จากพฤติกรรมการกินของผู้คนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดง ของปิ้งย่าง อาหารแปรรูป หรือการทานผักผลไม้น้อย รวมทั้งประวัติทางพันธุกรรมการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ของคนในครอบครัว ต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อยกันมากขึ้น แล้วเราจะสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนที่จะเริ่มเป็นได้หรือไม่?
ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ปัจจุบันที่รุดหน้าจนสามารถตรวจพบติ่งเนื้อผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น การตรวจติ่งเนื้อและมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงจัดเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพทั่วไป ที่ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือวัยใดก็สามารถรับการตรวจและรักษาได้ทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการลุกลามต่อไปในอนาคต โดยไม่ได้เจ็บปวดหรือใช้เวลามากมายอย่างที่หลายคนเคยคิดและหวาดกลัวไปก่อน ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราๆ ที่จะต้องหมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายระบบขับถ่ายของตัวเองอยู่เสมอ หรือถ้าให้ชัวร์ก็เข้ามาเช็กได้เลย ไม่ต้องรอ!
รีบป้องกันแก้ไข ก่อนเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
“ปัจจุบันการรักษามะเร็ง ไม่ได้น่ากลัวอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นนะครับ เราก็ไม่ต้องตกใจ ก็อยากจะให้ได้เข้ามาปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในการรักษามะเร็ง”
ถ้าอย่างนั้นแล้ว อาการแบบไหนบ้างที่ทำให้เราควรเข้ามาตรวจลำไส้ใหญ่? คุณหมอณัฐวุฒิแนะนำว่า เนื่องจากลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะส่วนล่างของร่างกาย ดังนั้นแล้วให้สังเกตระบบการขับถ่ายประจำวันว่ามีสิ่งใดผิดไปจากปกติหรือไม่ ทั้งความถี่ในการขับถ่ายผิดปกติหรืออาการท้องผูก และหน้าตาอุจจาระที่เปลี่ยนไป เช่น เหลวขึ้น เป็นก้อนแข็งขึ้น หรือมีเลือดปนออกมา นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังเกิดการผิดปกติในลำไส้แล้ว ควรรีบเข้ามาตรวจลำไส้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ส่วนอีกกลุ่มเสี่ยงนั่นก็คือเรื่องพันธุกรรม โดยปกติแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่จะส่งต่อถึงรุ่นลูกหลานในรูปแบบมะเร็งลำไส้ใหญ่เหมือนกัน หรือหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งในส่วนอื่น ก็มีโอกาสเกิดมะเร็งในจุดอื่นได้รวมทั้งลำไส้ด้วย ดังนั้นโดยสรุปคือ หากครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็ง ก็ควรเข้ามาตรวจครบทุกส่วนไม่เพียงเฉพาะแค่มะเร็งลำไส้ใหญ่เท่านั้น อย่างผู้หญิงก็ควรตรวจมะเร็งเต้านมหรือปากมดลูก ผู้ชายก็ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย
ส่วนโดยปกติแล้ว หากยึดเอาตาม American Cancer Society ช่วงอายุที่ควรเข้ามาตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ที่ 45 ปี หรือหากมีประวัติครอบครัวของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ยึดเอาช่วงอายุของผู้ใหญ่ที่เริ่มเป็น ลบด้วย 10 ปี ก็จะได้อายุเริ่มต้นที่ควรเริ่มมาตรวจลำไส้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องถึงอายุ 50 ปี จะเป็นช่วงวัยใดก็สามารถเข้ามาตรวจก่อนได้เลยเพื่อความอุ่นใจ
ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
พอพูดว่า ต้องส่องกล้องตรวจ หลายคนก็กลัวล่วงหน้าไปก่อนแล้วว่า จะต้องเจ็บหรือจะกลัวไปต่างๆ นานา คุณหมอณัฐวุฒิได้ชี้แจงขั้นตอนรายละเอียดของการส่องกล้องว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวหรือต้องกังวลเลย “ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้ตัวกล้องขนาดเล็กนิดเดียวนะครับ เพราะฉะนั้นการสอดกล้องเข้าไปทางทวารหนัก ปกติทั่วไปมันไม่เจ็บอยู่แล้ว แล้วยิ่งบวกกับการที่เราให้ยานอนแบบอ่อนๆ คือไม่ใช้ยานอนหลับลึกนะครับ ไม่เหมือนการผ่าตัด เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ตื่นนะครับ ตื่นแน่ๆ แล้วก็ไม่เจ็บแน่นอนครับ”
สำหรับคนที่ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ ทุก 5-10 ปีควรกลับมาตรวจอีก เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็มากขึ้นด้วย ส่วนใครที่ส่องกล้องและตรวจติ่งเนื้อแล้วพบว่าเป็นมะเร็ง ก็อย่ากังวลใจไป เพราะยังมีการรักษาอีกหลายวิธี อย่างการตัดส่วนลำไส้ที่เป็นมะเร็งออกไปแล้วต่อลำไส้ส่วนดีเข้าด้วยกัน
หรือหากต้องเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีการรักษาด้วย Precision Medicine ทั้งในเรื่องการรักษาแบบพุ่งเป้าฆ่าแต่เซลล์มะเร็ง หรือ Targeted Therapy และการใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเพื่อฆ่าตัวเซลล์มะเร็งเอง หรือ Immunotherapy ซึ่งเป็นการฉีดสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายตัวเอง ซึ่งปัจจุบันให้ผลการรักษาไปได้ดี เป็นทางเลือกประกอบกันไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาร่วมกันทั้งสองแบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้สูงขึ้น
นวัตกรรมการส่องกล้องและเทคนิค NBI
วิวัฒนาการป้องกัน-รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ให้ผลแม่นยำขึ้น นวัตกรรมการตรวจลำไส้ใหญ่ให้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จากแรกเริ่มที่ใช้การเอ็กซเรย์ที่เรียกว่า Barium Enema ด้วยการใช้สารทึบแสงเป่าลมเข้าทางทวารหนักที่มีข้อจำกัดในการพบติ่งเนื้อขนาดเล็กได้เพียง 50-60% สู่การใช้กล้องส่องเข้าทางทวารหนัก ซึ่งให้ผลในการตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปในโรงพยาบาลปัจจุบัน ซึ่งการตรวจด้วยการส่องกล้อง นอกจากจะเป็นการวินิจฉัยแล้ว ยังทำการรักษาไปได้พร้อมๆ กัน หากพบในช่วงที่ติ่งกำลังโต และยังไม่กลายไปเป็นมะเร็ง ก็สามารถตัดออกได้ทันทีเพื่อเป็นการป้องกันแต่เนิ่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่
แต่สำหรับที่โรงพยาบาลสมิติเวช ที่นี่เพิ่มเติมการตรวจแบบส่องกล้องด้วยเทคนิค NBI หรือ Narrow Band Image ร่วมกับเทคนิคการอ่านลักษณะเส้นเลือดที่ผิวเยื่อบุซึ่งเป็นเทคนิคที่พัฒนาโดยโรงพยาบาล Sano ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระบบทางเดินอาหารของญี่ปุ่น ในการเรียนรู้และฝึกฝนองค์ความรู้จากประเทศต้นทางโดยตรง เพื่อให้การตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากปกติที่ใช้การฉายแสงสีขาวเข้าไปขณะส่องกล้องตรวจ ข้อจำกัดจึงอยู่ที่การสังเกตเห็นติ่งเนื้อที่นูนขึ้นทั่วไป (Adenomatous Polyp) เท่านั้น แต่หลักการของเทคนิค NBI คือการใช้รังสีในช่วงความถี่สีเขียวและสีฟ้าฉายไปที่ผนังลำไส้ที่ดูดซึมสารเข้าไปเพื่อให้เห็นภาพของเส้นเลือดที่ผิวเยื่อบุทางเดินอาหารชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถสังเกตเห็นได้ 2 อย่าง คือลักษณะของผิวเยื่อบุที่เปลี่ยนไปและลักษณะของแพตเทิร์นของเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้นจากการใช้วิธีนี้ จึงสามารถตรวจพบติ่งเนื้อแบบแบนราบที่หน้าตาเหมือนกับผิวลำไส้ (Serrated Polyp) ได้ด้วย
