เหตุเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม บทลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดในทางสังคมวัฒนธรรมคือการถูกผลักออกให้เป็นคนนอก
ดังนั้นการเป็นคนนอกจึงเจ็บปวด เราจึงอยากพาให้คุณไปรู้จักกับแคมเปญ “ข้างในคนนอก” มองคนนอกจากข้างใน เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเชื่อมช่องว่างระหว่างคนไทย และ ‘คนนอก’ ให้เข้าหากันมากขึ้น
เชื่อว่าสิ่งต้องการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องการคือการถูกยอมรับจากสังคม ความเหนื่อยทางกายจากการทำงานหนักอาจจะสามารถรักษาได้ด้วยการนอนพักผ่อน แต่ความเหนื่อยล้าจากการโดนดูถูกล้วนฝังรากลึกลงไปในระดับจิตใจที่ยากจะลืมเลือน
The MATTER อยากชวนทุกคนไปดูว่า ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเป็นคนนอกของสังคม มีหน้าตาเป็นอย่างไร ลองเปิดใจรับฟังเรื่องราวนี้ด้วยจิตใจที่อ่อนโยนดูสักครั้ง แล้วคุณจะเห็นถึงความสำคัญของเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
แรงงานข้ามชาติไม่ใช่ ‘คนอื่น’ หรือ ‘ต่างด้าว’ แต่เป็นคนข้ามชาติ และเป็นคนเหมือนกับเรา
หนึ่งเรื่องตลกร้ายในประเทศไทยคือหลายคนเรียกชาวตะวันตกหรือคนจากประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำงานในประเทศไทยว่า ‘ชาวต่างชาติ’ แต่กลับกันหลายคนเรียกแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียง ที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยว่า ‘คนต่างด้าว’
ถึงแม้ในหนังสือราชการจะให้คำจำกัดความคำว่า ‘ต่างด้าว’ หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่คำดังกล่าวมีมิติทางภาษาที่ถูกกดทับซ่อนอยู่ คำว่า ‘ต่างด้าว’ ในปัจจุบัน จึงกลายเป็นคำที่มีความหมายแฝงถึงการดูถูกและเหยียดหยาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความหมายในเชิงลบ และต่างสร้างบาดแผลภายในจิตใจให้กับผู้ได้รับเสมือนการถูกตีตราลงบนร่างกาย ผ่านการผลิตซ้ำด้วยสื่อที่มักจะเขียนรายงานข่าวและฉายภาพ ‘คนต่างด้าว’ หรือ ‘ผู้รุกรานลักลอบเข้ามาทำงาน’ รวมถึงการสร้างภาพเชิงลบโดยที่ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เสียจนคนไทยมองว่าแรงงานข้ามชาติแตกต่างจากพวกเราและหลายครั้งมองว่าแรงงานข้ามชาติด้อยกว่าคนไทยในที่สุด
แต่ในความจริงแล้ว เราไม่ได้ต่างกันอย่างที่คิด คนไทยหลายคนก็ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เฉกเช่นแรงงานข้ามชาติ และที่สำคัญที่สุดเราทุกคนต่างล้วนเป็นแรงงานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกงานล้วนมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้สังคมไปต่อได้เหมือนกัน ทุกงานล้วนมีศักดิ์ศรีในความเป็นคนทัดเทียมกัน ไฉนเราจึงไม่เท่าเทียมกัน
แรงงานข้ามชาติกงล้อสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
มีคำกล่าวว่า ‘แรงงาน’ คือกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจให้หมุนไปข้างหน้า แต่ยิ่งไปกว่านั้น หากจะบอกถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ คงไม่เกินเลยถ้าบอกว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ ก็เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งมีรายงานเสริมว่า ณ เดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยราว 2 ล้าน 5 แสนคนที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่สงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมประเทศไทยถึงต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ ทำไมถึงไม่จ้างงานแรงงานภายในประเทศ ก็จะพบถึงสาเหตุอันเนื่องจาก
ประการแรก : โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในลักษณะสามเหลี่ยมหัวกลับ ที่มีตัวเลขอัตราการเกิดน้อยแต่มีตัวเลขผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ประชากรที่เกิดมาไม่สามารถทดแทนแรงงานที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณได้เพียงพอ จนขาดสมดุลในตลาดแรงงานไปในที่สุด
ประการที่สอง : บริบทสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการตัดสินใจย้ายมาทำงานในประเทศไทยซึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
ประการที่สาม : ผลพวงจากการเพิ่มทักษะอาชีพให้กับประชากรในประเทศ ส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานของไทย เมื่อแรงงานมีทักษะสูงขึ้นจึงเลือกงานที่ใช้ทักษะและค่าตอบแทนที่สูง มากกว่าการเลือกทำงานหนักแต่มีค่าตอบแทนที่น้อยกว่าในภาคธุรกิจ ทว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงเน้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ทำให้ต้องการแรงงานในภาคส่วนนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือประมง กลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ในตลาดแรงงาน ที่เปิดโอกาสให้เกิดการไหลเข้ามาของแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น
ประการสุดท้าย : เนื่องจากค่าแรงของแรงงานข้ามชาติมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการจ้างงานคนในประเทศ และที่สำคัญผลจากสถานะทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจน ทำให้นายจ้างบางคนเอารัดเอาเปรียบ โดยไม่ต้องจัดหาสวัสดิการจำนวนมากให้เฉกเช่นเดียวกับคนไทย ทำให้แรงงานข้ามชาติมีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน
ทั้งสี่ปัจจัยผสมผสานกัน ทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถเข้ามาอุดช่องโหว่และช่วยเหลือเกื้อกูล ในฐานะที่เป็นแรงงานที่เข้ามาทดแทนงานที่ไม่เป็นที่ต้องการของคนไทย เพื่อหมุนกงล้อเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างสมดุล
ฟังเสียงข้างในของคนนอก
“คนไทยไม่ชอบเรา เมื่อก่อนตอนทำงานขายของเวลามีปัญหาอะไร คนไทยมักพูดไม่ดีกับเรา พอไปบอกให้เจ้านายคนไทยฟัง เจ้านายก็กลับไปเข้าข้างเขา หาว่าเราโกหก ซึ่งตอนนั้นพูดไทยไม่เก่งไม่สามารถเถียงกลับได้ วันนั้นเลยเป็นวันที่เราเสียใจจนร้องไห้ออกมาหน้าร้าน”
“คนพม่าหลายๆ คนไม่ชอบเวลาถูกเรียกว่าต่างด้าว เพราะเขาก็เข้ามาทำงานถูกวิธี มีพาสปอร์ต แต่เขาก็ยังเรียกเราว่า ‘ต่างด้าว’ อยู่ดี”
นี่คือเสียงของน้ำผึ้งแรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพเป็นพนักงาน MC ในประเทศไทย กับประสบการณ์ของการเป็นคนนอกในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลาทำงานกว่า 10 ปี
เมื่อเธอต้องเผชิญกับความยากจนและการขาดโอกาสในการทำงานที่ประเทศบ้านเกิด เธอจึงตัดสินใจเข้ามาทำงานในเมืองไทยเพราะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เมืองไทยจึงเป็นเหมือนความหวังในการเอาชีวิตรอดของเธอและครอบครัว ทว่าคำดูถูกต่างๆ ที่ทำให้เสียความรู้สึกกลับกลายเป็นราคาที่เธอไม่คิดมาก่อนว่าเธอต้องจ่ายมันมากเสียกว่าเงินทอง หากลองเปิดใจและฟังเสียงของเธอ คุณจะพบว่าเธอก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่มีความรู้สึก มีความชอบ มีความฝันและที่สำคัญเธอเองก็มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์ทุกคน
แรงงานข้ามชาติมีสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศไทย
นอกจากราคาที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายไปทั้งหมดในหลากหลายด้านที่กล่าวมา ยังมีหนึ่งสิ่งที่แรงงานข้ามชาติควรจะได้รับคือ สิทธิขั้นพื้นฐานและการคุ้มครองแรงงานที่เท่าเทียมกัน อาทิ การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน การบริการด้านสุขภาพ สวัสดิการประกันสังคมและผลประโยชน์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาของบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งตามกฎหมายไทยระบุไว้ว่า เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีสิทธิได้รับการศึกษาในโรงเรียน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสัญชาติก็ตาม นอกจากนี้ สิ่งที่แรงงานข้ามชาติควรจะได้รับยังรวมถึงเสรีภาพ และความเสมอภาค ความมั่นคงของบุคคล และความเป็นอิสระจากการเป็นทาสหรือการทรมาน
ทว่าในความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวด แรงงานข้ามชาติกลับไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองและบริการพื้นฐานต่างๆ ตามที่กล่าวมา เขาต้องเจอทั้งการเลือกปฏิบัติต่อการเข้าถึงบริการเหล่านี้ ทัศนคติเชิงลบที่โดนเหยียดหยาม ภายใต้แนวความคิดว่า “แรงงานข้ามชาติด้อยกว่าคนไทย”
ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ หากทุกคนเริ่มต้นจากการปรับมุมมองใหม่ และควรจะสนับสนุนสิทธิแรงงาน รวมถึงการคุ้มครองแรงงานที่เท่าเทียมกันสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และในท้ายที่สุด แรงงานข้ามชาติควรได้รับสิทธิในการถูกมองว่าเป็นคนเท่าเทียมกันเป็นสิ่งพื้นฐาน
โครงการ “ข้างในคนนอก” #มองคนนอกจากข้างใน จึงเป็นโครงการที่อยากให้คนไทยทุกคนช่วยกันยุติการใช้คำว่า ‘คนต่างด้าว’ ที่มีมิติทางภาษาที่กดทับและมีนัยยะของความเกลียดชัง ในการเรียกคนข้ามชาติ และหันมาใช้คำที่ฟังแล้วไม่เป็นการลดทอน… ดูถูกเหยียดหยามเวลาพูดถึงคนข้ามชาติ คนต่างชาติ และสิ่งสำคัญที่สุดคือขอให้เลิกเลือกปฏิบัติ ผ่านการมองแรงงานข้ามชาติจากข้างใน มีน้ำใจและสนับสนุนสิทธิแรงงาน การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย อย่างทัดเทียมในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์
ติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ Facebook: USAIDThailandCTIP และร่วมชมนิทรรศการออนไลน์ของแคมเปญข้างในคนนอกใน Instagram @InsideKhonnok
อ้างอิงข้อมูลจาก