ปัญหาอย่างหนึ่งของความเข้าใจศิลปะในบ้านเรา คือศิลปะต้องเข้าไปเสพในแกลเลอรี่เท่านั้น หากแต่ในบ้านเรายังมีศิลปินเก่งๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ให้ไปปรากฏอยู่ตามหัวมุมถนน บนกำแพง งานดีไซน์ต่างๆ เสื้อยืดสักตัว หรือกระทั่งบน packaging ของสินค้าสักชิ้น นิยามของคำว่าศิลปะจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเฟรมรูปภาพ
หลายคนคงเคยเห็นงาน Street Art รูปสัตว์หลากหลายชนิด สีสันบาดตา หน้าตาเหลี่ยมๆ แต่กลับให้ความรู้สึกเคลี่อนไหวอยู่ภายใน เจ้าของผลงานคือ รักกิจ ควรหาเวช กราฟิกดีไซเนอร์และศิลปิน street art ที่ผลงานจาก block stencil ของเขากำลังสร้างอิทธิพลในแวดวงศิลปะจนผลงานแทบจะไปกรากฏอยู่ในทุกสื่อ รวมไปถึงหลายแบรนด์ก็เลือก collaborate กับเขาจนออกมาเป็นโปรดักค์ดีไซน์เท่ๆ มากมาย อย่างล่าสุดก็เพิ่งไปออกแบบลายกระป๋อง U beer รุ่น Limited Edition ที่เปิดตัวในงาน Beerfest Asia 2017 ที่สิงคโปร์ จนได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
รักกิจก็เป็นเหมือนศิลปินทั่วไปที่เส้นทางการสร้างผลงานศิลปะเกิดจากความชอบ แต่สิ่งที่เขาแตกต่างคือการทดลองสร้างผลงานจนสามารถค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเองได้ในที่สุด และที่สำคัญคือการมองว่างานศิลปะไม่มีกรอบของพื้นที่ในการแสดงผลงาน ผลงานของเขาจึงไปปรากฏอยู่ในทุกหนแห่ง ลองไปดูกันว่าวิธีคิดของรักกิจจะปรากฏออกมาในรูปแบบไหน
ศิลปะเริ่มต้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ยังไง
ต้องย้อนไปสมัยที่ยังเด็กมากๆ ตอนนั้นยังไม่เข้าเรียนเลย แม่เราเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เวลาติวหนังสือแม่ก็จะพาเด็กเข้ามาติวหนังสือในบ้าน แล้ววันหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งชอบวาดรูปการ์ตูน เราก็ไปแอบดูทำให้อยากวาดตามบ้าง ก็เลยให้เขาช่วยสอนวาดรูปให้ เราก็เลยติดวาดตัวการ์ตูนมาตลอด พอเราเข้าอนุบาลก็ติดชอบวาดรูปการ์ตูน ครูเห็นก็เลยส่งเราไปประกวดวาดรูปดู แล้วก็ได้ที่สาม ทำให้รู้สึกว่าชอบศิลปะ รู้สึกว่าตัวเองทำวิชานี้ได้ดี
รู้ตัวตอนไหนว่าอยากทำงานศิลปะให้เป็นอาชีพ
ไม่เคยคิดว่าจะทำเป็นอาชีพเลย ตอนมัธยมเป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือมาก คิดตลอดว่าเมื่อไรที่จะต้องไม่ตื่นเช้าไปเรียนสักที ตั้งใจว่าต้องเข้าเรียนมหา’ลัยที่มีวิชาเกี่ยวกับวาดรูปให้ได้ คือเรียนอะไรก็ได้ขอให้มีศิลปะ ตอนนั้นที่เลือกก็มีคณะจิตรกรรม สถาปัตย์ฯ แต่สุดท้ายก็มาติดที่ ครุอาร์ต การเข้าไปเรียนที่นี่ทำให้รู้ตัวเองมากขึ้น เพราะเขาสอนทั้งดีไซน์และไฟน์อาร์ต คือเรียนวิชาทั้งหมดที่ศิลปกรรมเรียน และเรียนวิชาดีไซน์ทั้งหมดที่สถาปัตย์ฯ เรียน ทำให้เราสามารถคัดอะไรที่ชอบหรือไม่ชอบออกไปได้มากขึ้น รุ่นพี่จบไปก็มีอาชีพหลากหลายมาก พี่รหัสเขาได้ออกแบบปกซีดีของเบเกอรี่มิวสิก ซึ่งตอนนั้นเราบ้าฟังเพลงมาก เก็บทุกปกที่เบเกอรี่ออก พอเรียนจบมา ทำให้มีแรงบันดาลใจอยากเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ จนได้ไปทำงานกับรุ่นพี่ที่ DUCTSTORE พอทำงานไปก็รู้สึกว่าเราได้ใช้ศิลปะเข้ามาในงานกราฟิกเยอะ เลยรู้สึกโชคดีมาก
อยากให้เล่าถึงตอนที่มีผลงานลงนิตยสาร Computer Arts ของอังกฤษ ช่วงนั้นรู้สึกอย่างไร
ตอนนั้นเริ่มทำงานกราฟิกมาได้สักพัก แต่ Computer Arts ยังไม่ได้เข้ามาเมืองไทย พอไปเปิดดูมันมีคอลัมน์หนึ่งที่เกี่ยวกับฟอนต์ เราก็เลยอยากลองส่งไปดู เหตุผลที่อยากส่งคือเวลาที่เราทำได้สักระยะหนึ่งก็อยากจะ approved ตัวเอง ว่าสิ่งที่เราชอบคนอื่นชอบไหม วันหนึ่ง ตั้ม MAMAFAKA (พฤษ์พล มุกดาสนิท) มันได้ธีสิสของพี่โรจน์ สยามรวย ที่สอนเรื่องการฟอนต์ ก็เลยลองมาทำตามดู พอส่งไปเขาก็ให้ลง ซึ่งเขาให้จัดเลย์เอาท์หน้านั้นเองด้วย พอดีช่วงนั้นวุ่นๆ เลยเอาภาพประกอบเก่าๆ ที่ทำมายำๆ ส่งไป ปรากฏว่าเขาสนใจภาพประกอบเวกเตอร์แทน เลยติดต่อให้มาลงอีกเล่มเป็นคอลัมน์แนะนำดีไซเนอร์ใหม่ พอครบเล่มที่ 100 เขามีโปรเจกต์ให้ทุกบริษัทที่เคยทำงานร่วมกับเขาส่งงานไปลง เราก็ได้เป็น 1 ใน 4 ปกของเขา
เหตุผลที่ดังเพราะว่าคนไทยซื้อเยอะ คนอ่านเลยเห็นว่าเป็นคนไทยก็เลยรู้จักเรามากขึ้น ความมั่นใจตอนนั้นมาเพียบเลย รู้สึกแฮปปี้มาก แต่พอทำไประยะหนึ่งรู้สึกว่ามันไม่ยั่งยืนหรอก เพราะงานเริ่มล้นตลาด ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เวลาเจออะไรเยอะๆ ก็เบื่อ เลยพยายามฉีกไปทางอื่น
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนใจงาน Street Art ใช่ไหม
จริงๆ เราไปเจอพี่ P7 (พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์) ตอนถ่ายลงนิตยสาร เลยทำให้รู้จักกัน ซึ่งตอนนั้นพี่เขามีโปรเจกต์ FOR Wall Painting Showcase ที่ไปเพนท์กำแพงที่ BACC ซึ่งปีแรกมี ตั้ม MAMAFAKA ไปทำก่อน เราก็เข้าไปช่วยทำนิดหน่อย เขาเลยชวนไปทำครั้งที่สอง เราจบมาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มานาน 13 ปี ทำงานอยู่แต่หน้าคอมพฯ จะให้ไปเริ่มเพนต์กำแพง รู้สึกล่องลอยไปหน่อย ไม่มีแก่น เลยลองคิดวิธีใหม่ๆ ไปลองดู เป็นช่วงเดียวกับที่เราเบื่องานเวกเตอร์พอดี แล้วส่วนใหญ่งานเราจะเป็นงานทดลอง จับนู่นมาผสมนี่ แล้วเราไม่ชอบทำอะไรที่คนทำเยอะๆ ซึ่งงาน street art ส่วนใหญ่เป็นงานแบบ free hand แต่จุดอ่อนเราคือตรงนั้น เลยออกมาเป็นงานแนว block stencil
