กว่าครึ่งศตวรรษที่ ศาสตราจารย์ ดร. เมธี ครองแก้ว หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ‘อาจารย์เมธี’ ได้คลุกคลีอยู่กับการสอนและการทำวิจัยในประเด็นต่างๆ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อผมมาเรียนปริญญาเอกที่ Australian National University และกำลังจะกลับไทยด้วยเที่ยวบินพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 จึงถือโอกาสนัดสัมภาษณ์อาจารย์เมธี ที่บ้านหลังเล็กๆ แต่น่าอยู่ เงียบสงบ และอบอุ่น ของอาจารย์ในเมืองแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย
เรื่องที่จะคุยในวันนี้ แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ เริ่มต้นด้วยเรื่องของสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมไปถึงปัญหาที่แก้ไม่ตกอย่างคอร์รัปชั่น และปิดท้ายด้วยเรื่องของการศึกษา
การสัมภาษณ์เริ่มต้นหลังอาจารย์เมธีพูดว่า “คุณอยากรู้อะไร คุณถามผมมา”
ผมบอกกับอาจารย์เมธีว่า ในปี พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นปีที่ผมเกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยกำลังบูมสุดขีด GDP โตมากกว่า 10% ต่อปี เรียกได้ว่าสูงที่สุดในโลกในขณะนั้น แต่ในภาพจำของผม ผมจำอะไรไม่ได้มาก ขนาดวิกฤตต้มยำกุ้งที่เป็นเหมือนแผลเป็นของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไทย ผมจำได้มากสุดแค่ว่า คุณพ่อต้องออกจากงาน
ผมจึงอยากเริ่มต้นบทสนทนาในวันนี้ ด้วยคำถามคลาสสิกของคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากตำรา เขาก็บอกว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากประเทศที่ทำแต่เกษตร ก็มาผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ในช่วงหลังๆ ภาคบริการและเศรษฐกิจดิจิทัลก็กลายมาเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจารย์เมธีมองเรื่องนี้ว่า
“ในช่วงเวลาที่ต่างกัน จุดเน้นของประเทศก็จะเปลี่ยนแปลงไป ทฤษฎีของผมก็คือว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คือ การเพิ่มมูลค่าการผลิต เราอาจเริ่มต้นจากล่าสัตว์ ปลูกพืช ต่อมาก็เริ่มผลิตสินค้า เริ่มเป็นประเทศอุตสาหกรรม จากอุตสาหกรรมก็เป็นบริการ และกลายเป็นดิจิทัล ตามธรรมชาติของมัน”
ผมต่อถามว่า แล้วเศรษฐกิจมันพัฒนาจากอะไร
“แต่ละประเทศมีความสามารถในการผลิตที่แตกต่างกัน จุดสำคัญเลยก็คือว่า เราต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งและจุดอ่อนตรงไหน จะเพิ่มจุดแข็งได้อย่างไร จะกำจัดจุดอ่อนได้อย่างไร ใครทำได้ก่อนก็พัฒนาก่อน ตัวอย่างก็เช่น ถ้าเราพบว่า คนในประเทศมีเยอะเกินไป แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ผลผลิตไม่มีเหลือ ไม่มีการลงทุน คนไม่มีความรู้ ก็ไปแก้ตรงนั้น เป้าหมายปลายทางก็คือ การเพิ่มมูลค่าการผลิต”
อาจารย์เมธีเล่าต่อว่า
“การเพิ่มมูลค่าการผลิต มันก็เพิ่มได้หลายทาง เช่น คนอื่นเอามาให้ (ถ้าไม่มีความรู้ไม่มีเทคโนโลยี คนอื่นก็เอาความรู้มาให้) คิดค้นขึ้นเอง (คิดนวัตกรรมใหม่ๆ เอาเหล็กมาทำเครื่องจักร มาทำไฟฟ้า) หรือไม่ก็อาจจะพบขุมสมบัติ พบทรัพยากรมีค่า เหมืองทอง เหมืองเพชร และน้ำมัน เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ แต่ละประเทศจะมีไม่เหมือนกัน ทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ one size fits all แต่ละประเทศอาจจะมีปัจจัยพื้นฐานได้ แต่ก็ต้องไปหาวิธีการเพิ่มมูลค่าในแบบของตัวเอง ของไทย เป็นการพัฒนาจากระบบเศรษฐกิจที่มีแค่เกษตรเพียงอย่างเดียว เราก็ปรับปรุงการทำเกษตรให้เป็นระบบมากขึ้น รัฐส่งเสริมเรื่องน้ำ เขื่อน ที่ดิน มีตลาด ลดการผูกขาด ลดอุปสรรคต่างๆ ที่มันไปบั่นทอนผลประโยชน์ของเกษตรกร ในขณะเดียวกัน ประเทศก็มีอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น”
เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมก็สงสัยว่า แล้วอุตสาหกรรมในแบบของไทยมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจารย์เมธีมีความเห็นว่า
“เมื่อ 40 ปีก่อน มันก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ที่เรียกว่า import substitution สินค้าบางอย่างเราต้องทำเอง เช่น ยาสีฟัน และผงซักฟอก ต่อมาเมื่อความรู้เพิ่มขึ้น วิธีการผลิตดีขึ้น ชำนาญมากขึ้น เราก็สามารถผลิตวิทยุ โทรทัศน์ เสื้อผ้า ซึ่งเรื่องการลดการนำเข้า บางคนอาจจะไม่ชอบ แต่มันเป็นความเข้าใจในยุคนั้น เราต้องเริ่มด้วยอุตสาหกรรมแบบทดแทน ในขณะเดียวกันก็ไปพัฒนาของที่มี ซึ่งก็คือการทำให้การทำเกษตรมันมีระบบมากขึ้น”
ผมถามต่อว่า แล้วปัจจัยอะไรที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การผลิตมันไม่สะดุด
“ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องของการค้าขายที่ต้องที่เป็นไปอย่างสะดวก ไม่มีอะไรมาขวางการค้าขายกับต่างชาติ ผมเชื่อว่า ถ้าโลกมี free flow ทั้งสินค้า บริการ และข้อมูล ในที่สุดแล้ว การพัฒนาของประเทศทั้งหลายในโลกก็จะมีความเสมอภาคกัน หรือที่เราเรียกว่า convergence คือถ้าคุณปล่อยให้การค้าขายมันเสรีจริงๆ ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมของภาครัฐ ผมคิดว่า เราจะเห็น convergence ของการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก
อาจารย์ยังได้เล่าถึงงานเขียนชิ้นล่าสุดในหนังสือ ประเทศไทยในความคิดของเมธีวิจัยอาวุโส ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2562 ซึ่งอาจารย์บอกว่ามันอาจจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายของอาจารย์
“ถ้าเราใช้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี)
เป็นจุดเปลี่ยนแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
เราสามารถแบ่งจุดเปลี่ยนออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน”
“ช่วงแรกก็คือช่วง พ.ศ.2501 – 2522 เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงแรกที่เศรษฐกิจไทยมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนา เป็นช่วงที่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย”
“ช่วงที่สอง คือ พ.ศ.2523 – 2543 เริ่มต้นด้วยการเข้าสู่อำนาจของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ ที่ไม่ใช่นักการเมืองผู้มาจากการเลือกตั้ง เป็นช่วงที่ถือเป็น Golden Age ของเศรษฐกิจไทย ใครๆ ก็พูดถึงประเทศไทย เนื้อหอมมาก เป็นพระเอก นักลงทุนมีความเชื่อมั่น เอาเงินมาลงทุน ไปที่ไหน ใครๆ ก็คุยถึงแต่ไทย นักวิชาการต่างประเทศก็สนใจจนเกิด Thailand Update 3 วัน 3 คืน ที่ ANU โชคไม่ดีที่ช่วงนี้จบลงด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2540”
“ช่วงที่ 3 คือตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่ทักษิณ ชินวัตรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ทุกอย่างจะดูดีในตอนต้น แต่จบลงด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและความสูญเสียของระบบเศรษฐกิจไทย การใช้ประชานิยมโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมาทำให้เกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้”
