ปัญหาพลาสติกที่ต้องแก้ด้วยพลาสติกเอง SCG Chemical กับภารกิจ Circular Economy อุเบกขาแห่งวงล้อขยะพลาสติก
จะเรียกว่าเป็นเทรนด์ได้ไหม ที่ในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้เราได้ยินเรื่องของการลด-ละ-เลิกใช้ถุงพลาสติก/ผลิตภัณฑ์พลาสติกหนาหูกว่าทุกปี ผู้คนเริ่มมองหาทางเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติก หันหน้าไปหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นตัวช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม
เป็นกระแสสำนึกรักษ์โลกที่จุดติดเป็นวงกว้าง ไหนจะความ ‘เอาด้วย’ ของแบรนด์ห้างร้านสารพัด ที่เริ่มมีโครงการที่จะจริงจังกับการลดการใช้พลาสติกกันอย่างจริงจัง และดูเหมือนอะไรเหล่านี้ก็กำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยไป อย่างน้อยก็เวลาซื้ออะไรพะรุงพะรังในร้านสะดวกซื้อ แต่จะต้องบอกว่า ปัญหาหลักของพลาสติกไม่ใช่พลาสติก แต่สามารถแก้ได้ด้วยพลาสติก…
และทางแก้ไขปัญหาเรื่องพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่ล้นโลก การจำกัดปริมาณและกำจัดไม่ได้ (หรือทำได้ยาก) คำตอบก็ไม่ใช่เรื่องของการ ‘ลดการใช้’ เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นหลายเท่า และภายในงาน K 2019 ก็ดูเหมือนว่ากำลังจะคุยอะไรพวกนี้อยู่
อะไรคืองาน K?
สำหรับเรา งาน K เป็นงานเนิร์ดๆ ของกลุ่มนักเคมีภัณฑ์ เป็นงานแสดงนวัตกรรมในอุตสาหกรรมพลาสติก ‘ที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ จัดมาตั้งแต่ปี 1952 และจัดต่อเนื่องสามปีหนึ่งครั้งเป็นประจำ ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี มีบริษัทเล็กใหญ่จาก 168 ประเทศ 3,300 บูธใน 19 ฮอลล์ขนาดใหญ่ บริษัทจำนวนมหาศาลที่ทุกบริษัทล้วนอยู่ในทุกสายพานการผลิตพลาสติก อยู่ในทุกขั้นตอนแบบถี่ยิบ ตั้งแต่ค้นคว้า ออกแบบ ผลิต ยันย่อยสลาย
งาน K จัดติดต่อนาน 8 วัน ผู้เข้าชมมากกว่า 2 แสนคน (ตัวเลขนี้กับไทยเราเองอาจจะรู้สึกว่าจะตื่นเต้นอะไรกัน งานคอมฯ หรืองานหนังสือ ยังมากกว่านี้เป็นสิบเท่า แต่อย่าลืมว่านี่คืองานเชิงอุตสาหกรรม ที่เฉพาะเจาะจงลงไปในอุตสาหกรรมเดียว เป็นสิ่งที่ทำให้คนนอกวงการอย่างเราตื่นตาและตื่นเต้นมากว่าทำไมถึงมีคนที่สนใจและอยู่ในอุตสาหกรรมมากมายขนาดนี้!)
สามปีจัดหนึ่งครั้ง เป็นระยะเวลาที่มากพอจะให้เกิดเทรนด์ใหญ่ๆ ได้ เป็น Big Impact ที่จะส่งสัญญาณต่อไปยังอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีผู้เล่นกระจายตัวอยู่ทั่วโลก เป็นโจทย์สำคัญในการกระจายตัวกันไปคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเอามาโชว์กันที่นี่ว่าฉันเจ๋งยังไง แล้วเธอล่ะไปถึงไหนแล้ว มาแชร์กันหน่อย
ในเชิงหนึ่ง มันจะเป็นจุดที่จะเกิดการซื้อ ขาย และร่วมมือกันต่อไปในทุกระดับ แต่ในอีกเชิงหนึ่ง หัวข้อที่ถูกพูดคุยก็คือ “เราจะแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมของเราได้ยังไง?” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับปัญหาที่ว่า “พลาสติกคือตัวร้ายของโลกนี้”
ถ้าพลาสติกเป็นตัวร้าย แล้วใครคือพระเอก?
งาน K เป็นศูนย์กลางในการนำความเป็นไปได้ต่างๆ มานำเสนอให้แก่ผู้ผลิตและผู้ใช้พลาสติกอยู่เสมอ
พลาสติกเป็นปัญหามานานหลายปี แต่ละภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปนั้นทำร้ายจิตใจและกระตุ้นความคิดด้านลบมากมาย การแก้ไขถูกคิดค้นขึ้นมาเป็นระยะ นานๆ ทีจะมีไอเดียที่เป็นประหนึ่งอัศวินที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกได้ อย่าง Bio-Plastic ก็เคยเป็นประเด็นที่เด่นดังไปทั่วโลก เป็นความหวังที่ว่าจะช่วยให้พลาสติกย่อยสลายง่ายขึ้น ไม่ตกค้างนานข้ามศตวรรษตามวาทกรรมที่มันถูกพูดถึงมาตลอด
แต่ไอเดียไบโอพลาสติกก็อยู่ได้ไม่นานเพราะพบว่ามีจุดบอดและจุดอ่อนอยู่มากมาย ความเสียหายมีมากกว่าสิ่งที่มันจะสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ความสามารถในแง่พื้นที่การผลิตแบบหน่วยต่อหน่วยนั้นแพงกว่ามาก
กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็มีความซับซ้อนที่ทำให้การตอบสนองเชื่องช้ากว่าความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนกว่ามากแถมยังกระจายอยู่ทั่วโลก เพราะบางสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน พลาสติกสามารถผลิตได้รวดเร็ว ราคาถูก กว่าผลิตภัณฑ์อื่นมากกว่าเป็นร้อยเท่า เข้าถึงความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงทีกว่า มีความหวังมากกว่าในเวลาที่โลกต้องการ แถมผลิตภัณฑ์ทดแทน ก็มีการพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่าก่อมลภาวะมากกว่านักต่อนัก อย่างถุงผ้าเองก็มีขั้นตอนการผลิตที่รบกวนสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย ขวดแก้วเองก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นแล้ว ทางเลือกที่มี อาจจะดีแต่ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด
พลาสติกแก้ไขได้ด้วยพลาสติก
งาน K 2019 หัวข้อที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เป็นหัวข้อหลักของงานครั้งนี้เลยก็ได้ว่า นั่นคือ ‘Cicular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’
สำหรับการแก้ปัญหาของพลาสติกนั้นอาจอธิบายได้ง่ายๆ ว่าให้พยายามเติมพลาสติกลงสู่โลกให้น้อยที่สุด ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วนั้นถูกใช้วน ไม่ผลิตเพิ่ม และให้ถูกผลิตซ้ำอยู่ในวงจรของมัน แต่จะต้องเป็นวงจรที่ถูกต้อง
แต่อะไรคือความถูกต้องกันล่ะ?
