เวลาผ่านไปกว่า 2 ปี นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจากการที่คนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และความเข้าใจในการป้องกันตนเองที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เพียงแค่เรื่องสุขภาพที่ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อแล้ว การแพร่ระบาดยังได้สร้างผลกระทบต่อในวงกว้างในทุกๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวเลยทีเดียว วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา อย่างเช่นสุขภาพจิตและสุขภาพกายจากการที่ต้องอยู่บ้านนานๆ รวมไปถึงความกังวลต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
ชวนไปสำรวจเทรนด์สุขภาพของคนไทยจากกรณีศึกษาในปีนี้ และส่งผลต่อไปในปีหน้า 2022 วันที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่รอบตัว ว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังกันบ้าง
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จนกลายเป็นเรื่องปกติ
ภาพที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การมีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ตามสถานที่ต่างๆ หรือกระทั่งการเว้นระยะห่างตามจุดที่มีผู้คนหนาแน่น กลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตาและเป็นกิจวัตรที่ทุกคนจำเป็นต้องทำตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จากฝอยละอองระบบทางเดินหายใจได้ดีที่สุด จากความสงสัยในมาตรการการป้องกัน ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเข้าใจในที่สุด
แม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อทุกวันนี้ยังคงอยู่ในระดับหลักพัน แต่ถ้าลองย้อนกลับไปดูจำนวนผู้ติดเชื้อนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อทะลุหลักหมื่นเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงปัจจุบันในเดือนธันวาคม จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาอยู่ในระดับ 2,000 คนอีกครั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของมาตรการจากภาครัฐที่บังคับใช้ แต่ยังเป็นผลมาจากการปรับตัวปรับวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่จนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสะท้อนผ่านจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง และแน่นอนว่าในปีหน้า หากทุกคนยังคงรักษากิจวัตรประจำวันได้เช่นเดิมแบบนี้ต่อไป สถานการณ์ตัวเลขของผู้ติดเชื้อก็ย่อมดีขึ้น
สภาพเศรษฐกิจที่กระทบต่อสุขภาพจิต
อย่างที่ทราบกันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน แต่ยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย เนื่องจากมาตรการการป้องกันแพร่ระบาดด้วยการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดให้บริการ และส่งผลกระทบในลักษณะเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่นายจ้าง ลูกจ้าง ไปจนถึงคู่ค้า ซึ่งหากเป็นบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกระแสเงินสดเพียงพอ ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ แต่ในธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงระดับลูกจ้างรายวัน กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดรายได้ เพราะต้องหยุดงานหรือถึงขั้นปิดกิจการถาวร
ผลกระทบหนักที่ตามมาคือเรื่องของสุขภาพจิตที่ถูกบั่นทอนลงไป เรื่องปากท้องกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่การเยียวยาจากภาครัฐไม่อาจช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้าตามมา จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต มีการคัดกรองสุขภาพจิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระหว่างพฤศจิกายน 2563 ถึงกันยายน 2564 จำนวน 1,010,632 คน พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด แม้การเปิดประเทศล่าสุดจะทำให้สภาพเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ความกังวลการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ต้องกลับมาเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพจิตกันอีกครั้งในปีหน้าก็เป็นได้
การใช้ชีวิตในบ้าน กับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เปลี่ยนไป
จากมาตรการล็อกดาวน์ในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ต้องปรับเรื่องรูปแบบการทำงานให้เป็นการ Work from Home ลดการเดินทางและการพบเจอกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด คนทำงานจึงต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานหลักเป็นที่บ้าน ขณะเดียวกันเด็กเองก็จำเป็นต้องเรียนผ่านออนไลน์กันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลเดียวกัน หากมองในแง่ดี การที่ครอบครัวได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านตลอดเวลา เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้นขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ไม่สามารถแยกการทำงาน การเรียนออนไลน์ หรือการใช้ชีวิตได้อย่างชัดเจน กลับเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวประสบปัญหา หรือเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้นได้