อาจารย์เมธีปิดท้ายคำถามเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจว่า “นับเป็นความโชคไม่ดีของประเทศไทยที่เหตุการณ์ทางการเมืองได้ถูกพัฒนามาถึงขณะนี้”
คำถามต่อมา ผมอยากชวนอาจารย์คุยเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อาจารย์เมธีถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรกๆ ที่ทำวิจัยเรื่องความยากจนของสังคมไทย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ถ้าเศรษฐกิจไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ คนจนในประเทศก็ต้องค่อยๆ ลดลงอยู่แล้ว แต่ตามที่เราทราบกัน ในช่วง 5 ปีหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอย่างต่อเนื่อง คนจนในประเทศกลับเพิ่มขึ้นกว่าล้านคน ทั้งๆ ที่ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ผมเลยถามอาจารย์เมธีว่า อ.กังวลต่อเรื่องนี้หรือไม
“ถ้าถามผม ผมไม่กังวลกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะการเพิ่มขึ้นของความยากจนปีต่อปี มันอาจเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการคำนวณ เปลี่ยนแปลงนิยาม ซึ่งเป็นเรื่องของสถิติ หรืออาจจะมีอะไรที่พิเศษจริงๆ เช่น น้ำท่วม หรือ ราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ที่ผมกังวลเป็นพิเศษ ก็คือ คนยากจนขั้นสุด (ultra poor) ซึ่งเป็นคนที่อยู่ล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรอยู่แล้วแม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วหรือในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พวกเขาอาจจะเป็นคนพิการ ต้องอยู่กับที่ ความช่วยเหลือของรัฐมาไม่ถึง มีคนในครอบครัวที่พิการ มีลูกหลานที่ต้องดูแลหรือเจ็บป่วย”
“ในช่วงที่มีปัญหา (อย่างเช่นในช่วง COVID-19) รัฐบาลก็เอาแต่ช่วย
คนที่อยู่ในระบบ แต่คนหาเช้ากินค่ำ คนที่ไม่อยู่ในระบบกลับไม่ช่วยเขา
ทำไมเป็นอย่างนั้น เราควรจะมีระบบช่วยเหลือโดยยึดตามรายได้ขั้นต่ำ
ถ้าเมื่อไหร่ที่รายได้ไม่ถึง ก็ให้เงินเค้าไปเลย ระบบนี้มันง่ายมาก”
ผมถามอาจารย์เมธีว่า รัฐกลัวซ้ำซ้อนกับบัตรคนจนหรือเปล่า อาจารย์เมธีก็ตอบว่า
“ก็ยกเลิกบัตรคนจนสิครับ”
เมื่อคุยเรื่องความยากจน ก็คงจะอดไม่ได้ที่จะถามเรื่องความเหลื่อมล้ำ นิตยสาร Financial Times ได้ขนานนาม ในปี พ.ศ.2560 ว่าเป็นปีแห่งการประท้วง ทั้งในชิลี โบลีเวีย ฝรั่งเศส และฮ่องกง แต่ละการประท้วงมักมีชนวนที่ต่างกันออก แต่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงว่าอยู่เบื้องหลังการประท้วงเหล่านี้ ผมเลยอยากถามอาจารย์เมธีในเรื่องของวิกฤตการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อหลากสีในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านว่ามันมีเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
“แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำมันเกี่ยว ผมมีทฤษฎีที่ว่า ถ้าความเหลื่อมล้ำมันมากจนถึงจุดๆ หนึ่ง มันก็ระเบิดออกมาเป็น political upheaval หรือความวุ่นวายทางการเมืองได้ แต่ในกรณีของไทย แม้จะว่ามีเรื่องของเสื้อเหลืองเสื้อแดง มันก็ยังไม่ถึงจุดที่ไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระดับที่ผมคิด”
อาจารย์เมธีอธิบายต่อว่า
“ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงนั้น มันเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกชักนำโดยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบัน และใช้เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องกระจายรายได้ก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ทุนก็ดี เป็นตัวชักนำผู้คน เอามวลชนมาสนับสนุน ผมไม่ได้หมายความว่า ความเหลื่อมล้ำไม่มี แต่ยังไม่ถึงจุดแตกหักขนาดนั้น ผมมองว่าประเทศไทยยังโชคดี ที่จุดระเบิดนั้นยังไม่มาถึง เรายังมีโอกาสที่เราจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ได้ แต่ไม่ใช่เอาปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ออกมาเป็นชนวนชักนำผู้คน”
“ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีอยู่จริง แต่คนกลุ่มน้อยได้ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ หาความสนับสนุนทางการเมือง เพื่อก่อให้เกิดผลทางการเมือง ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะมันมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของไทย ยิ่งกว่าการที่เราปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำ ได้รับการแก้ไขไปตามสภาพของมัน”
“สำหรับการประท้วงของไทย เราอาจจะนึกถึงสมัชชาคนจน ก่อนมีเสื้อแดง มันมีสมัชชาคนจนมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่ปะทุขึ้นมาแบบลักษณะของเสื้อสี อาจจะเป็นเพราะว่าความสามารถในการปลุกระดมมวลชนของเสื้อแดงอาจจะสูงกว่าของผู้นำสมัชชาคนจนมากในยุคนั้น สมัชชาคนจน มีเรื่องเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ที่ดินทำกิน เป็นต้น
ประเด็นถัดมา ที่อยากชวนอาจารย์เมธีคุย ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของคอร์รัปชั่น นอกจากงานด้านวิชาการแล้ว อาจารย์เมธียังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผมเริ่มต้นคำถามด้วยการเล่าถึงหนังสือเล่มใหม่ของ Yuen Yuen Ang นักวิชาการจาก University of Michigan ที่แบ่งคอร์รัปชั่นออกเป็นสี่ประเภท โดยในบริบทของประเทศจีนนั้น คอร์รัปชั่นในลักษณะของ ‘Access money’ ถือว่าเป็น growth enhancing มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะนำไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่ กำจัดปัญหาคอขวด เกิดการจ้างงาน ผมเลยอยากถามอาจารย์เมธีว่ามองเรื่องนี้อย่างไร
“การที่คุณจะยอมรับประเภทของคอร์รัปชั่น โดยยึดแนวคิดของผู้ใดผู้หนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งอาจจะไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ เพราะสภาพของสังคมและเวลาไม่เหมือนกัน ในช่วงเวลาหนึ่ง คนคนหนึ่งอาจจะเห็นประเด็นต่างกันไป เวลาศึกษาคอร์รัปชั่นของไทย จะใช้จีนมาเปรียบเทียบโดยตรงไม่ได้ เพราะจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ใหญ่โตมาก การคอร์รัปชั่นอาจทำได้ง่าย แต่ขณะเดียวกัน ถ้าโดนจับได้ โทษก็คือสาหัสมาก ผมคุ้นเคยกับคอร์รัปชั่นในจีนพอสมควร สมัยที่เป็น ป.ป.ช. ไปจีนทุกปี ที่จีน เค้าพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด คอร์รัปชั่นมันง่ายมาก พอคุณได้รับเลือกเป็น governor คุณก็มีอำนาจในการดึงเงินทุนจากต่างประเทศมา ก็เปิดช่องให้เกิดการทุจริต”
แล้วอะไรคือคอร์รัปชั่น
“หลักในการมองเรื่องคอร์รัปชั่นของผม ก็คือว่า อะไรก็ตามที่คุณทำงานตามหน้าที่ ถ้าจะมีประโยชน์เกิดขึ้น แล้วประโยชน์เข้าตัวเองเป็นกรณีพิเศษ เป็นคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น อาจจะมีข้อยกเว้น ถ้าจะตอบแทนคุณความดีให้ ต้องไม่เกิน 3,000 บาท”
อาจารย์เล่าต่อว่า