ตอนที่ไปพ่นจริงคนอื่นเขาร่างในสมุดแล้วไปพ่นได้เลย แต่งานของเราต้องรู้ไซส์จริงก่อน แล้วจึงมาแกะบล็อกให้เท่าของจริง มีท้อบ้าง เวลาไปทำกันหลายๆ คน คนอื่นเขาเสร็จหมดแล้วก็ต้องมานั่งรอเรา แต่โชคดีที่งานครั้งนั้นได้พื้นที่ใหญ่ งานเราก็โครงสร้างน้อยด้วย งานเลยไปใกล้เคียงกับพวก bitmap หรือพิกเซลเกม 8 บิต ข้อดีคือสร้างเอกลักษณ์ได้เลยในครั้งแรก แต่ช่วงแรกงานเราก็แบนๆ ดูไม่มีชีวิตชีวา หลังจากนั้นพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
หลังจากงานครั้งนั้น อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้งาน block stencil ของคุณกลายเป็นเอกลักษณ์
เริ่มจากที่ต้องไปพูดในงาน typography งานหนึ่ง คนที่มาพูดมีแต่นักออกแบบฟอนต์เก่งๆ แล้วเราเป็นคนเดียวที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ อาศัยว่าเป็นคนชอบฟอนต์ แต่ไม่ได้เรียนมาทางนี้โดยตรง เอาแค่ความชอบมาทำ ซึ่งทฤษฎีมันผิดหมดเลย แล้วเราเป็นคนที่มีโอกาสจะไม่ค่อยปฏิเสธ เลยต้องหาวิธีเอาตัวรอดบนเวทีให้ได้ ข้อดีของการพูดในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ มันไม่มีผิดถูก ก็เลยตัดสินใจไปในทางที่คนทำฟอนต์ทั่วไปเขาไม่ทำกัน ส่วนใหญ่เขาจะพูดถึงการออกแบบฟอนต์ในคอมพ์ฯ แต่เราพูดเรื่องของฟอนต์ตามท้องถนนหรือ street font ซึ่งจริงๆ คนไทยใช้ font stencil เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นตามตู้โทรศัพท์ ป้ายบอกสายรถเมล์ หรือเดินไปตามทางทั่วไปก็ต้องเจอ คนไทยน่าจะผูกพันกับฟอนต์แบบนี้
แล้วเราก็บังเอิญไปเจอการพ่นกำแพงของเด็กช่างกล ที่พ่นเร็วๆ แย่ๆ ก็เลยสงสัยว่าเขาคงไม่มีเครื่องมือหรือบล็อกดีๆ ในการพ่นหรือเปล่า ก็เลยคิดว่าถ้ามีบล็อกเดียวที่พกพาง่ายๆ น่าจะดีกว่านี้ ซึ่งเวลาเราตัดกระดาษบล็อกก็จะพ่นได้แค่คำคำเดียว เราเลยลองคิดบล็อกที่สามารถพ่นเป็นคำอะไรก็ได้โดยใช้แค่บล็อกเดียว จนออกมาเป็นโครงสร้างของ block stencil ที่มีโครงสร้างแค่ไม่กี่ชิ้น คือเส้นตรง เส้นนอน เส้นโค้ง มาพลิกแพลงเหมือนเล่นเลโก้ที่เอามาต่อกันได้ ในเมื่อพ่นเป็นตัวหนังสือได้ ก็พ่นเป็นภาพได้ เลยเอาวิธีการนี้มาประยุกต์ในงาน street art ด้วย
มองว่า street art สำคัญต่อสังคมอย่างไร
ต้องดูว่าเขามีมุมมองกับงานประเภทนี้ยังไง เขารับผิดชอบกับงานหรือสังคมยังไง ศิลปะมีทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้าทำงานแบบไม่แคร์อะไรเลยแล้วทำให้คนเสพรู้สึกไม่ดี ก็เป็นการสร้างผลกระทบที่แย่ เรียกว่าเป็นความรับผิดชอบโดยบังเอิญ อย่างการไปพ่นงานตามที่ต่างๆ ถ้าคนชอบมาถ่ายรูปก็ดีไป แต่ถ้าไม่ชอบเขาก็อาจไม่อยากไปแถวนั้นอีกเลยก็มี
สังเกตได้ว่างานส่วนใหญ่ของคุณเป็นรูปสัตว์ มีวิธีคิดอย่างไร
