แทบทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหา ‘น้ำมันแพง’ ทฤษฎีสมคบคิดก็จะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอธิบายราวกับว่ารัฐบาลและทุนใหญ่จงใจทำให้ราคาน้ำมันภายในประเทศ ‘แพง’ กว่าที่ควรจะเป็น บ้างก็หยิบยกสถิติว่าประเทศไทยเป็นประเทศร่ำรวยน้ำมันโดยมีกำลังการผลิตอยู่อันดับที่ 32 ของโลก บ้างก็เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่จำหน่ายน้ำมันได้ถูกกว่ากันถึงครึ่งหนึ่ง บ้างก็เฟ้นหาสถิติว่าไทยส่งออกน้ำมันมูลค่ามหาศาล บ้างก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมราคาน้ำมันในไทยต้องอ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์ และอีกสารพัด
ในวันที่น้ำมันในไทยกลับมาแพงอีกครั้งเนื่องจากการคงอัตราการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกที่ 400,000 บาร์เรล/วัน ปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และการส่อเค้าของความขัดแย้งในยูเครนที่อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อย่างรัสเซีย เหล่าผู้ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสหยิบ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ เก่าเก็บมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หวังสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่คุ้นกับวาทกรรมข้างต้น
เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ผมขอใช้บทความนี้ฝังกลบวาทกรรมน่าเบื่อหน่ายเหล่านั้น พร้อมทั้งชวนทำความเข้าใจโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย และชี้ให้เห็นถึง ‘ตัวการ’ สำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันไทยบิดเบือนไปจากราคาตลาดโลกนั่นคือการอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ของรัฐผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ประเทศไทย ‘ไม่ใช่’ มหาอำนาจน้ำมัน
ผมไม่ปฏิเสธว่าประเทศไทยผลิตน้ำมันได้ราวๆ อันดับที่ 30 ของโลกจริงๆ นั่นแหละ แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นมหาอำนาจน้ำมันของโลกนะครับ สำหรับใครที่อาจไม่ทราบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของประเทศไทยเรานั้นอยู่อันดับที่ 25 ของโลก แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าเราก็ยังไม่อาจเรียกตัวเองได้ว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
จากรายงาน Statistical Review of World Energy โดย BP บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันและคอนเดนเสทในไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนจิ๋วจ้อยหรือเฉลี่ยราว 18% เท่านั้นเมื่อเทียบกับปริมาณการบริโภคน้ำมันภายในประเทศ นั่นหมายความว่าน้ำมันส่วนใหญ่ที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้คือ ‘ของนอก’ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศในรูปน้ำมันดิบแล้วนำมากลั่นในประเทศไทย
ในเมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วน่าแปลกใจตรงไหนถ้าราคาน้ำมันไทยจะต้องอ้างอิงจากราคาที่ซื้อขายในตลาดโลก แถมอุตสาหกรรมน้ำมันในไทยยังเต็มไปด้วยบริษัทแสวงหากำไรแม้ว่าเจ้าใหญ่จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ การอ้างอิงราคาน้ำมันกับตลาดโลกจึงถือเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำมันไทย ‘รั่วไหล’ สู่ต่างประเทศ
แล้วตัวเลขการส่งออกน้ำมันมูลค่ามหาศาลนั้นมาจากไหน? คำตอบก็เรียบง่ายคือน้ำมันดิบซึ่งขุดเจาะภายในประเทศบางส่วนไม่เหมาะกับโรงกลั่นที่มีในประเทศไทย หรือผลผลิตที่ได้เป็นน้ำมันชนิดที่ไม่ได้มีความต้องการใช้ภายในประเทศ เราจึงต้องส่งออกน้ำมันเหล่านี้ไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั่นเอง
ก็แหม! ขนาดหมูหนึ่งตัวเรายังชำแหละออกมาขายได้เป็นหัวหมู หูหมู เครื่องในหมู เลือดหมู ขาหมู สันนอก สันใน และอีกสารพัด น้ำมันดิบเองก็มีหลายคุณภาพ หลากหลายประเภท พอกลั่นแล้วก็ได้น้ำมันที่การใช้งานแตกต่างกัน ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นตรงไหนที่น้ำมันบางส่วนซึ่งผลิตได้ภายในประเทศจะ ‘ใช้งานไม่ได้’ และจำเป็นต้องส่งออกไปให้เพื่อนบ้าน
ราคาน้ำมันไทย แพงกว่าใครจริงหรือ?
แล้วเรื่องราคาน้ำมันล่ะ? เราขายกันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือเปล่า?
คำตอบก็คือจริงครับ ถ้าเราเทียบกับประเทศมาเลเซียที่ผลิตน้ำมันได้เกินพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ราคาน้ำมันบ้านเราก็แพงกว่าเกือบสองเท่าตัว แต่ถ้าเรามองแบบภาพใหญ่ ไม่ได้เลือกความจริงเพียงครึ่งเดียวเพื่อสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง เราจะพบว่าราคาน้ำมันในประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มกลางๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนโดยอยู่ที่อันดับ 6 จาก 10 ประเทศเมื่อเรียงจากราคาน้ำมันสูงสุดไปต่ำสุด ใกล้เคียงกับอินโดนีเซียและพม่า
หากถอยมาเปรียบเทียบกับ 96 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็ติดโผที่อันดับ 52 ซึ่งนับว่าอยู่ในกลุ่ม ‘ไม่ถูกไม่แพง’ อ้างอิงจากข้อมูลวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2565 จากเว็บไซต์ Trading Economics
สาเหตุที่ราคาน้ำมันแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากปริมาณการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ อีกส่วนหนึ่งก็เนื่องจากโครงสร้างภาษีที่ผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทยนั้น เรามีการจัดเก็บภาษีจากน้ำมันทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม แถมยังมีกลไกอย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย
แกะโครงสร้างราคาน้ำมันไทย
รายงานโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่าราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินของเราอยู่ที่ 41.96 บาท/ลิตร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 7 ส่วนดังนี้
- ราคาหน้าโรงกลั่น (53.55%) ความหมายก็ตามชื่อเพราะเป็นราคาน้ำมันที่ซื้อขายกันหน้าโรงกลั่นซึ่งส่วนนี้เองที่จะอ้างอิงกับราคาตลาดโลก
- ภาษีสรรพสามิต (15.49%) มีชื่อเล่นว่าภาษีน้ำมัน ถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่ในปัจจุบันของรัฐบาลไทย
- ภาษีท้องถิ่น (1.55%) เงินทำนุบำรุงท้องที่ซึ่งมีการผลิตน้ำมัน
- เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (17.11%) เหมือนการหยอดกระปุกเก็บไว้ในวันที่น้ำมันราคาถูกแต่จะหยิบออกมาใช้ในวันที่น้ำมันราคาแพง เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางราคาของน้ำมัน
- เงินอุดหนุนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (0.01%) สนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (5.75%) ภาษีที่เก็บจากแทบทุกสิ่งอย่างในประเทศไทย ไม่ต้องพูดมากเพราะทุกคนคงคุ้นเคยกันดี
- ค่าการตลาด (2.41%) แม้จะใช้ชื่อว่าค่าการตลาด แต่ความจริงแล้วรวมเอาค่าใช้จ่ายทุกสิ่งอย่างตั้งแต่การจัดการคลัง การขนส่ง และค่าบริการ รวมทั้งผลกำไรของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเอาไว้เรียบร้อย
หากพิจารณาเฉพาะราคาหน้าโรงกลั่น จะเห็นว่าราคาน้ำมันไทยไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากประเทศที่ผลิตน้ำมันได้เพียงพออย่างมาเลเซียมากนัก แต่หากรวมเอาสารพัดภาษีและเงินอุดหนุนต่างๆ เข้าไป จากราคาเริ่มต้น 22 บาท เราก็เลยได้จ่ายค่าน้ำมันกันที่ 42 บาทนั่นเอง
แน่นอนครับว่าเราคงแตะต้องราคาหน้าโรงกลั่นไม่ได้ด้วยเหตุผลที่อธิบายไปแล้วว่าน้ำมันดิบส่วนใหญ่ของไทยนั้นมาจากการนำเข้า ส่วนการลดภาษีก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลคงตีโพยตีพายตัดพ้อว่าต้องมีเงินมาใช้จ่ายสารพัดโครงการประชานิยม เอ้ย! โครงการช่วยเหลือประชาชน แถมทุกปีก็ต้องมีเงินจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการทั่วประเทศที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อเราทุกคนอีกหลายแสนล้านบาท
แต่ประเด็นที่น่าสนใจจากโครงสร้างราคาน้ำมันดังกล่าวอยู่ที่เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลายคนอาจจะเกาหัวว่าเป้าหมายคือการเก็บเงินในช่วงราคาน้ำมันแพงแล้วนำมาอุดหนุนในช่วงราคาน้ำมันถูกไม่ใช่หรือ วันนี้ราคาน้ำมันก็เริ่มเข้าข่ายว่าแพง แต่ทำไมรัฐบาลยังเรียกเก็บเงินอุดหนุนเข้ากองทุนตั้งเกือบ 20% แล้วเงินก้อนนี้สูญสลายมลายหายไปไหนหมด คำตอบอยู่ที่ ‘แก๊สโซฮอล์’ อดีตพระเอกที่ปัจจุบันอาจกลายเป็นผู้ร้ายที่ส่งผลให้น้ำมันแพงกว่าที่ควรจะเป็น
‘แก๊สโซฮอล์’ จากตัวช่วยสู่ตัวการทำน้ำมันแพง
ประเทศไทยในอดีตเคยประสบปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ราคาน้ำมันซึ่งต้องอ้างอิงจากตลาดโลกนั้นทั้งแพงทั้งผันผวน ส่วนผลผลิตการเกษตรในไทยก็ราคาตกต่ำ ทางออกหนึ่งที่สามารถแก้ไขทั้งสองปัญหาได้พร้อมกันคือ ‘แก๊สโซฮอล์’ น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอล แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่สามารถผลิตจากสารพัดพืชซึ่งสามารถปลูกได้ในประเทศ อาทิ อ้อย และมันสำปะหลัง
เราลงทุนลงแรงมหาศาลกับการก่อร่างอุตสาหกรรมเอทานอลภายในประเทศ และผลักดันให้รถยนต์รุ่นใหม่สามารถรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ จนปัจจุบันประเทศไทยขึ้นแท่นประเทศที่มีกำลังผลิตเอทานอลสูงที่สุดอันดับ 8 ของโลก แต่สิ่งที่หลายคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น จากเอทานอลที่ควรจะเป็น ‘ตัวช่วย’ ทำให้น้ำมันราคาถูกลงกลับกลายเป็น ‘ตัวการ’ ที่ทำให้น้ำมันราคาแพงด้วยเหตุผลที่แสนจะตรงไปตรงมาก็คือ เอทานอลในปัจจุบันราคาแพงกว่าน้ำมันดิบ!
ในรายงานโครงสร้างราคาน้ำมันข้างต้น ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 22.46 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 24.53 บาท/ลิตร แต่ราคาอ้างอิงเอทานอลอยู่ที่ 25.60 บาท/ลิตร นั่นหมายความว่าน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูง ก็จะยิ่งต้นทุนสูงเป็นเงาตามตัว
หากใครสังเกตราคาน้ำมันค้าปลีกจะพบว่าตัวเลขกลับตรงกันข้าม เพราะราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์จะเป็นกลุ่มที่ราคาต่ำที่สุดทั้งที่ราคาหน้าโรงกลั่นสูงที่สุด ขณะที่น้ำมันเบนซินกลับราคาสูงที่สุด สวนทางกลับราคาหน้าโรงกลั่นที่ต่ำที่สุด
ความบิดเบี้ยวของราคาดังกล่าวเกิดจากการอุดหนุนและจัดเก็บเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซินจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนเข้ากองทุนน้ำมัน 7.18 บาท/ลิตร ขณะที่หากเปลี่ยนใจมาเติมแก๊สโซฮอล์ 95 E85 รัฐบาลไทยกลับใจป้ำควักกระเป๋าช่วยจ่ายให้ 4.53 บาท/ลิตร ดังนั้นหากอยากจะให้น้ำมันราคาถูกลงแบบทันตา ทางเลือกหนึ่งก็คือยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้วนำเงินอุดหนุนก้อนใหญ่มาใช้ลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล
แต่การจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ในปัจจุบันก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยได้ลงหลักปักฐานอุตสาหกรรมดังกล่าวเสียใหญ่โต เรียกได้ว่าติดกับดักความสำเร็จของตัวเองก็คงไม่ผิดนัก สุดท้ายแล้วเราก็ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าถ้ามองประเทศไทยในภาพรวม การคงไว้ซึ่งแก๊สโซฮอล์ก็มีข้อดีหลากหลายประการ ทั้งเป็นการอุดหนุนเกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าน้ำมันทั่วไป
ดังนั้นทฤษฎีสมคมคิดว่าไทยรวยน้ำมัน หรือมีใครอยู่เบื้องหลังทำไมน้ำมันในไทยราคาแพงนั้นมันไม่จริงหรอกครับ ทุกวันนี้หลายคนต้องปาดเหงื่อทุกครั้งที่เติมน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกส่วนหนึ่งมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่บังคับให้คนไทยจำนวนหนึ่งจำต้องรับบทเป็น ‘นางแบก’ อุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศนั่นเอง
Illustration by Krittaporn Tochan