เคยมั้ย เวลาที่ได้ไปเที่ยวสถานที่ที่ใฝ่ฝันมานาน เก็บเงินมาหลายเดือน แต่พอเวลาไปถึงแล้ว ก็ต้องบ่นอุบกับเพื่อนว่า “ไม่เห็นจะขนาดนั้นเลยว่ะแก” แถมความทรงจำที่เก็บกลับมาได้ก็มีแค่รูปถ่ายสวยๆ ไว้ดูในมือถือเท่านั้น อาจเป็นเพราะสิ่งที่ขาดหายไปของการออกเดินทางในครั้งนี้ เรียกว่าไม่ ‘อิน’ หรือไม่มีประสบการณ์ร่วมนั่นเอง
ลองไปทำความรู้จัก การท่องเที่ยวแบบ Local Travel ที่กำลังฮิตและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากนักเดินทางทั่วโลกเพราะรูปแบบการท่องเที่ยวแบบนี้ ไม่ได้แค่พาเราไปเที่ยวถ่ายรูปแลนด์มาร์กสวยๆ ไปกินร้านอาหารยอดนิยม หรือไปทำกิจกรรมแมสๆที่คนส่วนใหญ่ชอบทำกัน
แต่จะพาพวกเราเข้าไปสัมผัสถึงวิถีชีวิต และความเป็นพื้นถิ่นแท้ๆ อะไรที่ไม่เคยเห็นจากในรูปถ่ายหน้าฟีด จะเผยออกมาให้เราได้สัมผัสแบบลงลึกเปิดตาเปิดใจแบบสุดๆ แถมความรู้สึกที่ได้กลับมารับรองเลยว่า “ที่สุดเลยเว้ยแก”
เที่ยวแบบ Local นิยมแค่ไหน
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับ Local Travel ว่าดียังไง ลองไปดูว่าการท่องเที่ยวแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากขนาดไหน จากการสำรวจข้อมูลเชิงลึกระหว่าง Thailand Research Fund (TRF) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TAT) พบว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวสนใจการท่องเที่ยวท้องถิ่นมากขึ้น เพราะเบื่อกับสถานที่เที่ยวเดิมๆ สุดจำเจ รวมถึงรายงานจาก Travel Trends Report 2019 ก็บอกว่า Local Experience คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กำลังตามหา ส่งผลให้ที่พักอย่าง Airbnb ที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และการเลือกซื้อของฝากที่เป็นงานแฮนด์เมดของคนพื้นถิ่นก็เป็นที่สนใจมากว่าสินค้าที่มาจากโรงงาน Micro-Trend ค่อยๆ เติบโตสู่ Macro-Trend ซึ่งไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบอินดี้แต่อย่างใด โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นชาวเจนวาย (Gen Y) หรือมิลเลเนียล (Millennial) ที่ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
เที่ยวแบบ Local แล้วดียังไง
ถ้าจะให้นิยามกันแบบง่ายที่สุด โดยปกติแล้วการท่องเที่ยวทั่วไปคือการเน้นให้ไป ‘เห็น’ ไป ‘ชม’ สถานที่สวยๆ แลนด์มาร์กจุดถ่ายรูปสุดยิ่งใหญ่ บรรยากาศอันแสนคึกคัก แต่การเที่ยวแบบ Local คือการเน้นให้ได้ไป ‘สัมผัส’ มากกว่า โดยการลงลึกไปเรียนรู้ คลุกคลีกับสถานที่นั้นๆ ผ่านผู้คน วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ด้วยมุมมองแบบเท่ๆ รับรองว่าจะได้พบกับสิ่งที่ซ่อนไว้ชนิดที่ไม่เคยมีไกด์บุ๊กหรือกระทู้รีวิวไหนเคยบอกแน่นอน ทำให้เก็บเกี่ยวสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ได้มากกว่า หรืออินมากกว่านั่นเองไม่ใช่การปรุงแต่งมาเพื่อการท่องเที่ยว แล้วปล่อยให้ความรู้สึกดีๆ จากการลงมือทำฝังแน่นในความทรงจำเมื่อนึกถึงเมื่อไรก็ประทับใจกว่าเพียงภาพถ่ายในเมมโมรี่ของกล้องถ่ายรูป
เที่ยวแบบ Local เป็นแบบไหน
สำหรับวิธีการเที่ยวแบบ Local สิ่งสำคัญอย่างแรกเลยต้องยกแพลน และความคาดหวังต่างๆ ทิ้งไว้ที่บ้านก่อนออกเดินทาง เพราะการเที่ยวแบบไม่คาดหวังมักจะพาความประทับใจสุดเซอร์ไพรซ์มาให้เราเสมอ เมื่อเดินทางไปถึงก็ลองสังเกตว่าชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ เขาใช้ชีวิตยังไง กินยังไง อยู่ยังไง เราก็เอาตัวเองเข้าไปสัมผัสแบบใกล้ชิด ประหนึ่งเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งการเลือกที่พักแบบโฮมสเตย์ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีในการใกล้ชิดกับความเป็นพื้นถิ่นแบบสุดๆ รวมถึงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะของพื้นที่นั้นๆ อย่างรถสองแถว รถรับจ้าง หรือถ้าไม่ไกลนักก็แนะนำให้เดินเท้า เพื่อให้เห็นบรรยากาศของชุมชน รับรองว่าจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตจริงๆ คนพื้นที่แบบอิ่มเอมเลยทีเดียว สุดท้ายหัวใจสำคัญที่สุดคือการเข้าไปทำความรู้จักกับคนพื้นถิ่นหรือ Local Hero ที่เป็นเหมือนฮีโร่ผู้สร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในบ้านของเขา ด้วยการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ พวกเขาเหล่านี้แหละจะเป็นเจ้าบ้านที่น่ารักและเปิดประตูต้อนรับเราอย่างเป็นกันเองที่สุด
สถานที่สุด Local ที่อยากให้ลองสัมผัส
ได้ทำความรู้จักกับ Local Travel ไปแล้ว แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ที่ไหน ลองไปทำความรู้จักกับ 4 สถานที่สุด Local ต่อไปนี้ดู
บ้านนกเขา
ถ.ตรอกโรงยา จ.อุทัยธานี
ว่ากันว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด คือการได้เข้าไปสัมผัสกับสถานที่จริง อุทัยธานี เมืองท่องเที่ยวที่หลายคนมักจะมองผ่าน ใครมีโอกาสได้ไป ถ้าได้ไปเดินที่ตรอกโรงยา ถนนคนเดินสายเล็กๆ ที่บ่งบอกวิถีชีวิตของชาวอุทัยธานีได้เป็นอย่างดี และไม่ควรพลาดการไปเยือน ‘บ้านนกเขา’ ร้านค้ากึ่งพิพิธภัณฑ์ที่บันทึกเรื่องราวในอดีตของอุทัยธานีไว้อย่างเต็มเปี่ยม ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในยุคเก่า ทั้งเครื่องเสียง กล้องถ่ายรูปโบราณ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ภาพถ่ายมากมาย และเรื่องเล่าจากปากของเจ้าของบ้าน ที่พร้อมบอกเล่าความทรงจำกับเราอย่างเต็มที่ ด้วยบรรยากาศของการตกแต่งภายใน
ถนนคนเดิน ‘ตรอกโรงยา’ ถนนสายเล็กๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคยเป็นแหล่งสูบฝิ่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน สองข้างทางเต็มไปด้วยบ้านไม้โบราณที่แปรสภาพเป็นร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ของที่ระลึกรวมถึงร้านแบกะดิน โดยเจ้าของเป็นชาวอุทัยธานีแท้ๆ ทำให้การมาเยือน ‘บ้านนกเขา’ และ ‘ตรอกโรงยา’ แห่งนี้ มีความเป็นกันเอง ราวกับได้ย้อนอดีตจริงๆ เลยทีเดียว
ผ้าคราม
จ.สกลนคร
สินค้าหรือสิ่งของที่ซื้อจะมีคุณค่าต่อใจมากขึ้น ถ้าเราได้รับรู้เรื่องราวหรือที่มาอย่างละเอียด หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ‘คราม’ คือภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดสกลนครที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ผ่านชนเผ่าพื้นเมืองที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูก การเก็บเกี่ยว และการย้อมครามที่ใช้วิธีการหมัก จนได้ชื่อว่าเป็นสีย้อมจากธรรมชาติที่มีชีวิต และได้ยกระดับ ‘คราม’ ให้กลายเป็นสินค้าที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร กลายเป็น City of Indigo ที่เต็มไปด้วยแบรนด์สินค้าคราฟต์จากครามที่น่าจับตามองทั้งแบรนด์จากกลุ่มชุมชนดั้งเดิมที่รวมตัวกันมานาน และแบรนด์ที่เกิดจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้ครามกลายเป็นสินค้าแฟชั่นตามเทรนด์อย่างเช่น ตุ๊กตาหมีคราม ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมั่นคง
