ถ้ามองจากคนนอก ‘อุตสาหกรรมเหล็ก’ อาจเป็นอุตสาหกรรมที่ดูห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเรา แตกต่างจากอุตสาหกรรมอาหารที่ใกล้ตัวมากกว่า แต่ความเป็นจริงแล้ว อุตสาหกรรมแรกๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ นั่นคืออุตสาหกรรมเหล็ก
เพราะเหล็กเป็นต้นทางของการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งรถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกว่าอยู่เบื้องหลังของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและสังคม แต่ด้วยความที่ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำ บวกกับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และขาดสนับสนุนด้านนโยบายอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
The MATTER ได้พูดคุยกับ วินท์ สุธีรชัย CEO แห่ง Prime Steel Mill บริษัทผลิตเหล็กกลางน้ำ ทั้งแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็ก และการสร้างบ้านจากโครงเหล็กต่างๆ ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และมองเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ถึงประเด็นในการพัฒนาให้เหล็กถูกใช้ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญคือมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นวิกฤตทุกวันนี้
ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กในบ้านเราทุกวันนี้เป็นอย่างไร
เนื่องจากว่าเหล็กเป็นสิ่งถูกเอาไปใช้ในการก่อสร้างต่างๆ ทั้งการสร้างเครื่องจักร ยานพาหนะทุกอย่างอย่าง ทั้ง รถยนต์ เรือ รถไฟ เครื่องบิน ด้านลอจิสติกส์ ด้านอุตสาหกรรม ฉะนั้นจริงๆ แล้วอุตสาหกรรมเหล็กจึงเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ประเทศเริ่มพัฒนาจะเริ่มต้นให้ความสำคัญก่อน อย่างจีน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขาเริ่มพัฒนาประเทศ ก็เริ่มจากอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมแรก ประธานเหมาประกาศเลยว่าต้องผลิตเหล็กให้ได้ 50 ล้านตันต่อปี ณ วันนั้น
ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กในบ้านเรา ต้องเรียกว่ายังไม่สมบูรณ์เท่าไร เพราะว่าเรายังขาดอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ซึ่งก็คือโรงถลุงเหล็ก มันทำให้เราไม่สามารถ customize การผลิตเหล็กสำหรับอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมที่เราอยากจะต่อยอดได้ อย่างเหตุผลส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเองได้ ก็เพราะเราไม่มีอุตสาหกรรมเหล็ก และเหตุผลส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของตัวเองได้ ก็เพราะเราไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยเรายังไม่มีเหล็กต้นน้ำที่สามารถดัดแปลงเหล็กให้เป็นชนิดต่างๆ ตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้
เพราะบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรมแต่แรกด้วยหรือเปล่า
ถ้ายิ่งเป็นเกษตรกรรมก็ยิ่งควรจะทำ เนื่องจากข้อที่หนึ่ง ถ้าต้องพัฒนาเกษตรกรรม คุณก็ต้องใช้เครื่องจักรการเกษตร ซึ่งก็คือเหล็กทั้งนั้น สองก็คือเรื่องของลอจิสติกส์ เนื่องจากว่าต้นทุนด้านนี้เป็นต้นทุนที่สูงมากๆ สำหรับการเกษตร การย้ายไม่ว่าจะเป็นข้าว ยาง จากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่งไปสู่ลูกค้าหรือคู่ค้า นี่คือต้นทุนที่มันจะทบยอดขึ้นมาเรื่อยๆ จากความถี่ในการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เป็นผลกระทบจากเหล็กทั้งนั้น เพราะไม่สามารถสร้าง Silo การเก็บและระบบลำเลียงที่มีต้นทุนราคาต่ำได้ ระบบลอจิสติกส์ที่เพิ่มประสิทธิภาพจึงไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย
ประเทศไทยเอง การตั้งโรงถลุงเหล็กมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
การตั้งโรงถลุงเหล็กตอนนี้ ต้องบอกว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ณ ปัจจุบัน เนื่องจากโรงถลุงเหล็กต้องใช้พลังงานมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น process ที่ใช้ถ่านหินหรือ process ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งสองพลังงาน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ก็อาจมีข้อดีข้อเสียที่ไม่เหมือนกัน อย่างประหยัดต้นทุน แต่มีมลภาวะ หรือต้นทุนสูง แต่มีมลภาวะต่ำ แล้วยิ่งประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติบ่อที่ขุดเจาะไปแล้วก็กำลังจะหมด นี่ก็เป็นสาเหตุว่ารัฐบาลพยายามนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นต้นทุนของพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย
คิดว่าเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความกังวลเรื่องมลภาวะและสิ่งแวดล้อมไหม
เรื่องของสิ่งแวดล้อมยังเป็นสิ่งที่ผู้คนยังสงสัยและก็ยังไม่มั่นใจ เราก็ต้องตอบประชาชนให้ได้ ว่าถ้าเราจะไปตั้งโรงถลุงอยู่ตรงไหน ในพื้นที่นั้นๆ เราจะสามารถควบคุมมลภาวะที่เขากังวลได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรงเหล็กที่เกิดขึ้นมาล่าสุด เป็นของกลุ่ม Hyundai Motor ชื่อว่า Hyundai Steel ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่คุมเรื่องมลภาวะได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่การที่เขาตั้งได้เพราะเขาลงทุนในเรื่องของการกักเก็บมลภาวะ ไม่ว่าจะสินแร่อะไรต่างๆ เขาก็สร้างโกดังใหญ่ๆ ไม่ให้มีลมหรือมีฝุ่นกระจายออกมาได้ ซึ่งตอนนี้มีเทคโนโลยีและวิธีการจัดการเพียบพร้อมหมดแล้ว ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่คนเชื่อว่ามีมลภาวะเยอะจริงๆ แล้วถ้าลงทุนอย่างถูกวิธี ก็สามารถควบคุมมลภาวะนั้นไม่ให้ออกมาสู่ภายนอกได้ และที่สำคัญ เหล็กเป็นวัสดุที่การรีไซเคิลทำได้ง่าย สามารถรีไซเคิลได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกด้วย
มองว่าในความเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก เกี่ยวข้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร แตกต่างจาก Consumer product ที่คนทั่วไปเข้าใจไหม
