ย้อนถอยหลังไปเมื่อศตวรรษที่แล้ว โลกได้ประจักษ์กับความทะเยอทะยานของ ชิคุเฮย์ นาคาจิมะ วิศวกรสัญชาติญี่ปุ่นผู้มุ่งมั่นก่อตั้งบริษัทวิจัยเครื่องบินญี่ปุ่นเป็นก้าวแรกอันแสนสำคัญของเทคโนโลยีจากแดนอาทิตย์อุทัยในนามบริษัท Fuji Heavy Industries (FHI)
ทศวรรษที่ 50 เป็นช่วงที่โลกสัมผัสกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจักรกลมากมาย อุตสาหกรรมเหล็กรุดหน้าไปพร้อมกับเทคโนโลยีการบินที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกทำการวิจัยความก้าวหน้าในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน ช่วงราวปี 1941 นับได้ว่าเป็นจุดเฟื่องฟูของเครื่องบินรบขับไล่เมื่อญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัว FHI คือผู้คิดค้นนวัตกรรมการขึ้นร่อนและลงจอดของเครื่องบินจนกลายเป็นบริษัทหัวแถวที่ผลักดันเรื่องการบินของญี่ปุ่นในแทบจะทันที พร้อมกันนั้นก็ได้งอกโปรเจกต์ใหม่ขึ้นมา
แล้วอะไรที่มันจะต่อยอดจากสิ่งที่พวกเขามีอยู่ในมือไปได้มากกว่ารถยนต์ พาหนะที่พวกเขาเล็งเห็นว่ามันจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่นในอนาคต… และอาจจะทุกคนในโลก FHI จึงแตกย่อยออกอีกหลายสาขาภายใต้การดูแลของ เคนจิ คิตะ ประธานบริหารที่พยายามคิดชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ดูเหมือนไม่มีชื่อไหนเลยที่ทั้งฟังดูทะเยอทะยาน และไพเราะจับใจ (เขาตัดสินใจเรียกองค์กรด้วยชื่อเล่นไปก่อนว่า P-1) จนมาเจอกับคำว่า ซูบารุ -หรือคือกลุ่มดาวลูกไก่ในภาษาญี่ปุ่น- และในสายตาคิตะแล้ว ไม่มีชื่อไหนที่เหมาะสมกับการออกเดินจากการเป็นบริษัทวิจัยเครื่องบินมาสู่องค์กรผู้หมายจะนำทัพในการสร้างรถยนต์ล้ำหน้ามากไปกว่าชื่อนี้อีกแล้ว
นั่นเองคือจุดกำเนิดที่เสมือนเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญของวงการรถยนต์ เมื่อกลางทศวรรษ พวกเขาส่งออก Subaru 1500 ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่คนญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตตัวถัง (monocoque) และได้อวดโฉมต่อสายตาชาวโลกในปี 1954
แต่นั่นยังไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดของซูบารุเพราะในอีกสี่ปีต่อมา พวกเขาให้กำเนิด Subaru 360 ที่แทบจะกลายเป็นแรงระเบิดด้วยความนิยมไปทั่วเกาะญี่ปุ่น ภายหลังรัฐบาลพยายามหนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ขนาดเล็กราคาประหยัด จนสุดท้าย รถรุ่นนี้ถูกผลิตต่อเนื่องอย่างยาวนานมาถึง 13 ปีเต็มโดยไม่หวั่นไหวกับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแต่ประการใด แถมยังผลิตออกมาได้เกือบ 400,000 คันเลยทีเดียว โดยมีชื่อเล่นน่ารักมุ้งมิ้งว่าเจ้าแมลงเต่าทองหรือ Ladybug (แต่ตอนที่มันถูกนำเข้าไปขายในสหรัฐฯ ดันถูกเรียกว่าเจ้ารถจิ๋วหน้าตาขี้เหร่ราคาประหยัด แม้ว่าจะได้รับความนิยมมากก็ตามที)
และก็นับแต่นั้นเอง ที่ซูบารุได้กลายเป็นหัวเรือหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์
มีอยู่หลายอย่างที่ทำให้ซูบารุก้าวเข้ามาถึงตรงนี้ แต่เงื่อนไขสำคัญที่สุดอาจจะอยู่ที่การขยับตัวตามทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ อาจจะจากเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนที่พวกเขาวิจัยอากาศยาน และนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวันอย่างรถยนต์ และมันคงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการเอาใจใส่และคิดค้นพัฒนาตัวเองไม่หยุดของผู้คนผู้เป็นเสมือนฟันเฟืองเล็กๆ ชิ้นสำคัญของเครื่องยนต์แต่ละรุ่น
EyeSight – Duo Stereo Camera