ทำให้ตอนเย็นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ณ ถนนเรืองสวัสดิ์วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมือง เกิดถนนสายผ้าครามที่ใหญ่สุดในประเทศไทย วางจำหน่ายสินค้าจากครามมากมาย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ หลงเสน่ห์ของผ้าคราม ซึ่งเป็นรากของคนอีสานแท้ๆ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
เกาะเหลาเหลียง
จ.ตรัง
การเดินทางแบบ Local จะไม่สมบูรณ์ หากขาดสิ่งที่คนพื้นถิ่นหรือ Local Hero เป็นผู้แนะนำ อย่างเช่นการเดินทางไปยัง เกาะเหลาเหลียง ที่ตั้งอยู่ในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง หมู่เกาะที่มีความสวยงามของภูเขาหินปูนตามธรรมชาติ ความพิเศษคือเนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ปิดมานาน จึงทำให้สภาพของธรรมชาติยังคงอุดมสมบูรณ์มากๆ ทั้งหาดทรายขาว ทะเลใส ปะการังที่สวยงาม
จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้เปิดบริการเพียง 6 เดือนต่อปีเท่านั้น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ไม่เสียหาย ไฮไลท์สำคัญคือการให้คนพื้นถิ่น ที่เป็นคนขับเรือนำเที่ยว พาล่องทะเลออกไปกลางทะเล สัมผัสกับภาพความมหัศจรรย์ของพระอาทิตย์ที่ตกลงตรงกลางระหว่างเกาะเหลาเหลียงพี่ และเกาะเหลาเหลียงน้อง รับรองว่าจะเป็นประสบการณ์สุดล้ำค่าที่ถ้ามาเองก็ไม่มีทางได้พบเจอแน่นอน
ชุมชนริมน้ำจันทบูร
จ.จันทบุรี
ความน่าใจหายอย่างหนึ่งของชุมชนเก่าแก่ เมื่อต้องแปรสภาพกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ความเป็นพื้นถิ่นหรือกลิ่นอายของ Local ที่แท้จริงมักจะหายไป แต่ไม่ใช่สำหรับ ชุมชนริมน้ำจันทบูรซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า วัฒนธรรมนำการค้า สามารถสร้างรายได้โดยไม่ได้ทำวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่หายไป ชาวบ้านในชุมชนยังคงเป็นชาวจีนและญวนอพยพที่สืบเชื้อสายกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงลูกหลาน ร้านค้าตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยร้านอาหารแบบออริจินัล อย่างเช่นกาแฟโบราณที่ใส่ถุงด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ขนมโบ๋ ขนมโบราณที่หากินได้ยาก ไอติมโบราณ หรือก๋วยเตี๋ยวรสแซ่บแบบดั้งเดิม
นอกจากเรื่องอาหารแล้วก็คือสถาปัตยกรรมอายุเกือบร้อยปีที่รักษาสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงจะมีการต่อเติมก็เปลี่ยนแปลงไปไม่มาก ทั้งเรือนไม้ทรงปั้นหยา บ้านชิโน-โปรตุกีส หรือตึกฝรั่งสไตล์ปีนังที่ตั้งสลับเรียงราย แตกต่างแต่ลงตัวแบบสุดๆ เปรียบได้กับประวัติศาสตร์ของจันทบุรีที่ยังมีลมหายใจ
และในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สร้างสรรค์ไอเดียและต่อยอดแนวคิด ‘Amazing ไทยเท่’ เพื่อปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแบบ Local Travel ภายใต้แนวคิด “เมืองไทย…สวยทุกที่ เท่ทุกเวลา” ชวนคนไทยทุกคนออกไปสัมผัสการท่องเที่ยวจากคนพื้นถิ่น หรือ Local Hero พร้อมกับประสบการณ์สุดล้ำค่าที่หาไม่ได้จากที่ไหน โดยนำเสนอผ่านหนังโฆษณาสุดน่ารัก ที่ได้คุณญาญ่า- อุรัสยา เสปอร์บันด์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ บอกเล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวแบบพื้นถิ่น ด้วยการนำเพลง ‘มอง’ ของราชาเพลงลูกทุ่ง คุณสุรพล สมบัติเจริญ มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ให้ทันสมัย และดูเท่มากขึ้น
รับรองเลยว่าดูจบแล้ว อยากจะแพ็คกระเป๋าออกไปมองท้องถิ่นในมุมใหม่ตามรอยญาญ่าอย่างแน่นอน …เพราะเรื่องราวของคนท้องถิ่น ทำให้เมืองไทยน่ามอง