“ประโยชน์ของ NBI คือการหาติ่งเนื้อที่แบนราบ ซึ่งต้องเรียนว่าสมัยก่อนเราไม่ค่อยระวังติ่งเนื้อแบบราบกันมาก แต่ย้อนไป 5-10 ปีให้หลัง ก็เริ่มมีการพูดถึงติ่งเนื้อชนิดนี้กันมากขึ้นว่าเป็นตัวปัญหา เพราะสามารถกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเวลาสั้นกว่าเนื้อร้ายอื่น และมักจะพลาดจากการส่องกล้องแบบธรรมดาซึ่งการส่องกล้องด้วยเทคนิค NBI จะช่วยให้มีโอกาสตรวจพบติ่งเนื้อแบนได้สูงขึ้น ข้อมูลบางส่วนที่น่าตกใจก็คือหมอเคยคุยกับเพื่อนหมอบางคนบอกตรวจมาไม่เคยเจอติ่งเนื้อแบนเลย แปลว่าเมืองไทยไม่มีเหรอ? คงไม่ใช่นะคะ หลังจากที่เราเริ่มกันสังเกตมากขึ้น และเก็บข้อมูลมาตลอด เราพบว่า ตั้งแต่ใช้ NBI สถิติตรวจพบเจอเนื้อร้ายของเราสูงขึ้นมากถึง 60% (Adenoma Detection Rate) โดยเทียบกับมาตรฐานของ The American Society for Gastrointestinal Endoscopy (ASGE) ที่มีสถิติตรวจเจอเนื้อร้ายเพียงแค่ 25% ดังนั้นหลักการปัจจุบันก็คือ เราพยายามตัดทุกติ่งที่เราเจอ”
ตรวจวันเดียว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล กลับบ้านได้เลย
ในส่วนการเตรียมตัวเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องยากเลย โดยเทคนิคของทางโรงพยาบาลสมิติเวชใช้การเตรียมตัวตรวจแบบตอนเช้า หรือ Morning Schedule คือคนไข้ลดผักผลไม้เตรียมก่อนหน้า แล้วจึงงดน้ำงดอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืน เช้ามาถึงโรงพยาบาลจะจัดให้มีการทานยาระบาย 2 ลิตรให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง และขับถ่ายจนลำไส้สะอาดหมด ซึ่งพบว่า การตรวจลำไส้หลังจากการเตรียมลำไส้ภายใน 3-5 ชั่วโมง จะเป็นช่วงที่ลำไส้ใหญ่สะอาดที่สุด
ส่วนในช่วงการตรวจ คนไข้จะได้รับยานอนหลับแบบฉีดเข้าเส้น ซึ่งเป็นยาที่ผสมกันระหว่างยานอนหลับกับยาแก้ปวดจนกระทั่งคนไข้หลับสนิทจึงเริ่มดำเนินการส่องกล้อง ซึ่งในกรณีการตรวจลำไส้ใหญ่ทั่วไปจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 20-30 นาทีหากไม่พบความผิดปกติ แต่หากพบติ่งเนื้อก็จะเพิ่มเวลาในการตัดติ่งเนื้อเข้าไปอีก อยู่ที่ราว 1-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณติ่งและความยากง่ายในการตัด
จากที่เล่ามาท้ังหมดจะเห็นว่า การตรวจลำไส้ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่อย่างใด หากแต่เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปเพื่อป้องกันสิ่งผิดปกติไม่คาดฝันที่อาจตามมา เหมือนกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อำนวยความสะดวกให้การตรวจรักษาโรคที่เคยยากให้ค้นพบได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้การรักษาทำได้อย่างทันท่วงที
“การที่เราปรับในส่วนของเทคโนโลยีให้ทันสมัย การที่เราเทรนคุณหมอเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการตรวจผู้ป่วยมากขึ้น มันก็มีประโยชน์ในเชิงของการทำให้คุณภาพในการตรวจรักษาดีขึ้นนะคะ ซึ่งก็สุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์กับคนไข้ค่ะ”