เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ห้องเรียน’ คุณจะนึกถึงอะไรเป็นลำดับแรก? หลายคนน่าจะย้อนความจำไปถึงเรื่องราวสนุกๆ ระหว่างกลุ่มเพื่อนสนิท แอบกินขนมหลังห้อง หยิบหนังสือการ์ตูนมาอ่านระหว่างเรียน หรือแม้แต่เอาเกมใหม่ มาอวดเพื่อนระหว่างพักกลางวัน
แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศในการเรียนการสอนมันกลับไม่ได้ผ่อนคลาย หรือสนุกเท่ากับประสบการณ์เหล่านั้นสักเท่าไหร่ มิหนำซ้ำ การเรียนมันได้กลายเป็น ‘ยาขม’ ที่รสชาติไม่ค่อยน่าพิศมัยกันไปแล้วสำหรับหลายๆ คน
มันจะดีกว่าไหมนะ ถ้าหากการเรียนการสอนในห้องเรียนจะเปลี่ยนไป จากความเคร่งขรึม ตึงเครียด น่าเบื่อเกินไปจนเราอยากเมินหน้าหนี เปลี่ยนเป็นห้องเรียนที่ทั้งสนุก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้ในแทบทุกนาทีของชั่วโมงการเรียน
เรื่องแบบนี้ก็ไม่ถึงกับเพ้อฝันจนเกินไป มีหลายประเทศที่สามารถเปลี่ยนให้ห้องเรียนได้กลายเป็น ‘พื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ’ ได้แล้วจริงๆ แถมยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย
ทำลายกำแพงกั้นวิชาความรู้ บูรณาการศาสตร์วิชา ขยายขอบเขตจินตนาการ
ที่ผ่านมา เราอาจได้ยินคำว่าการศึกษาแบบ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics Education) กันอยู่บ่อยๆ ถ้าอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คงได้ว่า มันคือการเรียนการสอนที่บูรณาการเอาความรู้ระหว่างสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มาไว้รวมกันเพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิดในเชิงวิเคราะห์และเป็นเหตุเป็นผล สิ่งสำคัญคือ การศึกษาแบบ STEM จะช่วยเน้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง เป็นความรู้ที่ไม่ได้อยู่แต่บทท่องจำ หากแต่ประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ในชีวิตประจำวันที่หลากหลาย
เอาเข้าจริงแล้ว STEM ก็คงเปรียบได้กับสะพานเชื่อมต่อระหว่างความรู้ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน บทเป้าหมายที่ว่า ในวันนี้ความรู้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอาจไม่เพียงพอแล้วต่อการอธิบายโลกที่ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
คำถามคือ เมื่อหลักการเป็นแบบนี้ แล้วในทางปฏิบัติล่ะ? ห้องเรียนที่เน้น STEM education มันมีหน้าตาแบบไหน แล้วสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้จริงรึเปล่า?
ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติว่าวิชาเรียนแบบเก่าว่าด้วยเรื่องแรงดันอากาศ มันคงจะสนุกกว่าแน่ๆ หากครูได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้กันจริงๆ จรวดในหนังสือเรียนอาจมีภาพสีสันสดสวย แต่มันก็คงเทียบไม่ได้กับการได้ลงมือสร้างจรวดแรงดันอากาศได้ด้วยตัวนักเรียนเอง ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ ‘ลองผิด ลองถูก’ คิดตั้งคำถาม ทดลองออกแบบ และวิเคราะห์บทสรุปกับจรวดที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมากับมือ มันเป็นโอกาสอันที่จะได้ใช้ทั้งทักษะการคิดแบบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม มาใช้ไปพร้อมๆ กัน
พูดให้ถึงที่สุดแล้ว มันจึงเป็นการเรียนที่นักเรียนได้ Learning by doing มากกว่าแค่ท่องจำเนื้อหาจากตำราเฉยๆ เพื่อไปทำข้อสอบ
เพิ่มเติมทักษะหลากหลายที่จำเป็นต่อศตวรรษที่ 21
โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ ทักษะการใช้ชีวิตก็ต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสที่เกิดขึ้นฉับพลัน ผลการศึกษาว่าด้วย ‘The Future of skills’ หรือทักษะที่จำเป็นในอนาคตซึ่งจัดทำโดยองค์กรด้านการศึกษา-นวัตกรรมร่วมกันของอังกฤษและสหรัฐฯ พบว่า มี 4 ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ได้แก่
