ในปัจจุบันทักษะหรือความสามารถที่มีเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ใครคนหนึ่งสามารถไปถึงเป้าหมายในอาชีพต่างๆ จนประสบความสำเร็จได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยศาสตร์และความรู้หลายอย่างเข้ามาผสมผสานกัน อย่างที่เรียกติดปากกันว่า ‘บูรณาการ’
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การเรียนรู้แบบ STEM หรือแนวทางการนำศาสตร์อันหลากหลาย ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มาผสมผสานให้เป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จำเป็นต่อวิชาชีพในปัจจุบันและยังช่วยสร้างทักษะแห่งอนาคต ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกอย่างมาก ณ ตอนนี้
นุ่น – ศิรพันธ์ วัฒนจินดา เรียนจบจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมทั้งมีหมวกในการเป็นนักแสดงอาชีพและเจ้าของกิจการออกแบบด้านสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน ภาพหลายมุมของชีวิตที่ดูเหมือนจะค่อนข้างคอนทราสต์กันพอสมควร แต่เธอกลับสามารถบริหารจัดการหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี มาดูกันว่าอะไรคือวิธีคิดสำคัญในการบริหารทักษะอันหลากหลายให้เอื้อต่อกันได้อย่างลงตัว
อยากให้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่าเติบโตมาในครอบครัวลักษณะไหน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญให้เป็นตัวเองอย่างทุกวันนี้
ตอนเด็กรู้สึกว่าโชคดีมากที่เกิดในครอบครัวเป็นนักวิชาการ คุณแม่เป็นครูประถมที่มักจะสอนการบ้านเอง เราจึงไม่เคยเรียนพิเศษเลย ตอนเรียนก็เรียนเต็มที่ พอตอนกลับบ้านมาก็นั่งกินข้าวกัน เขาจะถามทุกวันว่าวันนี้เรียนอะไร สงสัยวิชานี้ไหม รู้ไหมว่าเอาไปทำอะไรต่อได้ เหมือนเขาพยายามฝึกให้เราเป็นเด็กช่างสังเกต ทำให้เราชอบสงสัย ชอบตั้งคำถาม เรารู้สึกว่าวิชาที่เราเรียนได้ดีมากๆ คือวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
เราจึงเรียนทั้งหมดมาด้วยวิธีที่ไม่ได้ให้ท่องจำ แต่ได้คิดวิเคราะห์เอง ไปหาความรู้ข้างนอกแล้วเอามาสอดแทรกกับสิ่งที่เรียน อาจจะเป็นธรรมชาติของคนที่เรียนด้านนี้ได้ดี คือต้องเป็นแบบเจ้าหนูจำไม คือสงสัยทุกเรื่อง อย่างตอนเด็กๆ ที่แม่สอนทำขนม แม่ถามว่านุ่นอยากได้สีม่วงไหม ก็ให้ไปเอาอัญชันข้างบ้านมาละลายน้ำจนกลายเป็นสีน้ำเงิน พอบีบมะนาวไปก็กลายเป็นสีม่วง เราก็สงสัยว่ามะนาวบีบอะไรก็เป็นสีม่วงเหรอ เราก็เอามะนาวไปบีบใส่ทุกน้ำเลย แต่มันก็ไม่เป็น พอมาเรียนวิทยาศาสตร์ก็รู้ว่ามันเกิดจากการที่สีมาผสมกัน ซึ่งผู้ใหญ่รอบข้างเราไม่ได้เรียกร้องคำตอบจากเรา แต่ให้เราออกไปหาคำตอบเอง ไม่ใช่รอให้ใครมาบอก
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์
เหมือนมันมาจากพื้นฐานที่เราสะสมมา อาจจะเป็นเพราะอาจารย์ที่สอนตั้งแต่ประถม มัธยม จะสอนให้เราสนุกกับวิชาที่เราเรียน สนุกกับการคิดอะไรได้ด้วยตนเอง เขาจะมีวิธีชื่นชม ครั้งนี้ดีแล้ว ครั้งหน้าต้องดีกว่านี้แน่ๆ คนที่เรียนสายวิทย์-คณิตมา ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนแพทย์ไม่ก็วิศวะ แต่เราเคยไปฝึกงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดแพร่ เห็นคุณหมอนั่งตรวจตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนถึงเที่ยง แล้วไม่ได้ไปไหน การอยู่ท่ามกลางการรับผิดชอบชีวิตคน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางเรา ถ้าอย่างนั้นต้องมีเหตุผลคือ หนึ่ง เป็นอาชีพที่ได้ใช้วิชาที่เราชอบคือวิทย์-คณิต สองคือได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ซึ่งวิศวะน่าจะตอบโจทย์มากกว่า
