หากธุรกิจเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง “องค์กร” และ “ลูกค้า” คงเป็นตัวละครนำที่ใครหลายคนนึกถึง โดยมีพล็อตง่ายๆ แค่หาเงินจากลูกค้าให้มากที่สุดโดยไม่สนวิธีการได้มาซึ่งกำไร
แต่ด้วยบริบทโลกที่เปลี่ยนไป คำว่า “ลูกค้า” เริ่มขยายเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นตัวลูกค้าเอง พนักงานในองค์กร เพื่อนร่วมงาน ชุมชน หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม ธุรกิจยุคใหม่จึงมีส่วนเกี่ยวข้องและต้องมีความรับผิดชอบในวงกว้าง เกิดเป็นเทรนด์ธุรกิจยั่งยืน “Sustainable Business” หรือการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจใหม่ที่องค์กรทั่วโลกต้องปรับตัวให้ทัน
ก็นี่มัน 2018 แล้วนะ คำว่า ‘ธุรกิจที่ดี’ คงไม่ใช่แต่การวัดผลด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เขาดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนกันแล้ว!
Sustainable Business วิสัยทัศน์ร่วมกันระดับโลก
ไม่ใช่จู่ๆ แนวคิด Sustainable Business จะโผล่ขึ้นมาเอง ของแบบนี้เกิดจากการสั่งสมปัญหามาตั้งแต่โบร่ำโบราณ โดยเฉพาะปัญหาจากระบบทุนนิยมสุดโต่งที่เน้นการเติบโตเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ
กล่าวคือใครก็ตามที่กอบโกยผลประโยชน์มากที่สุดคือผู้ชนะ ทำให้องค์กรต่างๆ โนสนโนแคร์ว่าจะถลุงทรัพยากรมาเพื่อผลประโยชน์ตัวเองมากเท่าไหร่ ก่อนสภาวะโลกร้อนจะอุบัติแล้วย้อนกลับมาทำร้ายมนุษยชาติ ทุกคนจึงสะกิดเตือนภาคธุรกิจทั่วโลก (ในฐานะตัวการสำคัญ) ให้หันมาใส่ใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกันได้แล้ว
ไม่นานมานี้สมาชิกองค์การสหประชาชาติกว่า 193 ชาติก็ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals หรือ SDGs 17 ข้อ เพื่อเป็นข้อกำหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับศักยภาพความยั่งยืนทั่วโลก และตอบสนองผลประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจ คน และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
หากสโคปลงมาในระดับประเทศก็มีกระบวนการกำกับดูแลจากภาครัฐที่เอาจริงกันมากขึ้น เช่น กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เล่นยักษ์ใหญ่จนล้มไม่เป็นท่ามาแล้ว สิ่งเหล่านี้แหละคือแรงกดดันสำหรับภาคธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความน่าอยู่ของโลกใบนี้ต่อไป
ความไว้วางใจคือตัวสร้างองค์กรให้มั่นคง
แน่นอนว่า “กำไร” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรหนึ่งๆ ดำเนินธุรกิจอยู่ได้ แต่การได้มาซึ่งกำไรนั้นอยู่ที่ว่าองค์กรหนึ่งๆ จะใช้แนวทางใดในการดำเนินการ แต่ก่อนเราอาจคุ้นชินกับเทรนด์ทุ่มเงินทำกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR) เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อันสวยหรูขององค์กร แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สังคมเล็กลง หากองค์กรใดก่อปัญหาลับๆ ก็อาจเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกได้เพียงเสี้ยววินาที และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์องค์กรในระยะยาว
หลายคนจึงเรียกร้องจาก “ความจริงใจ” ในการดำเนินงานจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะความจริงใจที่จะดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นับเป็นการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพราะหากธุรกิจไม่แคร์สังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเองก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนเช่นกัน
Sustainable Business จึงไม่เพียงเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่เอาชนะใจลูกค้า แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์ด้านกำไร ภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความมั่นคงในระยะยาว จนได้รับการขนานนามเป็น License to Grow ขององค์กรทีเดียว
TCP บริษัทสัญชาติไทยที่ใส่ใจความยั่งยืน
เพราะองค์กรขยับเท่ากับการส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวคิด Sustainable Business จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงความจริงใจต่อสาธารณะชน ซึ่งองค์กรทั่วโลกยึดเป็นแนวทางหลักในการดำเนินการกันหมดแล้ว
เช่นเดียวกับกลยุทธ์ของกลุ่ม TCP ธุรกิจสัญชาติไทยที่ดำเนินการตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตลอดกว่า 60 ปี
ล่าสุดกลุ่ม TCP ได้ประกาศเป้าหมายใหม่เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 มิติสำคัญ Integrity, Quality และ Harmony ที่ผนึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาร่วมกันขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ 17 ข้ออีกด้วย
3 เสาหลัก พลังชัยชนะที่ยั่งยืน
หากความซื่อสัตย์คือหัวใจหลักของความสัมพันธ์ฉันมิตร ความโปร่งใสก็คงเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานธุรกิจ ด้วยเหตุผลนี้ Integrity จึงเป็นเหมือนเสาหลักแรกที่สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไล่ตั้งแต่การจัดหาแหล่งผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม กระทั่งส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย รวมไปถึงองค์กรธรรมาภิบาลที่ลดความเสี่ยงด้านทุจริตคอรัปชั่น เพราะทุกกระบวนการต้องดำเนินอย่างเคารพกฎหมายในทุกระดับ
ต่อมาคือ Quality ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาวะที่ดี นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานทั้งสุขภาพกายและใจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และความก้าวหน้าทางอาชีพต่อไปในอนาคต
เสาสุดท้ายคือ Harmony ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในทุกกระบวนการ ยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าที่สุด รวมไปถึงการสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืนนั่นเอง
เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้ TCP จึงมองการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนว่าเป็น “โอกาส” ของทุกธุรกิจที่ทั่วโลกเริ่มปรับกันแล้ว ถึงกระนั้นเป้าหมายอาจไม่ใช่แค่การเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลกเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือความร่วมมืออันดีระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติที่กล่าวมา ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่ง “ความยั่งยืนที่แท้จริง” ตลอดไป
หากใครถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของธุรกิจทุกวันนี้ “ความยั่งยืน” นั่นแหละคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก