เชื่อได้เลยว่า สิ่งที่ตอนนี้ทุกคนโหยหามากเป็นพิเศษคือ การได้ออกไปท่องเที่ยวไกลๆ ขึ้นเหนือลงใต้ ท่องธรรมชาติ เยี่ยมเยียนวิถีชีวิต และได้แต่หวังว่าจะได้กลับไปเดินทางสะดวกสบายเหมือนปกติดังเดิม
เช่นเดียวกันกับแหล่งท่องเที่ยวเจ้าภาพหลายแห่งที่ใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมความพร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อชวนคุณสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ พร้อมกับเก็บเกี่ยวความสุขและชาร์จพลังงานให้เต็มอีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างเตรียมตัวก่อนการแพ็คกระเป๋าออกเดินทางครั้งต่อไป เราชวนคุณมาแพ็คหัวใจและเตรียมพร้อมกับการเป็น ‘นักท่องเที่ยวคุณภาพ’ ไปกับคุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. และครูทอม – จักรกฤต โยมพยอม นักท่องเที่ยวมืออาชีพ เพื่อที่การท่องเที่ยวครั้งต่อๆ ไปของคุณจะได้สร้างคุณค่าไม่เพียงกับหัวใจของตัวเอง แต่ยังเป็นหัวใจของเพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นิยามของนโยบายการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)
จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ หรือ Responsible Tourism โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้การท่องเที่ยวเป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น โดยไม่สร้างผลกระทบในทางลบทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
คุณธเนศวร์ : “เรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ พูดกันมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วครับ ราว 6-7 ปีได้แล้ว แต่ขณะนี้ถึงเวลาที่ควรจะพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว เพราะในช่วงปี 2563 และ 2564 ที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาที่เมืองไทยมากนัก เราได้เห็นสัญญาณบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติมันกลับมางดงามจริงๆ”
“ประกอบกับรัฐบาลได้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเรื่องของ BCG Model ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้สินค้าทางการเกษตรสามารถที่จะพัฒนาต่อในเชิงของวัฒนธรรม แล้วก็ขับเคลื่อนในเรื่องของทางเศรษฐกิจไปได้ จึงต้องสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้แข็งแรง การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจึงกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
“ผมคิดว่าการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเป็นสูตรหนึ่งของเครื่องมือการท่องเที่ยวที่ช่วยยืนยันได้ว่า การท่องเที่ยวสามารถกระจายรายได้ตรงไปยังชุมชนได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นการกระจุกรายได้อยู่ในตัวเมืองใหญ่ๆ เราต้องการให้รายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องลงตรงไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ เจ้าของฟาร์ม เจ้าของสวนโดยตรงนะครับ”
“ยกตัวอย่างการจัดกิจกรรม อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน นะครับ ทัวร์ผลไม้ของภาคตะวันออก ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่พอเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า นักท่องเที่ยวเข้าไปก่อให้เกิดรายได้ตรงไปยังเจ้าของสวนโดยตรง เจ้าของสวนก็สามารถที่จะนำรายได้เหล่านั้นมาพัฒนาให้ผลิตผลของเกษตรเติบโตขึ้นไปได้นะครับ แน่นอนส่วนหนึ่งเขาอาจจะส่งออกไป ส่วนหนึ่งเขาก็เก็บไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวบริโภคด้วย”
“สำหรับนักท่องเที่ยวเอง เราก็อยากสร้างความตระหนักให้เข้าใจถึงการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยให้เข้าใจถึงอัตลักษณ์ เข้าใจในสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราไป ผมคิดว่าการท่องเที่ยวภายหลังของสถานการณ์โควิด-19 มันน่าจะไปในทิศทางอย่างนั้น และ ททท. ก็อยากจะผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขับเคลื่อนไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไปแล้ว การกระจายตัวของรายได้ตรงเข้าสู่ชาวบ้าน ชุมชน อย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัว ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ ททท. อยากจะให้มันเป็นครับ”