ภาพสะท้อนที่ชัดที่สุดในปัจจุบันคือ การคิดค้นเทคโนโลยี EyeSight รุ่นที่ 3 ที่ไม่ใช่แค่ช่วยคนขับตรวจดูเส้นทางที่รถกำลังแล่น แต่ยังเป็นเสมือนเพื่อนสนิทที่คอยตรวจตราดูความปลอดภัยและความสะดวกสบายของการขับขี่ โดยมันเป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดโอกาสที่อาจเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะ ทั้งช่วยวัดระยะห่างระห่างตัวรถกับวัตถุตรงหน้าอย่างแม่นยำ (ซึ่งหากมีแนวโน้มว่าจะมีการปะทะหรือได้รับแรงกระแทก เจ้า EyeSight จะรีบส่งสัญญาณเตือนพร้อมเข้าช่วยเหลือทันที) ด้วยเทคโนโลยีกล้องมองภาพคู่หน้า ที่อาสาเป็นผู้ช่วยคนขับผู้อยู่หลังพวงมาลัยรถ ทำให้ซูบารุกลายเป็นรถยนต์ที่เราสามารถวางใจและนั่งหลังพวงมาลัยรถได้อย่างผ่อนคลาย รับประกันด้วยลำดับสูงสุดด้านความปลอดภัยจากสถาบันป้องกันภัยระดับโลก จนได้รับการวิจัยว่า ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุไปได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตามเป้าหมายที่ซูบารุเคยตั้งธงไว้ ว่าจะสร้างนวัตกรรมมาสู่ผู้ขับขี่รถยนต์ไปจนกว่าจะถึงวันที่พวกเขาสร้างรถยนต์ที่ ‘ไม่มีวันชน’ ได้ในอนาคตภายภาคหน้า –ซึ่งดูเหมือนจะอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก
Subaru Global Platform
เช่นเดียวกันกับเครื่องยนต์ Boxer ท่ามกลางสังเวียนการคิดค้นระบบขับเคลื่อนรถยนต์ให้ราบเรียบและเต็มไปด้วยเสถียรภาพของอุตสาหกรรมการขับขี่ในโลกปัจจุบัน ซูบารุให้กำเนิดเครื่องยนต์ Boxer ที่พิเศษกว่าเครื่องยนต์แบบอื่น โดยหลักการทำงานของลูกสูบที่วิ่งสวนทางกันอย่างเป็นจังหวะในแนวระนาบ ช่วยสร้างสมดุลให้ตัวรถมากกว่าเครื่องยนต์ชนิดอื่นๆ เหนืออื่นใดคือมันช่วยให้การทรงตัวดีในทุกสภาวะเพราะจุดศูนย์ถ่วงของเครื่องยนต์อยู่ต่ำ ทำให้สามารถออกแบบพื้นรถให้มีความสูงเพียงพอกับเส้นทางต่างๆ แม้จะต้องเผชิญถนนหนทางขรุขระ (แบบที่เรามักพบได้บ่อยๆ บนถนนของไทยแลนด์แดนสยาม) บวกกันกับเทคโนโลยีที่คอยดูดซับแรงกระแทกและแรงสั่นสะเทือนด้วย Subaru Global Platform ที่เพิ่มทั้งความแข็งแกร่งและความปลอดภัย
หากคุณเคยขับรถมาก่อนแล้วหลายๆ รุ่น คุณคงพบว่ารถยนต์ส่วนมากนั้นขับเคลื่อนไปด้วยสองล้อหน้าเป็นหลักเท่านั้น และสองล้อหลังมีบทบาทเพียง ‘ประคอง’ ตัวรถให้ทรงตัวได้และหมุนไปตามล้อหน้าเท่านั้น ขณะที่ระบบขับเคลื่อนแบบสี่ล้อแบบสมมาตร (Symmetrical AWD) นั้น ใช้ศักยภาพของเจ้าสองล้อหลังอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะมันลดโอกาสที่รถจะไหลหรือบังคับผิดทางไปได้อย่างมหาศาล ลองคิดถึงการขับรถแล่นไปตามถนนสายแคบๆ หรือเปียกโชกจากพายุฝน การบังคับรถทั้งคันด้วยสี่ล้อนั้นย่อมมอบความมั่นคงให้คนขับได้มากกว่าสองล้ออย่างแน่นอน
หวนกลับไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน ยากจะเชื่อว่าทีมงานวิจัยเครื่องบินผู้หลงใหลในเครื่องยนต์และเทคโนโลยี จะกลายมาเป็นหัวเรือหลักในการก่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ซูบารุขยายความเกรียงไกรของพวกเขาออกนอกเกาะแห่งนั้นไปนานแล้ว ซูบารุได้กลายเป็นแบรนด์ยักษ์ที่โลกรู้จัก วัดจากแค่ปี 2017 พวกเขาผลิตรถยนต์ออกไปนับล้านคันกับรายได้สามพันล้านเยน (ในปีเดียวนี่เอง) ทั้งวัดในระดับสากล เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ ซูบารุเพิ่งขยายพื้นที่บริษัทสาขาอเมริกาครั้งใหญ่ในแคมเดน รัฐนิวเจอร์ซี เนื่องจากที่เก่าอย่างเชอร์รี่ฮิลล์นั้นคับแคบไปถนัดสำหรับกำลังการผลิตเสียแล้ว
คงไม่เกินเลยนักหากเราจะบอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ซูบารุกลายเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามองของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่แค่ความทะเยอทะยานอยากสร้างสิ่งใหม่ๆ แต่มันอาจจะหมายรวมถึงการใส่ใจในสิ่งละอันพันละน้อย รถยนต์ของพวกเขาไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นเพียงพาหนะในการนำเราไปสู่เป้าหมายเท่านั้น หากแต่มันยังเป็นเพื่อนสนิทที่ เข้าอกเข้าใจคนขับ คอยตรวจดูความปลอดภัย และปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามสิ่งที่เราต้องการอยู่เสมอ… และนับว่ามันประสบความสำเร็จอย่างงดงามทีเดียว
มองย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน ที่กลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งนำเอาผลวิจัยเครื่องบิน มาดัดแปลงเป็นเทคโนโลยีรถยนต์จนในอีกศตวรรษต่อมา ชื่อซูบารุและกลุ่มดาวหกดวงนั้นก็กลายเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับไปแล้วทั่วโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.subaru-global.com/ourstory/
https://www.subaru.asia/th/th/home/