นอกจากนั้น การใช้ชีวิตร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมงของสมาชิกทุกคนในบ้าน จากเดิมที่พ่อแม่จะได้พบเจอลูกหลังเลิกงานหรือเลิกเรียน แต่กลับต้องมาอยู่ด้วยกันตลอด ทำให้เวลาส่วนตัวที่เคยมีหายไป รวมไปถึงการรู้สึกรำคาญใจกับพฤติกรรมบางอย่างของคนในครอบครัวที่ไม่ได้พร้อมรับมือ หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปในรูปแบบนี้ต่อไป ทางออกคือการทำความเข้าใจกันและกัน สื่อสารถึงความต้องการของตัวเองและคนในครอบครัวมากขึ้น แบ่งเวลาส่วนตัวให้ชัดเจน และเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานะเช่นนี้ไปอีกสักระยะ
พฤติกรรมการกินอยู่ที่บั่นทอนสุขภาพ
ด้วยข้อจำกัดของการต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมภายนอกได้ รวมทั้งสวนสาธารณะหรือฟิตเนสต่างๆ ก็ปิดให้บริการ ส่งผลให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ มีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น มีกิจกรรมทางกายที่น้อยลง จากผลสำรวจของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เฉลี่ย 14.32 ชั่วโมงต่อวัน สูงขึ้นจากในปีก่อนที่ยังไม่มีการระบาดที่ 13.47 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับพฤติกรรมการกิน ยืนยันจากตัวเลขมูลค่าของธุรกิจ Food Delivery ที่โตเติบขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากความสะดวกสบายที่ได้รับจากบริการส่งอาหารถึงบ้าน โดยปัจจัยทั้งสองอย่างส่งผลชัดเจนต่อสุขภาพกาย เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตมากที่สุดมากกว่าโรคไหนๆ เมื่อสัญญาณสะท้อนผ่านสุขภาพกายที่แย่ลง ส่งผลให้คนไทยอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น อย่างเช่นเทรนด์การออกกำลังกายผ่านเทคโนโลยี VR หรือกระทั่งความใส่ใจในการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่บ้าน ให้เป็นแบบ Ergonomics รวมถึงการเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพหรืออาหารคลีนกันมากขึ้น และยิ่งมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นในปีต่อไปอย่างแน่นอน
โลกผ่านหน้าจอที่ต้องหมุนตามให้ทัน
ข้อดีของเทคโนโลยีทุกวันนี้ คือการทำให้ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาด โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หลักที่ทุกเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น Google Thailand เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขของผู้ที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เพิ่มมากขึ้นถึง 9 ล้านคนจากปี 2563 และที่สำคัญคือ คำค้นหายอดนิยมประจำปี 2564 หรือ Google Trends 2021 คำที่ติดอยู่ใน Top 10 เป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างเช่น วัคซีนโควิด, โควิดวันนี้, อาการโควิด สะท้อนถึงช่องทางการเสพสื่อต่างๆ ของคนไทยที่มีช่องทางหลักคือโลกออนไลน์นั่นเอง
แต่ด้วยธรรมชาติของโลกออนไลน์ที่หมุนไปไว ไม่มีส่วนกลางที่ควบคุมเนื้อหา และปริมาณของข้อมูลที่ไหลเข้ามามากจนเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะเครียด อย่างเช่นข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อหรือพื้นที่การแพร่ระบาดใหม่ ยังไม่นับรวม Fake News ที่เข้ามาสร้างความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าจากการกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จะช่วยให้คนไทยเกิดการรู้เท่าทันและมี Digital Literacy กันมากยิ่งขึ้น โลกออนไลน์ในอนาคตอาจไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะผสานเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตของคนไทยได้ในที่สุด
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของเทรนด์สุขภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นในปีนี้และกำลังส่งผลต่อไปใน 2022 และยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตาอีกมากมาย ชวนมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมการใช้ชีวิตให้พร้อม ในยุคที่ต้องปรับตัวอยู่กับโควิดในงาน ‘Thaihealth Watch 2022: Adaptive living ปรับการใช้ชีวิต พร้อมก้าวไปในยุคโควิด’ 20 ธันวาคมนี้
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก : ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ หรือ resourcecenter.thaihealth.or.th
Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Sathanee Thanatiwakul
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31154
https://ngthai.com/cultures/36176/relationship-in-covid-19/
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/162244