ครูทอม : “ถ้าพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคม หลังๆ มานี้ ผมเห็นได้ชัดเลยว่า คนค่อนข้างจะใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น อย่างเมื่อก่อน หลายครั้งเราไปเที่ยวแค่เพื่อว่าเราอยากสร้างความบันเทิงให้ตัวเอง แต่ว่าพอระยะหลังมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น มีสื่อมากขึ้น มี Influencer จำนวนไม่น้อยที่ออกมาพูดเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ซึ่งพอมันมีเยอะขึ้น ก็เหมือนกับว่าเราได้ซึมซับ เราได้เรียนรู้ไปในตัวนะครับ”
“จากที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็เห็นได้ชัดเลยว่า คนพยายามลดการสร้างขยะ คนไม่น้อยเวลาไปเที่ยว จะพกกระบอกน้ำส่วนตัว หรืออย่างตอนที่ผมไปดำน้ำ บนเรือก็จะเห็นได้ชัดว่าคนตักอาหารน้อยลงกว่าเดิม เพื่อจะได้ลด food waste อย่างนี้ก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การเดินเก็บขยะริมชายหาด ไม่ว่าจะเป็นขยะที่เขาสร้างเองหรือเปล่า แต่เราก็เจอนักท่องเที่ยวหลายคนที่ออกมาทำแบบนี้ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่าคนใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าอยากจะรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นครับ”
โครงการภายใต้นโยบายการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ สู่การปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว
จากแนวคิดภายใต้ร่มใหญ่ของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ททท. สร้างการตระหนักถึงอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการ 7 Greens และโครงการลดโลกเลอะ นำมาสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ตอบจุดประสงค์ของนโยบาย เพื่อสร้างการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและเกิดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ
คุณธเนศวร์ : “7 Greens คือแนวคิดทางการท่องเที่ยวที่กระตุ้นให้ผู้คนใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ทำให้การท่องเที่ยวดำเนินไปในแง่ของการส่งเสริมและปกป้อง ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ ได้แก่ Green Heart เจ้าของบ้านและนักท่องเที่ยวต้องมีหัวใจสีเขียว, Green Logistics การเดินทางที่ประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน, Green Attraction เจ้าของแหล่งท่องเที่ยวต้องมีการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นให้ทรัพยากรสร้างผลประโยชน์ให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง”
“ต่อมาคือ Green Activity กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม, Green Community ชุมชนสีเขียว, Green Service นั่นก็คือรูปแบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายก็คือ Green Plus เมื่อเราใช้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทางธรรมชาติแล้ว เราต้องส่งคืนต้นทุนทรัพยากรกลับไปด้วย ตลอดจน โครงการลดโลกเลอะ ที่นำแนวคิด 7 Greens มาต่อยอดร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ทำปฏิญญา “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” มุ่งลดการสร้างขยะในแหล่งท่องเที่ยว ลดการใช้พลาสติก และร่วมกับภาคประชาชน รณรงค์ปลูกจิตสำนึกจากการจัดกิจกรรมร่วมกับศิลปิน คุณเป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร และกลุ่มแฟนคลับ ในปี 2562-2563 โดยเน้นที่ Message “ลดโลกเลอะ เริ่มที่ตัวเรา” เพื่อสร้างการรับรู้และให้เกิดผลผลิตที่ส่งผลดีต่อองค์รวมมากขึ้น”
ครูทอม : “ถ้าถามว่าฝั่งนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปสามารถจะเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมได้โดยวิธีไหนได้บ้าง ผมว่ามันทำได้หลายวิธีมาก แน่นอนว่าความรับผิดชอบมันเป็นส่วนเสริมที่เพิ่มขึ้นมาจากการท่องเที่ยว นั่นแปลว่าเราควรจะเลือกทำตามที่ตัวเองสะดวกครับ ง่ายที่สุดก็คือเราไม่สร้างขยะเพิ่มนะครับ อาจจะไม่ใช่ว่าเราทุกคนต้องเก็บขยะกลับมา”
“ซึ่งเราสามารถสังเกตได้เลยครับ ว่าคนรอบข้างเขาทำอะไรกันบ้าง เราสะดวกใจที่จะทำตามอันไหน เราก็ทำ แค่นั้นเองครับ เราไม่จำเป็นว่าจะต้องคิดตลอดว่าฉันต้องรับผิดชอบจนทำให้ความสุขระหว่างการเดินทางหายไป นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เราเข้าไปในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ เราก็ต้องคิดว่า เราจะทำยังไงไม่ให้ความเป็นอยู่ของเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางลบและความเป็นวัฒนธรรมตรงนั้นยังคงอยู่”
“การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ ทางที่ดีที่สุดก็คือต้องมาจากภายในของตัวเอง มาจากจิตสำนึกของเรา”
คุณธเนศวร์ : “การจัดโครงการต่างๆ นอกจากจะมีจุดประสงค์โดยตรงอย่างการสร้างให้ประเทศไทยเป็น Preferred Destination หรือปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวแล้ว โดยอ้อมยังมีส่วนช่วยในการรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างโครงการ Michelin Guide Thailand ซึ่งเริ่มจากร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอย่างหนังสือคู่มืออาหาร Michelin เข้ามาช่วยยกระดับอัตลักษณ์และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy) ในประเทศไทย”
“ในปีล่าสุด 2021 มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์ : กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดเชียงใหม่ เราได้เพิ่มรางวัล Michelin Green Star มอบให้กับร้านอาหารที่ดำเนินกิจการและประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การรีไซเคิล ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น และไม่ก่อให้เกิดขยะ จากการปรุงอาหารให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งการทำงานของ Michelin เขาใส่ใจมากๆ เริ่มต้นจากในครัว เชฟทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมแผนการสร้างสรรค์อาหารและคำนวณปริมาณอาหารให้พอดีกับจำนวนผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดขยะอาหาร กรณีถ้าเหลือ เขาก็จะแบ่งต่อเป็นอาหารประเภทที่ยังแยกได้ ไปให้ทางฟาร์มสัตว์ หรือบดปั่นส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อแปรสภาพให้เป็นปุ๋ยไว้ใช้งานต่อ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มีคุณภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”
กิจกรรมการท่องเที่ยว และความประทับใจที่อยากบอกต่อ
จากคำบอกเล่าเรื่องการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ สู่ตัวอย่างจริงจากประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจของคุณธเนศวร์ และครูทอม
คุณธเนศวร์ : “โดยการทำงานของพนักงาน ททท. ต้องเดินทางปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ผมเป็นวัยรุ่น ก็เดินทางโดยรถ รถไฟ เครื่องบิน จนมาถึงจุดหนึ่งที่เป็นผู้ใหญ่ สามารถเดินทางด้วยตัวเองแล้ว ผมต้องเลือกพาหนะที่ทำให้มันไม่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่ชอบทั้ง 2 อย่าง คือการเดินด้วยสองขาของผม แต่ระยะหลังๆ นี้ ผมก็จะเลือกใช้จักรยาน เป็นพาหนะ Low Carbon ไม่เกิดมลภาวะ ไม่ใช้เชื้อเพลิงใดๆ เมื่อเข้าไปพบกับสำนักงาน ททท. ต่างจังหวัด ผมจะขอทำความรู้จักกับชมรมจักรยานในพื้นที่หน่อย เพราะผมแน่ใจว่าคนที่เป็นเจ้าของชมรมในพื้นที่ เขาจะรู้จักเอกลักษณ์และความสวยงามของพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นได้ดีที่สุด”
“ส่วนทริปประทับใจของผม เล่าเป็นวันๆ ก็ไม่จบ ล่าสุดผมได้ไปปั่นจักรยานกับน้องๆ ที่ลัดเลาะไปตามเกาะรัตนโกสินทร์ พบว่าชุมชนแถวเยาวราช ชุมชนแถวหลังวัดสระเกศ ชุมชนแถวบางลำพู ชุมชนแถวท่าพระอาทิตย์ ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีชีวิตของคนกรุงแบบ Old Town เราได้เรียนรู้ สัมผัสบรรยากาศ และเสน่ห์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างชัดเจน ใกล้ชิด ที่ผมประทับใจมากกว่านั้น เวลาเราไปต่างจังหวัด ผมคิดว่าแต่ละพื้นที่มี Old Town ทั้งหมด และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เมืองแบบนี้ถ้าเป็นต่างประเทศ ผมคิดว่าเขาจะไม่ให้นำรถยนต์เข้า ส่งเสริมให้คนเดินกับใช้จักรยาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และรักษาให้คงอยู่อย่างงดงามตามกาลเวลา เป็นเสน่ห์ของการเดินทางท่องเที่ยวรูปแบบ Low Carbon ที่น่าสนใจ”