ปัญหาพลาสติก ประชาชนไม่ได้เป็นแค่คนที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในการสร้างปัญหา
Circular Economy ต้องการให้ทุกคนอยู่ในวัฏจักรที่เอื้อต่อการทำให้พลาสติกเป็นมิตรมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น ‘ช่วงชีวิต’ ของพลาสติกเองเวลาอยู่ในฐานะผลิตภัณฑ์ ทำประโยชน์ใช้สอยได้ มันก็ต้องเป็นพลาสติกที่ทนทาน ปลอดภัย ใช้แล้วคุ้มค่าตามลักษณะการใช้ที่ต้องการ อายุการใช้งานเหมาะสม กระทั่งเมื่อปลดระวางการใช้แล้วก็มาอยู่ในฐานะที่เป็นขยะคุณภาพดี ไม่ว่าจะนำกลับไปใช้ใหม่ หรือการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อวตารมาเป็นสิ่งอื่นที่จะสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้ามันง่ายนัก ก็คงไม่ต้องเป็นหัวข้อใหญ่ให้หาทางแก้ไขกันวุ่นวายจนกลายเป็นประเด็นระดับโลก
สำหรับในประเทศไทย การรีไซเคิลที่ได้ยินมาเป็นสิบๆ ปี แต่ที่ยังไม่ได้ผลมากนักนั่นเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ที่ใกล้ตัวที่สุดสำหรับคนทั่วไปก็คือ ‘วินัยในการแยกขยะ’ ทั้งที่สังคมก็รณรงค์เรื่องการแยกขยะมานานแสนนาน แต่ว่ากันตามตรงก็อยู่ในระดับที่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร การไม่แยกขยะในระดับครัวเรือนนั้นเป็นลูกโซ่ต่อไปถึงการแยกขยะระดับที่ใหญ่กว่านั้น คือก่อปัญหาให้แก่ผู้ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว นั่นก็คือองค์กรของรัฐบาลอย่างกทม. และสำนักงานเขตต่างๆ ทั่วประเทศ ที่นอกจากจะต้องมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการแยกขยะที่สูงขึ้น ก็ทำให้ต้องมีภาระหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการย่อยสลายเพื่อนำส่วนประกอบต่างๆ ย่อยมาเป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลได้ด้วย โดยเฉพาะพลาสติกที่ในแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน
เหมือนจะเหมือน แต่เปล่าเลย
พลาสติกแต่ละชนิดนั้นไม่เหมือนกัน ในความไม่เหมือนนั้น เมื่อนำมาถูกปรับใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกันก็ทำให้ยิ่งแตกต่าง พลาสติกสำหรับทำถังขยะ สำหรับวางเอาไว้นอกบ้านก็ต่างจากที่วางในบ้าน, ถุงพลาสติกสำหรับห่อขนมอบกรอบก็ไม่เหมือนกับช็อกโกแลต หรือลูกไหนอบแห้ง ยังไม่ต้องพูดถึงพลาสติกสำหรับผลิตวัสดุประกอบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือพลาสติกสำหรับผลิตภัฑณ์ที่ต้องทนร้อน ทนเคมี มีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างที่สุด
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น พลาสติกเป็นส่วนประกอบจากเคมีหลายสูตร ผลิตภัณฑ์พลาสติกก็ประกอบจากพลาสติกที่มาจากหลายสูตรนั้นๆ มาวางเรียงเป็นชั้นเหมือนกับชั้นเค้กที่เล็กจิ๋วจนมองลำบากอีกที แต่ละชั้นก็จะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน นี่เองที่เป็นผลต่อการย่อยเพื่อเป็นวัตถุดิบต่อๆ ไป ยิ่งซับซ้อนก็ยิ่งจัดกลุ่มได้เริ่มต้นได้ยาก เพราะมีสูตรของการย่อยไม่เหมือนกัน
นี่คือความท้าทายของอุตสาหกรรมพลาสติก เราจะทำยังไงให้ได้มีพลาสติกที่มีคุณสมบัติที่ดีพอจะตอบสนองทุกการใช้งาน และยังง่ายต่อการนำมารีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ 100% เพราะเมื่อไหร่ที่สามารถแก้โจทย์นี้ได้ ก็หมายความว่า Circular Economy ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง ปัญหาพลาสติกก็จะลดลงมหาศาล
SCG ในงาน K Fair 2019
หนึ่งในบริษัทของประเทศไทยที่เป็นผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในวงการเคมีภัณฑ์ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้อย่าง SCG Chemical ก็มาเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนและรันวงการในงาน K Fair 2019 เช่นกัน
2.4 พันล้านบาท คือจำนวนเงินที่ SCG ใช้จ่ายไปกับการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา เพื่อหาพลาสติกที่คุณภาพดีกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพื่อตอบสนองลูกค้าทั้งในแง่ของคู่ค้าที่กำลังมองหาสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตได้ และผู้บริโภคทุกคนที่ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ตามคอนเซปต์ “Passion for a better world.” ที่ถูกแปะประกาศชัดเจนอยู่ในบูธ
ภายในงาน K Fair 2019 คณะผู้บริหารระดับสูงของ SCG มาปรากฏตัวแทบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ อย่าง ชลณัฐ ญาณารณพ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่อย่าง ธนวงษ์ อารีรัชกุล ที่ก็พูดถึงงาน K Fair เป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นงานที่เปิดหูเปิดตา เป็น A Must ของการโชว์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมนี้ และเป็นงานที่คนในอุตสาหกรรมเฝ้ารอ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายอย่างก็ล้วนเคยมาถูกโชว์ที่นี่ก่อนจะออกสู่สายตาคนทั่วโลก และในหลายๆ อย่างนั้นก็มีไม่น้อยที่เป็นแรงบันดาลใจให้ SCG นำกลับไปปรับใช้ในประเทศไทย
ปัญหาพลาสติกในแง่มุมของนักเคมีภัณฑ์ และความเป็นไปมากที่สุดทางหนึ่งก็คือการให้พลาสติกแข่งกับตัวมันเอง เพื่อพัฒนาให้มันถูกสร้าง ทำลาย และสร้างใหม่อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งไปอย่างไม่รู้เหนื่อยนั่นเอง
พลาสติกไทยยังไงดี
“อยู่ถูกที่ มันจะไม่ถูกเรียกว่าขยะ”
คำหนึ่งในการพูดคุยกับชลณัฐ ญาณารณพ ทำให้เราต้องพยักหน้าเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าแค่ไม่ทิ้งก็ไม่เรียกว่าขยะ แต่เรียกว่าทิ้งยังไงให้ถูกต้องจะถูกต้องกว่า เขาส่ายหน้าไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงเมื่อเราถามถึงวาทกรรมติดตลกของคนจำนวนไม่น้อยที่ว่า “จะแยกไปทำไม เห็นรถขยะก็เอาไปรวมอยู่ดี” ชลณัฐอธิบายว่านั่นคือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการแยกขยะในประเทศไทยนั้นมีระบบสำหรับการแยกขยะอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะต้องยอมรับกันก็คือโรงแยกขยะยังมีจำนวนน้อยเกินไป ไม่เพียงพอ และคุณภาพของขยะที่ไม่เคยผ่านการแยกในขั้นตอนแรก (คือหลังใช้ จากในบ้านของพวกเรานี่แหละ) ก็ยิ่งทำให้คุณภาพของการแยกขยะในปลายทางนั้นลดลง เปอร์เซ็นต์ในความสำเร็จก็ยิ่งน้อยลง
พลาสติกเป็นต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ที่ถูกที่สุดในโลก หาตัวแทนได้ยากมาก ในหลายกิจกรรมและหลายกิจการของผู้คนทั่วโลกล้วนเกี่ยวกับพลาสติก ดังนั้นการจะเลิกใช้พลาสติกไปเลยนั้นเป็นไปได้ยาก เผลอๆ ยังจะทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม ในเรื่องเดียวกันนี้ สุดท้ายก็ย้อนกลับไปหาเรื่องเดิมคือวินัยในการแยกขยะในจุดที่เล็กที่สุดของสังคม นั่นก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเอง ส่วนอีกด้านก็คือเทคโนโลยีด้านเคมี และนวัตกรรมการย่อยสลายที่ในวันหนึ่งก็เป็นไปได้ที่จะพัฒนาไล่ตามกันขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าจะบรรจบกันไหม เมื่อไหร่
SCG ยืนหนึ่งเพื่อการพัฒนาและมองหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายที่จะทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า โลกที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มีคุณภาพระดับโลก เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในแวดวงนี้ที่จะเป็นใบผ่านทางให้ได้รับประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมยิ่งขึ้น
บทความนี้สนับสนุนโดยบริษัท SCG ในฐานะที่นำพา The MATTER ไปเปิดหูเปิดตาในงาน K Fair 2019 โดยไม่มีการการันตีว่าจะลงบทความเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ ไม่มีการกำหนดหัวข้อในการเขียนกระทั่งไม่มีการ Approve บทความก่อนที่จะลง โดยผู้เขียนได้เห็นเรื่องที่น่าสนใจตลอดระยะเวลาการเดินทางและเลือกหยิบนำมาเล่าต่อเองในทุกแง่มุม