กลยุทธ์การเรียนรู้ (Learning strategies) : เพื่อนำข้อมูลใหม่มาตัดสินใจและแก้ปัญหา คิดได้อย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้จริง
ความเป็นเอกลักษณ์ (Originality) : สามารถนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม รวมถึงสามารถคิดแก้ไขปัญหาได้ด้วยแนวทางที่ดีกว่าที่เคยเป็นมา
ความคล่องแคล่วในการใช้ไอเดีย (Fluency of ideas) : การนำเสนอไอเดียได้เรื่อยๆ ไม่จำกัดว่าไอเดียนั้นจะผิดหรือถูก ขอแค่ได้ฝึกคิดสร้างสรรค์โดยไม่สนใจกรอบที่กั้นอยู่
การเรียนรู้แบบกระตือรือร้น (Active Learning) : ต้องมีส่วนร่วมอยู่กับการเรียนการสอนอยู่เสมอ มีความตื่นตัวในการศึกษา ต่างไปจากเดิมที่สอนให้ผู้เรียนเป็นแค่ Passive learner คือรอแต่ความรู้ที่จะเข้ามาหา ไม่ได้ชวนให้เขาออกไปสำรวจโลกแห่งความรู้ด้วยตัวเอง
ทั้ง 4 ด้านนี้คือพื้นฐานอันสำคัญที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ห้องเรียนที่ดีในอนาคตจึงต้องหาหนทางสร้างความสามารถเหล่านี้ให้กับนักเรียนให้ได้ แม้ทั้ง 4 ด้านจะเป็นข้อเสนอในภาพรวมๆ แต่ถ้าเราพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียด ก็จะพบว่าทั้งหมดนี้สามารถนำไปต่อยอดในทักษะ Soft skills อื่นๆ ได้อีกมากมาย ทั้งการคิดเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถามต่อส่ิงรอบตัว ตลอดจนการฝึกใช้เหตุผลและน่าจะเป็นฐานสำคัญต่อการใช้ชีวิตในนอกห้องเรียน
สร้างจินตนาการใหม่จากการใช้เทคโนโลยี โอกาสที่ดีของนักเรียนยุคดิจิทัล
ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการช่วยเหลือและเติมเต็มจินตนาการให้กับผู้คนยุคสมัยนี้ ห้องเรียนเองก็ต้องปรับตัวตามกระแสโลกยุคดิจิทัลนี้ได้ทัน
ลองคิดถึงภาพห้องเรียนแบบเก่า นั่งเรียนกันเป็นตารางๆ ครูเขียนกระดาน นักเรียนก้มหน้าจดตามลงสมุด จริงอยู่ว่าในบางเรื่องนั้น การเรียนการสอนแบบนี้ก็ยังคงจำเป็น แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าเด็กๆ ได้มีโอกาสเงยหน้าขึ้นมาจากหนังสือเล่มใหญ่ๆ แล้วมองเห็นความรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาให้ทันต่อยุคสมัย แถมยังเป็นความรู้ที่เฉพาะเจาะจง เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนจริงๆ
คนที่ฝันอยากเป็นนักบิน ได้เห็นห้องขับเครื่องบินจริงๆ ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนคนที่อยากโตเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็สามารถค้นหาทฤษฏีการทดลองใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเองผ่านมือถือของตัวเอง
เด็กนักเรียนทุกคนล้วนมีศักยภาพในตัวเอง หากแต่สภาพแวดล้อมการเรียนการสอนแบบเก่า รวมถึงวัฒนธรรมที่ไม่ได้ช่วยให้เขาเป็น Active learner ต่างหากที่เป็นกำแพงอันใหญ่โต ปิดกั้นให้เขาไม่สามารถเติบโตและเกิดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มความสามารถที่มีอยู่
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Samsung ได้พัฒนาโครงการ ‘Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต’ ขึ้นมาในประเทศไทย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ๆ พร้อมด้วยการเติมเต็มจินตนาการด้วยเทคโนโลยีในการเรียนการสอน เพื่อสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคต และทำให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเดินตามความฝันของตัวเอง
สามารถติดตามกิจกรรมของโครงการ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ได้ที่
http://www.samsung.com/th/aboutsamsung/sustainability/corporate-citizenship/education/smart-school/
https://www.facebook.com/samsungslc/
อ้างอิง
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643922
https://www.nesta.org.uk/sites/default/files/the_future_of_skills_employment_in_2030_0.pdf