ความจริงแล้ว เหล็กถูกใช้ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะว่าไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องก่อสร้างโรงงาน สร้างเครื่องจักรเพื่อมาผลิต ซึ่งเราเรียกพวกนี้ว่า Capital goods ศัพท์เศรษฐศาสตร์ก็คือสินค้าที่ไปต่อยอดพัฒนา GDP ของประเทศต่อได้ ไม่เหมือน Consumer goods ที่อย่างเช่นอาหาร ที่กินแล้วก็หายไป ไม่ได้พัฒนา GDP ประเทศต่อ ฉะนั้นเหล็กเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในการสร้าง Capital goods หรือทางด้านลอจิสติกส์เอง ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน รถไฟ ก็คือใช้เหล็กทั้งนั้น รางรถไฟก็ต้องใช้เหล็กมหาศาล นอกจากนี้ถ้าเราต้องการจะผลิตสินค้า ที่เป็นไฮ-เทคโนโลยี ก็ต้องใช้เหล็กเหมือนกัน อย่างเช่นในรถยนต์หนึ่งคัน จะต้องมีเหล็กมากกว่า 20 ชนิด อย่างเช่น ประตู ภายในจะมีท่อที่เรียกว่า Door beam ซึ่งเป็นท่อที่แข็งมากๆ ต้องเป็นเหล็กที่หนาและแข็ง นั่นก็จะเป็นหนึ่งประเภท อีกประเภทหนึ่งคือเหล็กที่มาทำหลังคา ฝากระโปรง พวกนี้จะต้องนิ่ม ยืดหยุ่น ง่ายต่อการผลิต ซึ่งแต่ละส่วนก็ใช้เหล็กไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นการที่ การที่เราไม่สามารถ Customize ได้ด้วยตัวเอง ผมว่าก็ยังน่าเสียดาย ที่ทำให้ประเทศเราไม่สามารถมีสินค้าไฮ-เทคโนโลยีได้เป็นของตัวเองได้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศ จะเป็นการจับมือกันระหว่างผู้ผลิต อย่างรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ากับโรงเหล็ก ก็มีการทำ R&D ร่วมกัน เป็น Vertical Integration ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ จากอุตสาหกรรมเหล็กก็จับมือร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน
แล้วกลไกของตลาดราคาเหล็ก Demand กับ Supply เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง
จริงๆ Supply ของตลาดสินแร่เหล็ก จะค่อนข้างจะนิ่ง เพราะสินแร่เหล็กมีอยู่ไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นผู้ส่งออก หลักๆ ก็จะเป็นออสเตรเลียกินตลาดไปสักประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ โรงเหล็กทั่วโลกซื้อสินแร่เหล็กจากออสเตรเลียเกือบทั้งนั้น ตอนนี้ในสวนโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในโลก มีจีนเป็นอันดับหนึ่ง ญี่ปุ่นเป็นอันดับสอง แล้วก็เกาหลีใต้เป็นอันดับสาม ซึ่งความผันผวนของ Supply ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรงถลุงเหล็กเอง อย่างเช่นจีนพอมีช่วงที่เขาไล่ปิดโรงงานที่ทำให้เกิดมลภาวะก็เกิดการช็อต Supply หรือว่าพอมีการตั้งโรงงานใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตก็จะเป็นการเพิ่ม Supply
ส่วน Demand จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งก็คือ Local demand ซึ่งมีผลกระทบกับประเทศไทยเรามากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กก่อสร้างที่ส่งแล้วไม่ค่อยคุ้มทุนเท่าไร เพราะมูลค่ามันน้อย ต้นทุนด้านลอจิสติกส์จะกินไปหมด ปัจจัยที่ทำให้เกิดการผันผวนก็คือเรื่องการก่อสร้าง ช่วงหน้าฝนก็อาจจะเป็นช่วงที่การก่อสร้างน้อยหน่อย หรือช่วงสองปีที่ผ่านมา ความไม่ชัดเจนเรื่องการเมืองก็ทำให้การก่อสร้างไม่เยอะมาก แต่ถ้าเกิดเป็นช่วงที่นักลงทุนมีความมั่นใจกับการลงทุนในประเทศไทย ก็จะเป็นช่วงที่ Demand ของเหล็กบูม เพราะมีการก่อสร้างเยอะ โดยเฉพาะการลงทุนด้านธุรกิจจะใช้เหล็กอย่างมหาศาล เพราะว่าการสร้างโกดังหรือสร้างโรงงานก็ใช้เหล็กเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเหล็กที่เป็นผลิตภัณฑ์จะเป็นการจับมือกันระหว่างโรงเหล็กกับผู้ผลิต ทั้งรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ผันผวนจึงมีไม่มาก