“สำหรับประเทศไทย คอร์รัปชั่นมันตรวจง่ายมากถ้าคุณตรวจ
แต่มันมีเยอะมากจนกระทั่งว่าโอกาสหลุดรอดมีเยอะ”
“การคอร์รัปชั่นที่มากที่สุดของไทย คือ การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ การฮั้วประมูลต่างๆ ในคดีทุจริตที่ชี้มูล ในร้อยคดี ประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นการชี้มูลในการปกครองส่วนท้องถิ่น พวก อบจ. อบต. ทั้งสิ้น คือเกี่ยวกับการจัดซื้อการจ้างทั้งนั้น เพราะมีการใช้ประโยชน์จากตำแหน่ง ประธาน อบต. อบจ.”
ผมถามต่อว่า แล้วแบบนี้ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมันดีหรือไม่
“แน่นอนว่าเราสนับสนุนการกระจายอำนาจ (decentralisation) แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เอื้อให้เกิดคอร์รัปชั่น ถ้าคุณเป็นคนดี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมันก็ดี แต่ในกรณีของไทย รัฐบาลท้องถิ่น (local government) มันเยอะมาก ดังนั้น คอร์รัปชั่นก็มากตามไปด้วย ตอนนี้เรามี 7,000กว่าตำบล ลองคิดดูแล้วกัน ตรวจสอบไม่ไหวหรอก แต่คำถามสำคัญก็คือว่า จะทำยังไงให้การเติบโตของ local government มันน้อยลง อาจทำได้โดยการควบคุม local government ที่อยู่ใกล้ๆ กัน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้คอร์รัปชั่นน้อยลงไปบ้าง
มาถึงเรื่องสุดท้ายของการสนทนาวันนี้ ซึ่งก็คือเรื่องการศึกษา ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์สัก 100 คน ว่า ทำยังไงให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง หรือจะทำยังไงให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วสักที ร้อยทั้งร้อยก็ต้องพูดเรื่องการศึกษา ไปพัฒนาครู ไปส่งเสริม facility ที่โรงเรียน มีชั้นเรียนภาษาอังกฤษ สนับสนุนอาหารกลางวัน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูง หลายครอบครัวที่มีฐานะยากจนไม่สามารถส่งให้ลูกเรียนสูงๆ ได้เพราะไม่มีเงินเสียค่าเทอม
หนึ่งในทางออกก็คือ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ซึ่งในไทยเองก็มีกองทุนดังกล่าว ที่เราเรียกกันว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่จริงๆ แล้ว เคยมีระบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และถูกล้มเลิกไป นั่นก็คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ผมทราบว่าอาจารย์เมธีคือผู้บุกเบิก กรอ. โดยนำมาจากระบบ High Education Contribution Scheme (HECS) ที่ใช้ในออสเตรเลีย คิดค้นโดย Bruce Chapman นักเศรษฐศาสตร์ที่ ANU และเพื่อนของอาจารย์เมธี ผมอยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง
“Bruce Chapman มีหลักว่า ของอะไรที่มัน simple เข้าใจง่าย จะดีกว่าอะไรที่มันเข้าใจยากและปฏิบัติลำบาก ในเรื่องของการศึกษา นักศึกษาไม่มีเงิน รัฐก็เป็นออกเงินให้ก่อน นักศึกษาเรียนจบ ค่อยใช้ ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่ต้องใช้จนกว่าจะมีรายได้ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ simple มากๆ”
“ผมหาคำตอบมาตลอดช่วงเวลาการทำงานของผม ว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาอุดมศึกษาได้ มันแก้ไม่ได้ ถ้าขึ้นค่าหน่วยกิต นักศึกษาก็โวยวาย พอเก็บค่าหน่วยกิตต่ำ ก็มีปัญหาหลายอย่าง มหาวิทยาลัยไม่มีเงิน อาจารย์ดีๆ ลาออก เมื่อค่าหน่วยกิตถูก นักศึกษาก็ไม่สนใจเรียน แต่ถ้าจ่ายเงินเยอะๆ ก็ไม่มีจ่าย พอเจอ HECS ก็พบว่า นี่แหละคือคำตอบ ถ้าไม่มีเงิน ก็ออกให้ก่อน จบแล้วค่อยใช้ ไม่ใช่บังคับจ่ายแบบ กยศ.
