ตั้งแต่จำความได้ ชื่อของ ‘ป่อเต็กตึ๊ง’ ก็อยู่ในการรับรู้มาโดยตลอด นอกจากหมอ-พยาบาล และตำรวจแล้ว พวกเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่คนไทยจะนึกถึงทันทีเวลาเกิดอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเผชิญกับความเดือดร้อน
จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน การทำความดีอย่างทุ่มเทมาตลอด 110 ปี ทำให้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้รับความไว้วางใจจากสังคม ในขณะเดียวกันระยะเวลาที่ยาวนานก็มีเรื่องราวความเป็นมาที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ย้อนกลับไปเมื่อ 900 ปีก่อน สมัยราชวงศ์ซ่ง มีปัญญาชนตระกูลลิ้มผู้เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภอ ณ มณฑลเจี้ยกกัง (เจ้อเจียง) แต่รับราชการไม่นานก็สละตำแหน่งแล้วออกมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า ‘ไต้ฮงโจวซือ’ หรือ ‘ไต้ฮงกง’ หรือในภาษาไทยเรียกกันว่า ‘หลวงปู่ไต้ฮง’
หลวงปู่ไต้ฮงจำพรรษาอยู่ในวัดที่เก่าแก่ทรุดโทรม จึงพยายามบูรณะปฏิสังขรณ์วัด พร้อมกับพัฒนาท้องถิ่นรอบๆ วัด ช่วงหนึ่งเกิดโรคระบาดจนทำให้ผู้คนล้มตายมากมาย ภารกิจหนึ่งของหลวงปู่ไต้ฮงที่สำคัญต่อจังหวัดแต้จิ๋วอย่างยิ่งในช่วงนั้นคือ การชักชวนสานุศิษย์ให้ร่วมกันสร้างศาลาสำหรับให้ประชาชนเจริญจิตภาวนา ปัดเป่าภยันตรายต่างๆ และใช้สำหรับแจกจ่ายยารักษาโรค อีกทั้งยังชวนสานุศิษย์ออกเก็บศพ เรี่ยไรเงินเพื่อทำโลงศพให้ผู้ยากไร้ก่อนนำไปฝังด้วยความเต็มใจ ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คนในชุมชนจึงเกิดความศรัทธาและเลื่อมใสต่อหลวงปู่ไต้ฮงอย่างสุดจิตสุดใจ
อีกภารกิจหนึ่งคือการเป็นศูนย์กลางรวบรวมเงินทองจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำมาสร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกรากซึ่งเคยพรากชีวิตคนในชุมชนไปนักต่อนัก สะพานนี้สร้างขึ้นเป็นผลสำเร็จ ปลอดภัย ทั้งที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะสร้างได้จริง
ทั้งสองภารกิจนี้จึงทำให้ชื่อของหลวงปู่ไต้ฮงเลื่องลือ และได้รับการเทิดทูนยกย่องจากชาวจีนทั้งแผ่นดิน เมื่อหลวงปู่ไต้ฮงมรณภาพ ชาวเมืองจึงสร้างกุศลศาลาอนุสรณ์ชื่อว่า ‘ป่อเต็กตึ๊ง’ มีความหมายในภาษาไทยว่า ‘คุณานุสรณ์’ หรือ อนุสรณ์แด่ผู้มีคุณความดี
ด้วยความที่ชื่อเสียงของหลวงปู่ไต้ฮงแผ่ขจรขจายไปทั่ว จึงมีผู้ศรัทธาในตัวท่านเป็นจำนวนมาก โดยต่างก็นำชื่อนี้ไปสร้างกุศลสถานทั่วสาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันมีอนุสรณ์ป่อเต็กตึ๊งไม่น้อยกว่าห้าร้อยแห่ง ก่อนที่ชาวจีนโพ้นทะเลจะนำพลังศรัทธาอันแรงกล้านั้นสู่ผืนแผ่นดินไทยเมื่อ พ.ศ. 2439 ด้วยการอัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงมาประดิษฐานที่ร้านกระจก ย่านวัดเลียบ ต่อมาได้ย้ายไปประดิษฐาน ณ สุสานวัดดอนกุศล (สุสานเก่าของมูลนิธิฯ) ซึ่งปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
และล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งใหม่’ ซึ่งเป็นศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งที่ 2 โดยจะประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของมูลนิธิฯ ด้านกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมเพื่อสังคม ส่วนสุสานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสำหรับ ‘ฝากฝังศพไร้ญาติ’ ในปัจจุบันจะตั้งอยู่ที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ถัดจากนั้นในปี 2452 แรงศรัทธาของผู้คนก็เพิ่มมากขึ้นจึงมีการรวบรวมเงินและจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างศาลาประดิษฐานถาวร ณ ถนนพลับพลาไชย ข้างวัดคณิกาผล กรุงเทพมหานคร ก่อนจะสร้างอาคารป่อเต็กตึ๊งในปี 2452-2453