จุดเริ่มต้นมาจากที่ตัวเองที่ชอบดูสัตว์ แล้วสัตว์ชนิดต่างๆ มันสามารถดึงคาแรกเตอร์ออกมาได้ง่าย ซึ่งถ้าเป็นรูปคน คนดูก็ต้องมีความคาดหวังว่าเราวาดใครขึ้นมา หรือแสดงอารมณ์อะไรอยู่ ซึ่งใกล้เคียงกับมนุษย์เรามากเกินไป แต่ถ้าเป็นสัตว์มันอิสระมาก ซึ่งแต่ละตัวมีพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่เอาไปใช้ได้ เวลาทำงานกับแบรนด์เลยง่าย สัตว์ตัวแรกที่ทำเป็น กวาง เพราะว่าเป็นสัตว์ที่อยู่กับต้นไม้ น่าจะท้าทายและประหลาดดี พอทำสัตว์มาเยอะๆ ก็สามารถอิมโพรไวซ์ได้บ้าง เพราะสามารถจดจำคาแรกเตอร์ได้ง่าย อย่างเสือกับแมวก็ใกล้เคียงกันมาก แต่พอทำเยอะๆ ก็จะรู้ว่าอย่างนี้คือเสืออย่างนี้คือแมว ส่วนใหญ่จะหาตัวอย่างจากของจริง คือเอาภาพจริงมาโพสต์ก่อน มีการศึกษาโครงสร้างจริงของสัตว์ แล้วอาศัยสิ่งที่เราชอบคือความเป็นกราฟิกดีไซน์ typography การสื่อความหมาย และการใช้สีสันแบบรถบรรทุกมาผสมกัน
ช่วงหลังงานของ RUKKIT เริ่มไปปรากฏบนงาน commercial มากขึ้น มีวิธีการหาจุดร่วมตรงกลางไม่ให้เสียความเป็นส่วนตัวอย่างไร
การทำแบรนดิ้งเราไม่กลัวเลย เพราะว่าเคยทำงานกราฟิกดีไซน์มาก่อน ยิ่งพอเราโตขึ้นก็ไม่คิดว่าตรงนี้เป็นปัญหา แต่ลูกค้าต้องรู้ข้อด้อยของเราก่อน การที่เราคุยกับลูกค้าแล้วเขาอยากได้อะไร แบรนด์เป็นอย่างไร เหมือนเป็นการดึง source เข้ามาใส่ในงาน ซึ่งเราสามารถเอามาปรับเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานออกมาได้ง่ายขึ้น ทำให้ตัวงานมีความหมายมากขึ้น เพราะเรื่องราวของแบรนด์ที่บ่งบอกคาแรกเตอร์ของคนที่เลือกได้ ว่าทำไมเราถึงเลือกแบรนด์นี้ สินค้าจึงไม่ใช่แค่สินค้า แต่สะท้อนถึงตัวตนของคนใช้ด้วย เป็นผลมาจากการแข่งขันในตลาดที่มากขึ้น การที่เลือกใครสักคนมาออกแบบหรือไปร่วมกับใคร มันมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังทั้งหมด อีกอย่างลูกค้าก็ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบอะไรเดิมๆ
อย่างงานที่ร่วมกับ U Beer ล่าสุด โจทย์ที่ได้รับมาคืออะไร
เขาให้อิสระเราเต็มที่ แต่เราก็พยายามศึกษาว่าแบรนด์มีอะไรเป็นจุดเด่น โจทย์แรกคือเขาอยากทำ 3 แพคเกจ ถ้าต่อเป็นภาพใหญ่ได้ก็ดี แต่พอเอามาทำจริงสเปซของโปรดักต์แต่ละอันก็ไม่เท่ากัน การที่จะเอามาต่อกันเลยเป็นเรื่องยาก เพราะความสูงต่ำไม่เท่ากัน สุดท้ายเลยออกมาเป็นกระป๋องอย่างเดียว เพราะมีพื้นที่เยอะในการออกแบบ เลยออกมาเป็นซีรีส์ 3 กระป๋อง เป็นสัตว์ 3 ประเภทคือสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก
ทำไมดีไซน์แรกถึงออกมาเป็นเสือโคร่ง
โจทย์คือต้องเป็นสัตว์ที่ข่มขวัญศัตรูได้ อย่างแรกที่เห็นคือโทนสีเหลืองดำ เราก็คิดว่าสัตว์อะไรมีสีเหลืองดำบ้าง ที่คิดออกก็มีทั้งผึ้ง นกเอี้ยง งู แต่ซีรีส์แรกที่ออกไปคือเสือโคร่ง แล้วออกแบบลายให้สองกระป๋องสามารถต่อกันได้ ตอนไปทำ street art เราคิดแบบไม่มีอะไรก็ได้ แต่ทำงานกับลูกค้าต้องมีที่มาที่ไปด้วย อย่างถ้าลูกค้าสองเจ้าอยากได้เสือเหมือนกัน เราต้องทำยังไงก็ได้ให้เสือตัวนั้นเป็นของเขา เราก็รู้สึกดีที่ทำให้เจ้าของเสือเป็นคนละคนได้
อะไรคือความท้าทายของการได้ทำงานร่วมกับ U Beer