สำหรับ Prime Steel Mill ตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับไหนในตลาดอุตสาหกรรมเหล็ก
บริษัท Prime Steel เองก็นำเข้าเหล็ก ซึ่งก็คือ Slab เป็นสินค้าประเภท Finished goods จากโรงถลุงเหล็ก เนื่องจากว่าประเทศไทยเราไม่มีโรงถลุงเหล็กของตัวเอง ก็ทำให้เราต้องนำเข้าวัสดุพวกนี้ จริงๆ เราเติบโตมาจากกลุ่มปลายน้ำ เรามีบริษัทใหญ่สองบริษัทเป็นหุ้นส่วนเราอยู่ ซึ่งก็คือ กลุ่มเอเชีย เมทัล จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มเดอะสตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่สองรายในประเทศไทย ผลิตเหล็กรูปพรรณไม่ว่าจะเป็นท่อกลม แป๊บเหลี่ยม ตัวซี ซึ่งเมื่อก่อนก็คือคู่แข่งกัน แต่บังเอิญผมสนิทกับทั้งสองกลุ่ม ก็เลยเปลี่ยนจากคู่แข่งให้กลายมาเป็นคู่ค้า ก็ทำให้เกิด Prime Steel Mill ที่เป็นวินวินกับทั้งสามฝ่ายได้ เราเป็นธุรกิจกลางน้ำ ผลิตเหล็กม้วนรีดร้อน เป็นวัตถุดิบที่ส่งไปให้ลูกค้าหลายประเภท ซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กรูปพรรณ ใช้เหล็กโครงสร้างต่างๆ ฉะนั้นจริงๆ แล้วอุตสาหกรรมเหล็กที่ปัจจุบันเราทำอยู่ เป็นการพยายามทำให้เกิด Vertical Integration หรือเกิดการจับมือกันระหว่างกลางน้ำ ปลายน้ำ สู่ลูกค้าสูงสุดต่อไป
อยากให้เล่าถึงโครงการบ้านเหล็กน็อคดาวน์ อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่นี้
มันเกิดจาก Pain Point ส่วนตัวของผมเอง เพราะว่าตอนที่กำลังสร้างบ้าน จะเจอปัญหาต่างๆ มากมายเหมือนคนที่เคยสร้างบ้านประสบ นั่นก็คือโครงการดีเลย์ สร้างเสร็จไม่ทันกำหนด งบประมาณเกิน ผมก็เลยมาคุยกันภายในหุ้นส่วน คิดว่าทำอย่างไรที่จะผลิตบ้านที่สามารถเพิ่มลดสเปกได้ตามความต้องการของคนธรรมดาทั่วไป
เพราะคนเราในแต่ละช่วงชีวิตความต้องการบ้านก็ไม่เหมือนกัน ถ้าคุณโสดอยู่คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ใช้สอยเยอะ มีงบประมาณจำกัดก็อยากจะได้แบบถูกๆ แต่พอเริ่มมีครอบครัว มีสามีภรรยา มีลูก ก็อาจจะต้องการห้องนอนที่เพิ่มขึ้น หรือมีพ่อแม่อยู่ด้วย เราก็ต้องเพิ่มสถานที่ให้ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายและใช้ชีวิตได้ เลยเป็นโมเดลบ้านเหล็กน็อคดาวน์ขึ้นมา สามารถเพิ่มลดสเปกได้ คล้ายๆ เลโก้ อยากได้แบบไหน ไซส์เท่าไร ก็สามารถจิ้มเลือกได้เลย นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Box Living ภายใต้ บริษัท บ็อกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยหุ้นส่วนของกลุ่ม Prime Steel Mill ด้วยกัน
เมื่อเทียบกับบ้านปกติแล้ว อะไรคือข้อดีของบ้านเหล็กน็อคดาวน์
เรามีการจับมือพัฒนาร่วมทีมผู้ออกแบบ ทำผนังเหล็กที่เป็น Sandwich Panel มีฉนวนกันความร้อน เป็นโฟม PIR ซึ่งเป็นโฟมที่สะท้อนความร้อนและความเย็นได้ เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย ช่วยประหยัดไฟได้ เพราะบ้านจะเย็นขึ้น ความคงทนด้านสถาปนิกก็ถูกคำนวณมาให้คงทนใกล้เคียงกันกับบ้านปูนปกติ
