แม้ศตวรรษที่ 21 จะไม่เหมือนอย่างในการ์ตูนเรื่องโดราเอม่อนที่เทคโนโลยีก้าวไกลกว่าความเป็นจริงสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่พัฒนาเหมือนกับในการ์ตูนว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากวิทยุ เทป ซีดี โทรทัศน์สี โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และคนวัยทำงานยุคที่เติบโตมากับคำพูดของผู้ใหญ่ที่อวยพรให้เป็นเจ้าคนนายคน สุภาษิตเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือวิธีคิดต่างๆ อีกมากที่แบบเรียนในปัจจุบันยังคงไม่พัฒนาสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันมีอีกอาชีพเกิดใหม่มากมาย ที่ไม่คุ้นหูคนที่เติบโตมากับรายการเจ้าขุนทอง แต่ถ้าถามเด็ก ป. 4 คุณอาจได้คำตอบในทางตรงกันข้าม
คนอายุ 30 ปีขึ้น ในปัจจุบันที่เป็นผลผลิตทางการศึกษายุคก่อน กำลังจะกลายเป็นพวกที่เดินไม่ทันโลก หลายคนยังติดอยู่กับวิธีคิดหลังสมัยสงครามเย็นอยู่ อีกทั้งเป็นผู้ใหญ่เสียเองที่ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก หลายคนยังติดอยู่ในยุค 90s ก่อนเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะเข้าถึง เป็น Generation Gap ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะงงกับอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันว่างานชื่อแปลกๆ ที่ไม่เคยมีในยุคเขามันคืออะไรกันแน่ พ่อแม่ในปัจจุบันที่เป็นบางคนยุคเก่าที่กำลังสร้างเด็กยุคใหม่ ยิ่งต้องปรับความเข้าใจ และให้อิสระลูกมากขึ้น เพื่อค้นพบเป้าหมายของตัวเอง เพื่อจะได้สนับสนุนให้เติบโตเป็นคนในยุคถัดไป โลกที่เราก็คาดเดาไม่ออก โดยเริ่มต้นให้เด็กมองเห็นว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก เพื่อให้พร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะที่สำคัญในอนาคต
7 ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เราและลูกควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่ออนาคต
หลายบทความอาจจะบอกเราว่าทักษะเหล่านี้ควรส่งเสริมให้รุ่นลูกของเรา แต่พ่อแม่ก็ควรเข้าใจด้วยเช่นกัน เพื่อนำไปปรับใช้กับลูก ไม่ใช่ป้อนข้อมูลให้เขาเพียงฝ่ายเดียว หรือส่งเข้าไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม แต่พ่อแม่ต้องเข้าใจและชวนให้เกิดการเรียนรู้ว่าทักษะเหล่านี้สำคัญต่อชีวิตลูกแค่ไหน มาลองดูกันว่า 7 ทักษะที่ว่ามีอะไรบ้าง
ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
การคิดเชิงวิพากษ์คือการคิดโดยไม่ปักใจเชื่อสิ่งที่ได้รับมาแต่แรก จากนั้นจึงตั้งคำถามต่อเรื่องดังกล่าว หลายครั้งที่เราจะเห็นคนเกิดอาการเสียหน้าจากการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย เพราะเชื่อข้อมูลข่าวสารเพียงแค่การอ่านประโยคสั้นๆ การโต้แย้งและตั้งคำถามกับชุดความรู้จะช่วยให้ใช้ชีวิตในศตรวรรษที่ 21 เราสามารถสอนทักษะนี้กับลูกได้ด้วยการคุย การชวนกันตั้งคำถามกับเขา ให้เปิดโอกาสให้เขาได้ตั้งคำถามที่ขัดแย้งกับความรู้ของเรา ไม่ตัดสินว่าความคิดของเขาผิด และร่วมกันหาคำตอบต่อคำถามนั้นร่วมกันจากจุดเริ่มต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ
ทักษะการเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม
หลายครั้งเรามักจะได้ยินชุดความคิดว่าเด็กเรียนเก่งมักทำงานร่วมกับคนอื่นได้ไม่ดี เพราะเชื่อว่าความคิดของตัวเองถูกที่สุด ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจกัดกินการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน จากระบบการวัดผลที่เป็นการแข่งขันเพื่อจัดอันดับ จนทำให้ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม และการเป็นผู้นำ ทักษะนี้อาจไม่มีการฝึกฝนที่ตายตัว ซึ่งอาจสอนผ่านกระบวนการเล่นเกม กิจกรรมกีฬา การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การกล้าแสดงออกที่จะทำให้การทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นได้อย่างดี
ทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และการประยุกต์ใช้
สุภาษิตไทยที่ว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ยังคงใช้ได้อยู่เสมอถ้าเราขาดการประยุกต์ใช้ เพราะความรู้ในตำราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดการนำความรู้จากหลายสาขามาปรับใช้กับปัญหาต่างๆ ได้จึงเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21
ส่วนทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ก็สำคัญเช่นกัน เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างชัดๆ คือการเขียนโปรแกรมที่คนรุ่นเก่าอาจคิดว่าไม่จำต้องรู้ก็ได้ แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้การเขียนโปรแกรมกลายเป็นทักษะพื้นฐานของยุคสมัยในการใช้เครื่องมือต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น
ทักษะการสื่อสาร ทั้งการเขียน และการพูดอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าสื่อสารได้ไม่ดีก็ทำให้เกิดปัญหาได้เสมอ หลายครั้งที่เราเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ผิดพลาด เพราะการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งการพูดและการเขียน ไม่ว่าจะทำงานในสาขาใดก็ตามทักษะการสื่อสารซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ จึงยังสำคัญอยู่เสมอ ถ้าเราพูดเรื่องเดียวกันแต่อีกคนสื่อสารได้มีประสิทธิภาพ ผู้รับสารก็จะเลือกฟังอีกคนอยู่ดี
แม้ผู้ใหญ่ในการศึกษาไทยอาจจะมองว่าการเรียนรู้เรื่อง STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าภาษา แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรสำคัญมากน้อยไปกว่ากันในการเรียนรู้
ทักษะการเข้าถึง และการวิเคราะห์สารสนเทศ
ในหนึ่งวันมีข้อมูลข่าวสารมากมายในโซเชียลมีเดียจนเรานับไม่หวาดไม่ไหว และจากการสำรวจของ Netcraft ว่าปัจจุบันมีเว็บไซต์มากกว่า 1,805,260,010 เว็บไซต์ เรียกว่าเป็นสารทนเทศจำนวนมหาศาลขนาดที่ว่าใช้เวลาทั้งชีวิตก็ไม่น่าจะอ่านจบ
ทักษะการเข้าถึงสารสนเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญในศตวรรษที่ 21 ว่าจะเข้าถึงความรู้ที่ต้องการหาได้ขนาดไหน หลายครั้งยังเห็นคนตั้งคำถามพื้นฐานในเว็บไซต์พันทิป เด็กดี หรือโพสต์ถามกูรูในด่านต่างๆ อยู่เสมอ ที่เป็นแบบนี้ก็อาจไม่รู้ว่าจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างไร
ส่วนเรื่องการวิเคราะห์สารสนเทศ ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากในปัจจุบันมีข่าวปลอม มิจฉาชีพในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้หลายคนเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ โดยง่ายจนต้องมีการเรียนการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อกันในหลายระดับการศึกษา เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็มีปัญหาในเรื่องนี้อยู่
ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และการคิดริเริ่ม
เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด แต่ถ้าเราเลือกเดินทางของเราอาจไม่เจอหมาเลยก็ได้ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อาจจะขัดแย้งกับค่านิยมเคารพผู้อาวุโสอยู่บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไม่เคารพ แต่ถ้าต้องการให้เกิดสิ่งใหม่ และประสบความสำเร็จถ้าไม่ริเริ่มสิ่งใหม่ และไม่มีความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของธุรกิจ เราอาจไม่ประสบความได้โดยง่าย แม้จะมีคำพูดที่ว่าความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร แต่ถ้าพยายามไม่ถูกจุดก็อาจประสบความสำเร็จได้ยากกว่า
ทักษะความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์จะทำให้แก้ปัญหาต่างได้ดีขึ้น การมีจินตนาการจะช่วยให้เด็กๆ เกิดไอเดียในการแก้ปัญหาได้หลากหลายวิธีมากขึ้น ถ้าได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับการคิดเชิงวิพากษ์ ยิ่งทำให้เกิดสิงใหม่ขึ้นมาไม่รู้จบ เหมือนที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์บอกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมีความรู้เลย จินตนาการก็พอ แต่ควรเป็นการนำมาความรู้มาทำให้เกิดจินตภาพในหัว ทฤษฎีที่เปลี่ยนแปลงโลกหลายอย่าง เกิดขึ้นเพียงแค่ในความคิดและจินตนาการที่มีความรู้เป็นพื้นฐานเป็นสำคัญ
จาก 7 ทักษะที่กล่าวมานั้นจะทำให้เด็กรุ่นต่อไปใช้ชีวิตในโลกทุนนิยมเสรีที่มีการแข่งขันสูงขึ้นได้ดี อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา การเรียนพิเศษอย่างหนักหน่วงเหมือนคนรุ่นเราเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง โตไปเป็นเจ้าคนนายคน อาจไม่ใช่ความคำตอบของชีวิตที่ดีในความคิดของเด็กยุคใหม่อีกต่อไป ที่สำคัญพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญให้เขาสอบได้คะแนนดีๆ หรือเป็นที่ 1 อย่างที่หลายคนโดนมา แต่เป็นการมอบอิสระให้เด็กได้เรียนรู้ค้นหาความชอบ ความถนัดของตัวเอง
เพียงเชื่อในสิ่งที่เขารัก อนาคตที่เขาฝัน ผู้ใหญ่อย่างเราจะได้สนับสนุนให้เด็กมีนิสัยรักที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะตั้งคำถามในเรื่องสิ่งที่สงสัย และความสนุกนั่นเองที่จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://theconversation.com/teaching-kids-21st-century-skills-early-will-help-prepare-them-for-their-future-87179
https://www.forbes.com/sites/ellevate/2018/08/06/the-skills-you-need-to-succeed-in-2020/#919b085288a0
https://www.weforum.org/agenda/2017/09/skills-children-need-work-future/
https://thenextweb.com/contributors/2017/04/11/current-global-state-internet/#.tnw_G0fBh235