ใครที่เคยชมข่าวจากช่องไทยรัฐทีวี น่าจะคุ้นเคยกันดีกับภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกสวยๆ ที่ขึ้นมาประกอบการเล่าข่าวและการถ่ายทอดสดกีฬาต่างๆ หรือที่เรียกว่า Immersive Graphic เทคโนโลยีจำลองเหตุการณ์จริง
นอกจากจะช่วยให้อธิบายข่าวได้เห็นภาพมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผู้ชมอย่างเราๆ เข้าใจเหตุการณ์และเห็นภาพข่าวมากขึ้นด้วย
ล่าสุดในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาวไทย ทางไทยรัฐทีวีได้ร่วมกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีฯ ที่สำคัญของชาติ ในรอบ 69 ปี โดยนำเทคโนโลยี Immersive Graphic มาใช้เพื่อให้ผู้ชมได้ชมภาพนาทีประวัติศาสตร์นี้ได้อย่างเข้าใจทุกรายละเอียดมากยิ่งขึ้น
ลองไปดูเบื้องหลังการทำงานของทีมงานไทยรัฐทีวี ว่ากว่าจะได้ภาพสวยๆ และเนื้อหาข่าวที่ครบถ้วน ต้องผ่านขั้นตอนอันแสนยากลำบากอย่างไรบ้าง
เดิมที Immersive Graphic เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วในสำนักข่าวของต่างประเทศ ไทยรัฐทีวีจึงนำมาใช้เป็นเจ้าแรกๆ ในวงการทีวีของไทย เพื่อยกระดับการรายงานข่าวให้มีคุณภาพมากขึ้น ก่อนจะนำไปใช้ในการถ่ายกีฬาให้สนุกและมีสีสันมากขึ้น
อธิบายอย่างง่ายๆ Immersive Graphic คือเทคโนโลยีที่ช่วยจำลองเหตุการณ์จริงที่ผ่านไปแล้วขึ้นมา โดยทีมงานต้องศึกษาโครงสร้างและรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่วัตถุ บรรยากาศ ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อร่างออกมาเป็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกแบบสามมิติที่ดูคล้ายจริงที่สุด และนำไปทำการเคลื่อนไหวเพื่อประกอบการบรรยายของผู้ประกาศข่าว
ในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีฯ ที่สำคัญของชาติ มีรายละเอียดขั้นตอนของพระราชพิธีต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ด้วยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราทางสถลมารค
ไทยรัฐทีวีได้ใช้เทคโนโลยี Immersive Graphic จำลองพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ และการแบกหามพระราชยานพุดตานทอง เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายทอดสดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพื่อให้ผู้ชมที่ชมการถ่ายทอดสดได้เห็นรายละเอียดของพระที่นั่งอย่างใกล้ชิด ราวกับได้ไปร่วมงานจริงๆ เลยทีเดียว
ความพิเศษของการใช้ Immersive Graphic ประกอบการรายงานข่าวพระราชพิธีในครั้งนี้ คือการใช้พื้นที่จริงในการถ่ายทอดสดบริเวณท้องสนามหลวง ถือเป็นความท้าทายและมีความยากในการเข้าจัดเตรียมพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิดเพื่อรักษาความปลอดภัย แตกต่างจากการรายงานข่าวอื่นๆ ที่ใช้การถ่ายทำในสตูดิโอ ซึ่งจัดการง่ายกว่า
ภาพพื้นที่ที่ใช้ในการรายงานข่าว ทีมงานได้เนรมิตพลับพลาที่ถอดแบบโครงสร้างและใช้ลวดลายจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน เพื่อประกอบการรายงานให้สมพระเกียรติที่สุด โดยมีเบื้องหลังเป็นบรรยากาศของประชาชนมากมายที่มาชื่นชมพระบารมีและถวายความจงรักภักดีเต็มท้องสนามหลวง มีพระบรมมหาราชวังที่มี ‘ธงมหาราช’ พระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลัง
ความพิเศษอีกอย่างของการรายงานข่าวพระราชพิธีครั้งนี้ คือการทำให้ผู้ประกาศข่าวอย่าง เขมสรณ์ หนูขาว เข้าไปอยู่ในพลับพลา เพื่ออธิบายรายละเอียดของพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์และการแบกหามพระราชยานพุดตานทอง จึงจำเป็นต้องใช้ฉากเขียว หรือ Green Screen แบบเดียวกับที่ใช้ในงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ของหนัง เข้ามาประกอบในการจัดเตรียมพื้นที่การรายงานนี้ด้วย
เพื่อให้การถ่ายทอดสดเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบและสมพระเกียรติ ก่อนหน้านั้นทีมงานกราฟิกไทยรัฐทีวีจึงต้องยกฉากเขียวมาเซ็ตขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อซ้อมการถ่ายทำในช่วงเวลาเดียวกับการถ่ายทอดสด คือเวลาประมาณสี่โมงเย็น ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน เพื่อให้พื้นที่จัดงานมีความใกล้เคียงกับวันจริงมากที่สุด
นอกจากการรายงานด้วย Immersive Graphic แล้ว ไทยรัฐทีวีได้รับมอบภารกิจในการผลิตชิ้นงานกราฟิกจำลองเส้นทางและลักษณะรูปแบบริ้วขบวนทั้งหมดที่ใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประวัติความสำคัญของหมู่พระมหามณเฑียรและพระที่นั่งภายใน เพื่อให้ผู้ชมชาวไทยทุกคนได้ศึกษา
โดยได้ออกอากาศชิ้นงานผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในเครือของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจทุกช่อง จึงถือเป็นเกียรติกับองค์กร และพนักงานของไทยรัฐทีวีทุกคน ที่จะได้ใช้โอกาสนี้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี