หากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรน้อยกว่ากันเกือบครึ่งของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ได้ขับเคลื่อนประเทศและพิสูจน์ว่าสิงคโปร์เป็นแนวหน้าของธุรกิจในทุกๆ ด้านระดับโลก
ไม่เว้นกระทั่งในแวดวงอุตสาหกรรมหนักที่สิงคโปร์ประกาศตัวเป็นผู้นำ Industry 4.0 หรืออุตสาหกรรมที่นำเครือข่ายสารสนเทศมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัยทางการผลิต โดยตั้งมั่นจะเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย
ล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่าน SingEx Exhibitions ของสิงคโปร์ ร่วมมือกับ Deutsche Messe จากเยอรมนี เป็นเจ้าภาพจัดงาน Industrial Transformation ASIA-Pacific 2018 เทศกาลแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมและวิศวกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสัญจรของ Hannover Messe เทศกาลแสดงนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมาจัดที่ Singapore EXPO เป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
The MATTER ได้ทำการสำรวจแบรนด์นวัตกรรมกว่า 260 รายจากทั่วโลกภายในงาน เพื่อจะพบว่านอกจากผลิตผลที่ได้ในโรงงาน เทคโนโลยี Industry 4.0 ยังส่งผลดีต่อวิถีประจำวันของเราอย่างที่คาดไม่ถึงอีกมาก ดังที่เราคัดเลือก 8 นวัตกรรมในงานมาแนะนำ
อวัยวะทดแทนจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
ภายในงานมีบริษัทและสตาร์ทอัพหลายรายผลัดกันนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะสร้างนวัตกรรมแห่งความยั่งยืนของชีวิตมนุษย์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3D
Structo คือสตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ที่นำเสนอ Structo Velox เครื่องพิมพ์ 3D ทางทันตกรรมเครื่องแรกของโลกที่มีกระบวนการพิมพ์ฟันพร้อมใช้ได้ทันทีและสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ ลัดขั้นตอนการทำพิมพ์แบบเดิมๆ หรือกระบวนการดั้งเดิมของเครื่องพิมพ์ฟันแบบสามมิติที่ต้องใช้ห้องแล็บขนาดใหญ่ในการทำงานเท่านั้น โดย Structo ตั้งเป้าให้เจ้าเครื่องนี้กลายมาเป็นทางเลือกของคลินิกทันตกรรมขนาดเล็กที่สามารถพิมพ์ช่องปากแบบสามมิติเพื่อการวินิจฉัย รวมไปถึงที่ครอบฟัน และผลิตฟันสำรองชั่วคราวสำหรับคนไข้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
Nanyang Polytechnic สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีของสิงคโปร์ นำเสนอเครื่องสแกนและเครื่องพิมพ์ 3D ที่อำนวยความสะดวกด้านการศึกษาทางด้านการแพทย์ ตั้งแต่โครงสร้างกล้ามเนื้อไปจนถึงเส้นเลือด รวมไปถึงการนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้เครื่องพิมพ์ 3D สำหรับการสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะทดแทนในอนาคต และ Creatz3D อีกหนึ่งในบริษัทที่บุกเบิกเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3D ของสิงคโปร์ก็มาออกบูธนำเสนอเครื่อง J750 เครื่องพิมพ์ใหม่ล่าสุดของบริษัทที่สร้างสรรค์โมเดลออกมาได้เหมือนจริงทั้งในด้านสีสัน ความโปร่งแสง และโปร่งใส เหมือนเสียยิ่งกว่าประติมากรรม realistic
ดิจิตอลฟาร์มมิ่งเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรแห่งอนาคต