อย่างตอนที่เราเปิดตัว Soft Launch ที่ผ่านมา เราก็นำบ้านไปตั้งข้างในสยามพารากอน ประเด็นคือที่นั่นเขาห้ามใช้รถเข็น วัสดุทุกอย่างต้องใช้คนแบกเข้าไป บ้านของเราจึงใช้คนแบกเข้าไปได้ แล้วก็สามารถประกอบทั้งหมดโดยใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง จากนี้ไปเวลาสร้างบ้าน ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหนึ่งปี สองปีแล้ว และข้อดีอีกอย่างคือเข้ามาแก้ปัญหาที่คนหลายเคยพบเจอคือการต่อเติมบ้าน ผู้รับเหมาส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจะทำถ้าเป็นโครงการเล็ก เพราะต่อเติมมักจะยากกว่าสร้างใหม่ แต่ถ้าเกิดเราใช้บ้าน Box Living ก็แค่เตรียมพื้นที่สำหรับสวมและเจาะประตูเพิ่ม อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงย้ายสถานที่ได้หรือสามารถถอดไปประกอบใหม่ได้
ได้ยินมาว่า มีแนวคิดอยากจะนำบ้านเหล็กน็อคดาวน์ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามพื้นที่ประสบภัยต่างๆ ด้วย
แรงบันดาลใจของโครงการนี้ เกิดจากเหตุการณ์ 13 หมูป่า อะคาเดมี เพราะตอนนั้นเด็กที่เขาไปติดอยู่ในถ้ำ อัตราการรอดชีวิตเรียกว่านับกันวินาทีต่อวินาที ยิ่งไปถึงผู้ประสบภัยได้ช้าเท่าไร ก็ยิ่งหมายถึงความเป็นความตายของเขามากเท่านั้น แล้วเราก็ได้เห็นภาพถึงการโยกย้ายอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ขึ้นผ่านภูเขา ผ่านถ้ำ อย่างเช่น ทีมท่อพญานาคซิ่ง ที่สามารถเคลื่อนที่เครื่องสูบน้ำด้วยความรวดเร็วได้ เราก็มองว่า น่าจะมีบ้านที่เคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็วได้อย่างนั้นได้บ้าง
บ้านน็อคดาวน์ของเรา คอนเซ็ปต์ก็คือสามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยความรวดเร็ว น้ำหนักเบาแค่ 1.2 ตันต่อหลัง สามารถที่จะขึ้นรถกระบะได้เลยคันหนึ่ง ฉะนั้นเราจึงสามารถไปตามจุดต่างๆ ได้ด้วยความรวดเร็ว แล้วเราเคยศึกษาว่าเวลาเกิดภัยพิบัติ หนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญที่สุดคือที่พักอาศัย นอกจากนี้ปัญหาของประเทศไทย คือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เจอภัยพิบัติ จะเกิดขึ้นแล้วแต่ฤดูกาล ยกตัวอย่างภาคใต้ก็อาจจะเจอพายุในช่วงหน้าฝน ทำให้ที่พักอาศัยได้รับความเสียหาย แต่พอภาคเหนือก็จะเจอวิกฤติของเรื่องอากาศในช่วงฤดูหนาว เราก็มีไอเดียว่า เราสามารถที่จะย้ายบ้านของเรา ซึ่งสามารถน็อคดาวน์แล้วก็เคลื่อนที่ได้ด้วยความรวดเร็ว จากภาคใต้มาภาคเหนือได้ทันที สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ธรรมชาติต่างๆ ในประเทศเราได้ ซึ่งตรงนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาว่า บ้านน็อคดาวน์จะสามารถไปช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ในรูปแบบไหน เราก็มีคุยกับมูลนิธิต่างๆ ไว้แล้ว ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
นอกจากนี้บ้านเหล็กของเราถูกออกแบบมาว่า ผู้ติดตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะการที่หาผู้เชี่ยวชาญไปในหน้างาน ตามที่ต่างๆ ถ้าเป็นพื้นที่ทุรกันดารก็จะเป็นไปได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ค่อยอยากจะไป ฉะนั้นเราออกแบบมาเพื่อให้ช่างท้องถิ่นสามารถถอดประกอบได้ด้วยตัวเอง มีคู่มือพร้อม ขอให้มีฝีมือช่างนิดหน่อย รู้ว่าขันน็อตแน่นก็พอ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นตรงนั้นไปด้วย
มองว่าปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในเมืองทุกวันนี้ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กในบ้านเราอย่างไร
ประเทศไทยเราไปสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซลเสียยาวนาน มองว่าน้ำมันดีเซลเป็นพลังงานที่ใช้ในการขนส่งหลักของประเทศด้านลอจิสติกส์ พอมองว่าน้ำมันดีเซลเป็นพลังงานเศรษฐกิจ เขาก็เลยไปสนับสนุนราคามันเป็นหลายๆ สิบปี ทำให้คนเวลาจะซื้อรถก็เลือกที่ใช้น้ำมันดีเซลก่อน เพราะรัฐบาลสนับสนุน จนขนาดว่าคนรวยที่ถอยเบนซ์ ยังเลือกรุ่นที่ใช้น้ำมันดีเซลเลย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สมเหตุสมผลเลย ในต่างประเทศเขาก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันดีเซลทั้งนั้น เพราะน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่เผาผลาญยากและที่สำคัญคือก่อให้เกิดฝุ่น
ผมอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กมาจะ 14 ปีแล้ว ได้เห็นการใช้งานของเหล็กทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งต้องบอกว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ EV อย่างสูง เพราะประเทศเราเป็น Hub ในการผลิตรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ของทั้งเอเชีย ปีที่แล้วเรามีการผลิตรถยนต์เกิน 2 ล้านคันในหนึ่งปี เรียกว่าชิ้นส่วนเหล็กต่างๆ ที่จะมาทำรถยนต์ EV เรามีศักยภาพแล้ว ณ วันนี้เลย
ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าพวกนี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีในเรื่องของการผลิตมอเตอร์ แต่รถยนต์ EV มันกระโดดข้ามไปเลย เพราะไม่มอเตอร์ที่เป็นตัวจุดระเบิดน้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 แต่ว่าต้องได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เหตุผลที่ทุกวันนี้ EV ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากยังหาที่ชาร์จแบตยาก ตามคอนโด ตามห้างใหญ่ๆ บางที่ก็ยังไม่มีที่เสียบปลั๊ก หรือตามปั๊มน้ำมันก็ยังไม่มี
แต่การลดการใช้น้ำมันทุกวันนี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ยาก เพราะยังเป็นพลังงานหลักสำหรับการขนส่งอยู่ดี มองทางออกตรงนี้อย่างไร
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรจะยกเลิกได้แล้ว คือการสนับสนุนน้ำมันดีเซลซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ แต่ควรจะไปสนับสนุนพลังงานสะอาด ในประเทศจีน ช่วงที่เขาเจอประสบปัญหาฝุ่นนี้เหมือนกับเรา ประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เขาเริ่มจากการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะให้เป็นระบบไฟฟ้าหมด รถเมล์กลายเป็นไฟฟ้า บังคับให้หัวเมืองใหญ่ทุกเมือง มอเตอร์ไซค์ที่ใช้ต้องเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเท่านั้น เพราะยิ่งเครื่องยนต์เล็ก ก็ยิ่งเผาผลาญไม่ดี ยิ่งก่อให้เกิดฝุ่นพวกนี้
ฉะนั้นมันต้องเป็นขั้นเป็นตอน ต้องเริ่มจากรัฐบาลก่อน ระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐบาลควบคุมได้ เปลี่ยนเป็นไฟฟ้าให้หมด แล้วก็ค่อยๆ ไล่ไปจนถึงบุคคลทั่วไป เพื่อที่ว่าในอนาคตถ้าเขาอยากจะเปลี่ยนรถ ก็ให้คำนึงถึงรถที่พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเริ่มจากการหยุดสนับสนุนพลังงานที่ไม่สะอาด แล้วไปสนับสนุนพลังงานที่สะอาดแทน
มองว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน เพราะเท่าที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่มีกระแสตอบรับในเรื่องนี้เท่าไร คนอาจยังมองว่าลำบากและไกลตัวอยู่
ผมคิดง่ายๆ ผมว่ามนุษย์เราทุกคน ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนชาติไหนก็แล้วแต่ จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจที่จะทำให้พลังงานสะอาดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนในประเทศไทย ต้องทำให้เขาใช้น้ำมันหรือใช้พลังงานที่ไม่สะอาดแล้วรู้สึกว่ามันลำบาก รู้สึกว่ามันแพง แต่ในขณะที่ใช้พลังงานที่สะอาด แล้วรู้สึกมันง่าย ราคาถูก อย่าไปลดราคาพลังงานที่สกปรก ต้อง Overcharge มันด้วยซ้ำ เพื่อให้คนไม่อยากใช้พลังงานตัวนี้ แล้วเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่สะอาด
พอมีคนเริ่มลองหนึ่งคน สองคน สามคน กลุ่มที่เรียกว่า Early innovators คนพวกนี้จะเป็นพวกนำร่อง มีความรู้เยอะ พอเขาใช้แล้วชีวิตเขาดีขึ้น สะดวกมากขึ้น ก็จะมีกลุ่มที่เรียกว่า Late comers เขาก็จะเห็นว่ามันใช้ได้จริง มันถูกจริง แล้วไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม คุณไม่ต้องไปอธิบายให้ปากเปียกปากแฉะ เดี๋ยวคนอื่นก็ตามมาเอง
แสดงว่านอกจากการผลักดันของรัฐบาลเองแล้ว บทบาทของคนธรรมดาก็มีผลเช่นกัน
ในมุมมองของผม ทุกวันนี้เทคโนโลยีเรื่องการสื่อสารมันสูงมากขึ้น อย่างในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา ผมเห็นภาพหนึ่ง ซึ่งประทับใจมาก ก็คือผู้คนใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ในการกระจายความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้อย่างไร รวมถึงแนะนำรัฐบาลว่าควรจะแก้ปัญญาวิธีไหนบ้าง ถ้าเป็นในอดีตประชาชนธรรมดาอย่างพวกเรา คงนึกไม่ออก ว่าจะไปพูดกับผู้มีอำนาจได้อย่างไร แต่เหตุการณ์นี้คือมีประชาชนส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เข้าโซเชียลมีเดีย รัฐบาลก็นำข้อมูลพวกนี้ไปใช้งานต่อ
อย่างตอนแรก กทม. บอกจะใช้โดรนพ่นน้ำที่มีกากน้ำตาลหรือโมลาส แต่ก็มีกระแสของโซเชียลมีเดียที่มาจากผู้รู้จริงๆ เลย เป็นคนธรรมดาอย่างคุณกับผม แต่เขามีความรู้และทำงานเกี่ยวกับฝุ่นละออง เขาก็มาอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน มีข้อมูลครบถ้วนว่ากากน้ำตาลโมเลกุลมันใหญ่ ผิวมันตึง ทำให้ฝุ่นไม่มาเข้ามาอยู่ในน้ำที่มีกากน้ำตาล ก็เป็นกระแสขึ้นมา ปรากฏว่า กทม.ก็เปลี่ยนนโยบายกลายมาเป็นใช้ละอองน้ำเฉยๆ ซึ่งผมมองว่า กระแสของโซเชียลมีเดียมีผลกระทบอย่างมาก และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
ผมก็คาดหวังว่าในเรื่องของการผลักดันการใช้ชีวิตต่างๆ เพื่อให้ลดมลภาวะ อย่างเช่น บ้านเหล็กน็อคดาวน์ ซึ่งไม่เกิดฝุ่น หรือว่าการพัฒนาสนับสนุนโครงการ EV ผมก็หวังว่ามันจะเกิดได้จริงกับสังคมเรา ผ่านช่องทางที่มีพลังอย่างนี้บ้าง