“กยศ. มีหลักเกณฑ์ที่ผิดพลาด ไปใช้หลักแบบธนาคาร พอเรียนจบมา ยังไม่มีงานเลย จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ นอกจากนั้น ตอนที่เริ่มโครงการ กยศ. เริ่มด้วยแนวคิดที่คลุมเครือ เสมือนว่ารัฐจะให้ความช่วยเหลือในลักษณะเรียนฟรี นักศึกษาเลยมีทัศนคติว่า ไม่ใช้คืนก็ไม่เป็นไร คนที่เรียนจบ มีเงิน ก็ไม่ใช้คืน เพราะคิดว่า คนอื่นก็ไม่ใช้กัน”
อาจารย์เมธีเล่าต่อว่า
“Bruce โชคดีตรงที่ว่า นักการเมืองสนับสนุนเขา ทำได้ภายในหนึ่งปี สำหรับกรอ. ก็มีนักการเมืองสนับสนุนเช่นกัน ซึ่งก็คือคุณทักษิณ ชินวัตร ผมใช้เวลา 3 ปี เดินสายไปตามมหาลัยต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ เมื่อรัฐบาลเอาด้วย ก็เริ่มโครงการ แต่โชคร้ายที่กรอ. ถูกระงับจากรัฐบาลชั่วคราวชุดใหม่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 หลังการทำรัฐประหาร หลังจากนั้นก็กลับไปใช้ กยศ. ตามเดิม ที่น่าเสียดายที่โครงการต่อไม่ติดแล้วในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช”
“ลองดู กยศ. ตอนนี้ เละเทะเต็มไปหมด มีมากกว่าล้านคดีในศาล
เงินค่าฟ้องเป็นพันๆ ล้านบาท มีประเทศไหนในโลกที่เค้าทำอย่างนี้”
เมื่อพูดถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ก็อดไม่ได้จะถามเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ตอนที่ผมกลับไทยมาประชุม conference เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2562 รถบัสที่นำคณะนักวิชาการไปที่ UNESCAP สถานที่จัดงาน ก็ผ่านตึกวรรณสรณ์ ผมก็ชี้ให้เพื่อนดู และบอกว่า เด็กในประเทศไทยทุกคนอยากมาเรียนพิเศษที่ตึกนี้ เพื่อนผมก็ค่อนข้างแปลกใจเพราะวัฒนธรรมการเรียนพิเศษมันไม่แพร่หลายในต่างประเทศ ไม่นับรวมหนังสือเตรียมสอบเข้าม.ต้น ม.ปลาย และมหาวิทยาลัยที่แทบจะไม่มีเลยตามชั้นหนังสือในต่างประเทศ ผมก็เลยถามอาจารย์เมธีว่า ในฐานะที่ลูกและหลานของอาจารย์ได้เรียนที่ออสเตรเลีย อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร อาจารย์ถามผมกลับมาว่า
“ผมขอถามคุณกลับก่อนแล้วกัน ว่าคุณเรียนพิเศษทำไม”
