แหล่งบงกชสามารถพัฒนาการผลิตได้สูงถึง 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อยอดด้วยการพัฒนาความรู้ บุคลากร และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
โดยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ช่วยทดแทนการนำเข้า และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ภารกิจของชาวบงกชในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย อย่างแท้จริง…
MADE IN BONGKOT เรื่องราวสร้างจากเรื่องจริง
จากเรื่องราวชีวิตของผู้คนบนแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงจนสร้างความฮือฮาด้วยยอดวิวบนยูทูบและเฟซบุ๊กรวมกว่า 7 ล้านวิว จากตัวบทเพลงที่เอาเพลงแร็ปมารวมกับการร้องโอเปร่าผ่านการฟีเจอริ่งกันระหว่าง เจ-เจตมนต์ และ สันติ ลุนเผ่ อย่างลงตัว ร่วมไปกับเนื้อหาเรื่องราวในมิวสิควิดีโอที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของชาว “บงกช” ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญกลางอ่าวไทย บอกเล่าภารกิจสำคัญของการทำงานบนแท่นให้ประชาชนทั่วไปได้มองเห็น
เรื่องราวของชาวบงกชโลดแล่นอยู่ในเพลง “MADE IN BONGKOT” เชื่อว่าเมื่อได้ฟังเพลงนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าภารกิจของพวกเขา ไม่ใช่เพียงการส่งต่อพลังงานให้คนไทยได้ใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังทำให้คนไทยมีองค์ความรู้ในการเสาะหาพลังงานเป็นของตัวเอง และส่งต่อองค์ความรู้นั้นจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา
25 ปี กับจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้
ถ้าเทียบกับอายุคน 25 ปี ก็คือวัยเริ่มทำงานที่ยังหนุ่มแน่น แต่ถ้าเทียบกับระยะเวลาการทำงานแล้วละก็ นับเป็นเวลาที่จะสร้างคนให้เก๋าเกมพอที่จะสร้างชุดความรู้ที่เป็นของตัวเองได้ เช่นเดียวกับที่แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกที่บริษัทคนไทยเป็นผู้ดำเนินการ การพัฒนาและเติบโตตลอด 25 ปีนี้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้งานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ยุคบุกเบิกที่มี “โททาล” บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศสเป็นผู้ปูพื้นฐานให้ก่อนที่ 5 ปีต่อมา จะถูกส่งต่อให้ ปตท.สผ. รับโอนเป็นผู้ดำเนินการ
5 ปีนั้นนับว่าเป็นช่วงที่ทาง ปตท.สผ. เอง ต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้รอบด้านให้ได้มากที่สุด และหนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือการส่งบุคลากรออกไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศในยุคที่เมืองไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาก่อน จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่คนไทยเองมีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับนานาชาติ หน่วยงานก็ยังคงส่งคนออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพร้อมที่จะกลับมาปฏิบัติงานบนแท่นได้อย่างมั่นใจ
บุกเบิกเพื่อเรียนรู้
การทำงานที่แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชก็เหมือนกับโรงเรียน เพราะองค์ความรู้ที่ได้เกิดขึ้นจากความรู้ในตำราบวกกับประสบการณ์หน้างานจริง ซึ่งไม่มีใครที่จะสอนเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าคนที่ทำงานมาก่อน เช่นเดียวกับ คุณวุฒิพล ท้วมภูมิงาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานโครงการผลิตและบริหารซัพพลายเชน ปตท.สผ. ที่เริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรผู้ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศรุ่นบุกเบิก
“เวลาฝรั่งเขาสอนงาน เขาไม่ได้สอนตรงๆ ก็ต้องอาศัยสังเกตเขา เวลาสั่งงาน บางทีเขาสั่งเลย ไม่ได้มาอธิบายว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเราสามารถเรียนรู้งานได้ด้วยตัวเอง ข้อเสียคือมันอาจเสียเวลาหน่อยกว่าจะจับได้ถูกทาง” และจากประสบการณ์ลองผิดลองถูกนี่เองที่กลายมาเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมสำหรับการทำงานบนแท่นในเมืองไทย
จากการเรียนรู้ กลายเป็นครูให้รุ่นน้อง
องค์ความรู้ทั้งหมดถูกส่งต่อให้กับรุ่นน้องแบบไม่มีกั๊ก เพราะความสัมพันธ์ที่แนบแน่นแบบพี่น้อง ยิ่งทำให้ไอเดียใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกันได้ดีกับ Know-How ซึ่งสร้างความสำเร็จให้กับการทำงานตลอดเวลาที่ผ่านมา อย่างที่ คุณประทีป มหาสวัสดิ์ ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชเหนือ ปตท.สผ. ก็ผ่านจุดที่เปลี่ยนบทบาทจากนักเรียนในวันก่อน สู่การเป็นครูในวันนี้
“พอเรากลับมาทำงานกับคนไทยด้วยกัน ก็มีความสนิทใจกันมากขึ้น การรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ตอนแรกก็ยาก เพราะเวลาที่เราสั่งงาน น้องๆ ก็มักจะมีคำถามกลับมาเสมอว่าทำไปทำไม แต่พอเริ่มจับทางถูก เราก็เข้าใจว่าการที่เขาถามอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเขาเองจะได้ลองคิดหาวิธีการใหม่ๆ ที่อาจจะได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หรือผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร และให้โอกาสเขาลองผิดลองถูก โดยเราคอยดูอยู่ห่างๆ และเป็นที่พึ่งเวลาเขาเจอปัญหา”
ชีวิตบนแท่น ที่ต้องทุ่มลงไปทั้งใจ
ท่ามกลางความเวิ้งว้างบนผืนน้ำของอ่าวไทย นับต้องใช้ใจที่กล้าหาญพอดูที่จะต้องจากบ้านจากครอบครัวไปอยู่บนแท่นตลอด 24 ชั่วโมง ครั้งละ 21 วันติดต่อกัน เราๆ ลองคิดก็อาจจะรู้สึกอึดอัดเพราะเหมือนกับต้องอยู่ติดในออฟฟิศตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้วที่นี่ก็เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองให้กับ กนกพร สินธวารยัน วิศวกรวางแผนโครงการ ปตท.สผ. เพราะชีวิตด้านอื่นที่อาจไม่เคยมองเห็นสำหรับเธอก็เกิดขึ้นที่นี่
“สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกเหนือจากการทำงาน อย่างแรกคือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราได้เห็นฉลามวาฬมาว่ายน้ำรอบแท่นหลายครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเรายิ่งต้องเข้มงวดกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อย่างที่สองคือเรื่องความรักครอบครัว ส่วนใหญ่คนที่อยู่บนนั้นรักครอบครัวนะ อย่างตอนเย็นก็จะเห็นคนเป็นพ่อเฟสไทม์คุยกับลูก ได้เห็นด้านอ่อนโยนที่ปกติตอนทำงานไม่เห็น ซึ่งถ้าเป็นการทำงานในออฟฟิศ ถ้าเลิกงาน ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ก็คงไม่เห็นด้านอ่อนโยนแบบนี้”
จากอัตราการผลิตแรกเริ่มเพียง 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันแหล่งบงกชสามารถพัฒนาการผลิตได้สูงถึง 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อยอดด้วยการพัฒนาความรู้ บุคลากร และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ช่วยทดแทนการนำเข้า และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งก๊าซฯ ที่ผลิตได้จากแหล่งบงกช คิดเป็นร้อยละ 30 ของก๊าซฯ ที่ผลิตได้ภายในประเทศ นอกจากนี้ ก๊าซฯ จากแหล่งบงกชยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของปิโตรเคมี รวมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ
ภารกิจของพวกเขาทั้งสามคนในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย อย่างแท้จริง…
คลิกเพื่อชมมิวสิควิดีโอ MADE IN BONGKOT ได้ที่ https://youtu.be/X6MvZ0HQlG4