แต่คนทั่วไปอาจจะมองว่าผู้ชายน่าจะเรียนวิศวะได้ดีกว่ารึเปล่า
การเป็นผู้หญิงที่เรียนวิศวะ ในครอบครัวไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะพ่อเราเป็นทหาร มีพี่เลี้ยงเป็นพลทหารตั้งแต่เด็ก เลยคุ้นชินกับการอยู่กับผู้ชาย ทำให้เรารู้สึกว่าผู้ชายกับผู้หญิงเท่ากัน แต่สิ่งที่เราเจอในยุคนั้นคือสังคมบางกลุ่มยังยึดติดว่าผู้ชายควรจะเรียนวิศวะ ผู้หญิงควรจะไปเรียนพยาบาล เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอ่อนโยน ตอนฝึกงานก็โดนแซวว่าทำไมไม่ไปเรียนพยาบาล ดูสะอาด ไม่มอมแมม แต่สิ่งหนึ่งที่ทะลายกำแพงที่ว่าเป็นผู้หญิงควรจะทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร คือความตั้งใจของเรา ตอนนั้นก็รีบไปแต่เช้าทุกวัน ตรงต่อเวลามาก เวลาเขาให้ทำอะไรก็อาสาคนแรก เพราะอยากจะพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าการเป็นผู้หญิงของเรามีค่าไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย เลือกที่จะปฏิบัติให้เขาเห็น แล้ววันสุดท้ายที่เราฝึกงานสิ่งหนึ่งที่เราได้รับคำชื่นชมคือ เขาอาจจะต้องมองใหม่ จริงๆ ผู้หญิงก็ทำได้ดี เปลี่ยนทัศนคติของคนยุคก่อนได้ จริงๆ ผู้หญิงจะมี soft skill หรือภาษาบ้านๆ จะเรียกว่าจริตหรือมารยาบางอย่างที่ช่วยแก้ปัญหาได้ สำหรับเราคิดว่าการคุยกันด้วยวิธีการแบบแมนๆ บางครั้งอาจจะไม่ได้แก้ปัญหา มันจะยิ่งทำให้ฝั่งตรงข้ามมองไม่ดี วิธีการพูดแบบมีวาทศิลป์จึงสำคัญ ซึ่งการเป็นผู้หญิงจะสามารถเอาชนะในเรื่องนี้ได้
ช่วงที่เริ่มเข้าวงการบันเทิงใหม่ๆ มองว่าทักษะที่เรียนมามีส่วนช่วยในเรื่องการแสดงมากน้อยขนาดไหน
ก่อนหน้านี้ก็มีพื้นฐานมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าชอบการแสดง แต่ยังไม่มีโอกาสไปเรียนอย่างจริงจัง พอเล่นเรื่องแรกก็งงมาก เล่นเป็น ดากานดา ในเรื่อง เพื่อนสนิท เขาให้เราลองจินตนาการว่าเราอยู่กับเพื่อนคนนี้มานานแล้ว แล้วมันซี้กับเรามาก แต่อยู่ๆ มันมาบอกรักเรา เราก็คิดว่ามันต้องรู้สึกยังไง ครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) แอ็กติ้งโค้ชก็สอนกระบวนการคิดแบบเป็นตัวละคร ซึ่งศิลปะมันใช้สมองตรงกันข้ามกับเรื่องวิทยาศาสตร์ พอผ่านเวลาและงานด้านการแสดงมาได้สักพัก เรารู้สึกว่า เหมือนเราได้สร้างหลักสูตรใหม่ขึ้นมาเพื่อตัวเราเอง ซึ่งมันเวิร์กมากเลย เพราะเราได้รับการฝึกมาให้ช่างสงสัย ช่างสังเกต แล้วกระบวนที่เราเรียนมาคือการลำดับเหตุการณ์ ทุกอย่างต้องมีเหตุและผล
อย่างเช่นยกตัวอย่าง สมมติมีคนมาสัมภาษณ์แล้วรู้สึกเกลียดขี้หน้าคนนี้มากเลย สิ่งที่เราต้องทำการบ้านคือทำไมเราต้องเกลียดคนคนนี้ นี่เป็นหลักของวิทยาศาสตร์ ต้องกลับไปสร้างเหตุการณ์ว่าเราเกลียดเพราะรู้จักเขามาก่อนรึเปล่า หรือไม่รู้จักมาก่อน แต่เราเคยเจอผู้ชายแบบคุณมาหลอก ต้องนึกภาพว่าเขามาหลอกยังไง คบมานานแค่ไหน เชื่อใจขนาดไหนแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกลียดมาก แล้วเวลาเจอคนแบบนี้ ทำให้รู้สึกสะอึกกับภาพที่เขาเคยทำให้เราเสียใจ ทำให้เรารู้สึกเกลียดจริงๆ ไม่ใช่เจอแล้วเกลียดหน้าเลย ถึงบทจะไม่ได้บอกก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเป็นนักแสดง คือลำดับเหตุการณ์เป็นแบบไดอารี่ที่เราสร้างขึ้นมาเอง