Social Kitchen แบรนด์เกษตรกรรมเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น พวกเขานำเสนอเครื่องปลูกผักขนาดกะทัดรัดในอาคาร โดยใช้ระบบไฟ LED เพื่อให้แสงสว่าง, ระบบการให้ปุ๋ยผ่านทางน้ำ และระบบจ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถปลูกพืชผักได้ตั้งแต่ผักกะหล่ำ, ผักชีฝรั่ง, บีทรูท, ผักร็อคเกต และอีกมากมาย ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นเครื่องที่ช่วยให้เราสามารถปลูกผักสลัดกินเองที่บ้าน สอดรับกับวิถีชีวิตยุคใหม่ที่คนอาศัยอยู่ตามคอนโดมีเนียม
ขณะที่ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสัญชาติไอร์แลนด์ ก็นำเสนอ Accenture Precision Agriculture Service ระบบปฏิบัติการในการเก็บข้อมูลเชิงลึกทางผลผลิต สภาพแวดล้อม และผลกระทบด้านอื่นๆ เป็น big data ที่แปลค่าและวิเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลสำเร็จรูปให้เกษตรกรรายย่อยสามารถนำมาปรับใช้ต่อการผลิตให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ซึ่งยังทำงานควบคู่กับ Accenture Connected Crop Solution ที่รวบรวมข้อมูลและสถิติทางการเกษตรทั้งหมด รวมไปถึงการเชื่อมต่อถึงบริษัทจัดจำหน่ายต่างๆ ไว้ในแอพพลิเคชันเดียว เป็นเหมือนการเปิดโลกธุรกิจทางการเกษตรอย่างยั่งยืนผ่านการทำงานอย่างสะดวกสบายบนสมาร์ทโฟน
Location Awareness นวัตกรรมสู่ความปลอดภัยในโรงงาน
เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นอีกไฮไลท์ที่หลายบริษัททั่วโลกหยิบมานำเสนอ แต่หลังจากกวาดตาดูเราก็เห็นว่าไม่มีแบรนด์ใดที่จะมาแรงเท่า Emerson เจ้าแห่งวิศวกรรมจากอเมริกา ที่นำเสนอ Location Awareness ระบบปฏิบัติการที่นำเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงมาใช้เพื่อสวัสดิภาพของบุคลากรในโรงงาน
Location Awareness ทำงานร่วมกับ WirelessHart ที่รับหน้าที่ติดตั้ง wireless censor ในโรงงานหลายพันแห่งทั่วโลก ซึ่ง wireless censor นี้จะทำหน้าที่แสดงผลการปฏิบัติงานของเครื่องจักรต่างๆ ทั่วโรงงาน เพียงแค่เพียงส่องกล้องจากแทบเลตไปยังเครื่องจักรเหล่านั้น ระบบ AR ก็จะแสดงผลการทำงานรวมไปถึงรายงานความเสียหายขึ้นมาบนหน้าจอแทบเลต ทำให้การบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงานเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ขณะที่เจ้าเทคโนโลยีนี้ยังครอบคลุมไปถึง VR ที่เสมือนการผสานเทคโนโลยีในวิดีโอเกมเข้ากับการซ่อมบำรุงและตรวจตราในโรงงาน เพียงครอบ VR Glass และจับ Controller (ที่หน้าตาเหมือนจอยเกมจริงๆ) ผู้ใช้งานก็เสมือนสามารถเดินเข้าไปตรวจตราในโรงงานจริงได้ทันใด เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานซ่อมบำรุง โดยไม่ต้องเอาตัวไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงอันตรายหรือส่งผลต่อสุขภาพแต่อย่างใด
แขนกลที่มีสมอง
ไม่เพียงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับกระบวนการผลิต โลกอุตสาหกรรมยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์เครื่องจักรส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ Kawasaki จากญี่ปุ่นประกาศตัวเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตหุ่นยนต์แขนกลที่มีขนาดกะทัดรัดและประหยัดพลังงาน หากก็มีประสิทธิภาพต่อการทำงานอุตสาหกรรมหนัก หรืองานที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในจำนวนแขนกลซีรีส์ต่างๆ 12 ตัว ที่คาวาซากิเอามาโชว์ เจ้าตัว Dual-arm SCARA Robot เครื่องจักรแบบสองแขนดูจะโดดเด่นที่สุด โดยภายในงานมันทำหน้าที่เป็นบาริสต้า คอยเสิร์ฟกาแฟต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมบูธ แสดงให้เห็นฟังก์ชั่นที่น่ารักกว่าการเป็นเครื่องมือทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมการผลิตดังที่เราคุ้นเคย
ส่วนแบรนด์ใหญ่ๆ อีกหลายเจ้าส่วนใหญ่ก็เลือกนำเสนอหุ่นยนต์แขนกลที่ผสานเทคโนโลยี AI ในการประมวลผลการทำงาน อาทิ Mitsubishi Electric, SIEMENS, Konica Minolta, Mazak หรือบริษัทของสิงคโปร์เองอย่าง SMT Technology PTE Ltd. ที่นำแขนกลมาพลิกลูกเต๋าโชว์เลย ใครขอเลขอะไร เดี๋ยวแขนกลจัดเลขนั้นให้
ระบบขนส่งมวลชนไร้คนขับ
แบรนด์วิศวกรรมและเทคโนโลยีจากเยอรมนีอย่าง SIEMENS เป็นหนึ่งในแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่มาร่วมออกบูธแสดงนวัตกรรมในงานนี้ด้วย กระนั้น SIEMENS ก็ใจดีเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่มาแสดงงานร่วมด้วย หนึ่งในนิทรรศการของสตาร์ทอัพที่ประทับใจเราที่สุดคือ I-sBus ของสามนักศึกษาจาก Institute of Technical Education สิงคโปร์ ที่มานำเสนอระบบขนส่งมวลชนไร้คนขับ ซึ่งแม้ระบบดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องใหม่ (ที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนีเพิ่งนำมาทดลองใช้เมื่อปีที่แล้ว) หากก็เป็นเรื่องน่าทึ่งว่านี่คือโครงการริเริ่มของเยาวชนสิงคโปร์ ทั้งยังมีแผนต่อยอดไปสู่การใช้งานด้านอื่นๆ อย่างภายในสนามบิน สวนสนุก ระบบขนส่ง หรือใช้ในงานกู้ภัย
Darryl Chua, Bryan Wong และ Winston คือสามนักศึกษาที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว โดย I-sBus จะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เชื่อมโยงการทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และใช้ระบบ Automated Guided Vehicle ในการวิเคราะห์และกำหนดเส้นทางเดินรถ รวมไปถึงการใช้ GPS ในการประมวลเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทาง ถือเป็นก้าวย่างสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไร้คนขับที่สามารถใช้ได้จริงต่อไปในอนาคต
TRIGEN รถกู้ภัยสัญชาติสิงคโปร์
สาเหตุหนึ่งที่สิงคโปร์ไม่มีแบรนด์ผลิตรถยนต์เพื่อการใช้งานก็คือประเทศนี้ไม่มีถนนเพียงพอ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิงคโปร์จะละเลยในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ เพราะแบรนด์นวัตกรรมทางวิศวกรรมเจ้าดังของประเทศอย่าง Hope Technik ก็ยังแตกไลน์บริษัทที่ค้นคว้าวิจัยและผลิตยานยนต์เพื่อการกู้ภัยเพื่อใช้เป็นของตัวเองโดยเฉพาะที่มีชื่อว่า TRIGEN Automotive
โดย TRIGEN Automotive ได้ผลิตพาหนะที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะออกมาถึง 17 แบบ ครอบคลุมตั้งแต่รถดับเพลิงความเร็วสูง รถพยาบาล รถที่ใช้ในพื้นที่กัมตภาพรังสี และรถพยาบาล เป็นอาทิ ทั้งยังรับออกแบบและผลิตพาหนะแบบ custom made สำหรับภารกิจเฉพาะอย่าง นอกจากนี้ยังผลิตเครื่องอำนวยความสะดวกอีกหลากหลายสำหรับใช้ในภารกิจกู้ภัย อาทิ Auberon ชุดสำหรับนักดับเพลิงที่สามารถจัดเก็บเครื่องมือทุกอย่างโดยที่นักดับเพลิงไม่ต้องแบกหามให้ยุ่งยาก รวมไปถึงหุ่นยนต์ดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ได้