ภาพจำหนึ่งที่คนไทยมีต่อป่อเต็กตึ๊งคือภารกิจรับส่งผู้บาดเจ็บ และการช่วยนำร่างผู้เสียชีวิตคืนสู่ญาติเพื่อดำเนินพิธีทางศาสนาต่อไป แต่จริงๆ แล้วป่อเต็กตึ๊งมีภารกิจอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน เรียกว่าครอบคลุมทั้งวงจรชีวิต ดังสโลแกน ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต
วันที่ 21 มกราคม 2480 มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซียงตึ๊ง จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลำดับที่ 11 และพัฒนาจนเป็นองค์กรการกุศลขนาดใหญ่ ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ เอื้ออำนวยประโยชน์สุข แก่เพื่อนมนุษย์ ผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยพิบัติ จนครบวงจรชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกทั้งกำหนดวัตถุประสงค์ดำเนินงานทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง—ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ
สอง—ช่วยเหลือจัดการศพทั่วไป และจัดตั้งสุสาน
สาม—จัดตั้งโรงพยาบาลใช้ชื่อว่า ‘โรงพยาบาลหัวเฉียว’ รักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกสาขาโรค
สี่—จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษา (มหาวิทยาลัย)
ห้า—ส่งเสริมและบำรุงกิจกรรมด้านศาสนา วรรณกรรม ศิลปะ และ วิทยาศาสตร์
หก—บำเพ็ญการกุศลโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้ มอบอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาล บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง สิ่งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมถึงการมอบทุนการศึกษาและมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ
อย่างที่เห็นในวัตถุประสงค์ดำเนินงานของมูลนิธิในข้อที่สามและสี่ ในเวลาต่อมามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจึงสร้างโรงพยาบาลหัวเฉียวซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นศูนย์ฟอกไตเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อรองรับผู้เจ็บไข้ได้ป่วย
พร้อมกันนั้นยังสร้างมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยมีคณะพยาบาลศาสตร์เป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยออกรับใช้สังคม อีกทั้งยังก่อตั้งคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวที่นำศาสตร์การแพทย์แบบจีน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เจ็บไข้ได้ป่วย และปัจจุบันได้จัดตั้งหัวเฉียวศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรจีนแบบครบวงจร อาคารคลังยาศรีสมาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อีกด้วย
ทั้งสามเครือข่ายนี้ทำให้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสามารถทำภารกิจช่วยเหลือสังคมได้อย่างต่อเนื่องและครบวงจร ซึ่งเป็นไปตามปณิธานของมูลนิธิที่ว่า ‘ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต’
หากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยหลวงปู่ไต้ฮง หรือดูการทำงานตลอด 110 ปีของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เราจะพบว่าความดีนั้นไม่ได้ยากเกินกำลังมนุษย์คนหนึ่งจะลงมือทำ แค่เพียงความช่วยเหลือที่แบ่งปันกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ก็เพียงพอแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าทุกคนมอบความปรารถนาดีให้กัน โลกจะสวยงามขึ้นแค่ไหน
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจึงอยากชวนทุกคนทำความดีและส่งต่อพลังนี้สู่สังคม ด้วยการเขียนความดีบันทึกผ่านเว็บไซต์ https://www.ต้นไม้แห่งความดี.com/ เพื่อยืนยันกับทุกคนในสังคมว่า ใครๆ ก็ทำดีได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมากมาย แค่มีสติและเจตนาที่ดีเพียงเท่านี้โลกก็คงงดงามกว่าเดิม
เพราะความดีทำง่าย แค่ตั้งใจก็ทำได้เลย