คำถามนี้ก็ทำให้ผมจุกอยู่เหมือนกัน ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ผมเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนที่เรียกได้ว่าดีที่สุดในประเทศ เด็กทุกคนไม่น่าจะต้องการการเรียนพิเศษอะไรนอกโรงเรียนแล้ว แต่ผมก็พบว่าตัวเองเรียนพิเศษแทบจะทุกสถาบันในตึกวรรณสรณ์ (สมัยนั้น ตึกวรรณสรณ์เพิ่งสร้างใหม่ จำได้ว่าเครปอร่อยมาก) ทั้งเคมีอ.อุ๊ คณิตอ. อรรณพ ภาษาอังกฤษพี่แนน Enconcept ไม่นับรวมภาษาไทยอาจารย์ลิลลี่ สังคมปิง ดาว้องก์ที่ไม่ได้อยู่ที่ตึกวรรณสรณ์ ผมก็ตอบอาจารย์ว่า ผมเรียนพิเศษเพราะอยากเจอเพื่อน และไม่อยากอ่านเยอะ อาจารย์เมธีก็ตอบผมมาว่า
“การกวดวิชามีเหตุผลของมันเอง มันประหยัดเวลา มีเพื่อน แต่ถ้าถามว่ามันจำเป็นไหม ผมคิดว่าไม่จำเป็น ผมเป็นเด็กมาจากจังหวัดชัยนาท สอบเข้าเตรียมอุดมได้ และอยู่ห้องคิง โดยที่ไม่เคยเรียนพิเศษที่ไหน ลูกของผม เรียนที่ออสเตรเลีย ก็ไม่เคยกวดวิชาที่ไหน แต่ถ้าเขาจะไป ก็คงไม่ห้าม”
“แต่ผมบอกกับลูกเสมอว่า ในฐานะของคนที่เป็นพ่อแม่ เราต้องถามตัวเองว่า เราเลือกโรงเรียนให้ลูกเรียนหรือไม่อย่างไร หลักพ่อแม่ของเราคือ ส่งลูกให้ได้เรียนในที่ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถ้าเรามีปัญญาจะส่งลูก ซึ่งผมก็อยากเห็นตรงนี้เหมือนกันสำหรับสังคมไทย”
“พ่อแม่ทุกคนสามารถส่งให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดได้ ถ้าทำไม่ได้ ต้องแก้สองจุด หนึ่ง ต้องแก้ที่ฐานะของครอบครัว ทำอย่างไรที่จะมีเงินมากพอที่จะส่งลูกเรียนในที่ดีๆ นี่คือหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ แต่ถ้าทำไม่ได้ รัฐต้องทำหน้าที่ โดยส่งเสริมให้โรงเรียนมีคุณภาพ ไม่ใช่มีแต่ปริมาณ ประเทศไทยไม่มีทั้งสองอย่างนี้ คือพ่อแม่ฐานะไม่ดีพอที่จะส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เอาแต่สร้างโรงเรียนแต่ไม่สร้างครูที่มีความสามารถ”
“เมื่อมันเป็นไปไม่ได้ทั้งสองอย่าง ประเทศเลยมีปัญหาเรื่องของการศึกษา
เมื่อคุณภาพการศึกษาดี และพ่อแม่มีปัญญาส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่ดีได้
การกวดวิชาไม่จำเป็น”
กว่า 2 ชั่วโมงเศษที่ผมนั่งคุยกับอาจารย์เมธี ผู้ที่เป็นเสมือนต้นแบบของนักเศรษฐศาสตร์ไทยและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ และมีอีกหลายคำถามที่อยากจะถามอาจารย์เมธี ก่อนจบการสัมภาษณ์ อาจารย์เมธีได้บอกกับผมว่า