Internet of Things นวัตกรรมที่เชื่อมทุกสิ่งเข้าด้วยกัน
Internet of Things (IoT) อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ในปัจจุบัน แต่ Schneider Electric บริษัทนวัตกรรมจากฝรั่งเศสได้นำเสนอ EcoStruxure แพลตฟอร์มในการรวบรวมและจัดการไปจนถึงวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์หรือชุดเครื่องมือใดๆ
เจ้าแพลตฟอร์มนี้พร้อมถูกนำไปใช้งานตั้งแต่ระบบติดตามและควบคุมแผงการผลิต หรือผ่านแอพพลิเคชันในธุรกิจพลังงาน หรือวงการเครื่องจักรโรงงาน รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ของแพลตฟอร์มนี้ ได้แก่ ระบบรถไฟใต้ดินของเมืองเซี่ยงไฮ้, เครือโรงแรม Marriott, องค์กรจ่ายไฟฟ้าของออสเตรเลีย SA Power Networks และอื่นๆ
หลักสูตรการศึกษาเพื่ออาชีพในยุคนวัตกรรม
รากฐานสำคัญของการพัฒนาในโลกอุตสาหกรรมล้วนมาจากการสร้างหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรออกมารองรับและขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ สถาบันการศึกษาชั้นนำของสิงคโปร์ต่างก็ขนกันมาออกบูธนำเสนอหลักสูตรการศึกษา ผลงานการวิจัย และเทคโนโลยีอันหลากหลายที่แต่ละสถาบันได้สร้างสรรค์ขึ้น อย่างไม่น้อยหน้าแบรนด์นวัตกรรมจากทั่วโลก
หัวข้อนี้จึงเป็นเหมือน Education Roadshow ไปกลายๆ เพราะแต่ละสถาบันก็นำหลักสูตรเจ๋งๆ ของตัวเองมาอวดมากมาย อาทิ Singapore University of Technology and Design (SUTD) ที่นำเสนอสาขาวิชา Engineer Systems and Design ที่มุ่งผลิตบุคลากรที่ครอบคลุมตั้งแต่วิศวกรรมระบบและนักออกแบบ ไปจนถึงนักจัดการสาธารณูปโภคในเมืองอย่างครบครันในคนเดียว หรือสาขาวิชา Architecture and Sustainable Design ที่ผสานวิชาสถาปัตยกรรม นิเวศวิทยาเมือง และการจัดการ big data เข้าด้วยกัน
Singapore University of Social Sciences ที่นำเสนอหลักสูตรทักษะแห่งอนาคต ครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูล, ดิจิทัลมีเดีย, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมไปถึง Advanced Manufacturing ที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรม 4.0 โดยตรง ขณะที่ Singapore Polytechnics และ Nanyang Polytechnics ที่เป็นสถาบันสายอาชีพก็ต่างขนนวัตกรรมอันหลากหลายที่ทีมนักศึกษาของพวกเขาคิดค้นมาอวดกันเต็มที่ ประหนึ่งจะยืนยันว่าสถาบันของพวกเขาไม่เพียงแต่จะผลิตช่างฝีมือทางอุตสาหกรรม แต่ยังผลิตนักคิดค้นทางเทคโนโลยีออกมารองรับตลาดโลกด้วยเช่นกัน
หลังจากที่เราได้เข้าร่วมเทศกาลในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าประเทศสิงคโปร์มีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมในการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่พร้อมพัฒนาเด็กรุ่นใหม่อยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้จะก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม 4.0 กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ในเร็ววันนี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ทาง The MATTER หยิบมาเล่าเป็นเพียงส่วนนึงจากนวัตกรรมอันน่าทึ่งภายในงาน ซึ่งสามารถติดตามและเข้าร่วมงานเพื่อเปิดประสบการณ์กับเทคโลนโลยีแบบใหม่ๆ ผ่านงาน Industrial Transformation ASIA-Pacific ได้ที่ประเทศสิงคโปร์