ความท้าทายคือการได้รับโจทย์หนึ่งมาทำ ถ้าเราจะไปนั่งเพนท์งานโดยไม่มีโจทย์ก็อาจจะไม่ท้าทายเท่าไร เราจะมองว่าเราสามารถถ่ายทอดออกมาแล้วเป็นแบรนด์นั้นๆ ได้แค่ไหนมากกว่า ถ้าเราได้รับโจทย์อะไรมาแล้วรับผิดชอบได้ดี ตรงนี้สำคัญที่สุด ข้อดีของการได้ทำงาน commercial คือความสนุกในการใส่ลูกเล่น เป็นการสร้างความประทับใจเวลาที่ลูกค้าได้เห็นครั้งแรกเหมือนกับที่ทำงานส่วนตัว คือทำยังไงก็ได้ให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับงานตัวเองตลอดเวลา ถ้าเวลาทำงานแล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่เลย เราก็คงรู้สึกเบื่อตัวเองเหมือนกัน ลองคิดคู่สีนี้ขึ้นมาใหม่หรือคิดโครงสร้างใหม่ขึ้นมา คือวัดจากตัวเองก่อนเป็นหลัก การคนรู้จักมากขึ้นอาจจะไม่ได้มีผลกับเรามากเท่าไร เราจะสนว่าทำออกมาได้ดีเท่าไรมากกว่า ถ้าทำมาแล้วคนไม่ชอบเลยอาจจะเสียใจก็ได้ ถ้าเราทำออกมาแล้วเราแฮปปี้ ลูกค้าแฮปปี้ ก็โอเคสำหรับเราแล้ว ซึ่งงานศิลปะก็เข้ามาช่วยได้เยอะ การที่ศิลปินมีผลงานที่คนรู้จัก แล้วได้ไปร่วมกับแบรนด์ก็เป็นการสร้างเรื่องราวให้มีมุมมองชัดเจนมากขึ้น
มองว่าอะไรคือข้อดีของการที่งานของคุณไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ที่หลากหลาย
เรามองว่ามันคือการสื่อสารจากความเป็นตัวเอง ไม่มีผิดถูก ยิ่งเราโตขึ้นทำให้เรียนรู้ว่าคำว่าศิลปะมันกว้างมากขึ้น ทุกอย่างเป็นศิลปะได้หมด ทุกอย่างแทรกการออกแบบและศิลปะเข้าไปได้ การที่เราดูแล้วชอบ มันต้องมีอะไรที่สามารถดึงดูดเราได้ นั่นคืองานศิลปะแล้ว แต่เราก็จะไม่พยายามเป็นศิลปินมากขนาดนั้น เพราะเราทำงาน street art แต่ก็ยังรับงาน commercial ได้ เมื่อก่อนอาจจะต้องซัพพอร์ทลูกค้าเยอะหน่อยว่าอยากได้แบบไหน เหมือนเราเป็นคนที่มาแก้ไขปัญหาให้เขา แต่ตอนนี้เรามีสไตล์ของตัวเอง บางอย่างถ้าทำไม่ได้ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้ เหมือนเขาซื้อกระบวนการในการทำงานของเราด้วย
ในวงการ street art หรือวงการกราฟิกดีไซน์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างหนัก อยากบอกอะไรกับน้องๆ รุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาบ้าง
ต้องมีความขยันอย่างแรกก่อน กว่าจะรู้ว่าเราทำอะไรได้ดี ซึ่งยังไม่พอ ต้องทำให้ไม่เหมือนใครด้วย อันนี้ยากกว่า เราทำมาหลายอย่างมาก ตอนแรกก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่แค่ยังไม่มีใครทำ คือทำอะไรที่ไม่ถนัดไปเรื่อยๆ จนถนัด เมื่อก่อนกลัวการพ่นสเปรย์มาก แต่พอทำเยอะๆ ก็เริ่มเก่งและทำได้ดี เด็กๆ ที่เข้ามาเรากลัวใจมากกว่า ว่าจะท้อเพราะทำได้ไม่เห็นดีเลย รู้ว่าไม่ดีก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่ถ้ารู้ว่าไม่ดีแล้วยังไม่แก้ไขยังฝืนก็ไม่ดีเหมือนกัน งานทุกอย่างมีปัญหาหมด อยู่ที่เราแก้ปัญหาด้วยวิธีไหนมากกว่า