ในช่วงหลายปีมานี้ ดูเหมือนว่าการจัดกิจกรรมTEDx หรือเวทีพูดซึ่งต่อยอดมาจากเวทีระดับโลกอย่าง TED ที่เปิดโอกาสให้ไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ ได้มีโอกาสมาโลดแล่น เผยแพร่ และจุดชนวนความคิดใหม่ๆ สู่ผู้ชมในวงกว้าง และในหลายๆ องค์กรของประเทศไทย ที่ยังคงมุ่งมั่นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเหมือนพลุไฟที่กำลังปะทุ ทำให้เห็นได้ชัดว่าความสนใจของผู้คนในสังคม กับการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นนั้นเป็นของจริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแส
เช่นเดียวกับกลุ่ม TEDxChulalongkornU หรือเวที TEDx ที่มีทีมผู้จัดเป็นเหล่านิสิตจุฬาฯ ตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งก้าวข้ามผ่านปีที่ 3 กันไปหมาดๆ กับเวทีที่ชูแนวคิด Strive Forward ซึ่งมีพื้นฐานจากความเปลี่ยนแปลงไปของโลกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนทุกวันนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และวิธีการใช้ชีวิตเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น รวมถึงพร้อมเผชิญหน้ากับอุปสรรค และสามารถพุ่งเป้าหมายไปที่ตั้งใจไว้
ด้วยการนี้บนเวที TEDxChulalongkornU 2017 ที่ผ่านมา จึงเต็มไปด้วยวิทยากรที่มีประวัติไม่ธรรมดา ผลัดกันขึ้นมาพูดในหัวข้อที่สะท้อนแนวคิดระดับชวนสั่นสะเทือนโลก ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว ไปจนถึงมุมมองอันยิ่งใหญ่ และเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนที่ทุกคนจะไปฟังของจริงจากปากคำของพวกเขาเหล่านั้นใน Youtube เราก็ขอยกเอา 3 ไฮไลท์เรื่องราวจากบนเวทีมาให้ฟังพอเป็นน้ำจิ้มกันก่อนแล้วกัน
“อเมริกามี Silicon Valley แล้วเรากำลังจะมีอะไร”
หัวข้อ: จุดพลุความคิด พิชิตนวัตกรรม
วิทยากร: ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
คุณคิดว่ารถยนต์ในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? นี่คือคำถามชวนคิดที่แสนธรรมดาสามัญ ซึ่ง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีคนปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เพื่อถามเด็กวัย 5 และ 9 ขวบ ก่อนที่จะนำไปถามสถาปนิกมากฝีมืออีกคนหนึ่ง คำตอบในรูปแบบภาพวาดที่เขาได้รับจากคนทั้งสองกลุ่มนั้น ฟากหนึ่งคือรถติดปีกมีไอพ่นที่สามารถลอยได้บนฟ้า ขณะที่อีกภาพคือรถยนต์ที่มีรูปลักษณ์เหมือนรถยนต์ในปัจจุบัน มีสี่ล้อ และวิ่งได้บนถนน คงไม่ต้องบอกว่าภาพไหนเป็นของใคร รวมถึงคงไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต รถยนต์ที่ถูกผลิตออกมาจะเหมือนในรูปฝั่งไหนกันแน่ ทว่าสิ่งหนึ่งที่สามารถบอกได้โดยสะท้อนผ่านภาพวาดเหล่านี้ก็คือ ความแตกต่างระหว่างสองคำที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์’ และ ‘ความคิดสร้างสรรค์’
ความคิดสร้างสรรค์ที่หลายคนคิดว่าเป็นคำนามธรรมนั้น หากว่ามันได้ถูกใช้อย่างมีศักยภาพ จุดหนึ่งมันก็จะสามารถผลิตสิ่งที่เป็นรูปธรรมออกมาได้ โดยเฉพาะกับนวัตกรรมที่เราหยิบจับกันในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ ก็ล้วนแต่เป็นผลผลิตของความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง การใช้เพียงความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอเป็นปัจจัยที่จะทำให้นวัตกรรมประสบความสำเร็จได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมว่านวัตกรรมนั้นๆ จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ก็คือประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์เชิงบวก หรือประสบการณ์เชิงลบ ซึ่งเมื่อประสบการณ์ ได้หลอมรวมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเงินทุนจำนวนหนึ่ง มันก็จะสามารถเปลี่ยนแปรไปเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ยกตัวอย่างเช่น มันสามารถเปลี่ยนปัญหาที่มีอยู่ทั่วโลกอย่าง แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ให้กลายมาเป็นนวัตกรรมอย่าง Grab Taxi หรือ Uber ได้
ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนไปของนวัตกรรมจึงจึงเป็นต้องมัดรวมคนทั้ง 3 ประเภทเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถผลิตชุดความคิดใหม่ๆ, คนที่มีประสบการณ์ทั้งแง่บวกแง่ลบ เข้าใจในความเป็นไปของตลาด และคนที่จะสนับสนุนให้นวัตกรรมนั้นเกิดขึ้น และเพื่อแก้โจทย์ที่ว่าทำอย่างไรที่จะรวมคนเหล่านี้เข้ามาไว้ที่เดียวกันได้ SID (Siam Innovation District) จึงได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้การผลักดันของทั้งภาครัฐและเอกชน ในฐานะศูนย์กลางด้านนวัตกรรมที่ถูกแบ่งพื้นที่สำหรับการใช้งานออกเป็นสี่ส่วน ได้แก่ Futurium ส่วนที่จะทำหน้าที่จัดแสดงสิ่งที่เป็นอนาคตของโลกซึ่งรวบรวมมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก, Talent Building ส่วนที่ทำหน้าที่บ่มเพาะ ต่อยอดความรู้ความสามารถเพิ่มเติมให้กับคนที่มีความคิดมีไอเดีย ไปจนถึงส่วนของ Marketplace และ Industry Liaison ที่จะชักนำเอาคนทั้งสามกลุ่มมาพบกัน ส่งเสริมให้เกิดเป็นความร่วมมือขึ้นมาจริงๆ
แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ว่าเส้นทางอนาคตของประเทศไทยกับการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมนั้นจะยังอีกยาวไกลนัก แต่อย่างน้อยก็น่าดีใจ ว่าวันนี้เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการหยุดนิ่งยู่กับที่อีกต่อไปแล้ว
“โจทย์ในการสร้างคนมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ชีวิตจริง ห้องเรียนยังไม่เปลี่ยนไปเลย”
หัวข้อ: การศึกษา 50/50
วิทยากร: ธานินทร์ ทิมทอง
หลายสิบปีก่อนในยุคที่เราให้ความสำคัญกับการปลูกฝังความฉลาดและรักชาติภายในห้องเรียนกับเด็ก ภาพของห้องเรียนที่แออัดด้วยนักเรียนจำนวนมากกว่าสี่สิบคน มีครูประจำชั้นยืนถือไม้เรียวคอยกวดขันให้เด็กท่องอ่านตามหนังสือ หรือบางครั้งก็หวดก้นเอาแรงๆ หากใครที่กระทำตัวเป็นหัวโจกดื้อรั้นเกเรยังคงติดตาคนรุ่นหลังมาถึงทุกวันนี้ วันเวลาผันผ่าน โลกเปลี่ยนแปลง เด็กนักเรียนล้วนแล้วแต่ก็เปลี่ยนไป ทว่าถึงกระนั้น สิ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยก็เห็นจะเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ยังคงล้าหลัง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องความขาดแคลนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังคงเป็นปัญหาปราบเซียนคงเส้นคงวาตามมาในทุกยุคสมัย และด้วยความที่ปัญหาดังกล่าวนี้มีความซับซ้อนสูง ชนิดไม่อาจแก้ให้สำเร็จเห็นผลได้ในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ไม่มีใครคิดที่จะเข้ามายุ่งและจัดการปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง
ในสายตาของ ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัท Learn Education ที่คร่ำหวอดและพยายามแก้ปัญหาด้านการศึกษาไทยมาอย่างยาวนานมองว่า การศึกษาที่ดีนั้นคือการศึกษาที่ต้องช่วย ‘Transform’ ผู้เรียนได้ กล่าวคืออย่างน้อยต้องช่วยเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่ทำอะไรไม่เป็น ให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือครอบครัว หรืออาจถึงขั้นช่วยเหลือสังคมได้ ด้วยโจทย์ตั้งต้นเช่นนี้ การจะสามารถสร้างหรือเปลี่ยนเด็กคนหนึ่งได้ ภาระจึงไม่ได้ตกอยู่กับโรงเรียนทั้งหมด หากแต่เป็นโรงเรียน 50 และอีก 50 ก็คือครอบครัว เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาและพร้อมเติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของทั้งสองภาคส่วนในการช่วยผลักดันซึ่งกันและกัน โดยต่างก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกในยุคสมัยนี้ด้วย ดังเช่นที่คุณธานินทร์ยกตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีการศึกษาดีเป็นอันดับ 4 ของโลก ว่าเคล็ดลับในการทำให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะของตัวเองในห้องเรียนได้มากกว่าแค่การเรียนไปเพื่อสอบนั้น ก็คือคุณครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้ถาม แล้วปล่อยพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นให้กับเด็กมากขึ้น เพราะทุกวันนี้แค่ความรู้อย่างเดียวนั้นยังไม่พอ แต่ในเด็กหนึ่งคนควรจะมีทั้งความรู้ 50 และทักษะอีก 50
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ทางคุณธานินทร์ได้ค้นพบจากความพยายามในการสร้างห้องเรียนที่ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงของโลกให้กับเด็กก็คือ อัตราส่วนในการสอนเด็กที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนนั้นไม่ใช่ 1 : 40 อย่างที่ห้องเรียนทั่วไปเคยทำเสมอมา หากแต่คืออัตราส่วน 1 : 1 หรือการพัฒนาเด็กแบบรายบุคคล ที่อาศัยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อประเมินศักยภาพและเพื่อปรับปรุงแก้ไขวิธีสอนเพื่อให้เข้ากับเด็กแต่ละคนอยู่เสมอ ไม่ใช่รอแก้ไขทีเดียวตอนเกรดออก และด้วยการนำวิธีนี้ไปใช้กับโรงเรียนสหวิทย์ โรงเรียนเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อ Transform เด็ก ไม่ใช่สอนไปเพื่อสอบอย่างหลายๆ โรงเรียน ก็ทำให้ภายในเวลาเพียง 3 ปี โรงเรียนดังกล่าวขยับขึ้นมาเป็นโรงเรียนที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดที่ว่าในยุคนี้การเรียนการสอนภายในห้องเรียนจำเป็นจะต้องใช้ครู 50 และอีก 50 คือส่วนของเทคโนโลยี
สุดท้ายแม้ในสายตาของหลายๆ คนแล้ว โอกาสรอดของการศึกษาไทยในปัจจุบันเรื่อยไปจนถึงอนาคตอาจจะไม่ต่างอะไรจากการปั่นหัวก้อย คือมีโอกาสออกดีร้ายแบบ 50/50 ทว่าตราบใดที่เรายังมีความหวัง มีโอกาส และมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น ก็ใช่ว่ามันจะออก 50 ในหน้าที่ดีไม่ได้
“What are you doing for the people you love?”