“นี่คือเทรนด์ของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป เราก็คาดหวังว่าเมืองท่องเที่ยวสำคัญของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลำปาง สงขลา หรือเกาะรัตนโกสินทร์ น่าจะมีการทำถนนให้กับคนเดินและจักรยาน จะช่วยลดคาร์บอนมอนอกไซด์ลงไปมหาศาลเลยนะครับ บรรยากาศก็ดีขึ้น และจักรยานก็ทำให้เราได้สัมผัสชีวิตคนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นอีก”
ครูทอม : “อันหนึ่งที่ผมประทับใจมาก แล้วก็รู้สึกว่าเป็นการก้าวข้ามความรู้สึกบางอย่างในจิตใจตัวเอง ก็คือทริปดำน้ำ ผมเองเพิ่งเข้าสู่วงการดำน้ำได้ไม่นานนะครับ เพราะตั้งแต่ตอนเด็กจะเป็นคนที่กลัวโลกใต้ทะเลมาก จนเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว มีโอกาสได้ไปถ่ายรายการที่เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะต่างๆ แถบนั้น แล้วก็ได้ไปดำน้ำตื้น แต่ว่าจุดที่เขาพาไปมันสวยมาก มันคือโลกใต้ทะเลแบบที่เราเห็นในสารคดี มีปะการัง มีปลา มีลูกฉลามน้อยๆ มาว่ายกอดเรา รู้สึกว่านี่มันคือโลกใต้ทะเลที่สวยงาม ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสอยากจะไปเรียนดำน้ำจริงจัง”
“ซึ่งโรงเรียนที่ผมไปเรียนดำน้ำ เขาก็จะจัดกิจกรรมพาไปดำน้ำเก็บขยะทุกปีอยู่แล้ว แล้วเขามีประกาศนียบัตรให้ด้วยว่าผ่านการอบรม ซึ่งการดำน้ำเก็บขยะ จะมีการอบรมก่อนเลยว่าเวลาเราไปดำน้ำเพื่อเก็บขยะ ขยะแบบไหนเก็บได้ แบบไหนเก็บไม่ได้ เพราะขยะบางอย่างมันอยู่นานจนกลายเป็นว่า นั่นคือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศไปแล้ว มันเป็นแหล่งที่ใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไปแล้ว ถ้าเราไปเก็บขึ้นมา มันคือเราไปทำลายชีวิตเขาไปด้วย”
“รู้สึกว่าอันนี้มันบรรลุจุดมุ่งหมายหนึ่งของการมาเรียนดำน้ำ คือเราได้ก้าวข้ามความกลัว แล้วเราได้มาดำน้ำเพื่อเก็บขยะจริงๆ พอเราเรียนดำน้ำ เราได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโลกใต้ทะเลด้วย มันทำให้เรายิ่งอินกับสิ่งนี้มากขึ้นอีก หลังจากนั้นมาเวลาลงไปดำน้ำ จะพยายามสอดส่ายสายตานอกจากดูปลา ดูปะการัง เราหาขยะเก็บกลับมา เหมือนกับพฤติกรรมเปลี่ยนไปประมาณหนึ่งเลย”
‘นักท่องเที่ยวคุณภาพ’ ที่ทุกคนก็เป็นได้
จากประสบการณ์สู่การส่งต่อแรงบันดาลใจเพื่อสร้างนักท่องเที่ยวคุณภาพ ส่งต่อให้กับสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผลดีทั้งหมดกลับคืนทั้งสู่ความสุขของนักท่องเที่ยวเอง พร้อมกับช่วยยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ยั่งยืน
ครูทอม : “นักท่องเที่ยวคุณภาพในนิยามของผม เหมือนกับว่าต้องรู้ Job Description ของตัวเอง ว่าเราเป็นนักท่องเที่ยว คือเราไปเที่ยว เราเป็นแขกที่เราเข้าไปดู เราเข้าไปเรียนรู้ อย่าไปสร้างความเสียหายให้ที่นั่น ไม่ว่าจะใช้เชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เหมือนที่เราได้ยินบ่อยครั้งว่า เราเก็บกลับมาแค่ภาพถ่าย ฝากทิ้งไว้แค่รอยเท้าก็พอ ซึ่งผมคิดว่ามันจริงมากจนถึงปัจจุบันนะครับ ในฐานะนักท่องเที่ยว เราไปเที่ยว เราไปเรียนรู้แค่นั้น เราอย่าไปทำลาย อย่าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ นั่นแหละครับ ผมว่าถ้าเราทำได้แบบนี้ ก็ถือว่าเราก็คือนักท่องเที่ยวคุณภาพแล้ว”
คุณธเนศวร์ : “นักท่องเที่ยวคุณภาพ คือนักท่องเที่ยวที่พร้อมที่จะจ่ายเงินนะครับ ต้องแน่ใจว่าพร้อมที่จะจ่ายตรงกับผู้ที่ผลิตจริงๆ ก็คือชาวบ้านจริงๆ นักท่องเที่ยวที่มีความเข้าใจว่าการท่องเที่ยวของคุณต้องระมัดระวังว่าไม่ไปกระทบกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของเขา ผมนึกถึงคำไทยประโยคหนึ่งครับ เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม เพราะฉะนั้นหลักคิดง่ายๆ ก็คือเริ่มจากตัวเรา วางแผนการเดินทางให้ดี”
“ขอให้ทริปที่จะออกจากบ้านของคุณต่อจากนี้ไป เป็นทริปที่ไม่ได้สร้างภาระ แต่ควรจะเป็นทริปที่ช่วยลดภาระให้กับสถานที่ที่คุณไป ผมว่านี่คือหลักสำคัญของแนวคิด Responsible Tourism หรือว่าการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และนี่คือความสุขที่แท้จริง ความสุขของการที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับครับ”