คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคุณคืออะไร?
สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้เมื่อเจ็บป่วย, เดินทางไปสู่จุดหมายได้ตรงเวลา, มีเวลาและพื้นที่ให้วิ่งออกกำลังกายทุกวันเพื่อสุขภาพ มีโอกาสทำงานในฝันด้วยรายได้ที่สมเหตุสมผล หรือได้เรียนในสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐาน
คำตอบของคุณอาจเหมือนหรือแตกต่างไปจากนี้บ้าง ถึงอย่างนั้นจุดร่วมกันของทุกคำตอบก็คือ การจะได้สิ่งเหล่านี้มา จำเป็นต้องมี ‘กุญแจ’ ที่ใช้เปิดประตู
จริงอยู่ว่ากุญแจสำคัญที่หลายคนคิดคือ ‘เงิน’ เพราะหากเรามีมากพอ ก็มีโอกาสเลือกเส้นทางที่จะพาเราไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีได้เร็วหรือง่ายกว่าคนอื่น
เช่น เลือกได้ว่าจะไปหาหมอรพ.เอกชนใดก็ได้ ไม่ต้องรอคิวนาน จะเดินทางไปไหนก็เลือกได้ว่าจะใช้บริการสาธารณะหรือขับรถ อยากออกกำลังกายก็จ่ายค่าฟิตเนส หรือซื้อที่พักอาศัยที่มีพื้นที่ส่วนกลางร่มรื่น กระทั่งการศึกษา เพราะสามารถเลือกเรียนโรงเรียนเอกชนหรือเรียนพิเศษเสริมตามต้องการ
ทั้งที่การศึกษาคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าถึงโอกาสต่างๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เด็กไทยจำนวนมากกลับไม่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์การเรียนทันสมัย พร้อมสรรพ บุคลากรครูเพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน เพราะปัญหาการกระจายทรัพยากรและปัญหาสังคมเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกมานาน อันเป็นต้นทางของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ส่งผลให้เด็กไทยส่วนหนึ่งจึงต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อมาแสวงหาการศึกษาในกรุงเทพแบบไม่มีทางเลือก ในขณะที่หลายคนก็ไม่มีต้นทุนมากพอจะเริ่มต้นเดินทางไกลด้วยซ้ำ
เราจึงแทบไม่ต้องมองถึงคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ เลย เพราะเพียงแค่จุดเริ่มต้นของชีวิต เราก็มีโอกาสไม่เท่ากันเสียแล้ว
อย่างที่กล่าวไปว่า ‘การศึกษา’ คือกุญแจสำคัญที่มีความสามารถพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะความรู้จะพาเราไปหากุญแจแห่งโอกาสได้ตลอดทั้งชีวิต
ยิ่งถ้าเด็กๆ เข้าถึงการศึกษายุคดิจิทัลอย่างมีคุณภาพด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยเปิดโลกให้เห็นว่า มีอาชีพหรือความเป็นไปได้มากขนาดไหนรอพวกเขาอยู่
จากข้อมูลการสำรวจ พบว่าวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นส่งผลให้คนมีรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยหนึ่งก็เพราะว่ามันเป็นใบเบิกทางให้เราได้ก้าวเข้าไปสู่ตำแหน่งงานต่างๆ อีกส่วนหนึ่งก็เพราะมันเสริมสร้างนิสัย ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราและสังคมมีทางไปต่อในชีวิตไม่รู้จบ
ดังนั้นถ้าเราทำให้ทุกคนมีโอกาสเรียนอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกัน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็จะลดน้อยลง
แต่เมื่อดูภาพการศึกษาไทย โดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก จากเดิมที่นักเรียนจำนวนมากต้องหลุดจากระบบการศึกษาไทยด้วยปัญหาทุนทรัพย์ ก็ยิ่งทวีคูณความรุนแรง จากข้อมูลพบว่าในช่วงโควิด-19 มีนักเรียนมากถึง 2 ล้านจากทั้งหมด 9 ล้านคนที่หมดโอกาสเรียน ยังไม่นับว่าอาจมีนักเรียนอีกมากที่ต้องตัดใจ ไม่สามารถเข้ามาเรียนในกรุงเทพได้ เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
เมื่อพลาดกุญแจดอกสำคัญไป ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตในอนาคต พลาดโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวความรู้ พลาดที่จะวางแผนไปสู่อนาคต และอาจพลาดไขว่คว้าคุณภาพชีวิตที่ดีมาครอบครอง
ดังนั้น หนทางแก้ไขที่สังคมและภาครัฐควรให้ความสนใจไปพร้อมๆ กัน คือการผลักดันให้คุณภาพการศึกษาไทยเท่าเทียมกันในทุกตารางนิ้วของประเทศไทย
UOB เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ในฐานะปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนในสังคมมีโอกาสเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้ใกล้เคียงกัน ด้วยการมอบความรู้และสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีพื้นฐานการเงินที่ดี และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนโอกาสการศึกษาให้กับเด็กไทย
เช่น โครงการ UOB My Digital Space ที่มุ่งเน้นลดช่องว่างการเข้าถึง digital learning ด้วยการมอบห้องคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียน ซึ่งมาพร้อมกับหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลในขั้นวิชาพื้นฐานสำคัญ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ให้เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งมีโครงการพัฒนาบุคลากรครูเพื่อลดช่องว่างที่มีระหว่างนักเรียนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงแรงผลักดันส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำเป็นต้องแก้ไขทั้งโครงสร้างโดยภาครัฐ เพื่อให้เด็กในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเข้าถึงกุญแจดอกนี้ได้อย่างเสมอภาค
เพราะคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ควรเป็นทางเลือก แต่ต้องเป็นโอกาสที่ทุกคนคว้าถึงได้เท่าเทียมกัน