“เราเชื่อว่าทุกคนมีหนทางการช่วยโลกในแบบของตัวเอง”
ประโยคหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ ‘นิปปอนเพนต์: คืนโลกให้น่าอยู่’ ซึ่งเป็นแคมเปญจากทาง ‘นิปปอนเพนต์’ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสีอันดับ 1 ของเอเชีย ที่นอกจากจะชวนตั้งคำถามว่า ‘สวรรค์หน้าตาเป็นอย่างไร?’ ยังชวนให้เราทุกคนร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างโลกใบนี้ให้ใกล้เคียงกับสวรรค์ที่เราจินตนาการไว้มากที่สุด
เหตุที่หยิบยกประโยคนี้ขึ้นมานั้น ก็เพราะเป็นประโยคที่เปรียบเสมือนใจความสำคัญของภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ชิ้นนี้ เพราะในยุคที่เราพูดถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการลดโลกร้อน หลายคนอาจจะนึกถึงภารกิจที่ยิ่งใหญ่ การทำอะไรที่ยากเกินความสามารถ หรือมองว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของเราอาจไม่ส่งผลอะไรต่อโลกมากนัก
แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกใบนี้ให้สวยงามได้ด้วยเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่เราอาจจะมองข้ามไปเท่านั้นเอง The MATTER จึงอยากพาทุกคนไปพูดคุยกับเจ้าของไอเดียภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์รักษ์โลก เพื่อมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจที่ดีชิ้นนี้ พร้อมรู้จักแนวทางของนิปปอนเพนต์ที่ถ่ายทอดและสะท้อน 3 แกนตามหลักของความยั่งยืนสากล (Sustainability) ไปพร้อมๆ กัน
ช่วยแนะนำตัวหรือผลงานที่ผ่านมากับ นิปปอนเพนต์ ให้พวกเรารู้จักกันสักนิด
เบสท์: ชื่อ เบสท์ ศุภณัฐ สุขพงษ์ ครับ ทำงานเป็นครีเอทีฟอยู่ที่บริษัท Winter Egency ผลงานล่าสุดก็มี ‘สีที่คิดเพื่อคุณ’ เป็น Branding Campaign ที่ทำให้กับนิปปอนเพนต์ โดยจะพูดถึงสีที่บ่งบอกตัวตนของทุกคน หรือสีที่ทำให้คุณอยู่ด้วยแล้วรู้สึกมั่นใจ บ่งบอกความเป็นตัวเองได้ ไม่ว่าคุณเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร สีของนิปปอนเพนต์ก็พร้อมตอบความเป็นคุณเสมอครับ
ทำไมจู่ๆ ถึงได้มาจับโปรเจกต์ที่พูดถึงความยั่งยืน เราสนใจเรื่องนี้อยู่แล้วหรือเปล่า
เบสท์: ใช่ครับ ผมสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ทางนิปปอนเพนต์เองก็เห็นไลฟ์สไตล์ของผมเลยชวนให้ทำแคมเปญนี้ต่อ ผมเป็นคนชอบไปเที่ยวธรรมชาติ รู้สึกว่าธรรมชาติอยู่กับเรา แล้วเราก็เป็นธรรมชาติด้วยเช่นกัน เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมชอบที่จะปกป้องอยู่แล้ว พอเห็นว่าทางนิปปอนเพนต์เองก็สนใจเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกัน และมีแนวทางปฏิบัติที่ตั้งใจจะทำให้แบรนด์ก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2050 (เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ผมก็เลยอยากถ่ายทอดแนวคิดของตัวเองที่มีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับแนวทางของแบรนด์และผู้บริโภค ซึ่งผมเชื่อว่าตอนนี้พวกเขาก็เริ่มสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้นในวงกว้างแล้ว
ตอนที่เห็นโจทย์ครั้งแรกเรามีแนวคิดอะไรที่นำมาปรับใช้จนเกิดเป็นผลงานชิ้นนี้บ้าง
เบสท์: พอพูดถึงความยั่งยืน ผมคิดถึงเวลาที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด เวลาเห็นป่าที่สมบูรณ์ มีอาหารการกินที่ดี ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้เราควรจะรักษาไว้ ผมเชื่อว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่ที่เริ่มเข้าตาทุกคน ทุกคนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในทางที่แย่ลง ภูเขาหัวโล้นมากขึ้น น้ำแข็งละลาย ไฟไหม้ป่า อากาศร้อนขึ้น ฝุ่นในอากาศเข้ามาสู่ที่อยู่อาศัยของผู้คนมากขึ้น ทำให้เห็นชัดเลยว่าปัญหากำลังเข้ามาเคาะประตูหน้าบ้านของทุกคน ผมเลยคิดว่าเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะใส่ใจ และให้ความสำคัญของการรักษาทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 3 แกนที่อยู่ในหลักความยั่งยืน และทางนิปปอนเพนต์ก็ให้ความสำคัญกับทั้ง 3 แกนนี้เหมือนกัน พอทั้งผมกับแบรนด์มีแนวคิดที่ไปในทิศทางเดียวกัน เลยทำให้เกิดภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ชิ้นนี้ออกมาครับ
เราเห็นคอนเทนต์เกี่ยวกับความยั่งยืนหรือการลดโลกร้อนเยอะมาก ในมุมมองของครีเอทีฟ คิดว่าเราจะทำให้โฆษณานี้แตกต่างไปจากคอนเทนต์อื่นๆ ได้ยังไง
เบสท์: เรื่องความยั่งยืนถูกพูดถึงเยอะ แต่ผมรู้สึกว่ามันอาจจะยังส่งไปไม่ถึงทุกคนขนาดนั้นครับ แล้วผมรู้สึกว่าการสื่อสารที่ดุดันเกินไปอาจทำให้คนไม่อยากฟัง ผมและนิปปอนเพนต์เลยตกลงกันและพยายามทำโฆษณาออนไลน์ชิ้นนี้ออกมาน่ารักๆ ดูแล้วรู้สึกดี มองสิ่งนี้เป็นเรื่องง่าย แต่ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายของเราเกิดอารมณ์ร่วมและอยากช่วยโลกตามหนทางที่ตัวเองถนัดได้
แล้วครั้งนี้โจทย์ของนิปปอนเพนต์ก็น่ารักตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะแบรนด์ไม่ได้ต้องการจะมาบอกว่าสีเราดียังไง ลดโลกร้อนยังไง แต่ต้องการบอกว่าตอนนี้โลกกำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะทำยังไงดี เหมือนกับชวนให้เราลองสังเกตตัวเอง มองว่าทำอะไรเพื่อโลกได้บ้าง แล้วนิปปอนเพนต์มีแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรเทาสภาวะการณ์นี้ยังไง จากนั้นเรามาจับมือทำไปด้วยกัน ประมาณนี้ครับ
คิดว่าวิสัยทัศน์ของนิปปอนเพนต์ตรงกับแนวทางเรื่องความยั่งยืนของเรามากแค่ไหน
เบสท์: นิปปอนเพนต์เป็นแบรนด์สีจากประเทศญี่ปุ่น พอพูดถึงญี่ปุ่นเราก็รู้แล้วว่าบ้านเมืองเขายั่งยืนขนาดไหน พอเราได้มาร่วมงานกันสักพักก็ได้รู้ว่ากระบวนการหรือขั้นตอนของนิปปอนเพนต์ตั้งแต่โรงงาน กระบวนการผลิต จนกลายมาเป็นทุกผลิตภัณฑ์ เขามีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Green Plan อยู่ ซึ่งจะแยกออกเป็น 2 อย่างคือ Green Process กับ Green Products ที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืนสากล และมีประโยชน์ต่อทั้งผู้คน สังคม และเศรษฐกิจ
Green Process คือกระบวนการโรงงานสีเขียว โดยเขาได้นำยุทธศาสตร์ต่างๆ มาใช้ อย่างด้านพลังงานที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลบนหลังคาโรงงานเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้ แล้วก็ช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 600,000 กิโลกรัมต่อปีเลย แล้วยังมีเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ซึ่งนิปปอนเพนต์มีการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้องและเคร่งครัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีการลดมลพิษทางอากาศและการรีไซเคิลขยะ ซึ่งตรงนี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้ เพราะเขาพยายามทำให้ชุมชน ดิน หรือแหล่งน้ำบริเวณรอบโรงงานไม่มีสารปนเปื้อน
ส่วน Green Products เขาก็มีระบบสีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีคุณภาพสูงที่คิดค้นและพัฒนาจากความต้องการของผู้ใช้งานอย่างและปล่อยคาร์บอนต่ำด้วย ทั้งระบบสีเพื่อลด Embodied Carbon ที่ผ่านการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พร้อมโซลูชันลดคาร์บอนตั้งแต่ก่อสร้าง ลดขั้นตอนและเพิ่มคุณค่าในการทำงาน พร้อมทั้งลด Operational Carbon ด้วยเทคโนโลยีสีประหยัดพลังงาน ลดอุณหภูมิ ลดค่าไฟ รับรองฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง สีทนทานยาวนาน เพิ่มอายุให้อาคาร ลดการปล่อยคาร์บอนจากการปรับปรุงอาคาร รวมถึง นวัตกรรมสีสร้างความยั่งยืน ที่สารถช่วยเพิ่มคะแนน LEED v4.1 และ WELL v2 ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพิ่ม Productivity ในการทำงาน ยกระดับอุตสาหกรรมสีในประเทศไทย พร้อมนวัตกรรมช่วยลดของเสียในไซต์งาน ลดฝุ่นในการทำงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน และยังมีผลิตภัณฑ์สีอีก 40 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ CFP ที่แสดงถึงปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน การขนส่ง และการจำกัดของเสียด้วยครับ
โดยเป้าหมายการเป็น Net Zero ปี 2050 ของนิปปอนเพนต์ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจให้บรรลุความยั่งยืนตามหลักสากลเท่านั้นนะครับ เพราะแบรนด์ยังให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกๆ ห่วงโซ่ และขยายความสำคัญให้ครอบคลุมอีก 2 ข้อ ก็คือนวัตกรรมและผู้บริโภค โดยยึดหลักปฏิบัติ UNSDGs 9 ข้อ ซึ่งอันนี้จะเรียกว่ากลยุทธ์ Smart Framework เป็นกลยุทธ์ที่ผลักดันวัฒนธรรมการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมในองค์กรด้วย
จริงๆ ตอนทำผมก็ได้ไปดูที่โรงงานจริงด้วยเหมือนกัน เห็นว่าเขาทำแบบนั้นอยู่จริงๆ และทำมานานแล้ว ผมเลยมองว่านิปปอนเพนต์มีความใกล้เคียงกับตัวผมเองอยู่เหมือนกันครับ ในเรื่องของวิธีการลดโลกร้อนในแบบของตัวเอง อย่างแบรนด์มีวิธีการแบบนี้ เราเองก็มีวิธีการอีกแบบหนึ่งที่มีความแมทช์กัน ก็เลยเอาความเป็นตัวเองกับสิ่งที่แบรนด์ทำอยู่แล้วมาเป็นไอเดียในโฆษณานี้ด้วย
ทำไมในโฆษณาถึงเลือกเปิดด้วยคำถามที่ว่า ‘สวรรค์หน้าตาเป็นอย่างไร?’
เบสท์: ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่าน ชื่อว่า ‘Soil Soul Society ดิน วิญญาณ สังคม’ ซึ่งคนเขียนได้ตั้งคำถามกับลูกศิษย์ว่า ‘สวรรค์หน้าตาเป็นอย่างไร?’ แล้วเขาก็อธิบายถึงสวรรค์ที่คนเราพอจะจินตนาการได้ทั่วๆ ไป คงเป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีสายรุ้งพาดผ่าน มีภูเขาลอยฟ้า มีแสงในทะเล ถามว่ามันต่างจากโลกที่เรายืนอยู่สักแค่ไหน คำตอบคือไม่เลย มันคือที่ที่เรายืนอยู่ตรงนี้นี่แหละ งั้นเรามาเอาโลกที่น่าอยู่แบบนั้นกลับคืนมาเถอะ ผมเลยลองตั้งคำถามแบบนี้ให้พวกเราได้คิดไปพร้อมๆ กันแบบไม่ซับซ้อน ทุกคนลองไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเล่นกันได้นะ เป็นหนังสือที่พูดถึงแนวคิดที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประโยชน์
ตอนคิดไอเดียทำโฆษณาชิ้นนี้มีอะไรสนุกๆ ที่อยากจะแชร์บ้าง
เบสท์: เรื่องสนุกๆ คือตอนที่เราคิดว่า แล้วอะไรล่ะที่เราจะช่วยกันทำให้โลกกลับมาน่าอยู่ ผมเห็นคนรู้จักเยอะมากๆ ที่เริ่มทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจุดนั้นแหละที่ผมมองว่า นี่ไง มันเริ่มมีคนที่พยายามทำสิ่งนั้นแล้ว
จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมและกลุ่มเพื่อนพยายามทำมาตลอด ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีในแบบของตัวเอง ตามความสะดวกและความถนัด เช่น เวลาไปต่างจังหวัดหรือไปไหนในกรุงเทพ เราก็จะรวมรถคันเดียวแล้วช่วยกันหารค่าน้ำมัน ผมเองก็ไม่เปิดแอร์เวลาอยู่บ้าน พยายามกินอาหารให้หมดทุกมื้อเพื่อลดขยะเน่าเสียที่จะปล่อยก๊าซมีเทน ลดการใช้ขยะพลาสติก หรือแยกขยะ เพื่อนบางคนกินวีแกนเพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บางคนก็เลิกใส่เสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion ไปเลย เพราะการขนส่งต่างๆ ทำให้เกิด Carbon Footprint
รวมถึงผมเองก็มีโปรเจกต์เล็กๆ ของผมที่ชื่อ Help them, Help us เป็นเหมือน Conceptual Art ที่เกิดจากเวลาผมไปเที่ยว แม้จะเข้าไปในป่าลึก ภูเขาสูง หรือบนเกาะเล็กๆ ที่แทบจะเหมือนเกาะร้างในหนังเรื่อง Cast Away สิ่งที่ผมเจอเหมือนๆ กันเลยก็คือขยะ ผมได้คำถามและคำตอบจากการจ้องมองว่า “ทำไมแกถึงมาอยู่ตรงนี้ได้นะ นี่มันไกลมากๆ เลย” แล้วเหมือนขยะตอบกลับมาว่า “เราก็เหมือนคนพิการ เหมือนคนหลงทาง ไกลบ้าน เดินออกไปเองไม่ได้ ช่วยเราหน่อยสิ พาเราไปอยู่ที่ที่ควรอยู่” จากนั้นผมจึงสร้างเรื่องราวให้กับขยะทุกชิ้น จนเรียกมันว่า Trash Characters เพราะทุกตัวมีเรื่องราวและหน้าตาที่ถูกกัดเซาะจนมีรูปร่างไม่เหมือนกัน บางชิ้นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง บางชิ้นเหมือนเพนกวิน เหมือนไมเคิล แจ็คสันยังมีเลยครับ พอเริ่มเก็บจึงเห็นว่ามันมีขยะที่หน้าตาน่ารักอีกมากมายที่รอการช่วยเหลืออยู่ นี่เลยเป็นความสนุกที่ผมสร้างขึ้นมาให้ตัวเองในการเก็บขยะ คล้ายๆ กับเวลาที่เรามองก้อนเมฆแล้วจินตนาการเลย ถ้าอยากดูก็สามารถติดตามได้ที่ Instagram: manature_is ได้นะครับ
เอาจริงมันดูง่ายและเล็กน้อยมากเลย แต่ก็เป็นที่มาของไดอะล็อกหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ที่ว่าจุดเล็กๆ พวกนี้เป็นจุดที่สำคัญ ถ้าทำได้ทุกคนก็แปลว่าทุกคนกำลังช่วยโลกใบนี้อยู่ รวมถึงนิปปอนเพนต์เองก็กำลังช่วยในแบบของเขาเช่นกัน
ระหว่างทำโฆษณาชิ้นนี้ได้รู้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ บ้างมั้ย
เบสท์: จริงๆ ผมเพิ่งรู้ว่าการเลือกใช้สีก็เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน โดยปกติแล้วในตลาดจะแบ่งคุณภาพสีเป็น 4 เกรดด้วยกัน ตั้งแต่สีคุณภาพสูงสุดเกรดอัลตราพรีเมียมจะอยู่ที่ประมาณ 15 ปี เกรดพรีเมียมประมาณ 10 ปี เกรดมาตรฐานประมาณ 5-8 ปี และเกรดปกติ หมายความว่าถ้าโครงการหรืออสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ที่เขามองถึงการลดต้นทุนในระยะยาว เขาก็จะเลือกใช้สีที่ไม่ต้องมาทาซ้ำบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยเซฟค่าช่างได้ เพราะค่าทาสี ค่าเก็บงาน มันแพงกว่าค่าสีเยอะมากครับ
อีกอย่างการที่เราไม่ต้องทาสีซ้ำบ่อยๆ ก็ช่วยลดเรื่อง Carbon Footprint ได้ด้วย นี่ก็เป็นอีกเรื่องทีหลายๆ คนไม่ค่อยรู้ หรือแม้กระทั่งการเลือกสีที่มีคุณสมบัติช่วยสะท้อนแสงได้ ก็ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน ทำให้เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าน้อยลง ช่วยประหยัดค่าไฟด้วย
แล้วผลิตภัณฑ์ของนิปปอนเพนต์เองก็ได้รับฉลาก CFP (Carbon Footprint of Products) ซึ่งเป็นฉลากที่แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน โดยที่พวกเขายังมุ่งมั่นหาฉลากเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มารับรองผลิตภัณฑ์เพิ่ม ตรงนี้จะช่วยให้ธุรกิจหรือโครงการที่นำสีของนิปปอนเพนต์ไปใช้ สามารถคำนวณได้ว่าสีทั้งหมดที่เขาทาไปจะปล่อยก๊าซออกมาเท่าไหร่ แล้วอยู่ในเกณฑ์ที่เขาโอเคหรือเปล่า
ในภาพยนตร์โฆษณาก็มีการแทรกเรื่องของ B2B (Business-to-Business) อยู่นิดหน่อยครับ ตรงประโยคที่บอกว่าลดต้นทุนของโลก ลดต้นทุนทางธุรกิจ เพราะเราอยากให้ธุรกิจอื่นๆ รู้ว่านิปปอนเพนต์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คุณลดค่าใช้จ่ายจากนวัตกรรมสีที่มีคุณภาพได้ ในมุมของผู้บริโภค เราอยากให้คุณช่วยกันทำอะไรก็ได้ที่คุณถนัดเพื่อลดโลกร้อน แต่ถ้าเป็นธุรกิจ ก็อยากให้มองว่าเราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายในการเป็น Net Zero
สุดท้ายแล้วเราอยากให้คนดูภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ได้อะไรกลับไปบ้าง
เบสท์: ถ้าที่คาดหวังเลยก็อยากให้ทุกคนลองทำอะไรสักอย่าง จะเล็กมากๆ ก็ได้ครับ เพราะมันก็เป็นสิ่งที่ผมกับเพื่อนยังทำอยู่ทุกวัน ขึ้นรถไปด้วยกันแล้วหารค่าน้ำมัน ไปจ่ายตลาดก็เอากล่องไป พกถุงผ้าไป ผมก็เลยคาดหวังว่าคนที่เห็นโฆษณาชิ้นนี้จะเริ่มทำอะไรก็ได้ เพราะนิปปอนเพนต์ก็กำลังทำในแบบที่เขาทำได้เหมือนกัน
มีซีนหนึ่งที่ตอนแรกผมคุยกันว่าซีนนี้เชยไปหรือเปล่า คือซีนที่ปิดสวิตช์ไฟ แต่ผมก็บอกว่าใส่ไปเลย เพราะแค่ปิดสวิตช์ไฟบางคนยังไม่ทำเลย แต่ว่าในหนังจะเป็นเฟรมสองฝั่ง คือปิดไฟแต่พระอาทิตย์ขึ้น หรือกดปิดแอร์ แล้วน้ำแข็งที่ละลายก็ย้อนกลับ เหมือนกับว่ากดปิดความเย็นตรงนี้เพื่อให้โลกเย็นขึ้น เป็นสัญลักษณ์ของการช่วยโลก
ทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูง่ายและเล็กน้อย แต่พอมันเริ่มเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งมันจะกลายเป็นเทรนด์ที่สร้างผลกระทบได้อย่างแท้จริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน ผมไม่กดดันว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ขอแค่เป็นวิธีในแบบที่คุณทำได้และรู้สึกดี แล้วค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เพิ่มกันวันละนิดละหน่อย มันก็ดีต่อพวกเราและโลกใบนี้มากแล้วครับ
รับชมภาพยนตร์โฆษณา ‘คืนโลกให้น่าอยู่’ ของนิปปอนเพนต์ได้แล้ววันนี้