33% ของเด็กไทยมีประสบการณ์ของการเป็นผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และขณะเดียวกัน 33% ของเด็กไทยข้างต้น ก็กลับเป็นผู้ที่กลั่นแกล้งคนอื่นบนโลกออนไลน์โดยปิดบังตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต
ไม่เพียงเท่านั้น 28% ของเด็กไทย ยังชี้ว่าการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์นี้เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน แถมอีก 59% ของเด็กไทยยังไม่ไว้ใจพ่อแม่ เมื่อถูกกลั่นแกล้งหรือเกิดปัญหาก็เลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่แก้ปัญหาด้วยตัวเองก็จะเลือกเล่าให้เพื่อนสนิทฟัง
แกล้งในแกล้ง
“เคยโดนคนเอารูปหนูไปเปิดไอจีใหม่ รู้เพราะเพื่อนไปเจอ แล้วไอจีนั้นก็เอาภาพหนูไปโพสต์หมดเลย แล้วใช้คุยกับคนอื่นแบบเซ็กซี่ๆ”
ข้างบนคือคำตอบเมื่อเราถามว่าเคยโดนแกล้งในโลกออนไลน์ไหม จากเด็กผู้หญิงอายุ 16 ปีที่เราเดินสวนกันอยู่บ่อยๆ ในซอยหมู่บ้าน
“ก็ไม่คิดอะไรมาก สุดท้ายเพื่อนเป็นคนแกล้ง ก็คุยว่าให้ลบไป พอลบเราก็ไม่ว่าอะไรแล้ว ขำๆ”
คำตอบข้างต้นจากเด็กคนเดียวกันสะท้อนอะไรที่พอจะจับมาเป็นประเด็นได้ 2 อย่าง หนึ่งคือการ cyber bully หรือการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นกับเด็กคนไหนก็ได้ แม้แต่คนที่คุณเดินสวนกันทุกวัน หรือเด็กคนที่นั่งรอรถเมล์อยู่ข้างๆ คุณตอนนี้ สองคือ การกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ตดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องปกติ อารมณ์เพื่อนแกล้งแปลว่าเพื่อนรัก ใครๆ ก็ถูกแกล้งและเป็นผู้แกล้งกันได้ทั้งนั้น
การถูกแกล้งและการแกล้งต่อกันบนโลกไซเบอร์กลายเป็นเรื่องที่ “ทำได้ง่าย” และ “หนีได้ง่าย” นั่นเพราะความสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร และการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำได้ง่ายขึ้นผ่านการจิ้มจอโทรศัพท์ไม่กี่ที แต่เอาเข้าจริงแล้ว การขำๆ ต่อการกลั่นแกล้งกันในสังคมออนไลน์รวมถึงการคิดว่าใครๆ ก็ทำกันนี่แหละ ที่กลายมาเป็นภาวะแกล้งในแกล้งของการกลั่นแกล้งออนไลน์ เพราะนอกจากเราจะแกล้งมาแกล้งกลับแล้ว เรายังรู้สึก “ขำ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่างหาก ซึ่งนั่นอาจเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เกิดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ซ้ำๆ โดยที่ทั้งเราและเขารู้สึกว่านั่นเป็นเรื่องสามัญประจำโลกโซเชียล
การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ทำให้ปุ่ม unfollow หรือ delete ไม่เท่ากับเรื่องจบเสมอไป เพราะเรื่องราวนั้นๆ อาจจะถูกผลิตซ้ำในรูปของการแคปหน้าจอ แชร์ หรือตั้งโพสต์เพื่อคุยซ้ำในเรื่องราวดังกล่าว กลายเป็นวาระแห่งชาติของทั้งชาวเน็ตและในชีวิตจริง ยิ่งกับเด็กหรือเยาวชนที่มีเพื่อนเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจอันดับต้นๆ การถูกแกล้งหรือแกล้งกันครั้งเดียวอาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาสูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต และบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต และคนทำก็อาจจะขำไม่ออก
เลี้ยงลูกอย่างไร ได้ผลอย่างนั้น
การกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ดูจะเป็นเรื่องการต่อรองเชิงอำนาจอยู่หน่อยๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีผู้แกล้งย่อมมีผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงและกลั่นแกล้งให้ดูด้อยกว่าหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งนั่นสอดคล้องกับงานวิจัยของ ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ เรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมความรุนแรงทั้งทางกายภาพและการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ของเยาวชนไทย” ว่า ที่เด็กแกล้งกันก็เพราะต้องการข่มให้เพื่อนหรือคนอื่นนั้นอ่อนแอกว่า ซึ่งนั่นเป็นผลโดยตรงมาจากพื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว
ว่ากันว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นฉันใด เราเลี้ยงลูกอย่างไรก็ส่งผลต่อนิสัยและพัฒนาการของลูกฉันนั้น ครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการเป็นแม่พิมพ์หล่อหลอมลักษณะนิสัยของเด็กสักคน และนั่นหมายความว่า การเลี้ยงดูที่ปล่อยปละละเลยอาจนำมาซึ่งการโหยหาความมั่นใจหรือการแสวงหาที่ทางของเด็กและเยาวชนจนนำไปสู่การกลั่นแกล้งผู้อื่นได้ง่ายเพื่อให้ตนรู้สึกชนะหรือมีตัวตนมากขึ้น จนสุดท้ายก็กลายเป็นการแกล้งกันไปกันมาเป็นบาดแผลให้เจ็บช้ำน้ำใจกัน
เพื่อนที่คอยรับฟัง
แกล้งมาแกล้งกลับจึงอาจไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะเรื่องราวอาจบานปลายไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะกับโลกออนไลน์ที่การทำร้ายกันอาจง่ายเพียงคลิกนิ้ว ดังนั้นก่อนเราจะเผลอกลั่นแกล้งใครโดยไม่ได้ตั้งใจ ทางที่ดีคือระมัดระวังความคิดของเรา หรือหากโดนทำร้ายแล้วก็พยายามใจเย็นลองหาคำปรึกษาจากคนรอบข้างดู
แต่ขณะที่ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่จะสร้างเด็กสักคนให้ออกมามีนิสัยใจคออย่างไร สถาบันครอบครัวก็กลับเป็นที่ไม่ไว้ใจของเด็กถึง 59% ตามสถิติที่กล่าวไว้ข้างต้น ยิ่งเป็นการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ก็ยิ่งทำให้เด็กไม่กล้าที่จะพูดกับคนใกล้ตัวรวมถึงเพื่อนสนิทมากนัก เพราะการพูดคุยเหล่านั้นอาจจะกลายมาเป็นหลักฐานมัดตัวทำให้เด็กเหล่านั้นก้าวพ้นจากการที่ถูกกลั่นแกล้งไม่ได้สักที
เพราะคำนึงถึงจิตใจ ผลกระทบ และการช่วยเหลือเด็กเป็นสำคัญ โครงการ Stop Bullying: เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแพธทูเฮลท์ dtac และองค์การยูนิเซฟ จึงพัฒนาเว็บไซต์ http://stopbullying.lovecarestation.com เพื่อให้บริการการปรึกษาออนไลน์ผ่านห้องแชท และการตั้งกระทู้เพื่อปรึกษาพูดคุยแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้เข้าใช้งาน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตัวเยาวชนเอง ให้ได้รับข้อมูล แนวทางการจัดการ และความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นมิตร และยังมีการส่งต่อบริการไปยังสถานบริการสาธารณสุขที่มีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ ที่จะคอยดูแลช่วยเหลืออีกด้วย
ไม่ต้องกังวลการนำเรื่องไปซุบซิบนินทาไม่จบ เพราะทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ และยังได้ฟื้นฟูความมั่นใจของเรากลับมาได้อีกครั้ง
อ้างอิง
School of CHANGE MAKERS: https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/9979
การรังแกกันผ่านพื้นที่ไซเบอร์: ผลกระทบและการป้องกันในวัยรุ่น: http://tujournals.tu.ac.th/tstj/detailart.aspx?ArticleID=5899
RAMA Channel: https://goo.gl/LaZJQ3