หัวข้อ: The lonely guide of a workaholic
วิทยากร: มีนา อิงค์ธเนศ
สำหรับคนที่เป็น Workaholic แล้ว คงต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมยินดีได้มากเท่ากับการก้าวข้ามผ่านเส้นชัย หรือคว้าเอารางวัลแห่งความสำเร็จมาครองได้ โดยเฉพาะสำหรับคน Gen Y อย่างเราๆ แล้ว คงต้องยอมรับว่าหลายคนในเจเนอเรชั่นนี้ต่างก็กระหายในความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แล้ววิ่งไล่ตามมันราวกับว่ามันคือเป้าหมายเดียวที่มีในชีวิต ทว่าแน่หรือว่าความสำเร็จ คือตัวบ่งบอกว่าชีวิตของเราจะต้องมีความสุข มีนา อิงค์ธเนศ คือมนุษย์ Gen Y คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตทำงานหนักเพื่อไขว่คว้าตามหาความสำเร็จ และความสำเร็จนั้นก็ทำหน้าที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนมากมายให้โฟกัสเข้ามาที่เธอ ชนิดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนในเจเนอเรชั่นเดียวกัน แม้เธอจะรู้สึกตนเป็นยูนิคอร์นมหัศจรรย์สีรุ้ง ที่แม้จะโดดเด่น เก่งขนาดไหน แต่ก็อาจทำให้ลืมไปว่าก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ยังต้องการพักผ่อน ต้องการความรัก และกำลังใจอยู่ดี
ทว่าการเป็นยูนิคอร์นในดงม้าป่าธรรมดานั้นกลับไม่ใช่อะไรที่สวยงามอย่างที่ใครจินตนาการไว้เลย ยิ่งสิ่งแวดล้อมรอบที่เหล่าคนดังประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และความฝันของตันเองผลักดันเธอให้ขึ้นไปสูงแค่ไหน ความกดดัน ความรับผิดชอบ ความกลัวผิดพลาดยิ่งตามมาเหมือนเงา ยิ่งกระหายความสำเร็จเธอยิ่งแบกรับหน้าที่มากขึ้น พอสิ่งที่ถือไว้มากขึ้นก็ยิ่งเข้าสู่วงจรโอเวอร์โหลด ต่อเนื่องกลายเป็นความล้มเหลว กลายเป็นความรู้สึกผิด ทำให้เธอต้องรับงานมากขึ้นเพื่อกลบความล้มเหลวและเพื่อพิสูจน์ตัวเอง กลายเป็นวงจรที่น่าเศร้าไม่จบไม่สิ้น จากคนที่เปี่ยมไปด้วยไฟ มากล้นด้วยพลังงาน ในที่สุดเธอก็ค่อยๆ เหยียบขาข้างหนึ่งลงสู่อาการ Burn-out Syndrome หรือภาวะที่ทำให้คนรู้สึกหมดไฟ ไร้เรี่ยวแรง และแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาทำงานต่อ ที่เลวร้ายที่สุดคืออาการดังกล่าวนี้ทำให้ความสัมพันธ์ที่เธอมีกับคนรอบข้างค่อยๆ ย่ำแย่ลงอย่างน่ากลัว
หลังจากใช้เวลาเพื่อเรียนรู้ความผิดพลาด และจมจ่อมอยู่ในความทุกข์ ความสับสน ที่มีสาเหตุมาจาก ‘ความสำเร็จ’ ที่เธอเคยเชื่อและยึดมั่นมานาน ในที่สุดก็เป็นคนรอบข้างของเธอ ทั้งครอบครัว และเพื่อน ที่ทำให้เธอเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับความสำเร็จเสียใหม่ มีนา อิงค์ธเนศ เข้าใจดีแล้วว่า การก้าวไปข้างหน้าเพียงลำพังอาจจะทำให้ใครสักคนสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ แต่การก้าวไปด้วยกันโดยมีคนที่รักเคียงข้างนั้นดีกว่า เพราะเป็นการก้าวที่พาเราไปสู่ความสำเร็จที่มีความสุขและมีผู้ร่วมชื่นชมรออยู่ที่ปลายทาง
สิ้นสุดลงไปแล้ว สำหรับ 3 แนวคิดบางส่วนที่ตัดตอนมาจากบนเวทีนี้ แต่นอกจากวิทยากรทั้ง 3 คนข้างต้นแล้ว เวที TEDxChula ครั้งนี้ก็ยังมีวิทยากรอีกจำนวนไม่ใช่น้อย ที่มาพร้อมกับแนวคิดน่าสนใจซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดส่งต่อไฟฝันแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมคนอื่นๆ โดยใครที่สนใจอยากรับฟังทอล์คฉบับเต็ม สามารถติดตามต่อได้ในช่องทางด้านล่าง
การศึกษา 50 : 50 | ธานินทร์ ทิมทอง | TEDxChulalongkornU
จุดพลุความคิด พิชิตนวัตกรรม | ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ | TEDxChulalongkornU
และรับชมวิทยากรท่านอื่นต่อได้ที่ลิ้งค์ด้านล่าง