ทุกครั้งที่เกิดการบริโภค ขยะบรรจุภัณฑ์คือสิ่งที่เกิดตามมาแบบอัตโนมัติ
โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนที่จำเป็นจะต้องดื่มนมเป็นประจำทุกวัน เพราะนมประกอบด้วยสารอาหารสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพลานามัย กระตุ้นพัฒนาการทุกย่างก้าวของการเติบโต และยังสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่จะมีขยะจากกล่องนมโรงเรียนเกือบ 200,000 กล่องต่อวัน ใน 260 วันที่จัดให้เด็กนักเรียนได้ดื่ม
จากนมโรงเรียนสู่การเติบโตของพัฒนาการ จากสองมือพับกล่องนมสู่การสร้างทรัพยากรตั้งต้นก่อนนำไปรีไซเคิล ทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญที่ทาง Tetra Pak บริษัทชั้นนำของโลกในด้านบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหาร ให้ความสำคัญ คุณวันชัย สุวรรณเนตร Key Account Director บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำให้เราฟังว่า
“เต็ดตรา แพ้ค ไม่ได้โฟกัสแค่กล่องหรือบรรจุภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่เราโฟกัสทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารต้นทางไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างวงจรของทรัพยากรผ่านกระบวนการรีไซเคิล โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการ ไปพร้อมกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและเยาวชน”
ภาพรวมของบรรจุภัณฑ์ต่อประเด็นเรื่องความยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change คือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มนุษย์ทุกคนกำลังเผชิญและสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ฝนฟ้าที่ตกหนักขึ้น ความแห้งแล้งที่ยาวนานกว่าที่เคย เป็นโจทย์ที่ทำให้ผู้ประกอบการค้นหาวิธีดำเนินงานของตัวเองที่สอดคล้องกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ โดยมีเป้าหมายที่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
“ในส่วนของ เต็ดตรา แพ้ค ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งกล่องเครื่องดื่มเองก็ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในปัจจุบันสิ่งที่เราทำคือขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางการเลือกวัสดุหลักจากทรัพยากรทดแทนได้ โดยมาจากป่าปลูกที่ได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสามารถระบุได้ว่าเป็นเยื่อไม้จากที่ไหน ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่เราโฟกัสว่าทำอย่างไรจะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำสุด และสุดท้ายกล่องก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้หมดทุกส่วน”
เมื่อมองในภาพของประเทศไทยเอง โครงการนมโรงเรียนเป็นอีกส่วนที่ เต็ดตรา แพ้ค เลือกให้เป็นตัวอย่างการจัดการที่สมบูรณ์ นั่นก็เพราะเด็กๆ ทั่วประเทศต้องบริโภคนมทุกวัน สามารถจัดเก็บได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับผู้บริโภคระดับครัวเรือน และที่สำคัญคือ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการรีไซเคิลได้ในระดับเยาวชน เมื่อเด็กๆ เห็นว่าการรีไซเคิลให้ผลได้จริง และมองว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
กล่องนมโรงเรียน และการรีไซเคิลในชีวิตประจำวัน
โครงการนมโรงเรียนเป็นแผนงานระดับโลกซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาหลักของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDG2) ขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งขจัดภาวะความอดอยากให้เป็นศูนย์ เพิ่มระดับการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีประโยชน์ทางโภชนาการ อีกทั้งขจัดภาวะขาดสารอาหารให้หมดไป ซึ่งในประเทศไทยเอง โครงการนมโรงเรียนถือเป็นโครงการแรกๆ ในโลก และเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายๆ ประเทศ
เพราะเป้าหมายอยู่ที่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ การมองภาพการเดินทางของกล่องนมหนึ่งกล่องจึงจำเป็นต้องมองให้เป็นระบบ ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตที่ เต็ดตรา แพ้ค ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการผลิตและการบรรจุระบบปลอดเชื้อแบบ UHT ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตนม ตั้งแต่การรับนม ฆ่าเชื้อ จนบรรจุลงกล่องออกมาเป็นนมโรงเรียน หลังจากเด็กๆ บริโภคเสร็จ กล่องทั้งหมดควรจะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อสุดท้ายแล้วก็จะกลับมาเป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อเดินทางต่อในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต่อไป
“การรีไซเคิลมันจะมีจิ๊กซอว์ของมันอยู่ จุดที่ยากที่สุดคือการเก็บกล่องที่บริโภคแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งกล่องนมที่ถูกพับจากมือเด็กๆ จะถูกนำไปที่ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดยบริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด เพื่อผ่านกระบวนการคัดแยกและปั่นเยื่อ ได้เป็นส่วนเยื่อกระดาษ กับส่วนพลาสติกและฟอยล์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป เยื่อกระดาษจะไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษอย่างพวกกล่องลัง ส่วนพลาสติกและฟอยล์จะใช้เป็นวัสดุทดแทนพลาสติก และจากคุณสมบัติที่สำคัญของฟอยล์คือทนความร้อน โรงงานก็นำไปทำเป็นแผ่นหลังคา ซึ่งน้ำหนักเบาและติดตั้งง่าย”
ตัวช่วยที่จะทำให้จิ๊กซอว์ทุกชิ้นต่อเป็นภาพสำเร็จครบกระบวนการตั้งแต่การรวบรวม คัดแยก และจัดเก็บกล่องนมเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล คือความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้แก่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, สำนักงานการศึกษา กรุงเทพมหานคร, บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด และบริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด ภาพความสำเร็จไม่เพียงแต่มาจากโครงการที่ครบทั้งวงจร แต่ยังเห็นเป็นโต๊ะเก้าอี้ ให้เด็กๆ ได้กลับมาใช้งานจริงด้วยตัวเอง
พลังจากสองมือ สร้างสิ่งยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้
“พอเด็กๆ ได้เห็นผลิตภัณฑ์จริง เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เขาช่วยกันและพยายามเก็บสะสม มันกลับมาเป็นของที่เขาใช้ได้ เราเห็นได้ชัดเจนจากที่เด็กเริ่มติดเป็นนิสัย พอทานนมเสร็จ ก็พับกล่องนม แล้วก็กลับไปทำที่บ้านด้วย ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าเราต่อยอดจากโครงการนมโรงเรียน มันจะเป็นเหมือนตัวช่วยที่จะพาครอบครัว พาบุคคลภายนอกมารู้จักวิธีการจัดการขยะ เป็นอีกแรงในการรีไซเคิล ผมเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้นที่นมโรงเรียน จะสามารถกระจายเป็นภาพใหญ่ในระดับประเทศได้”
จากจิตสำนึกความรักโลกที่มีอยู่ในใจทุกคน หากมีโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยเชื่อมระหว่างสิ่งที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นรูปธรรมได้แล้ว แน่นอนว่าทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับโครงการรีไซเคิลกล่องนมโรงเรียนที่เป็นการสร้างความเข้าใจประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นที่เยาวชน ช่วยสร้างพลังเชิงบวกให้กับเด็กๆ ด้วยการให้ความเชื่อมั่น ว่าพลังเล็กๆ ของพวกเขาเองก็เปลี่ยนโลกใบนี้ได้เช่นกัน
“ในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยีระบบปลอดเชื้อ เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของเรา ผ่านการใช้เทคโนโลยีการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์นมที่ปลอดภัย และพร้อมด้วยโภชนาการแก่เยาวชนไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนซึ่งเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของบริษัท โดยส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างรับผิดชอบและร่วมสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำทั้งระบบ และวางแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและโลกในระยะยาว”