ในเส้นทางของชีวิต มีหลายครั้งที่เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือท้อใจกับสิ่งที่เรากำลังมุ่งมั่นลงมือทำ อาจมีหลายครั้งที่เราเฝ้าถามตัวเองว่า เรากำลังทำอะไร? เพื่ออะไร? การจะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายกลายเป็นเรื่องเกินกำลัง บางครั้งล้มเหลว บางครั้งเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือกลัวต้องล้มเลิกไปกลางทาง
หากลองมองย้อนกลับไปในอดีต ความเจริญรุ่งเรืองที่ถูกสร้างและส่งต่อมาจนเป็นสินทรัพย์อันมากค่าในปัจจุบัน ล้วนแต่ต้องการกำลังคนที่กล้าลงมือทำและไม่หวั่นต่อความล้มเหลว ตัวอย่างจากหนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่างไฟฟ้า ที่ถ้าหากนับตั้งแต่การถูกคิคค้นครั้งแรก โดย ทาลีส (Thales) นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกได้ค้นพบไฟฟ้าด้วยการนำเอาแท่งอำพันถูกับผ้าขนสัตว์แท่งอำพันจะมีอำนาจดูดสิ่งของต่างๆ ที่เบา เช่น เส้นผมเศษกระดาษ เศษผงเป็นต้น เขาจึงให้ชื่ออำนาจนี้ว่า ไฟฟ้าหรืออิเล็กตรอน (Electron) ซึ่งมาจากภาษากรีกว่าอีเล็กตร้า
จากประกายไฟแรกในการเริ่มต้น นำมาสู่การต่อยอดอันไม่สิ้นสุดจากนวัตกรรุ่นหลัง ทั้งจอร์จ ไซมอน โอห์ม (Georg Simon Ohm) ที่ได้ใช้คณิตศาสตร์วิเคราะห์วงจรไฟฟ้าหรือเป็นที่รู้จักในชื่อ”กฎของโอห์ม (Ohm’s law) โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas A. Edison) ที่ได้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าขึ้นสำเร็จเป็นคนแรกและยังได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ฉายภาพยนตร์ หีบเสียง เครื่องอัดสำเนา หรือนิโคลา เทสลา (Nicolas Tesla) เป็นเจ้าของแนวความคิดเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับเขาได้ค้นพบมอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าและสามารถนำมาใช้งานได้เป็นครั้งแรก
มองกลับมายังประเทศไทย บุคคลสำคัญที่นำไฟฟ้ามาสู่ประเทศไทย คือ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (นามเดิม เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าหมื่นไวยวรนารถ” ผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลในการมุ่งหวังให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการมองเห็นว่าระย้าแก้วบนพระที่นั่งจักรีใช้จุดด้วยเทียนไขและน้ำมันก๊าดมีความลำบาก ถ้าเปลี่ยนเป็นจุดด้วยไฟฟ้าจะสะดวกและสว่างดี ท่านจึงมุ่งหวังให้ทำการไฟฟ้าในเมืองไทยให้สำเร็จเป็นตัวอย่าง ด้วยราคาเครื่องผลิตไฟฟ้าในยุคนั้นแพงมากแต่ด้วยมุ่งหวังเห็นสยามเจริญทัดเทียมต่างชาติ ท่านจึงสละที่ดินส่วนตัวที่ตำบลวัดละมุดบางวัว ซึ่งเป็นมรดกที่ได้รับจากบิดา ไปทูลขอให้กรมหมื่นเทวะวงศ์ฯ ขอให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงซื้อไว้เป็นราคา 180 ชั่ง หรือ 14,400 บาท ก่อนจะนำเงินนั้นให้นายมาโยลา ชาวอิตาลีผู้ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมทหารหน้าออกไปจัดการซื้อเครื่องไฟฟ้าที่เมืองอังกฤษ 2 เครื่อง ท่ามกลางเสียงคัดค้าน การติดภารกิจราชการไปปราบทัพฮ่อ จนถึงโดนลูกจ้างฮ้อโกงแปลนไป แต่อุปสรรคทั้งหมดนี้ก็ผ่านมาได้ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ยอมแพ้ และต้องการให้สยามประเทศเจริญเหมือนเมืองฝรั่ง จนถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการมีไฟฟ้าของไทยมาตั้งแต่เวลานั้น แสงสว่างแรกของสยามจึงจุดติดขึ้นมาจากชายผู้ไม่ย่อท้อต่อการพัฒนาและสร้างความเจริญทัดเทียมนานาชาติให้กับสยามประเทศ
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ริเริ่มวางแผนการก่อตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นใช้ในกองทัพบกและเชิญชวนให้มีการเข้าหุ้นตั้งโรงไฟฟ้า โดยในปี พ.ศ. 2433 มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ จนกระทั่งกิจการไฟฟ้าก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนทั่วไป ได้รับความสะดวกสบายและมีไฟฟ้าใช้กันเรื่อยมา
ความสนใจในเรื่องนวัตกรรมและวิศวกรรมของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนั้นยังมีอีกมากมาย โดยท่านไม่เคยจำกัดตัวเองไว้ที่ความสำเร็จเพียงหนึ่งครั้ง แต่ยังไม่หยุดยั้งที่จะนำการพัฒนาด้านอื่นๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยอยู่เสมอ หลังจากติดตั้งไฟฟ้า เทคโนโลยีลำดับต่อมาคือการนำรถยนต์เข้ามายังสยามประเทศให้ชาวสยามในสมัยนั้นได้รู้จัก
โดยมีลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไว้ว่า “รถยนต์คันแรกที่เข้าในเมืองไทย ดูเหมือนจะเป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์เอาเข้ามาครั้งไปยุโรปหรือไม่ก็คงจะมีฝรั่งเอาเข้ามา แล้วเอามาขายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์ เป็นปกติของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ที่ชอบของใหม่ๆ แปลกๆ เห็นคงจะซื้อไว้ ได้ยินเขาว่าใส่เกียร์ยากล้นพ้น ลางทีฝ่าพระบาทจะได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วก็หายสูญไป คงเป็นอันใช้ไม่ได้ ที่ใช้ได้จริงจังจำได้ว่ากรมหลวงราชบุรีเอาเข้ามา เป็นเหตุให้ฮือรถยนต์กันขึ้นในเมืองไทย”
รถยนต์คันแรกในสยามประเทศจึงถูกแนะนำให้หมู่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นที่รู้จัก จนเกิดการจัดการชุมนุมรถยนต์ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในครั้งนั้นมีรถยนต์ไปร่วมชุมนุมถึง 30 คัน และเคลื่อนขบวนรถไปตามถนนสามเสน ในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสั่งซื้อรถยนต์มาเป็นของขวัญพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นสูง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์แก่แผ่นดิน
ตลอดการรับราชการให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สร้างคุณประโยชน์ไว้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล การนำเงินรายรับที่ได้มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมให้กับประชาชนคนไทยจึงนับเป็นการทุ่มเท ความมุ่งมั่น การไม่ยอมแพ้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายไม่ว่าจะการเงิน การเมืองการสงคราม แต่เมื่อนึกถึงประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นสำคัญ การมีจุดมุ่งหมายอันแรงกล้าที่ต้องการจะบรรลุเป้าหมาย โดยไม่ให้สิ่งใดมาหยุด ก็ไปถึงเป้าหมายได้เสมอ