ในยุคที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ เสพข่าวสารจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากยุคก่อนอย่างมาก ทั้งในฐานะของผู้ผลิตสื่อ ที่มีวิธีคิดในการนำเสนอที่เน้นความรวดเร็วและหลากหลาย ขณะเดียวกันผู้เสพสื่อ ก็มีความคาดหวังที่สูง พร้อมๆ กับทักษะในการวิเคราะห์เนื้อหาที่มากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็นำมาซึ่งปัจจัยด้านลบต่างๆ มากมาย เรายังเห็น Fake News ที่ส่งต่อกันไม่หยุด การนำเสนอข่าวที่ถูกบิดเบือน เต็มไปด้วยความรุนแรง เนื้อหาของข่าวที่สร้างผลกระทบเชิงลบ มากกว่าประโยชน์ใดๆ กระทั่งเนื้อหาของสื่อบันเทิงเองที่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ เกิดเป็นคำถามว่า ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ความหวังของสื่อไทยอยู่ที่ตรงไหน
ชวนไปพูดคุยกับประเด็นนี้กับ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถึงอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อไทย ทางออกที่ควรจะเป็น รวมไปถึงบทบาทของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่กำลังเปิดรับโครงการขอรับทุนสนับสนุน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยด้วยพลังของสื่อยุคใหม่
มองภาพรวมของวงการสื่อสารมวลชนในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ในมุมมองของผู้ผลิตและผู้เสพ
ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า เราแยกแยะระหว่างสื่อมวลชนกับสื่อที่ประกาศตัวว่าเป็นสื่อออนไลน์ ซึ่งแบ่งออกไปอีกหลายเลเวล ของผู้ประกอบกิจการก็ส่วนหนึ่ง ของคนที่มีจิตวิญญาณหรือทำหน้าที่เป็นสื่อก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้ามองในส่วนของผู้ประกอบกิจการสื่อที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย กสทช. ก็อยู่ในภาวะที่ลำบาก ต้องดิ้นรนอยู่ เพราะสิ่งที่เขาต้องคำนึงถึงคือต้องอยู่ให้รอด เพราะในวันที่คนอื่นทำอะไรสีเทาๆ แล้วอยู่รอด แต่เขายังยืนหยัดที่จะทำอะไรที่ขาวๆ ก็อาจจะมีสัญญาณเตือนมาจากปัจจัยแวดล้อมอยู่ว่ามันไม่ไหวนะ เห็นเลยว่าการยืนหยัดในจรรยาบรรณวิชาชีพ ผมคิดว่ามันน้อยไปในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ผมไม่ได้มองในเรื่องของสถานการณ์ทางด้านความอยู่รอดเป็นหลัก แต่มองว่าสังคมคาดหวังกับความเป็นสื่อ ในรายการที่เป็นรายการข่าว สังคมอยากเห็นข่าวที่ควรจะเป็นข่าวจริงๆ ที่นำเสนอ Fact แต่กลับเป็นการนำเสนอในรูปแบบดราม่า ซึ่งเราควรจะช่วยกันเตือนสติกัน ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งประเทศไทยเป็นโมเดลต้นแบบของการทำรายการประเภทเล่าข่าว คือการนำข่าวหรือข้อเท็จจริงมาผสมกับรสนิยมส่วนตัวของผู้ดำเนินรายการ ควรจะเรียกว่าเป็น Edutainment ก็ได้ แต่ว่ามันกลายเป็น Entertainment ที่มียาพิษเจือปนอยู่ เพราะหลายครั้งมันแฝงด้วยอคติ ความเกลียดชัง แบ่งฝักฝ่าย หรือบางทีก็ตอกย้ำภาพความรุนแรง ซึ่งในแง่นี้ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง ถามว่าทางออกควรจะเป็นอย่างไร เราไม่ใช่องค์กรบังคับใช้กฎหมาย วิธีการคือเรามาทำความเข้าใจร่วมกันดีไหม ว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร แล้วอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนอะไรบ้าง ไม่ใช่ตำหนิ ไม่ใช่ไปชี้หน้าด่าเขา แต่เราก็อยากเชิญชวนให้มามองเห็นปัญหา วิเคราะห์ร่วมกัน และแสวงหาความร่วมมือ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา
ในยุคโซเชียลมีเดีย การที่มีผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่รายเล็กออกมามากมาย คิดว่าช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือแข่งขันมากขึ้นอย่างไร
ในมุมของผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ หรืออาจจะเป็นสื่ออิสระรายเล็กๆ ผมเห็นความตั้งใจดี นี่เป็นการปรับตัวที่สุดยอด เพราะการผลิตแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอข่าว อาจไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก และไม่ได้เริ่มมาจากคนที่มี Mindset ในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่เป็นนายทุน แต่เริ่มจากจิตวิญญาณที่ต้องการสร้างช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พอทำออกมาแล้วรู้สึกโดน ได้เห็นการทำ Special Report ที่มีข้อมูลรอบด้าน บางเรื่องก็พยายามเลี่ยงสิ่งที่เป็นประเด็นสร้างความเสียหายหรือกระทบกระเทือนทางจิตใจ สอดคล้องกับยุคสมัยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนที่มาดูสื่อดั้งเดิมน้อยลง สื่อออนไลน์ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่สิ่งที่อยากเห็นไปมากกว่านั้น คือปัจเจกบุคคลทั่วไปสามารถทำหน้าที่คล้ายสำนักข่าวเล็กๆ ได้ อาจจะไม่ต้องผลิตอะไรมาก แต่เรียนรู้ที่จะทำข่าวที่มีสาระ เป็นข่าวดีๆ ที่ใช้ได้
ผมเห็นการเคลื่อนตัวของแวดวงสื่อมวลชน ได้เห็นปรากฏการณ์ของการเกิดและการดับ บางอย่างถ้าไม่ปรับตัวก็อาจจะอยู่ไม่รอด การปรับตัวก็อย่างสื่อดั้งเดิมวันนี้ก็มาทำสื่อออนไลน์คู่ขนานกันทั้งสิ้น เปิดช่องทางการสื่อสารมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือยังไม่เห็นการปรับตัวในเรื่องของการพัฒนาคอนเทนต์ ในขณะที่วันนี้ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์สำคัญที่สุด แพลตฟอร์มเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ถามว่าอะไรที่จะอยู่ในแพลตฟอร์มได้ ก็คือคอนเทนต์ที่น่าสนใจ
แล้วสถานะของคนไทยที่เสพสื่อเป็นอย่างไร ความรู้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน
พัฒนาอย่างรวดเร็วมาก และบางครั้งก็น่าทึ่ง ผมเห็นปรากฏการณ์ที่เติบโตขึ้น เชื่อไหมว่าเพื่อนหลายคนที่เป็นครูบาอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย บางวิชาตอนเข้าไปสอนขาดความเชื่อมั่นเลย เพราะไปเจอประเด็นหรือหัวข้อสอนที่ไปถูกจริตกับนักศึกษาคนใดคนหนึ่ง แล้วนักศึกษาก็ทำการบ้านมาลึกมาก รู้รอบด้าน รู้มากกว่าอาจารย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่อาจารย์จะต้องเสียหน้า แต่ต้องเปิดใจรับว่าในบางเรื่องนักศึกษารู้มากกว่า เหมือนกันกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสังคมออนไลน์ บางเรื่องผู้ติดตามเอาข้อมูลมาหักล้างได้ ต้องขอโทษกลางอากาศก็มีให้เห็นหลายครั้ง หรือว่าข้อมูลที่พูดผิดปุ๊บก็โดนจับได้ทันที ผมเป็นแฟนรายการวิทยุ ซึ่งธรรมดาโดยเฉพาะการทำ Daily Report ที่อาจจะไม่มีเวลาค้นข้อมูลลึก แต่ว่าคนฟังเขาอยู่กับเรื่องนั้นๆ พอเขาได้ยินปุ๊บเขาสวนมาเลย ต้องยอมรับว่าไม่มีใครรู้มากกว่าใคร ทุกคนมีต้นทุนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลพอๆ กัน ทางที่ดีคือเราจะต้องรับฟังและยอมรับซึ่งกันและกัน
ผมว่าด้านบวกก็ไปไกล ด้านลบก็ไปไกลเหมือนกัน เช่นการใช้ภาษาด่ากัน อย่างในทวิตเตอร์ Hate Speech เวลามีประเด็นทางการเมืองขึ้นมา อ่านแล้วรู้สึกว่าห่อเหี่ยว ทั้งประเด็นดราม่า คำด่าสารพัด แสดงถึงปรากฏการณ์ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน ยังมีคนที่ชอบแชร์ Fake News จำนวนมาก การ Bully ยังมีอยู่ ขณะที่สื่อหลักเองก็ยังพยายามแข่งกันที่ความเร็ว มีการหลุดภาพความรุนแรงหรือภาพที่ไม่พึงประสงค์ออกไปบ่อยๆ เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงจึงมีทั้งสองด้าน
อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้วงการสื่อไทยทุกวันนี้ ยังเติบโตและสร้างสรรค์เรื่องเนื้อหาได้อย่างไม่เต็มที่
จริงๆ มองได้สองมุมทั้งในมุมของผู้ผลิตและผู้เสพ ผมว่าผู้เสพคนไทยไม่ได้ต่างกับคนประเทศอื่น ไม่เคยเห็นด้วยเลยในมาตรฐานที่ว่าคนไทยนิยมละครน้ำเน่าหรือชอบข่าวดราม่า เพียงแต่ว่าวันนี้ข่าวที่ไม่ใช่ดราม่าไม่มีคนลงทุน เพราะต้นทุนมันต่ำกว่า แต่ถ้าทำข่าวที่เป็น Data ครบถ้วน ต้องทำการบ้าน ต้องอาศัยการเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ เราจึงเห็นว่าข่าวเชิง Scoop หรือข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนแทบจะไม่มีเลย น้อยมาก แต่ว่าถ้ามีการทำขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และมีระยะเวลาที่นานพอ ผมเชื่อว่าพฤติกรรมการบริโภคสื่อเปลี่ยนแน่นอน เหมือนกับเรื่องของละครเหมือนกัน หนังหรือละครดีๆ ที่ไม่เห็นฉากตบตีเลยอย่าง ‘คังคุไบ’ ผมว่าหลายคนดูหลายรอบด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมผู้ชมหรือผู้เสพพร้อมเปลี่ยน ปัญหาก็คือผู้ผลิตต่างหากที่รู้สึกว่ายังเคยชินอยู่กับรูปแบบเดิมๆ รู้สึกว่าลงทุนแค่นี้พอแล้ว
แสดงว่าผู้ผลิตยังมีอำนาจในการต่อรองว่าสามารถทำสื่อแบบนี้แล้วคนจะติดตามได้
อาจจะไม่ใช่อำนาจต่อรอง แต่เป็นข้อจำกัดหรือ Mindset ของผู้ผลิต ผมคิดว่าถ้าย้อนกลับไปในอดีต 5 – 10 ปีที่ผ่านมา สมมติว่าเจ้าของช่อง บอกว่าจะลงทุนสร้างสตูดิโอสัก 50 ล้านก็พิจารณาไม่ยาก แต่ว่าถ้าบอกว่าต้องการสร้างโปรดิวเซอร์ที่ทำสารคดีท่องเที่ยวสักคนหนึ่ง ใช้เงินสัก 3 ล้าน ส่งให้ไปเที่ยวทั่วโลกเลย 1 ปี เขาอาจจะคิดมาก คือประเทศเราไม่ค่อยกล้าลงทุนในเรื่องคน ไม่เชื่อในมนุษย์เท่าไหร่ เราเชื่อในเรื่องของวัตถุสิ่งของมากกว่า สร้างตึกเราเห็นตึก แต่สร้างคนอาจจะไม่เห็นคนหรือกลัวว่าสร้างมาแล้วเขาจะไม่อยู่ แต่จริงๆ สามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้คนอยากอยู่ได้ เซ็นสัญญาเลย คุณไปเที่ยวทั่วโลกใช้เงิน 3 ล้านปีหนึ่ง แล้วกลับมาผลิตรายการสารคดีท่องเที่ยว คุณมีแนวทางอย่างไร ให้เขียนเป็นสัญญามาเลย ผมอยากเห็นอะไรแบบนี้ อาจจะคิดแตกต่าง แต่ผมว่าถ้าเรากล้าทำแบบนี้ จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะภาคเอกชนหรอก ภาครัฐนี่แหละ กองทุนอยากให้ทุนแบบไม่มีเงื่อนไข ให้ทุนแบบเตรียมความพร้อมก่อน ให้เด็กรุ่นใหม่ส่งคลิปหนังสั้นเข้าประกวด อยู่ๆ เราไปบอกว่าน้องมาทำหนังให้พี่ คือความรู้เขายังไม่พอ เพียงแต่ว่าเขามีคุณสมบัติเบื้องต้น ถ้าอย่างนั้นส่งไปอบรมเลย หลักสูตรเกี่ยวกับการทำหนังทำละครในโลกนี้ดีๆ ใช้เงินเท่าไหร่ก็ใช้ไป แล้วกลับมาทำงานให้เรา เพราะฉะนั้นลึกๆ แล้ว กองทุนอยากจะทำงานเรื่องการพัฒนาบุคลากร ทำให้คนที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการเขาเติบโตทั้งความรู้ ความคิด วิชาชีพ แล้วทำงานได้อย่างมีความสุข
ทำไมเรื่องของจรรยาบรรณสื่อ ยังคงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในสังคม
เวลาผมมองประเด็นเชิงจริยธรรม ความดีความเลว ผมมองแบบแยกส่วน มองปรากฏการณ์ของปัจเจกบุคคลหรือของสื่อแต่ละสำนักก็อธิบายได้อย่างหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำให้เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือเราไม่สามารถที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดเลย ถ้าเรามองไม่เห็นบริบท พูดง่ายๆ ว่าถ้าคุณเห็นปลา คุณต้องมองน้ำด้วย คุณบอกว่าปลาทำไมปากแหว่ง มันแย่มันนิสัยไม่ดี แล้วไม่ดูน้ำเหรอ ว่ามันสกปรกขนาดไหน เพราะฉะนั้นเวลาจะมองเรื่องจรรยาบรรณ เป็นสิ่งที่กำกับการทำงานของคนที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่สภาพแวดล้อมนั้นสำคัญ ผมคิดว่าบางทีอย่างพิธีกร ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการ ก่อนที่เขาจะทำหน้าที่ คือมีสคริปต์มาให้อยู่แล้ว มีโปรดิวเซอร์รายการมาบอกเขาว่าจะต้องพูดประเด็นนี้ ต้องย้ำแบบนี้ อยากมองให้เห็นว่าประเด็นเรื่องจรรยาบรรณ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสังคมและทั้งองค์กรด้วย ไม่สามารถที่จะมาโยนให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบได้ เพราะฉะนั้นเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรม วันนี้แข่งกันที่ความเร็ว ความมัน ฟีลลิ่งความรู้สึก มันจึงหมิ่นเหม่เสมอ เป็นเรื่องที่ไม่โทษหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ก็น่าจะเป็นโอกาสที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรวิชาชีพสื่อ ผู้ประกอบการ หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. กองทุนพัฒนาสื่อฯ ด้วย มาร่วมกันหารือทางออกร่วมกัน
เรื่องของความกระหายข่าว ความรวดเร็ว เพื่อสร้างยอดวิว ยอดผู้ติดตาม ซึ่งเป็นปัญหาทั้งสื่อเล็กและใหญ่ มองว่าควรจะต้องแก้ไขอย่างไร
ผมว่าสังคมต้องเปลี่ยนวิธีคิดพอสมควร วันนี้ผมคิดว่าเราต้องการความถูกต้อง พอๆ กับความเร็ว สมดุลต้องมี เพราะฉะนั้นถ้ามีแต่ความเร็ว ไม่มีความถูกต้อง สังคมก็เสียหาย ไปตอบโจทย์ความอยากอย่างเดียว อยากรู้ข่าวเร็วกว่าคนอื่น รู้สึกว่าได้เปรียบ คนต้องมาตามช่องตัวเอง อย่างนี้ไม่ถูก เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนกัน ซึ่งมีมาตรการหรือกลไกต่างๆ ที่สามารถร่วมกันดูแลได้ ช่องใหญ่ส่วนใหญ่มีสปอนเซอร์รายใหญ่ทั้งนั้น คุณลองทำ CSR ดูไหม เวลาคุณจะซื้อสื่อ ก็ลองมีเงื่อนไขแถมไปสักข้อได้ไหมว่ารายการข่าวที่มีสปอนเซอร์ ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณที่ถูกต้องหน่อย ไม่ใช่หลับหูหลับตาดูแต่เรตติ้งอย่างเดียว ต้องดูเรตติ้งเชิงคุณภาพด้วย
จากการมอบทุนในปีที่ผ่านๆ มา ได้เห็นถึงความสำเร็จและความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อไปมากน้อยขนาดไหน
เริ่มเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ คือปรัชญาในการให้ทุนยุคแรก ต้องเรียนตรงไปตรงมาเลยว่าเป็นการให้โอกาส ความคาดหวังมีไหม มี แต่ไม่เข้มข้นมาก คือต้องการเปิดพื้นที่ให้คนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน อยากจะทำสื่อดีๆ แต่ว่าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร กองทุนก็เป็นคำตอบ แต่ว่าวันนี้เราคิดว่าโอกาสมันเกิดแล้ว แล้วเป็นโอกาสของทุกคนด้วย ที่จะต้องนำทุนมาสร้างสรรค์งานคุณภาพเพื่อให้งานนั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ เพราะฉะนั้นปีนี้เราชูสโลแกนว่า ‘โอกาสสำหรับทุกคน’ เป็นโอกาสที่ทุกคนสามารถที่จะสร้างสิ่งดีๆ ในสังคม ด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดขึ้นได้ เราต้องการเห็นการขับเคลื่อนสังคมผ่านกระบวนการทำงานของสื่อ
ทำให้ระยะหลังๆ เราก็เริ่มมีผลงานคุณภาพทยอยออกมามากขึ้น เราตอกย้ำเลยว่า ถ้าเป็นงานโปรดักชันหนัง ออกมาแล้วต้องมีคนดู มีช่องทางการเผยแพร่ที่ชัดเจน ทำละครก็สามารถที่จะไปวัดผลความสำเร็จได้ ดูยอดไลก์ ยอดวิว แล้วเรายังอยากจะตามไปดูผลกระทบทางสังคมอีก พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปบ้างไหม ซึ่งประเด็นทางสังคมก็รู้ว่ามันวัดยาก แต่เราก็พยายาม เพราะฉะนั้นระยะหลังจึงเริ่มมีคนที่เข้าใจโจทย์กองทุนมากขึ้น เราต้องการให้ผลงานของกองทุนไปรับใช้สังคมได้ พูดกันในเชิงอุดมการณ์เลย คือสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
อยากแนะนำอะไรถึงคนที่กำลังจะนำเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนบ้าง
อยากให้ทำการบ้านให้หนัก การตกผลึกในเชิงความคิด มันจะเป็นต้นทุนในการเขียนโครงการที่ดี ซึ่งการจะตกผลึกได้ก็ต้องเป็นตัวตนที่สั่งสมองค์ความรู้เรื่องนั้นมานานพอสมควร ไม่ใช่จะขอทุนแล้วยังนั่งนึกอยู่ อยากได้เงินนะ แต่ยังไม่รู้จะเขียนอะไร มันไม่ใช่ตัวตนของคุณ อย่างถ้าคุณจะสร้างเครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็ก แล้วคุณทำมาโดยตลอด หลับตาพูดได้เป็นฉากๆ อย่าลังเลเลย คุณเขียนโครงการในสิ่งที่คุณถนัดและเป็นตัวตนของคุณเข้ามา ผมเชื่อว่าถ้าเริ่มแบบนี้ กรรมการก็ให้ คือถ้าตกผลึกทางความคิด ก็จะไม่มีประเด็นที่ชวนให้สับสนเลย คนอื่นมาอ่านก็เคลียร์ในตัวเอง จะเห็นภาพเลย คิดแบบนี้ อยากทำแบบนี้ มีรายละเอียดแบบนี้ ใช้งบประมาณเท่านี้ เห็นผลลัพธ์เลย แล้วสังคมจะได้ประโยชน์อะไร มันตอบได้หมด
คาดหวังให้กองทุนนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อไทยในอนาคตอย่างไร
คาดหวังมาก เรามีความทะเยอทะยานเกี่ยวกับการทำงานของกองทุนที่ค่อนข้างสูง เราอยากจะเป็น Content Hub of Thailand ที่จะรวบรวมคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงและเผยแพร่ โดยเชื่อมโยงแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะ แพลตฟอร์มในต่างประเทศ ให้สามารถนำคอนเทนต์ไทยออกไปได้ และเราต้องการที่จะทำให้เกิด Media Academy เป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แบบครบวงจร มีหลักสูตร มีห้องปฏิบัติการ มีการฝึกอบรมอะไรต่างๆ และสุดท้ายคือเราจะต้องขับเคลื่อนสังคมร่วมกับหน่วยงานอื่น ในการสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ โดยจะจับมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ หน่วยงานองค์กร ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งการรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่การท่องจำ ต้องเป็น Critical Thinking ที่ต้องเริ่มจากการตั้งคำถาม เป็นเรื่องของวิธีคิดและทักษะที่สามารถสร้างได้ ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนตั้งคำถาม ไม่ใช่สังคมที่ก้าวร้าวแน่นอน
ติดตามรายละเอียดการเขียนโครงการเพื่อขอรับทุน ประจำปี 2566
ได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/grant-processes/