ถ้าถามว่าอะไรคือความเจ็บปวดของมนุษย์กรุงเทพฯ หนึ่งในคำตอบที่ได้ยินบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้น “ฝนตกทีไรน้ำท่วมทุกที” เพราะปัญหาน้ำท่วมขังเป็นปัญหาใกล้ตัวของคนกรุงเทพฯ มานาน เพียงฝนตกหนึ่งหยดก็สะเทือนไปทั่วทั้งเมือง วันไหนโดนฝนถล่มหนักหน่อย ก็เปลี่ยนสภาพเมืองฟ้าอมรกลายทุ่งธารานครเพียงไม่กี่นาที
หนึ่งในสาเหตุเกี่ยวข้องคือจำนวนต้นไม้อันน้อยนิดที่หลงเหลือจากการขยายตัวของเมือง ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นไม้มีประโยชน์ในการดูดซับน้ำ มีผลสำรวจเผยว่าฝนที่ตกจะเจิ่งนองอยู่บนถนน 55% ในขณะที่พื้นที่ป่าฝนจะเจิ่งนองอยู่ที่ 10% แต่เรากลับมองหน้าที่สำคัญตรงนี้ไป แถมต้นไม้ที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็นนัก
ฝนตกทีไรเราจึงเห็นเฉพาะน้ำรอการระบาย แต่ต้นไม้ในกรุงเทพฯ กำลังจะตาย ใครเห็นบ้าง?
กรุงเทพฯ เมืองน้ำท่วม ความจริงที่หลีกหนีไม่ได้
รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ เกิดมาเป็นเมืองน้ำท่วมโดยแท้ หากลองกางแผนที่ดูจะพบว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างหรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (River Delta) เป็นแผ่นดินที่รวมแม่น้ำทุกสายก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย กล่าวได้ว่าเราเป็นพื้นที่รับน้ำที่ไหลมาจากทุกทิศทางตามภูมิศาสตร์อยู่แล้ว
สมัยก่อนคนกรุงเทพฯ จึงอาศัยปรับตัวอยู่กับน้ำจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมทางน้ำ บ้านที่ยกใต้ถุนสูง ฯลฯ ก่อนที่ความเจริญจะเข้ามาเปลี่ยนสภาพเมืองจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม จุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติปี พ.ศ. 2504 ที่รัฐบาลยุคนั้นถือเอาการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการระดมสร้าง “ถนน” ที่มองเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เบียดบังธรรมชาติดั่งเดิมของกรุงเทพฯ จนหมดสิ้น
ไม่แปลกใจที่กรุงเทพฯ สมัยใหม่จึงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเรื่องการจัดการน้ำอยู่บ่อยๆ หนำซ้ำดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ในเมื่อพื้นที่เมืองขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราไม่พัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองบ้างล่ะ
ต้นไม้คือแหล่งดูดซับน้ำตามธรรมชาติ
พื้นที่สีเขียวในเมืองไม่เพียงเป็นพื้นที่ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจ แต่มันมีคุณประโยชน์หลายประการ ทั้งช่วยผลิตออกซิเจน กรองมลภาวะ และที่สำคัญคือการเป็น Rian Harvesting หรือแหล่งกักเก็บน้ำฝนเพื่อป้องกันสภาวะน้ำท่วมในเมือง
สาเหตุที่ต้นไม้ป้องกันน้ำท่วม สามารถไล่ดูได้ตั้งแต่ยอดจนปลายราก กล่าวคือใบไม้ กิ่งไม้ และลำต้นที่ช่วยการชะลอไหลของน้ำฝนในแนวดิ่งก่อนตกลงสู่พื้นดิน ส่วนรากที่แตกแขนงไปทั่วจะสกัดกั้นน้ำให้ไหลช้าลง เช่นเดียวกับอินทรียวัตถุจากการย่อยสลายของต้นไม้จะช่วยปรับโครงสร้างของดินให้มีรูพรุน ทำให้ดินรอบๆ สามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในอัตราส่วนที่น้อยอยู่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่าเฉลี่ยอัตราไว้ 9 ตารางเมตรต่อคน ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอัตราส่วนที่ 6.18 ต่อคน และที่มีอยู่ก็ดูเหมือนไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี เราจึงมักเห็นภาพต้นไม้ถูกตัด โค่น หรือปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ เสมอ
สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือเราต้องช่วยกันดูแลต้นไม้ในเมืองใหญ่ให้คงอยู่ต่อไป และการดูแลนั้นต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
รุกขกร และ หมอต้นไม้ ผู้ต่อลมหายใจให้ต้นไม้ในเมือง
น้อยคนที่จะรู้จักการดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี แต่จริงๆ โลกนี้มีอาชีพหนึ่งที่คนไทยอาจไม่คุ้นอย่าง “รุกขกร” (Arborist) นักศัลยกรรมต้นไม้ผู้ตรวจตรา ดูแล และตัดแต่งต้นไม้สวยงาม โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ต้นนั้นๆ มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข
หากแต่ต้นไม้มิได้ต้องการแค่เพียงการตัดแต่งอย่างเดียว ต้นไม้ก็ป่วยได้เช่นกัน และถ้ามันป่วยหนักเกินกว่ารุกขกรจะดูแลไหว พวกเขาก็จะส่งต่อมายัง “หมอต้นไม้” ผู้ทำหน้าที่รักษาอาการป่วยของต้นไม้ ผ่านแนวคิดหลักในการรักษาต้นไม้เก่าให้อยู่คู่กับชุมชน เน้นดูแลอาการป่วยให้แข็งแรงมากกว่าปลูกทดแทน เพราะต้นไม้เก่าจะมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ชุมชนนั้นๆ ซ่อนอยู่
ฉะนั้นคนป่วยยังต้องการหมอ เวลาต้นไม้ป่วยก็ต้องการหมอที่มาช่วยรักษา และต่อลมหายใจชีวิตไม่ต่างกัน
TCP Spirit ส่งต่อความรู้จากหมอต้นไม้ให้สังคม
เพราะการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงจัดกิจกรรมโครงการอาสาสมัคร TCP Spirit เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของทั้งองค์กรในการส่งต่อพลังให้ชุมชนและสังคม โดยชวนคนรุ่นใหม่ลองสวมบทบาทเป็น ‘หมอต้นไม้’ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดูแลต้นไม้ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ในสังคม
ที่ผ่านมา กิจกรรมหมอต้นไม้ได้พาอาสาสมัครพาชมเมือง 1 วันที่สวนลุมพินี เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหมอต้นไม้ และรับรู้ปัญหาการดูแลต้นไม้ในเมืองใหญ่ อาทิ การตรวจสุขภาพต้นไม้ว่ามีโรคอะไรบ้าง ศึกษาเรื่องระบบนิเวศน์ในบริเวณ เรียนรู้อาการป่วยของต้นไม้เบื้องต้น วิธีการดูแลตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธี รวมไปถึงการปลูกและการเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้ ก่อนส่งต่อข้อมูลดังกล่าวแก่สวนลุมฯ ในการดูแลต่อไป ทั้งยังการมอบอุปกรณ์ดูแลสวนกับสำนักสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. สำหรับเป็นสมบัติส่วนกลางสำหรับทุกๆ สวนในเมือง
เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคม การเรียนรู้จากหมอต้นไม้จึงสามารถนำความรู้กลับไปใช้ กิจกรรมนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาเมืองได้ต่อไป
หากใครสนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครครั้งต่อไปได้ที่ www.tcp.com หรือ Facebook Fanpage: TCP Group
อย่าปล่อยให้ต้นไม้ในเมืองต้องป่วย ร้องไห้ และตายจากไป มาต่อชีวิตต้นไม้กับหมอต้นไม้กันเถอะ แล้วเราจะต่อชีวิตกรุงเทพฯ ได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก