์เราไม่อาจรุ่งเรืองได้ด้วยการแยกตัวออกจากคนอื่นๆ” นั่นเอง – มนุษย์เป็นสัตว์สังคม, ทุกคนต่างพึ่งพากันในทางใดทางหนึ่ง และด้วยการอยู่ในสังคม ผ่านการแบ่งปันความรู้และความคิดเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเราทั้งหมดดีขึ้น, พัฒนาขึ้นได้
เร็วๆ นี้ บริษัท SC ASSET จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในงาน Wonderfruit งานเทศกาลดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14-17 ธันวาคม พวกเขาเชื่อมั่นในแนวคิด ‘การอยู่ร่วมกัน’ เช่นนี้ ในฐานะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พวกเขาพยายามดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ‘อนาคตแห่งการอยู่ร่วมกัน’ ด้วยการ co-create และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน เพื่อพัฒนาพื้นที่ และสังคมรอบๆโครงการให้ดีขึ้นไปด้วย ผ่านทางการตระหนักเรื่องความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และการแบ่งปันความรู้
โครงการแบ่งปันความรู้ของ SC ASSET ในงาน Wonderfruit ส่วนหนึ่งจะทำผ่านเซสชั่นการพูดคุยที่ชื่อว่า Scratch Talks with SC ASSET ซึ่งได้โตมร ศุขปรีชา และทีปกร วุฒิพิทยามงคล (ผมเอง!) พิธีกรจากพอดแคสท์ Omnivore มาดูแลการพูดคุยในหัวข้อ How to co-create, re-invent and improve life in the city (วิธีร่วมมือกันสร้างสรรค์, ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตในเมืองใหม่) แขกที่มาร่วมพูดคุยก็น่าสนใจทั้งสิ้น ประกอบไปด้วยคุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล CEO บริษัท FireOneOne ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล, คุณกาญจนา พันธุเตชะ นักท่องเที่ยววัยเกษียณที่ชื่นชอบการแบ็คแพ็คคนเดียวเที่ยวทั่วโลก, และคุณเติร์ด ธนาภพ อยู่วิจิตร ผู้เข้าประกวดรายการ The Face Men ทั้งหมดจะมาแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองของตนเองในเรื่องสังคมและการอยู่ร่วมกันในอนาคต
จะเห็นว่าแขกที่มาร่วมพูดคุยทั้งสามคนนั้นมีพื้นฐานแตกต่างกันทั้งหมด คนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจดิจิทัล อีกคนเป็นนักท่องเที่ยว และคนสุดท้ายก็เป็นนายแบบที่บางคนบอกว่าเป็น ‘ตัวแทนคนใหม่’ ของสังคม LGBTQ ไทย
ความแตกต่างของแขกทั้งสามคนนี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่า Cross-pollination
แนวคิดการแบ่งปันความรู้ออกไปโดย ไม่ยึดถือว่าสิ่งที่ตนพัฒนาขึ้นจะต้องเป็นทรัพย์สมบัติของตนเอง หวงแหนหรือปกปิดจากผู้อื่น นั้นเป็นแนวคิดที่บริษัทต่างๆ ในโลกกำลังหันมาสนใจมากขึ้น พวกเขาเชื่อว่าการ ‘ผสมเกสรทางความคิดข้ามสายพันธุ์ (cross-pollination) นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างนวัตกรรม
Peter Lloyd จาก Idea Connection อธิบายถึงเรื่อง Cross-pollination ทางความคิด ว่าก็คล้ายกับการผสมข้ามสายพันธุ์ในพืชนั่นเอง เขาบอกว่า “ไอเดียเปลี่ยนโลกทั้งหมดนั้นมาจากการผสมผสานไอเดียหลายๆ ชิ้น ที่ยังไม่เคยมีคนผสมเข้าด้วยกันทั้งสิ้น เราจะได้ไอเดียหรือก้อนความคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย ด้วยการร่วมมือกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในแวดวงต่างๆ กันหลากหลายเท่านั้น ซึ่งความหลากหลายของคนนี้ก็หมายความตั้งว่าความหลากหลายทางด้านหลักวิชา, แผนกต่างๆ, วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน, ความหลากหลายด้านอายุ, ความคิดความเชื่อและแรงจูงใจ”
เขายกตัวอย่างความคิดที่เกิดจากการผสมเกสรทางความคิดข้ามสายพันธุ์เช่น การเจอกันของแนวคิดทางอวกาศ กับความรู้ของทันตแพทย์ ที่มาปะทะกันออกมาเป็นกล้องเอ็กซ์เรย์ขนาดเล็กมากๆ ที่เดิมทีถูกประดิษฐ์มาเพื่อสำรวจอวกาศ แต่จะถูกปรับมาใช้ในช่องปากของเราในอนาคต หรือความฝันที่พาให้ความคิดต่างๆ มาพบปะกันในแบบสุ่ม (ใครเคยฝันประหลาดๆ แบบที่เอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาต่อกันบ้าง!) ก็มีงานวิจัยออกมาว่าความฝันแบบนี้แหละที่จะทำให้เราเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
งานวิจัยในปี 2014 ของ Lee Fleming จาก Harvard Business School ที่ศึกษาสิทธิบัตรกว่า 17,000 ชิ้น พบว่า เมื่อทีมวิจัยหรือทีมประดิษฐ์ที่พยายามสร้างผลงานสักชิ้น มีพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน (เช่น ทีมหุ่นยนต์ที่ทุกคนจบวิศวกรรมทั้งหมด) โดยเฉลี่ยแล้วโอกาส ‘ประสบความสำเร็จทางการเงิน’ ของงานที่ออกมาจะสูงกว่าทีมที่คละคนจากพื้นฐานแตกต่างกัน แต่จุดสำคัญคือ เขาก็ค้นพบด้วยว่า ทีมที่ประกอบด้วยคนที่พื้นฐานต่างๆ กันนั้น จะมีโอกาสสร้างงาน ‘พลิกโฉมวงการ’ (งานวิจัยใช้คำว่า Breakthrough) มากกว่า
พูดง่ายๆ คือถ้าทีมมีแต่คนที่เหมือนกัน โอกาสประสบความสำเร็จโดยเฉลี่ยก็จะโอเคกว่าทีมที่มีคนคละๆ กัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีโอกาส ‘เซอร์ไพรส์โลก’ น้อยกว่า (เพราะทุกคนคิดเหมือนกันไปหมด ไม่ได้มีความคิดแปลกๆ เวียร์ดๆ ออกมาให้เห็นเท่าไรนัก)
ในยุคที่เราต้องการ ‘ความคิดเปลี่ยนโลก’ การแบ่งปันความคิดจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งพื้นฐาน หลักวิชา สถานะทางสังคมและความคิด ความเชื่อ จึงเป็นเรื่องสำคัญ องค์กร เมือง หรือประเทศใดที่สร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ได้โดยมีแรงเสียดทานน้อย ก็มีโอกาสที่จะสร้างงานชิ้นสำคัญมากกว่าที่อื่นๆ
เซสชั่น Scratch Talks with SC ASSET ในงาน Wonderfruit เป็นการผสมผสานเกสรทางความคิดเช่นนี้อีกครั้งที่ทำให้เราตื่นเต้นว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
เพราะมนุษย์เราไม่เคยเป็นเกาะเดียวดาย, ทุกคนต่างเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น, และก็คงเป็นเรื่องดี หากเราจะได้แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ให้เกิดความคิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะนำเราไปสู่อนาคตที่ดี, ที่มีความยั่งยืน
อ้างอิง
https://hbr.org/2004/09/perfecting-cross-pollination
Cross Pollination: How and Why It Works
Dreams Make You Smarter, More Creative, Studies Suggest (2010)