กระบวนการคิดแบบแบบเป็นเหตุเป็นผล สามารถนำไปใช้กับการทำงานแบบอื่นได้อีกไหม
กระบวนการคิดที่เป็นขั้นตอนเป็นเหตุเป็นผล ทำให้เราสามารถทำงานอะไรก็ได้ เพราะถ้าเกิดมีแค่จินตนาการอย่างเดียว แต่ลำดับการทำงานไม่เป็นก็อาจจะเป็นปัญหา อีกพาร์ทหนึ่งที่เราทำ คือทำงานบริษัทดีไซน์ สิ่งที่เราทำคืออยากช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน กระบวนการคิดแบบบูรณาการจะทำให้เราคิดว่าจะทำอะไรก่อน มองถึงโปรเซสในการทำงานก่อน คิดว่าจะขายให้ใคร ขายราคาเท่าไร แล้วค่อยมาคิดเรื่องดีไซน์ นี่คือกระบวนการคิดที่เราได้รับการฝึกให้คิดแบบเป็นลำดับขั้นตอน สามารถนำแนวคิดนี้มาใช้กับทุกอย่างที่เราทำได้หมดเลย
มองว่าสามารถโยงไปเรื่องของการศึกษาด้าน STEM ที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านอื่นๆ ได้อย่างไร
ยุคก่อนไม่มีใครมารวบรวมให้ว่านี่คือ STEM ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ควรจะมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจว่า ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกัน ศัพท์ที่ดูวิชาการมากๆ คือคำว่า บูรณาการ แต่ถ้าพูดภาษาง่ายๆ คือการเอาวิชาต่างๆ มาเชื่อมโยงให้สอดคล้องกัน จึงอยากให้เด็กยุคนี้เข้าใจว่า STEM คืออะไรและอยากให้เรียนด้วย เพราะสมัยนี้ไม่ใช่แค่รู้อย่างเดียวแล้วจะสามารถทำอะไรได้ การมีหลายทักษะเป็นสิ่งที่ดีมาก
ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง คือสมมติหนูชอบทำขนม ต้องรู้ก่อนว่าอยากทำขนมอะไร ไม่ใช่ว่าไปเสิร์ชจากกูเกิลมา ขนมหนูก็ไม่แตกต่างแล้ว จะต้องทำอย่างไรถึงจะแตกต่างไม่เหมือนเจ้าอื่น ต้องมีการถนอมอาหารเพื่อให้ขายได้นานๆ ไหม จะช่วยให้ส่งไปขายต่างประเทศก็ได้ นี่คือการบูรณาการเรื่องเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามา หรือรู้ต้นทุนไหมว่าจะขายชิ้นละกี่บาท อยากจะขายหน้าบ้านชิ้นละห้าบาทหรือส่งไปขายอเมริกาชิ้นละห้าสิบบาท นอกจากเรื่องค่าวัตถุดิบแล้ว ค่าไฟที่ใช้ในการอบขนมเท่าไร ค่าขนส่งจากไทยไปอเมริกาเท่าไร นี่ก็เป็นคณิตศาสตร์แล้ว กว่าจะเป็นขนมหนึ่งกล่อง มันไม่ใช่แค่อยากทำขนมอร่อยๆ อย่างเดียว แต่คือความเข้าใจพื้นฐานทุกด้านที่ควรจะมี
ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงต้องเรียนรู้เรื่อง STEM จำเป็นกับโลกยุคปัจจุบันอย่างไร
การที่มีความรู้เฉพาะด้านเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าให้เราได้ แต่การที่เราจะเจ๋งอย่างเดียวแล้วอีโก้จนไม่สนใจเรื่องอื่นเลยก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ยุคที่เก่งอย่างเดียวแล้วจะอยู่รอดได้ ต้องอยู่บนโลกความเป็นจริงด้วย เราพูดในฐานที่เป็นทั้งคนทำงานและเจ้าของบริษัท สมมติอยากจะรับสมัครคนทำดีไซน์มาร่วมโปรเจกต์ แล้วมีเด็กมาสมัครบอกว่า ผมเก่งในการทำ 3D มาก ตอนสัมภาษณ์เราก็จะถามว่านอกจากการทำ 3D ทำอะไรเป็นอีกบ้าง จะเก่งแต่ 3D แล้วไม่สื่อสารกับคนที่รีบบรีฟมาเลยก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ด้วย รู้ว่าต้นทุนการผลิตมีเท่าไร งานที่ออกมาจึงทำกำไรได้และไม่ขาดทุน จะทำให้น้องคนนี้มีมูลค่าเพิ่ม หรือการเข้าสังคมต่างๆ เขาต้องรู้ว่าการทำงานจริงๆ ต้องทำเป็นทีม นี่คือการยกตัวอย่างว่า ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม การมีศาสตร์อื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง แต่การยอมรับว่าเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ยอมให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน และกล้าแสดงความคิดเห็น นี่คือความคิดที่จะกล้าออกนอกกรอบ ไม่ใช่แค่ได้ทำตามความฝันอย่างเดียวแล้ว
ถ้าจะให้อธิบายถึงตัวงานออกแบบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ทำอยู่ มีการปรับแนวคิดเรื่อง STEM เข้าไปใช้อย่างไร
ในการทำงานฝั่งของพี่ท็อป (พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร) คือดีไซเนอร์ ส่วนเราเป็นคนทำโปรดักชัน เป็นคนคุมต้นทุนว่าทำได้หรือไม่ได้ เราเพิ่งทำแอพลิเคชันชื่อ Eco Life เป็นโปรเจกต์ที่เป็นตัวอย่างของการบูรณาการ จุดเริ่มต้นมาจากพี่ท็อปอยากรู้ว่าทำไมการวัดผลเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงคำนวณออกมาชัดๆ ไม่ได้ หลังจากที่ไปรีเสิร์ชมาสิ่งที่วัดได้คือการนับ Carbon Footprint หรือการนับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา อย่างการปิดไฟหรือขับรถไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ถือเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนกัน
คิดไปคิดมาก็ออกมาเป็นแอพลิเคชัน อย่างเช่นการเดินทางมาที่นี่ จะมีสูตรว่าระยะทางคูณเวลา คุณเดินทางมากี่นาทีและใช้เวลาเท่าไร รถคันนั้นมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร แต่ถ้าคุณเลือกไม่ใช้รถ แสดงว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะปล่อยก็ลดลงไปแล้ว กดแอปหนึ่งครั้งเพื่อบอกว่าคุณเดินมา gps ก็คำนวณระยะทางและเวลาที่เดินมา ตรงนี้ก็ให้รุ่นน้องที่เป็นวิศวะคอมมาออกแบบให้ แล้วให้พี่ท็อปมาออกแบบหน้าตาให้น่าสนใจ มีการใช้คณิตศาสตร์เข้ามาคำนวณ และเฟสต่อไปที่จะทำคือการคำนวณการไม่รับถุงพลาสติก แค่คุณไม่รับถุงพลาสติกหนึ่งใบ สามารถลดอะไรไปได้บ้าง ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้เท่าไร นี่คือการบูรณาการ
ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีคือเครื่องมือหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วในแง่การเรียนรู้ของเด็กคิดว่าสำคัญขนาดไหน
ตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่ชอบเข้าห้องสมุดมาก เพราะชอบทำกับข้าว สิ่งที่จะไปหาความรู้ได้คือไปห้องสมุดแล้วไปเปิดหนังสือหาสูตร จะทำวุ้นก็รู้แค่เอาวุ้นไปผสมน้ำ รู้แค่นี้ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แค่หนังสือ คุณสามารถใช้เทคโนโลยีมากมาย ซึ่งเทคโนโลยีคือเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ คุณสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหา คุณอาจจะเจอวุ้นสูตรอังกฤษ วุ้นสูตรอเมริกาได้ สมมติอยากให้เด็กทำไข่เจียว แต่ไม่มีอะไรมาซัพพอร์ตเลย เด็กก็จะไม่รู้ว่าไข่เจียวทำยังไง แต่ถ้าเขามีเครื่องมือบางอย่าง เช่นการเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เป็นการเข้าถึงองค์ความรู้ที่ใหญ่มาก จนไม่แน่ถ้าเกิดเขาเจอสูตรไข่เจียวที่อร่อยล้ำมาก แล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา มันอาจจะกลายเป็นหนังไข่เจียวที่พอลงยูทูบแล้วอาจโด่งดังไปทั่วโลกก็ได้
นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่สำคัญแล้ว เคยจินตนาการไหมว่า ห้องเรียนในฝันจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน ห้องเรียนมันเหมือนเป็นการป้อนข้าวให้ นอกจากป้อนให้แล้วยังให้ท่องจำอีก มันไม่ได้ชี้แนะหรือบอกว่าสิ่งที่เรียนรู้อยู่นี้จะเอาไปใช้ทำอะไรได้ เราถูกสอนให้จำแต่ไม่ได้ถูกสอนให้คิด ยังไม่เคยมีห้องเรียนที่บอกว่าให้เรามาคิดแบบนี้กันเถอะ เราว่าห้องเรียนในยุคปัจจุบัน มันควรเป็นห้องเรียนที่ไม่ใช่การป้อนข้าวให้เด็ก แต่กระตุ้นให้เขาออกไปหาคำตอบและวิธีการเอง ถ้าเด็กๆ หิวข้าวแล้วอยากกินอะไร ก็ให้เด็กออกไปหาวิธีทำ อยากกินไข่เจียว ไข่เจียวทำอย่างไร สมมติทำครั้งแรกไม่อร่อยเลย ก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน
ห้องเรียนที่ดีควรกระตุ้นให้โอกาสและสนับสนุน ให้กำลังใจในการเอาใหม่ แล้วก็มาคิดวิเคราะห์ต่อว่า ถ้าไข่เจียวนี้อร่อย มันอร่อยเพราะอะไร เพราะน้ำมัน ไข่ ซอสที่ใส่ หรือเพราะกินกับข้าว สุดท้ายอาจจะได้คำตอบใหม่ๆ อย่างไข่เจียวอาจจะอร่อยเพราะกระทะที่ทอดก็ได้ คำตอบอาจจะกว้างมาก ทำให้เด็กสนุกกับการได้ออกไปค้นคว้าหาความรู้ แก้ปัญหา และได้ลองผิดลองถูก ทำดีก็ชม ทำผิดก็ไม่เป็นไร เราเคยเป็นเด็กเนิร์ดที่รู้แค่แต่ละวิชา แต่เอามาทำงานด้วยกันไม่เป็น จนวันหนึ่งก็ได้รู้ว่าเราเก่งเรื่องเดียวไม่ได้ รู้เรื่องเดียวไม่ได้ การทำงานเป็นทีมก็สำคัญ อยากจะบอกเด็กๆ ว่าอย่าไปกลัว สนุกกับการเป็นเด็ก ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองว่าอยากจะทำอะไร
หลังจากที่ได้สัมผัสกับ Samsung Smart Learning Center รู้สึกว่าเป็นห้องเรียนที่ตอบโจทย์ความเป็นห้องเรียนในฝันที่จินตนาการไว้อย่างไร
พื้นฐานคือการที่เราโตมาในครอบครัวที่ทุกคนปล่อยให้เราไปคิดค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ตอนเด็กๆ เราจึงรู้สึกว่าทำไมไม่มีห้องเรียนที่เปิดเลย อยากรู้เรื่องอะไร มาลองถามลองคุยกันแล้วหาคำตอบด้วยกัน จะสนุกว่าไหมถ้าคำตอบนั้นได้มากกว่าที่เราคิด สำหรับเรารู้สึกว่า Samsung Smart Learning Center เขาตอบโจทย์เราตอนเด็กมาก เป็นห้องเรียนกระตุ้นทุกๆ อย่างที่เป็นทักษะสำหรับเขา อย่างเช่นกระตุ้นให้สงสัยหรือออกไปค้นหาอะไรที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ ถ้าเป็นเด็กที่ไม่เคยถูกกระตุ้นหรือให้คิดนอกกรอบเลย เป็นเด็กที่ป้อนอะไรมาก็รับไป ไม่ช่างสงสัยเลย โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เขาออกไปหาคำตอบเองได้ ออกไปเจอโลกกว้าง เพราะทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพคือ การทำงานเป็นกลุ่ม การเข้าสังคม การแบ่งปัน การยอมรับ และกล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่อื่นอาจจะไม่ได้สอน แต่ที่นี่สอน จนสุดท้ายการเรียนรู้ทั้งหมดนี้จะพัฒนากลายเป็นทักษะการใช้ชีวิตที่ดีได้
https://www.facebook.com/samsungslc/